
ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
พื้นภูมิในการทำศึกนั้น มี
อุทธัจจภูมิ๑ ลหุภูมิ๑ อุกฤษฏ์ภูมิ๑
สัญจรภูมิ๑ มรรคภูมิ๑ ครุภูมิ๑
ทุรภูมิ๑ บัญชรภูมิ๑ มรณภูมิ๑

ข้าศึกรุกเข้าโจมตีในแดนเรา
เรียกว่า เรียกว่าอุทธัจจภูมิ

กองทัพฝ่ายเราล่วงล้ำเข้าไป
ในแดนข้าศึกเพียงผิวเผิน
นั้นเรียกว่า ลหุภูมิ

พื้นที่ซึ่งฝ่ายใดยึดได้
ย่อมอวยผลทางยุทธการ
เรียกว่า อุกฤษฏ์ภูมิ

พื้นที่ซึ่งฝ่ายใดก็ไปมาได้โดยสะดวก
เรียกว่า สัญจรภูมิ

ประเทศราชใดมีเขตแดนต่อเนื่องหลายประเทศ
ผู้ใดถึงก่อนย่อมได้รับความสนับสนุนจากชนทั่วไป
เรียกว่า มรรคภูมิ

พื้นที่ซึ่งฝ่ายเรารุกลึกเข้าไป
เบื้องหลังเราได้ผ่านด่านตั้งขวางมากหลาย
เรียกว่า ครุภูมิ

ในแดนโขดเขาลำเนาไม้ หรือที่วิบาก
หรือห้วยหนองคลองบึงบาง
และวิถีทางอันยากแก่การสัญจรทั่วไป
เรียกว่า ทุรภูมิ

ปากทางที่จะเข้านั้นแคบ
คราวถอยต้องอ้อมวกเป็นระยะทางไกล
พื้นที่เช่นนี้ข้าศึกย่อมใช้กำลังส่วนน้อย
โจมตีกำลังส่วนใหญ่ของเราได้
เรียกว่า บัญชรภูมิ

ในพื้นที่ที่ต้องรบพุ่งอย่างอุตลุดรวดเร็วจึ่งจะพ้นภัย
มิฉะนั้นจะต้องถึงแก่ล่มทัพ
เรียกว่า มรณภูมิ

เพราะฉะนั้น จึ่งหลีกเลี่ยงในอุทธัจจภูมิ
แต่รุกตะลุยไปในลหุภูมิอย่าหยุดยั้ง

จงอย่าวู่วามเข้าตีอุกฤษฏ์ภูมิ
และอย่าได้สะกัดกั้นข้าศึกในสัญจรภูมิ

พึงผูกไมตรีกับประเทศซึ่งเป็นมรรคภูมิ
และเมื่อตกอยู่ในครุภูมิแล้ว
พึงกวาดเก็บเสบียงอาหาร (เพื่อเลี้ยงกองทัพ)

ในทุรภูมิ จงรีบเดินทัพผ่านไป
หากตกอยู่ในบัญชรภูมิ
ก็ต้องคิดแก้ไขหักออกด้วยกลอุบาย
ถ้าอยู่ในมรณภูมิจงรีบรบเพื่อเอาตัวรอด

อันผู้ใดได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญศึกในบรรพกาล
ท่านย่อมสามารถทำให้
ทัพหน้าทัพหลังของข้าศึกขาดจากกัน
กองใหญ่กองย่อยต่างไม่คิดพึ่งพิงกัน
นายไพร่ไม่มีจิตช่วยเหลือกัน
ผู้ใหญ่ผู้น้อยไม่ถ้อยทีออมชอมกัน
เหล่าพลแตกแยกมิเป็นส่ำ
แม้จะชุมนุมพลไว้พรักพร้อม
ก็ขาดความสามัคคี

ท่านย่อมปฏิบัติการเมื่อเห็นผล
และระงับเมื่อเห็นผลยังไม่อำนวย

หากตั้งปุจฉาว่า
"เมื่อข้าศึกพรักพร้อม
ไหลหลั่งถะถั่นมา ควรปฏิบัติดังฤา?"
เฉลยว่า "ควรช่วงชิงจุดสำคัญ
ซึ่งข้าศึกประสงค์เสียก่อน"
นี้จะทำให้ข้าศึกจำต้อง
คล้อยตามยุทธกระบวนของเรา
อันการศึกนั้นสำคัญที่ฉับไว
จึ่งเอาความไม่ประมาทของเรา
เข้าจู่โจมจุดที่ข้าศึกขาดความระวัง

