ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง



ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
ผู้ถึงสมรภูมิคอยทัพข้าศึกก่อน กำลังย่อมสดชื่น
ส่วนผู้ที่ถึงหลังและยังต้องเข้ารบด้วย ย่อมเหน็ดเหนื่อยอิดโรย
จึ่งผู้ชำนาญการศึกพึงคุมผู้อื่น
หายอมอยู่ในฐานะให้ผู้อื่นคุมไม่







การที่จะทำให้ข้าศึกมาเข้าบ่วงเอง
ก็ด้วยล่อให้เห็นผลได้
และจะให้ศัตรูขยาดไม่เข้าใกล้
ก็ด้วยแย้มให้เห็นผลเสีย ด้วยเหตุนี้
ถ้าศัตรูอยู่ในภาวะสดชื่นกระปรี้กระเปร่า
เราก็อาจรังควาญให้ได้รับความลำบาก
ถ้าอิ่มหมีพีมัน เราก็อาจทำให้หิวโหย
ถ้าสงบมั่นคง เราก็อาจทำให้หวั่นไหวสะดุ้งสะเทือน






จึ่งโจมตีในเส้นทางที่ข้าศึกจะต้องมา
และเข้าบุกคราศัตรูมิได้คาดฝัน
การตีกองทัพเดินทางไกลตั้งพัน 'หลี่' (ราว ๓๕๗.๙ ไมล์)
โดยไม่รู้สึกอิดโรยนั้น
ก็เพราะเดินทางไปในแนวที่ปลอดคน (ไม่มีศัตรูรบกวน)
การตีเมืองเป็นต้องได้
ก็เพราะตีเมืองที่ศัตรูไม่สามารถจะรักษาไว้
ครั้นถึงคราวรักษาเมืองก็รักษาได้เหนียวแน่นมั่นคง
ก็เพราะข้าศึกไม่พึงประสงค์เข้าตี





ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่สันทัดการรุก
จึงเข้าบุกจนศัตรูไม่มีทางรับ
ส่วนผู้ชำนาญการตั้งรับ
จะทำให้ข้าศึกไม่ทราบว่าจะเข้าตีอย่างไร






มันช่างแสนพิศดารยิ่งหนอ
ถึงแก่ไม่แสดงรูปลักษณ์ให้เห็น
มันช่างมหัศจรรย์เหลือล้น
ถึงแก่ไม่ปรากฏสุ้มเสียงให้ได้ยิน
จึงอาจกำชีวิตไพรินไว้ได้โดยเด็ดขาด






ยามเข้าราญรุก
ก็บุกจนข้าศึกต้านทานไม่อยู่
เพราะเข้าทลายจุดอ่อน
ครั้นทีถอยก็ถอยจนไล่ไม่ติด
เพราะความรวดเร็วไม่ทันกัน






ฉะนี้ เมื่อเราต้องการจะรบ
แม้นข้าศึกจะอยู่ในป้อมค่ายอันสูง
และมีคูเมืองอันลึกล้อมรอบ
ก็ไม่วายที่ต้องออกรบด้วยความจำใจ
ด้วยว่าเข้าตีจุดที่ข้าศึกต้องแก้นั่นเอง
คราเราไม่ประสงค์จะรบ
แม้นขีดเส้นตั้งรับไว้บนพื้นดิน
ศัตรูก็ไม่อาจรบเราได้
เนื่องด้วยผิดจำนงในการเข้าตีของเขา






ฉะนั้น จึงให้ศัตรูเป็นฝ่ายเปิดเผย
ส่วนเราไม่สำแดงร่องรอยให้ประจักษ์
กระนี้ฝ่ายเรารวม แต่ศัตรูแยก
เรารวมเป็นหนึ่ง ศัตรูแยกเป็นสิบ
เท่ากับเราเอาสิบเข้าตีหนึ่ง
เมื่อกำลังฝ่ายเรามากแต่ศัตรูน้อย
การที่เอากำลังมากจู่โจมกำลังน้อย
สิ่งที่เราจะจัดการกับข้าศึกก็ง่ายดาย






