ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ




ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
ลักษณะพื้นภูมินั้น
มีที่สัญจรสะดวก
มีที่แขวน มีที่ยัน มีที่แคบ
มีที่คับขัน และมีที่คั่นไกล





ถ้าเป็นพื้นภูมิที่เรายกไปได้
และข้าศึกก็ยกมาได้
เรียกว่าที่สัญจรสะดวก
ในที่สัญจรสะดวก ฝ่ายเราต้องรีบยกเข้าตั้ง
ยังที่สูงโปร่ง (หันสู่ทิศอาคเนย์) ก่อน
และต้องรักษาเส้นทางลำเลียงอาหารให้ดี
เมื่อเข้าสัประยุทธ์ชิงชัยจักได้ชัยชนะ





ถ้าเป็นพื้นภูมิที่เราไปได้แต่กลับยาก
เรียกว่าที่แขวน (ลาดชัน)
ในที่แขวน หากข้าศึกไม่ได้เตรียมพร้อม
เราเข้าโจมตีจักได้ชัยชนะ
ถ้าข้าศึกเตรียมพร้อมอยู่แล้ว
เมื่อเรายกเข้าตีแล้วยังไม่สามารถชนะ
จะยากต่อการถอยกลับ ไม่ดีแล





ถ้าเป็นพื้นภูมิที่เราไม่ได้เตรียมยกออก
ข้าศึกก็ตกอยู่ในฐานะเช่นเดียวกัน เรียกว่าที่ยัน
ในที่ยัน หากข้าศึกเปิดช่องให้ด้วยกลล่อ
เราอย่าได้ยกออกเลย จงถอยค่ายไปเสีย
รอเมื่อข้าศึกเคลื่อนทัพออก
ติดตามได้ครึ่งหนึ่งจึงเข้าโจมตี
จักได้ชัยชนะ





ในพื้นภูมิที่แคบ เราเข้าตั้งมั่นก่อน
ต้องชุมนุมกำลังเพื่อคอยทัพศึก
หากข้าศึกเข้าตั้งเสียก่อนและมีกำลังสมบูรณ์
จงหลีกเลี่ยงการยุทธเสีย
รอเมื่อกำลังข้าศึกพร่องแล้ว
จงยกเข้าโจมตีเทอญ





ในพื้นภูมิที่คับขัน ถ้าเราเข้าตั้งอยู่ก่อน
จงตั้งทัพยังที่สูงโปร่ง (หันสู่ทิศอาคเนย์)
เพื่อคอยรับข้าศึก
หากข้าศึกเข้าตั้งเสียก่อน
จงถอนค่ายมาเสีย อย่าได้เข้าชิงชัยเลย





ในพื้นภูมิที่คั่นไกล
และกำลังทั้งสองฝ่ายต่างไล่เลี่ยกัน
ย่อมยากต่อการท้ารบ
ถึงรบก็จะเสียเปรียบ





บรรดาพื้นภูมิทั้ง ๖ ประการดังกล่าวนี้
เป็นหลักแห่งภูมิศาสตร์
ขุนพลผู้แบกภาระอันใหญ่หลวง
ชอบที่พิเคราะห์จงดี





เพราะฉะนั้น ในการศึกนั้น
จึงมีกองทัพที่มุ ที่หย่อน ที่ล่ม ที่ทลาย
ที่ระส่ำระสาย และที่แตกพ่ายปราชัย
ทั้ง ๖ ประเภทนี้
มิใช่เป็นเคราะห์กรรมธรรมชาติบันดาลให้เป็นไป
หากเป็นความผิดของผู้นำทัพเอง





อันว่ากำลังทั้งสองฝ่ายไล่เลี่ยกัน
กลับเอากำลังเพียง ๑ เข้าตี ๑๐
นี้เรียกว่า ทัพมุ





เหล่าพลเข้มแข็ง แต่จ่าขุนอ่อนแอ
นี้เรียกว่า ทัพหย่อน
ถ้าจ่าขุนฮึกห้าวแต่เหล่าพลอ่อนแอ
นี้เรียกว่า ทัพล่ม





แม่ทัพนายกองมีเหตุโกรธเคือง
ไม่เลื่อมใสในตัวขุนพล
เมื่อปะทะข้าศึกก็ออกรบ
ด้วยความฉุนเฉียวตามลำพังโดยพลการ
ทั้งขุนพลก็ไม่ทราบความสามารถของเขา
นี้เรียกว่า ทัพทลาย