อันกองทัพตีเข้าไปในแดนข้าศึก
ยิ่งรุกลึกเข้าไป เหล่าพลก็ยิ่งเด็ดเดี่ยวขึ้น
แต่ฝ่ายรับจะอลวนคุมกันไม่ติด
(เพราะถูกรังควาญถึงถิ่นตน)
ฝ่ายรุกเมื่อเก็บกวาดเสบียงอาหาร
ในแดนสมบูรณ์ได้แล้ว
จงเลี้ยงดูทวยหาญให้อิ่มหมีพีมัน
อย่าใช้ตรากตรำงานหนัก
ออมกำลังและบำรุงขวัญไว้จงดี
คราวจะใช้กำลังทหารหรือกะการณ์ใด ๆ
พึงเป็นไปอย่างลึกล้ำคาดไม่ถึง
(เมื่อฉะนี้) จะต้อนพลเข้าสู่ที่อับจน
แม้ตายก็ไม่แพ้
เมื่อความตายยังไม่อาจเอาชนะได้
รี้พลจึงนับได้ว่าอุทิศกำลังงานอย่างเต็มที่

อันวิสัยของเหล่าพลนั้น
เมื่อตกอยู่ในที่ล้อมความกลัวก็หมดไป
ถ้าเข้าที่คับขันก็รวมกันอย่างแน่นแฟ้น
เมื่อรุกลึกเข้าไปก็จะสมัครสมานร่วมมือกัน
และยอมรบอย่างเด็ดเดี่ยวเมื่อถึงคราวจำเป็น

ด้วยเหตุนี้ เหล่าพล
(ของฝ่ายที่รุกลึกเข้าไปในแดนของข้าศึก)
ไม่ต้องกระตุ้นเตือนก็จักระมัดระวังตัวไม่ประมาท
เชื่อฟังคำสั่งโดยไม่ต้องเรียกร้อง
รักชิดสนิทชอบโดยไม่ต้องมีสิ่งรัดรึง
ซื่อตรงต่อหน้าที่ของตนโดยไม่ต้องพร่ำสั่ง
จงขจัดปัดเป่าเสียซึ่งความเชื่อถือ
ในโชคลางและคำเล่าอ้าง
เหล่าพลจะรบจนสุดใจไม่เปลี่ยนแปรเลย

อันเหล่าพลของเราไม่เก็บออมทรัพย์สิน
จะด้วยเกลียดการมีทรัพย์ก็หาไม่
เหล่าพลยอมมอบกายถวายชีวิต
จะด้วยเกลียดการมีชีวิตยืนยาวนานก็หาไม่
(แต่ที่สละเสียได้ก็เพราะความเด็ดเดี่ยวมั่นคงนั่นเอง)

ในวันที่ผู้บัญชาการสั่งทัพ
เหล่าพลที่นั่งได้น้ำตาจะชุ่มเสื้อ
ส่วนผู้ที่ล้มหมอนนอนเสื่อน้ำตาจะนองหน้า
(ด้วยเสียใจตนเองที่บาดเจ็บหรือป่วยไข้
ไม่สามารถไปรบศึกกับเขาได้)

(เหล่าทหารเช่นว่านี้)
หากใช้ไปปฏิบัติงานในที่คับขันปานใด
เขาก็แสดงความกล้าหาญชาญชัย
เยี่ยงจวนจู (๑*) และเฉากุ้ย
(๒**)ให้ประจักษ์เป็นแม่นมั่น

เพราะฉะนั้น
การนำทัพของผู้ชำนาญการศึก
จึงเปรียบเช่นไสว้หยาน
ไสว้หยานคืออสรพิษแห่งหุบเขาฉางซาน
เมื่อถูกตีด้านหัว หางจะตวัดถึงทันที
ถ้าถูกตีทางหาง หัวจะแว้งกัดโดยฉับพลัน
ถ้าถูกตีกลางตัว หัวและหางจะตลบถึงทั้งสองข้าง

