ตำราพิชัยสงครามของซุนวู บทที่ 3. ยุทธศาสตร์การรบรุก (จีนตัวเต็ม: 謀攻; จีนตัวย่อ: 谋攻)

1. SUNTZU กล่าวไว้ว่า...

กฎของสงครามโดยทั่วไป

สยบประเทศข้าศึกไม่เสียเลือดเนื้อเป็นโยบายหลัก
ใช้กำลังทางทหารเข้าตีประเทศข้าศึกแตกจึงสยบประเทศข้าศึกได้เป็นนโยบายรอง
สยบกองทัพข้าศึกไม่เสียเลือดเนื้อเป็นโยบายหลัก
ใช้กำลังทางทหารเข้าตีกองทัพข้าศึกแตกจึงสยบกองทัพข้าศึกได้เป็นนโยบายรอง
สยบหน่วยทหารข้าศึกไม่เสียเลือดเนื้อเป็นโยบายหลัก
ใช้กำลังทางทหารเข้าตีหน่วยทหารข้าศึกแตกจึงสยบหน่วยทหารข้าศึกได้เป็นนโยบายรอง
รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งยังมิใช่ยอด สยบข้าศึกได้ไม่ต้องรบ เป็นยอดนักรบ

2. เพราะฉะนั้นสุดยอดของการสงครามก็คือ เข้าโจมตีแผนลับข้าศึกให้แตก จากนั้นตีความสามัคคีข้าศึก ตีสัมพันธไมตรีของกลุ่มพันธมิตรข้าศึกให้แตก สุดท้ายหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วจึงใช้กำลังทางทหารเข้าตีกำลังทหารข้าศึก สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการเข้าตีป้อมปราการที่มั่นที่เข้มแข็งของข้าศึก การเข้าตีดังกล่าวจะเป็นเฉพาะเมื่อไม่มีหนทางอื่นแล้ว และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แล้วเท่านั้น

การเข้าตีป้อมปราการที่มั่นที่เข้มแข็งของข้าศึก ต้องใช้เวลาเตรียมการนาน และต้องพร้อมจริงๆ จึงทำได้ ซึ่งในระหว่างเตรียมการหากแม่ทัพนายกองไม่สามารถระงับความเกรียวกราดได้ยก กำลังเข้าทำการรบแตกหักก่อนที่การเตรียมการจะพร้อม ทหาร 1 ใน 3 จะต้องตาย แม้กระนั้นป้อมปราการที่มั่นของข้าศึกก็จะยังไม่แตก นี้คือผลเสียของการโจมตีป้อมปราการที่มั่นของข้าศึก

นักรบผู้ชำนาญมิได้ใช้การต่อสู้เพื่อสยบข้าศึก ป้อมปราการที่มั่นข้าศึกแตกก็มิใช่ด้วยการโจมตีตรงหน้า ประเทศข้าศึกต้องพินาศลงก็มิใช่ด้วยศึกสงครามยืดเยื้อ ใช้วิธีชนะโลก ชนะโดยไม่เสียเลือดเนื้อ ด้วยเหตุนี้ ทหารหาญก็ไม่เหนื่อยอ่อน ผลประโยชน์ที่ได้รับย่อมเป็นผลประโยชน์สูงสุด

“ นี่คือกฎของนโยบายในการทำศึกสงคราม ”

3. กฎของสงครามโดยทั่วไป

เมื่อมีกำลัง 10 เท่าเข้าโอบล้อม เมื่อมีกำลัง 5 เท่าเปิดเกมรุก เมื่อเท่ากันให้สู้ ถ้าน้อยกว่าให้ถอย ถ้ากำลังปะทะกันไม่ได้ให้หลบซ่อน โดยปกติกำลังน้อยกว่าปะทะตรงหน้ากับกำลังที่มากกว่าย่อมทำไม่ได้เป็นทางปกติ กำลังที่น้อยนิดคิดแต่จะใช้ความห้าวหาญ รังแต่จะถูกจับเป็นเชลยของกำลังที่มากกว่าเท่านั้น

4. โดยทั่วไป แม่ทัพมีหน้าที่ช่วยเหลือชาติ ถ้าหน้าที่นั้นสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้นำประเทศ ชาตินั้นต้องเข้มแข็งแน่นอน ถ้าหน้าที่นั้นขัดแย้งกับผู้นำประเทศ ชาตินั้นต้องอ่อนแอแน่นอน

ฉะนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการศึกสำหรับผู้นำประเทศมี 3 ประการ ได้แก่ :-

  • ไม่รู้ว่าไม่ควรใช้กำลังทหาร สั่งให้ใช้กำลังทหาร ไม่รู้ว่าไม่ควรถอย สั่งให้ถอย
  • ไม่รู้เรื่องภายในกองทัพ แต่เข้ามาปกครองกองทัพร่วมกับแม่ทัพ
  • ไม่เข้าใจวิธีใช้กำลังทหาร แต่เข้ามาบังคับบัญชาทหาร

เมื่อใดที่ทหารอยู่ในความหลง ความงงงวยแปลกใจสงสัย ต่างชาติจะยกทัพเข้ามาและชัยชนะของกองทัพที่สับสนก็จะจากหายไป

5. ฉะนั้น มี 5 สิ่งที่ต้องรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับชัยชนะ ได้แก่ :-

  • เมื่อไรควรรบเมื่อไรไม่ควรรบ ระมัดระวังผลได้ผลเสียรอบคอบ .... ชนะ
  • เข้าใจการใช้กำลังใหญ่ กำลังเล็ก นอกแบบในแบบ .... ชนะ
  • ประสานจิตใจคนทุกชั้นได้ .... ชนะ
  • เตรียมการดีปะทะที่ประมาท .... ชนะ
  • แม่ทัพนายกองมีความสามารถ ผู้นำประเทศไม่แทรกแซงกิจการภายในกองทัพ .... ชนะ

5 ประการนี้เป็นวิธีเข้าใจชัยชนะ ดังนั้น

“ เมื่อ รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งปราศจากอันตราย รู้สถานการณ์ฝ่ายเขา ไม่รู้ฝ่ายเรา แพ้บ้างชนะบ้าง ไม่รู้เขา และไม่รู้เรา กล่าวได้ว่ารบทุกครั้งรังแต่จะมีอันตราย ”