ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
อันการคุมทัพและพินิจความศึกนั้น
ถ้าเดินทัพข้ามภูเขา
จักต้องเดินตามหุบห้วยละหาน
ถ้าอยู่ในคมนาคมสะดวกต้องตั้งทัพในที่สูง
ถ้าข้าศึกตั้งอยู่ในที่สูงชัน
ก็อย่าได้พยายามตีฝ่าขึ้นไป
นี้คือคุมทัพในที่ดอยแล
ถ้าเดินทัพข้ามแม่น้ำ
ต้องรีบเร่งให้ห่างสายน้ำนั้นทันที
ถ้าฝ่ายข้าศึกข้ามแม่น้ำมา
ก็อย่าได้เข้าปะทะกันกลางน้ำ
ต้องรอให้อยู่ในสะเทินน้ำสะเทินบก
จึงโหมกำลังตีโดยฉับพลัน
(อนึ่ง) การยุทธนั้นอย่าได้เรียงค่าย
ตามฝั่งแม่น้ำคอยรับทัพศึก
พึงตั้งทัพลงบนที่สูงซึ่งมีการคมนาคมสะดวก
และ (ครารุกไล่) ก็อย่าได้อยู่ในตำแหน่งที่ทวนน้ำ
นี้คือการคุมทัพในลำน้ำแล
ถ้าเดินทัพในที่ลุ่มซึ่งเป็นเนื้อดินเค็ม
ต้องเร่งรุดข้ามไปโดยพลัน
ถ้าเกิดปะทะกับข้าศึกในที่เช่นนี้
ต้องหันหลังเข้าอิงป่า
และต้องทอดค่ายตามที่ซึ่งมีพืชน้ำจืดอยู่
นี้คือการคุมทัพในที่ลุ่มแล
ถ้าอยู่ในที่ราบ
ต้องเลือกชัยภูมิที่อำนวยความได้เปรียบ
คือปีกขวาอิงเนินสูง เบื้องหน้าเป็นแดนตาย
(เช่นห้วงน้ำหรือหน้าผา ฯ,ฯ เพื่อข้าศึกยกเข้าตียาก)
เบื้องหลังเป็นแดนเป็น (คมนาคมสะดวก)
นี้คือการคุมทัพในที่ราบแล
อันความได้เปรียบในการคุมทัพ ๔ ประการคือ
(จอมกษัตริย์สมัยดึกดำบรรพ์ของจีน - ผู้แปล)
ชำนะกษัตริย์อื่น ๆ ตลอดทั้ง ๔ ทิศแล
อันการตั้งทัพชอบที่จะอยู่ที่สูง พึงรังเกียจที่ต่ำ
เหมาะที่หันสู่ทิศโปร่ง(อาคเนย์)
แต่รังเกียจทิศทึบ (ทิศพายัพ)
ต้องตั้งอยู่ในที่ถูกสุขลักษณะมีอาหารของใช้อุดม
เมื่อรี้พลปราศจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว
ย่อมกล่าวได้ว่าจักต้องมีชัยแน่นอน
ถ้าตั้งทัพตามสันเนินหรือบนทำนบกั้นน้ำ
ต้องเลือกอาคเนย์ และทอดปีกขวาอิงไว้
จะได้เปรียบทั้งทางการยุทธและพื้นภูมิแล
หากฝนเหนือตกชุกมีฟองน้ำลอยฟ่องมา
(เป็นสัญญาณว่าน้ำจะหลาก)
เมื่อจะลุยข้ามห้วยน้ำนั้น ควรรอให้ระดับน้ำนั้นแน่เสียก่อน
(มิฉะนั้นข้ามไปโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ
เมื่อน้ำทะลักมาจนเชี่ยวกราก อาจประสบหายนะ)
อันภูมิประเทศย่อมมีลักษณะต่าง ๆ กัน
เช่น มีหุบห้วยอันมีหน้าผาสูงชัน
ที่ลุ่มซึ่งเหมือนอยู่ก้นบ่อ
ถิ่นที่มีป่าเขาล้อมรอบ (ยากแก่การเข้าออก)
รกชัฏเต็มไปด้วยขวากหนาม เหมือนข่ายธรรมชาติ
ที่หล่มเต็มไปด้วยโคลนเลน
และทางแคบซึ่งมีหุบเหวขนาบขนานอยู่
สถานที่เช่นนี้