ถ้าตั้งปุจฉาว่า
"กองทัพก็อาจทำให้เหมือน
ไสว้หยานแหละหรือ?"
ตอบว่า "ทำได้"
อันชาวหวูกับชาวเยียะเป็นอริกัน
แต่ขณะที่ร่วมสำเภาและประสบมรสุม
เขาจักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ดังหนึ่งแขนซ้ายและแขนขวาทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ การที่ผูกม้ารบติดกัน
ให้รวมกลุ่มฝังล้อรถลงดินไว้
(อุปมาการตะล่อมผูกรัดเหล่าทหาร
ให้อยู่ในระเบียบวินัยมั่นคง)
จึงเป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้เลย
จำเป็นต้องให้เหล่าพล
มีความกล้าหาญสม่ำเสมอกัน
นี้เป็นหลักของการนำทัพ รู้จักสมคล้อย
ถือประโยชน์จากสภาพลุ่มดอนแห่งพื้นที่
นี้เป็นทฤษฎีทางภูมิศาสตร์
เพราะฉะนั้น
การนำทัพของผู้เชี่ยวชาญการศึก
อุปมาดั่งจูงคน ๆ เดียวให้ปฏิบัติงานได้นั้น
เนื่องจากเข้าใจบ่มก่อ
ความจำเป็นให้เกิดขึ้นนั่นเอง

คุณสมบัติของผู้บัญชาการทัพ
คือ ความเยือกเย็นสุขุม
และความเที่ยงธรรมมีระเบียบ

สามารถพรางหูตาของเหล่าพล
ไม่ให้รู้อะไรเลย

(ในด้านปฏิบัติต่อข้าศึก)
รู้จักยักย้ายวิธีดำเนินการ
และเปลี่ยนแปลงยุทโธบาย
เพื่อให้ข้าศึกตกอยู่ในความมืดมน
หรือแปลงที่ตั้งอ้อมวกวิถีทางเดิน
เพื่อมิให้ข้าศึกคาดหมายได้

การนำทัพสู่สมรภูมิดังที่กำหนดไว้
เปรียบเหมือนไต่เต้าไปสู่ที่สูง
แล้วชักบันไดออกเสีย
นำทัพลึกเข้าแดนข้าศึก
เปรียบเสมือนน้าวหน้าไม้แล้วลั่นไก
(ทั้งนี้ทั้งนั้น) อุปมาเหมือนดั่งต้อนฝูงแพะ
จะขับไล่ให้ไปหรือจะชักพาให้มา
เหล่าแพะย่อมไม่รู้กลความเลย)

การชุมนุมพลมหาศาล
คุมเข้าสู่แดนมหันตราย
(ซึ่งเป็นเหตุให้เหล่าพลร่วมใจกัน)
เป็นศิลปะของผู้บัญชาทัพ
ความพิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปรแห่งนวภูมิ
รู้แจ้งเห็นจริงในคุณหรือโทษของการหยุดยั้ง
ตั้งรับ หรือเคลื่อนไหว รุกไล่
ตลอดจนจิตวิสัยของมนุษย์
เป็นสิ่งที่ควรพิเคราะห์จงหนักแล

