
ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า หลักการยุทธ
(ซึ่งทำให้ประเทศศัตรูหมอบราบคาบแก้ว)
โดยมิพักต้องทำลายเมืองนับว่าประเสริฐยิ่ง
รองลงมาก็คือ หักเอาโดยไม่ต้องทำลายกองพล
รองลงมาอีกก็คือเอาชนะโดยไม่ต้องทำลายกองพัน
เลวกว่านั้นก็อย่าให้ต้องถึงทำลายกองร้อย
หรือทำลายกระทั่งหมวดหมู่

เพราะฉะนั้น การชนะร้อยทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้
แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึ่งถือว่าเป็นวิธีอันวิเศษยิ่ง

ดังนั้น วิธีการใช้ทหารชั้นเลิศคือหักศัตรูด้วยกโลบาย
รองลงมาคือหักเอาด้วยวิธีการทูต
รองลงมาอีกขั้นหนึ่งคือหักด้วยกำลังทหาร
เลวที่สุดนั้นคือการล้อมตีค่ายคู หอรบ ของศัตรู

เบื้องว่ายกพลเข้าล้อมตีเมืองข้าศึก
พึงใช้เมื่อคราวจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
เพราะการซ่อมโล่ใหญ่และรถหุ้มเกราะ
การเตรียมเครื่องใช้ไม้สอย
จักต้องกินเวลาตั้งสามเดือนจึงลุความสำเร็จ
ต่อจากนี้จะต้องใช้เวลา
เพื่อสร้างป้อมปราการอีกราว ๓ เดือน
ในความชักช้าเช่นนี้
ผู้บัญชาการทหารจะรู้สึกเดือดดาลรำคาญใจ
จนถึงแก่ต้องใช้ทหารเข้าโจมตี
อย่างมดตอมเสียก่อนกำหนด
เมื่อเสียรี้พลไปสัก ๑ ใน ๓
แต่ยังมิอาจหักเข้าไปได้
ย่อมเป็นภัยแก่ฝ่ายรุกตีอย่างอนันต์

ด้วยเหตุนี้ นักการทหารที่สามารถ
พึงทำให้ข้าศึกยอมแพ้ได้โดยไม่ต้องรบ
ยึดครองเมืองข้าศึกได้โดยไม่ต้องเข้าล้อมตี
ทำลายประเทศศัตรูโดยไม่ต้องใช้เวลานาน
จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษากำลังฝ่ายตนมิให้พร่อง
เพื่อพิชิตข้าศึกภายใต้หล้านี้
เมื่อรี้พลไม่บอบช้ำ
ผลประโยชน์ที่ได้รับก็จักสมบูรณ์
หลักยุทโธบายมีอยู่ดังนี้แล

(เมื่อถึงคราวที่ต้องใช้กำลังทหารกันแล้ว)
หลักยุทธวิธีมีอยู่ว่า
เรามีกำลัง ๑๐ เท่าของข้าศึก จงเข้าล้อมเอา
ถ้า ๕ เท่าของศัตรู ก็จงบุกตี
ถ้าเพียงเท่าเดียว ก็แยกเป็นสองกองเข้าชิงชัย

ถ้าหากกำลังทัดเทียมกัน
จงพยายามเข้ารบพุ่ง
น้อยกว่าจงตั้งรับไว้
ถ้าด้อยกว่า
จงหาทางหลีกเลี่ยงไว้ก่อน

ฉะนั้น ความขัดแข็งถือดีของกำลังอันน้อย
ย่อมตกเป็นลูกไก่ของกองทัพ
อันมีกำลังมหาศาลนั่นเอง


อันขุนพลก็เสมือนหนึ่งหลักชัยของประเทศ
ถ้าหลักชัยนั้นมีคุณสมบัติครบถ้วน ประเทศก็เข้มแข็ง
หากมีคุณสมบัติขาดตกบกพร่อง ประเทศก็อ่อนแอ

เพราะฉะนั้น
ราชันย์มักทำความเสียหายให้แก่การทหาร
ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ

ไม่เข้าพระทัยว่า
กองทัพเคลื่อนกำลังรุกไปไม่ได้ แต่รับสั่งให้รุก
หรือกองทัพจะถอยไม่ได้ แต่รับสั่งให้ถอย
เช่นนี้เรียกว่ากีดขวางการปฏิบัติทางทหาร
ไม่เข้าพระทัยในกิจการทหาร ก็ทรงเข้าเกี่ยวข้องด้วย
จะทำให้แม่ทัพนายกองงุนงง (ไม่ทราบทางปฏิบัติ)
ไม่เข้าพระทัยในหลักการปรับตัวกับเหตุการณ์โดยยุทธนัย
ก็ทรงรับภารกิจอันนั้น จะทำให้แม่ทัพนายกองสงสัยแคลงใจ

เมื่อเหล่าทหารงุนงงสงสัย
ภัยอันเกิดจากจากเจ้าครองนครก็จะพลันถึง
นี้แหละเรียกว่า ก่อความระส่ำระสาย
ให้บังเกิดแก่กองทัพตนเอง
และอำนวยชัยชนะแก่ข้าศึก

เพราะฉะนั้น วิธีหยั่งรู้ชัยชนะมีอยู่ ๕ ประการ คือ
รู้ว่าควรรบไม่ควรรบเพียงใด ผู้นั้นชนะ

รู้หลักการใช้ทหารมากน้อยเพียงใด
ผู้นั้นชนะ

ฝ่ายนำและผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
ร่วมจิตสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ผู้นั้นชนะ

เตรียมพร้อมเสมอ
เพื่อคอยโอกาสหละหลวมของศัตรู
ผู้นั้นชนะ

ขุนพลมีสมรรถภาพ
และราชันย์ไม่สอดแทรกก้าวก่าย
(ปล่อยให้ปฏิบัติการได้โดยเสรี)
ผู้นั้นชนะ

หลัก ๕ ประการนี้ คือ
วิธีหยั่งรู้ซึ่งความมีชัย

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า
หากรู้เขารู้เรา แม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด
ถ้าไม่รู้เขาแต่รู้เพียงตัวเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่
หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย
ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธนั้นแล
----
ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน

แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน

แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529