เมื่อประสบพบเข้าต้องรีบรุดออกห่างทันที
อย่าได้กรายใกล้มันเลย
(ถ้าเกิดสัประยุทธ์ขึ้น) เราต้องผละห่างจากมัน
โดยต้องให้ข้าศึกเข้าประชิด หรือให้มันอยู่เบื้องหน้าเรา
แต่ขวางอยู่เบื้องหลังข้าศึก
ถ้าริมทางเป็นที่วิบาก หรือสระหนองหุบห้วย
หรือพงอ้อกอแขม หรือแนวป่าหมู่ไม้
หรือที่ไพรพฤกษ์รกทึบ
ต้องตรวจค้นอย่างระแวดระวัง
เพราะสถานที่เช่นนี้มักเป็นที่ซุ่มทัพ
หรือที่ซ่อนตัวของกองสอดแนมฝ่ายข้าศึก
(เมื่อสองทัพเข้าประชิดกัน)
ฝ่ายข้าศึกยังคงสงบเงียบ นั่นหมายถึงเขาวางใจ
ในความได้เปรียบแห่งชัยภูมิของเขา
ถ้าทัพข้าศึกมาท้ารบแต่ทางไกล
เขาประสงค์จะให้ฝ่ายเรารุกไล่ติดตามไป
ถ้าข้าศึกตั้งทัพในที่ง่ายต่อการโจมตี
นั่นเขาทอดเหยื่อล่อแล
ถ้าเห็นหมู่ไม้ไหวต้น
นั่นแสดงว่าข้าศึกยกมาแล้ว
ถ้าเห็นผูกหญ้าคาพรางไว้มากหลาย
นั่นเขาประสงค์จะให้เราเกิดสนเท่ห์ใจ
ถ้าเห็นหมู่นกตกใจบินถลาขึ้น
แสดงว่ามีทหารซุ่มอยู่
ถ้าเห็นเหล่าสัตว์แตกกระเจิดกระเจิง
แสดงว่ามีกองจู่โจมซ่อนอยู่แล
ถ้าเห็นฝุ่นตลบสูงเป็นลำแหลม
แสดงว่ากองรถข้าศึกวิ่งตะลุยมา
ถ้าต่ำและปริมณฑลกว้าง
เป็นการเดินทัพของพลราบ
ถ้ากระจายเป็นหย่อม ๆ เป็นลำ ๆ
แสดงว่าเป็นการเก็บผักหักฟืนของกองเกียกกาย
ถ้าฝุ่นมีเพียงบาง ๆ เคลื่อนไหวไปมา
แสดงว่าข้าศึกกำลังตั้งค่าย
(ถ้าข้าศึกส่งทูตมาติดต่อ)
วาจาถ่อมแต่เร่งรุดในการเตรียม
แสดงว่าจะมีการรุก
ถ้าพาทีอหังการมีท่วงทีประหนึ่งจะตะลุมบอนด้วย
แสดงว่าจะถอนทัพ
ถ้าขอสงบศึกด้วยวาจา
มิได้มีหนังสือรับรองเป็นกิจจะลักษณะ
แสดงว่าเป็น กลศึก
ถ้าเห็นกองรถเบาของข้าศึกขับแยกออกทางปีก
แสดงว่ากำลังแปรขบวนทัพ (ซึ่งจะมีการสัประยุทธ์กัน)
ถ้าเห็นข้าศึกวิ่งทบไปมาและขยายกำลัง
แสดงว่า กำลังเตรียมพร้อมในการรับมือ
ถ้ามีท่าทีถอยแต่มิใช่ หมายความว่ามีเชิง
แสดงว่าจะล่อให้หลงกล
ถ้าเห็นทหารข้าศึกยืนแซ่วโดยใช้อาวุธยันกาย
แสดงว่าหิวโหย
ถ้าเห็นตักน้ำแล้วรีบดื่มก่อน
แสดงว่ากระหาย
ถ้าข้าศึกเห็นความได้เปรียบแต่ไม่ยักรุกเอา
แสดงว่าเหนื่อยล้าอิดโรยแล้ว
ถ้าเห็นหมู่วิหควกบินลงจับกลุ่ม
แสดงว่าเป็นที่เปล่าปลอดคนแล้ว
ถ้าได้ยินเสียงข้าศึกกู่ก้องร้องขานในเพลาค่ำคืน
แสดงว่าข้าศึกมีความขลาดกลัว
ถ้าสังเกตว่าค่ายข้าศึกมีความอลวนไม่เป็นระเบียบ
แสดงว่าแม่ทัพนายกองไม่เป็นที่เลื่อมใสของเหล่าพล
ถ้าเห็นธงทิวเคลื่อนไหวไม่เป็นระเบียบ
แสดงว่าระส่ำระสาย