หลักการคุมทัพเข้าชิงชัยในแดนข้าศึก
ถ้ารุกลึกเข้าไป ขวัญทัพย่อมแน่วแน่เด็ดเดี่ยว
ถ้ากล้ำกรายเพียงชายแดน จิตใจย่อมไม่สำรวมดี
รบพุ่งถึงถิ่นแดนที่ห่างไกลจากประเทศของตน
โดยต้องข้ามประเทศเขตขัณฑ์เข้าไปนั้น
เรียกว่า อรันถภูมิ
แผ่นดินถิ่นที่ถึงไหนถึงได้ เรียกว่า มรรคภูมิ
ที่รุกลึกเข้าไป เรียกว่า คุรุภูมิ
ที่กล้ำกรายเพียงชายแดนคือ ลหุภูมิ
ด้านหลังยันที่สูง ด้านหน้าเป็นทางแคบ เรียกว่า บัญชรภูมิ
ที่จนตรอกไร้ทางออก เรียกว่า มรณภูมิ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อกองทัพอยู่ในอุธัจจภูมิ
ต้องเขม็งจิตใจรี้พลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เมื่ออยู่ในลหุภูมิ ต้องให้สมัครสมานคุมกันตามลำดับ
ในอุกฤษฏ์ภูมิ ต้องตีโอบเข้าทางด้านหลัง
ในสัญจรภูมิ ต้องรักษาไว้โดยไม่ประมาท
ในมรรคภูมิต้องเพิ่มพูนสัมพันธภาพกับประเทศนั้น ๆ
ในครุภูมิต้องอาศัยเสบียงอาหารจากข้าศึก
ในทุรภูมิต้องรีบรุดออกเสีย
ในบัญชรภูมิ ต้องปิดช่องโหว่ซึ่งข้าศึกเปิดล่อไว้
ในมรณภูมิต้องปลุกใจรี้พลให้ถือว่าเป็นเรือนเป็นเรือนตาย
(เพื่อให้รบพุ่งเต็มความสามารถจะได้หักฝ่าออกไปได้)

เพราะว่าวิสัยของทหาร
เมื่อถูกล้อมก็จะโต้ เมื่อจำเป็นก็จะสู้
ครั้นมีเหตุคับขันก็จะปฏิบัติมั่น
ตามคำสั่งของผู้เป็นนาย

ฉะนั้น ถ้าไม่รู้เจตจำนง
ของเหล่าเจ้าครองนคร
เราก็ผูกมิตรด้วยไม่ได้
ไม่รู้จักลักษณะภูเขา
ลำเนาไม้ แดนวิบาก ตลอดจน
ห้วยหนองคลองบึงบาง
จะยาตราไม่ได้
ไม่ใช้ชาวพื้นเมืองนำทาง
จะไม่ได้เปรียบจากพื้นภูมิประเทศ

เงื่อนงำได้เสียแห่งนวภูมิ
หากไม่รู้แจ้งแม้เพียง ๑
จะเรียกว่า กองทัพผู้พิชิตไม่ได้เลย

อันกองทัพของผู้พิชิตนั้น
เมื่อเข้าโจมตีประเทศใหญ่
ประเทศนั้นแม้จะมีรี้พลมากมายก็รวมกันไม่ติด
แสนยานุภาพซึ่งเข้าบดบังข้าศึก
จะทำให้แม้ประเทศที่มีพันธะกับศัตรูอยู่
ก็ต้องละล้าละลังเอาใจออกหากเสีย

ด้วยเหตุนี้
ไม่พึงกระตือรือร้นชิงผูกมิตรทั่วหล้า
ซึ่งยังผลให้ประเทศที่เราผูกมิตรด้วย
พลอยก่อหวอดเพิ่มพูนอิทธิบาทยิ่งใหญ่
จงเชื่อมั่นในกำลังของตน
ถึงคราวใช้แสนยานุภาพเข้าทำศึก
ก็จักถอนเมืองและล่มประเทศแห่งอริราชได้

(ยามฉุกเฉิน) จงปูนบำเหน็จรางวัลแก่เหล่าพล
ที่ทำความดีความชอบอย่างถึงใจ
และตั้งกฎเข้มงวดเกินอาชญาธรรมดา
เพื่อลงโทษผู้ประพฤติผิด
จงคุมแสนยากรให้ได้ดั่งช่วงใช้คน ๆ เดียว


จงบัญชาให้เหล่าพลปฏิบัติการ (โดยเคร่งครัด)
อย่าได้แจงเหตุผล
จงชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ของงาน
อย่าได้เกริ่นกล่าวถึงด้านที่อาจเป็นโทษ

(วิสัยของพลรบนั้น) ตกอยู่ในที่จนมุม
ก็จะดิ้นรนเพื่อหาทางรอด
ตกอยู่ในแดนตายก็จะขวนขวายเพื่อสวัสดิภาพ
ดังนั้น เมื่อกองทัพตกอยู่ในที่คับขัน
จึงอาจกลับแพ้เป็นชนะได้