ขุนพลอ่อนแอไม่เด็ดขาด
วิธีฝึกพลก็ไม่กระจ่างแจ้ง
ทั้งยักย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งจ่าขุนไม่หยุดหย่อน
ครั้นเวลาแปรขบวนทัพก็หันรีหันขวาง
นี้เรียกว่า ทัพระส่ำระสาย





ขุนพลไม่สามารถพินิจความศึกได้ถูกต้อง
จึงใช้กำลังน้อยเข้าตีกำลังมาก
เอาทหารอ่อนแอเข้าตีจุดเข้มแข็ง
ทั้งทัพหน้าก็มิได้คัดเลือกพลรบที่ชาญฉกรรจ์เข้าประจำ
นี้เรียกว่า ทัพพ่าย





บรรดาทัพทั้ง ๖ นี้ มีทางแห่งความปราชัย
ขุนพลผู้แบกภาระอันยิ่งใหญ่ จึงควรพินิจจงดี





อันลักษณะพื้นภูมินั้น
เป็นเพียงอุปกรณ์ช่วยเหลือในการศึกเท่านั้น
การพินิจพิเคราะห์การศึก และหาหนทางไปสู่ความมีชัย
ตลอดจนการคำนวณความคับขันใกล้ไกลเหล่านี้
จะเป็นคุณลักษณะโดยแท้ของผู้เป็นขุนพล





รู้หลักนี้และปฏิบัติต่อการยุทธ จึงจะชนะ
ถ้าไม่รู้จัก เข้าสัประยุทธ์
จักต้องพ่ายแพ้แน่นอน





ฉะนั้น เมื่อพิเคราะห์ตามหลักยุทธศาสตร์ว่าจักต้องชนะ
แม้มุขบุรุษจะกล่าวว่าอย่ารบ ก็พึงรบเถิด
ถ้าพิเคราะห์ผ่านหลักยุทธศาสตร์
เห็นว่าไม่มีท่าทีจะเอาชนะได้
แม้มุขบุรุษจะบัญชาให้รบ ก็อย่าได้รบเลย





ฉะนั้น ขุนพลผู้เข้ารับภารกิจทางทหาร
มิใช่ผู้ประสงค์จะแสวงหาชื่อเสียง
และเมื่อยับยั้งถอนตัวก็มิใช่ด้วยเกรงอาญาโทษทัณฑ์
เขามีเจตจำนงแน่วแน่แต่จะคุ้มครองเหล่าพสกนิกร
และอวยประโยชน์แก่ผู้เป็นนาย
ขุนพลเช่นว่านี้คือมิ่งขวัญของประเทศชาติแล






ปฏิบัติต่อรี้พล ต้องเยี่ยงมารดาถนอมลูกอ่อน
จึงอาจนำทัพไปสู่หุบห้วงมหันตราย
ถ้าปฏิบัติเช่นบิดาที่รักบุตร จึงกอดคอกันตายได้





หากว่าชุบเลี้ยงอย่างถึงขนาดแล้ว
แต่ไม่สามารถช่วงใช้ได้
รักอย่างสุดใจ แต่ไม่อยู่ในบังคับบัญชา
คราวทำผิดระเบียบวินัยก็ไม่อาจลงโทษทัณฑ์กัน
เหล่าพลเช่นนี้เปรียบเหมือนบุตรที่กำเริบเสิบสาน
ใช้ทำศึกไม่ได้เลย






รู้กำลังฝ่ายตนพอเข้าตีได้
แต่ไม่ทราบว่าข้าศึกจักตีได้หรือยังก็ดี
หรือรู้ว่าข้าศึกอาจตีเอาได้
แต่ประมาณไม่ถูกว่ากำลังตน
เพียงพอแล้วหรือไฉนก็ดี
หรือแม้จะรู้ว่าข้าศึกพึงตีเอาได้
แต่มิรู้ว่าลักษณะพื้นภูมิ
ไม่อำนวยผลในการรบก็ดี
ทั้งนี้ นับว่าชนะเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น





ฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญการศึก
ปฏิบัติการอันใดย่อมไม่ผิดพลาด
ดำเนินการยุทธย่อมไม่มีทางอับจน
จึงกล่าวได้ว่า รู้เขารู้เรา ชัยชำนะจักไม่พลาด
หยั่งรู้ดินฟ้าอากาศ ชัยชนะจักสมบูรณ์แล



---


ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ


ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน





แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529