ถ้าเห็นจ่าทหารดาลเดือดดุด่า
แสดงว่าพลทหารเหนื่อยอ่อน
ถ้าข้าศึกฆ่าม้ากิน แสดงว่ากองทัพขาดแคลนเสบียงอาหาร
ถ้าเที่ยวแขวนภาชนะเครื่องหุงต้มทิ้งไว้โดยไม่กลับค่ายอีก
แสดงว่าข้าศึกได้ตกเป็นหมู่โจรอันจนตรอกแล้ว
แม่ทัพนายกองพูดจากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเชื่องช้า
ซ้ำซาก ทั้งกิริยาก็เซื่อง ๆ ไม่มีผึ่งผาย
แสดงว่ากองทัพนั้นขาดความสามัคคี
ถ้ามีการปูนบำเหน็จรางวัลกันครั้งแล้วครั้งเล่า
แสดงว่าจนต่อการควบคุมบังคับบัญชา
(จึงใช้วิธีนี้เหนี่ยวรั้งน้ำใจรี้พล)
ถ้ามีการทำโทษบ่อยครั้งติดกัน
แสดงว่าแม่ทัพนายกองยุ่งยากใจต่อการคุมพลปานใด
ถ้าโหดเหี้ยมดุร้ายในเบื้องต้น
แต่ภายหลังกลับมีอาการหวาดระแวงในรี้พลของตนเอง
นั่นแสดงว่าเป็นผู้นำที่บรมเลวทีเดียว
ถ้าข้าศึกส่งเครื่องบรรณาการมา
แสดงว่าต้องการพักรบ
ถ้าข้าศึกยกมาตั้งรับอย่างฮึกเหิม
แต่ตั้งอยู่นานวันโดยมิยุทธแย้งด้วย
และก็ไม่ยกไปเสีย
ความศึกเช่นนี้พึงพิเคราะห์จงหนักแล
อันพลรบนั้น มิใช่สำคัญที่จำนวนมาก
ถึงจะไม่มีการรุกพิฆาตอันเกริกก้อง
แต่รู้จักชุมนุมกำลังเป็นอย่างดี
พิเคราะห์ความศึกได้ถูกต้องแม่นยำ
และเข้ารอนรานข้าศึกได้
ก็เป็นเพียงพอแล้ว
มีแต่ผู้คุมทัพที่ไร้ความคิดและหมิ่นข้าศึกเท่านั้น
ที่ไม่แคล้วต้องตกเป็นเชลยแน่นอน
การลงโทษทัณฑ์ทหาร
ที่ยังไม่มีความเชื่อถือในผู้บังคับบัญชา
ย่อมจะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง
เมื่อปรากฏความกระด้างกระเดื่องแล้ว
ย่อมยากต่อการช่วงใช้
ถ้าพลทหารมีความเชื่อถือดี
แต่ผู้บังคับบัญญาไม่ทำโทษในเวลาพึงมี
(เหล่าพลก็จะกำเริบเสิบสาน)
กองพลเช่นนี้จะใช้ในการสัประยุทธ์ไม่ได้
เพราะฉะนั้น การบังคับบัญชาทัพ
จงตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรม
แต่ปรับให้เข้าแถวแนวด้วยอาชญา
นี้คือกองทัพพิชิตแล
ในเวลาปกติ คำสั่งของมุขบุรุษ
ได้รับการปฏิบัติตามเป็นอย่างดี
เมื่อฝึกสอน (วิชาการทหาร) แก่เหล่าพสกนิกร
เขาก็จะเลื่อมใส
หากคำสั่งของมุขบุรุษ
มิได้รับการปฏิบัติอย่างครบถ้วน
เมื่อฝึกสอน (วิชาการทหาร) แก่เหล่าพสกนิกร
เขาย่อมไม่เลื่อมใสเป็นธรรมดา
ฉะนั้น การบังคับบัญชาซึ่งได้รับการปฏิบัติด้วยดีนั้น
แสดงว่ามุขบุรุษได้รับความไว้วางใจจากหมู่ชนแล้ว
ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน
แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529