ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน




ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
การรณรงค์สงคราม
เป็นงานใหญ่ของประเทศชาติ
เป็นจุดความเป็นความตาย
เป็นวิถีทางอันนำไปสู่ความยืนยงคงอยู่
หรือดับสูญหายนะ
พึงพินิจพิเคราะห์จงหนักทีเดียว





เพราะฉะนั้น
จึ่งวินิจฉัยด้วยกรณียกิจ ๕ ประการ
เปรียบเทียบถึงภาวะต่าง ๆ
เพื่อทราบความจริง กล่าวคือ
๑.ธรรม ๒.ดินฟ้าอากาศ
๓.ภูมิประเทศ ๔.ขุนพล ๕. ระเบียบวินัย





ธรรมคือ สิ่งที่บันดาลให้ทวยราษฎร์
ร่วมจิตสมานฉันท์กับฝ่ายนำ
ร่วมความเป็นความตาย
โดยมิได้ย่อท้อต่อภยันตรายใด ๆ เลย





ดินฟ้าอากาศ
คือ กลางวันกลางคืน ความร้อนความหนาว
และความผันแปรเปลี่ยนแปลงแห่งอากาศ





ภูมิประเทศ ก็คือความใกล้ไกล
ความทุรกันดารหรือราบเรียบแห่งพื้นที่
ความกว้างแคบของแนวรบ
ตลอดจนยุทธภูมินั้น
อยู่ในลักษณะเป็นตายอย่างไร





ขุนพล คือบุคคลผู้ประกอบด้วยสติปัญญา
ความเที่ยงธรรม ความเมตตา
ความกล้าหาญ และความเข้มงวดเด็ดขาด





ระเบียบวินัย
คือระบอบการจัดสรรพลรบ
วินัยแห่งทหาร
และการใช้จ่ายของกองทัพ





กรณียกิจ ๕ ประการนี้
แม่ทัพนายกองย่อมรู้อยู่ทั่วกัน
แต่ทว่าผู้รู้จริงจึงชนะ ผู้ไม่รู้จริงย่อมปราชัย





ด้วยเหตุฉะนี้
จึงต้องเปรียบเทียบภาวะต่าง ๆ
เพื่อทราบความจริง
กล่าวคือ มุขบุรุษฝ่ายไหนมีธรรม
ขุนพลฝ่ายไหนมีสมรรถภาพ
ดินฟ้าอากาศอำนวยประโยชน์แก่ฝ่ายใด
การบังคับบัญชาฝ่ายไหนยึดปฏิบัติมั่น
มวลพลฝ่ายไหนแข็งกล้า
ทแกล้วทหารฝ่ายไหนชำนาญศึก
การปูนบำเหน็จหรือการลงโทษ
ฝ่ายไหนทำได้โดยเที่ยงธรรม
จากเหตุเหล่านี้ ข้าฯก็พอหยั่งถึง
ซึ่งความมีชัยหรือปราชัยได้แล้ว





แม่ทัพนายกองคนใด
เห็นด้วยยุทโธบายของข้าฯ
เอาไว้ใช้คงชนะ จงรับไว้ใช้
ผู้ใดไม่เห็นชอบด้วย
ขืนใช้ไปคงต้องประสบความพ่ายแพ้แน่นอน
ก็ให้เขาออกจากหน้าที่ไปเถิด







เมื่อได้วางแผนการเหมาะสม
และผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเห็นชอบและเชื่อฟังดีแล้ว
ก้าวต่อไปก็คือ เสกสร้างเหตุการณ์ให้เกิดขึ้น
เพื่อคอยเป็นกำลังเสริมทางภายนอกอีกด้านหนึ่ง
อันว่าเหตุการณ์อันจะปลุกเสกขึ้นนั้น
เรามิพักต้องถือหลักเกณฑ์ตายตัว
จงทำไปโดยนัยประโยชน์ของฝ่ายเราก็แล้วกัน





ยุทธศาสตร์คือวิชาเล่ห์เหลี่ยมแต้มคู





เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีความสามารถจริง
พึงแสดงให้เห็นว่า เราไม่มีความสามารถเลย





ครั้นตกลงจะเข้าโรมรันด้วย
แต่แสดงประหนึ่งว่า เราไม่มีความประสงค์เช่นนั้น





สิ่งใดใกล้ก็แสดงให้เห็นว่าไกล
สิ่งใดไกลก็แสดงให้เห็นว่าใกล้





คอยล่อใจศัตรูด้วยนานาอามิสประโยชน์





เมื่อเห็นศัตรูแตกแยกระส่ำระสายแล้ว
ก็พึงเข้าหักเอา





จงเตรียมพร้อมเมื่อข้าศึกมีกำลังสมบูรณ์




หลีกเลี่ยงเมื่อข้าศึกเข้มแข็งแกร่งกล้าอยู่





เย้าเมื่อศัตรูตกอยู่ในโทสะจริต





พึงถ่อมตัวพินอบพิเทาเสริมให้ศัตรูโอหังได้ใจ





ต้องรังควาญให้เหน็ดเหนื่อยระอา
ในเมื่อศัตรูพักผ่อนเพื่อออมกำลัง





ยุรำตำรั่ว ให้ปรปักษ์แตกแยกความสามัคคีกัน





พึงหักเอาในขณะที่เขาไม่ได้เตรียมพร้อม
เข้าจู่โจมยามที่เขาไม่ได้คาดฝัน





ทั้งนี้ เป็นเงื่อนงำความมีชัยของนักการทหาร
จงอย่าแย้มพรายให้ศัตรูล่วงรู้
เจตจำนงแท้จริงของเราได้เป็นอันขาด





อันแผนการรบซึ่งสังสรรค์กัน
ในพระเทพบิดรมหาปราสาท (สภาการรบในสมัยโบราณ)
ได้บ่งชี้ให้เห็นชัยชนะแต่เมื่อยังไม่ได้รบกัน
ย่อมเนื่องจากได้พิจารณา
ทบทวนแผนการนั้นโดยรอบคอบแล้ว
ตรงกันข้ามลางแพ้จะปรากฏให้เห็นแต่ต้นมือ
เมื่อการวางแผนการรบยังไม่ละเอียดรอบคอบ
การณ์เป็นเช่นนี้ สาอะไรกับสงคราม
ซึ่งมิได้วางแผนการเอาเสียเลยเล่า
และด้วยสิ่งเดียวนี้
ขัาฯก็ประจักษ์ชัดถึงโชคชัยและปราชัยแล้ว

---


ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ


ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน





แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529