เพราะฉะนั้น
ในการทำศึกจึงสำคัญที่สมคล้อย
ไปตามรูปรอยที่ข้าศึกมุ่งหมายไว้
ครั้นได้ทีก็รวมกำลัง
พุ่งเข้าทลายยังจุดเดียว
ไล่รุกบุกตะลุยเข่นฆ่าแม่ทัพข้าศึก
แม้ในหนทางยาวพันหลี่
ผู้ชำนาญการศึกย่อมมี
ประสิทธิภาพในการทำศึกเช่นนี้แล

ด้วยเหตุนี้ ในวันประกาศสงคราม
ต้องสั่งปิดพรมแดนและงดใช้หนังสือเดินทาง
เพื่อตัดขาดการติดต่อในทางทูต
และเข้มงวดกวดขัน
ในงานบริหารปกครองภายในประเทศ
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพจริงจัง

ข้าศึกหลวมตัวเปิดช่องให้เมื่อใด
ก็รีบรุดบุกเข้าทันที

จงจู่โจมเข้ายึดจุดสำคัญไว้ก่อน
แล้วกะการอย่างเงียบเชียบมิดเม้น
คลุกคลีตีรบข้าศึกตามแผนการรบเพื่อเผด็จศึก

เพราะฉะนั้น
หะแรกดูประหนึ่งสาวพรหมจารี
(ซึ่งมีความสงบเสงี่ยมและเชื่องช้าเอียงอาย)
ครั้นแล้วก็จะเป็นเช่นกระต่ายที่รอดข่ายแร้ว
หาทันที่ข้าศึกจะปิดจะป้องไม่
* ในสมัยชุนชิว หวูกวาง มีความประสงค์จะสังหารเจ้าครองนครหวู ซึ่งมีนามว่า เหลียวจึ่ง ในโอกาสงานกินเลี้ยงครั้งหนึ่ง ให้จวนจูเอามีดสั้นซ่อนไว้ในตัวปลาและปลอมแปลงเป็นคนนำเข้าถวาย ครั้นประชิดติดตัวก็จู่โจม เจ้าเหลี่ยวถึงแก่ความตาย แต่ในวาระเดียวกัน จวนจูก็ต้องตายด้วยน้ำมือทหารองครักษ์ของเจ้าเหลียวเช่นเดียวกัน เรื่องนี้งิ้วแสดงเสมอ เรียกว่า "หน้าดำถวายปลา"
** ในสมัยดังกล่าวของข้างต้น ยังมีกระทาชายคนหนึ่งชื่อเฉากุ้ย เป็นชาวหลู่ มีกำลังผิดมนุษย์ธรรมดา จึงได้รับการแต่งตั้งจากจวงกงให้นำทัพไปรบกับประเทศฉี แต่ต้องปราชัยถึงสามครั้งติด ๆ กัน เป็นผลให้จวงกงต้องยอมยกดินแดนส่วนหนึ่งให้ประเทศฉีเพื่อขอสงบศึก แต่ในโอกาสที่จวงกงและเจ้าครองนครฉีพบปะเพื่อลงนามสัญญานั้น เฉากุ้ยก็แสดงความห้าวหาญโดยปรากฏตัวที่ประชุมพร้อมมีดสั้น และบังคับให้เจ้าครองนครฉีคืนดินแดนแก่จวงกงเป็นผลสำเร็จ
** ในสมัยดังกล่าวของข้างต้น ยังมีกระทาชายคนหนึ่งชื่อเฉากุ้ย เป็นชาวหลู่ มีกำลังผิดมนุษย์ธรรมดา จึงได้รับการแต่งตั้งจากจวงกงให้นำทัพไปรบกับประเทศฉี แต่ต้องปราชัยถึงสามครั้งติด ๆ กัน เป็นผลให้จวงกงต้องยอมยกดินแดนส่วนหนึ่งให้ประเทศฉีเพื่อขอสงบศึก แต่ในโอกาสที่จวงกงและเจ้าครองนครฉีพบปะเพื่อลงนามสัญญานั้น เฉากุ้ยก็แสดงความห้าวหาญโดยปรากฏตัวที่ประชุมพร้อมมีดสั้น และบังคับให้เจ้าครองนครฉีคืนดินแดนแก่จวงกงเป็นผลสำเร็จ
---
ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน

แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน

แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529