สถานที่เราจะรบข้าศึก
เรามิแย้มพรายให้รู้
เมื่อข้าศึกไม่รู้ก็ย่อมต้องแบ่งแยกกำลัง
เตรียมรับไว้หลายแห่งด้วยกัน
เมื่อข้าศึกกระจายกำลังป้องกันมากแห่ง
ส่วนที่เราต้องเข้ารบพุ่งด้วยก็ย่อมน้อยลง






ฉะนั้น ถ้าระวังหน้า กำลังทางหลังจะน้อย
ระวังทางด้านหลัง กำลังทางด้านหน้าจะน้อย
ระวังด้านซ้าย กำลังทางขวาจะน้อย
ระวังด้านขวา กำลังทางซ้ายจะน้อย
ระวังเสียทุก ๆ ด้าน กำลังทุก ๆ ทางจะบางลง
การที่กำลังน้อยก็ด้วยว่าต้องระวังผู้อื่น
(และตรงกันข้าม) กำลังจะเพิ่มพูนขึ้น
ก็โดยให้ผู้อื่นระวังระไวเรา






ดังนั้น ถ้าเรารู้สถานที่และวันเวลาที่จะรบแล้วไซร้
แม้ว่าเราจะต้องรบข้าศึกในระยะไกลตั้งพัน 'หลี่' ออกไป
เราก็สามารถเข้าทำการชิงชัยได้






ถ้าไม่รู้สถานที่และวันเวลาที่จะต้องรบ
(ครั้นเมื่อถูกโจมตีเข้า)
กำลังปีกซ้ายก็ไม่สามารถเข้าช่วยปีกขวา
กำลังทางปีกขวาก็ไม่สามารถช่วยปีกซ้าย
กำลังทางกองหน้าไม่สามารถเข้าช่วยกองหลัง
และกองหลังก็ไม่สามารถช่วยกองหน้า (การณ์เป็นเช่นนี้)
ก็สาอะไรกับกอง ๆ หนึ่ง
ยังตั้งห่างกันหลายสิบ 'หลี่' ในระยะไกล
หรือหรือหลาย 'หลี่' ในระยะใกล้เล่า






ตามความพิเคราะห์ของข้าฯ
ถึงพลรบของประเทศ 'ยุ-เวะ' (เยียะ) มีมากมาย
จะมีประโยชน์อันใดกับการมีชัยได้ฤา?






เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า
อันชัยชนะอาจสร้างขึ้นได้ (มิใช่สิ่งสุดวิสัย)
แม้นศัตรูจะมีจำนวนมากหลาย
ก็อาจทำให้หมดกำลังสู้รบได้






ด้วยเหตุนี้ ต้องพิจารณาสภาพเราสภาพเขา
เพื่อให้รู้เชิงได้เชิงเสีย
ต้องทำการสอดแนม
เพื่อรู้เบาะแสการเคลื่อนไหวของข้าศึก
ต้องวางกำลังทหารเพื่อรู้แดนเป็นแดนตาย
และต้องฟัดเหวี่ยงประลองดู
เพื่อรู้ว่ากำลังของเราจุดไหนขาดเกินประการใด






ฉะนั้น การจัดทัพอย่างเลิศแล้ว
จะไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็น
เมื่อปราศจากร่องรอยอันใด
แม้จารบุรุษที่ลึกล้ำ
ก็ไม่สามารถเล็งเห็นเจตจำนงของเราได้
แม้เจ้าปัญญา
ก็ไม่สามารถดำเนินกโลบายต่อเราอย่างไร






เนื่องด้วยหยั่งรู้ความลึกตื้นหนาบางของข้าศึก
จึงนำความมีชัยมายื่นให้กองทัพของตน
ถึงเหล่าทวยหาญก็ไม่แจ้งในเหตุแห่งชัยชนะได้
ชนทั่วไปต่างรู้เห็นรูปการณ์ที่เราเอาชนะอยู่
แต่ไม่อาจล่วงรู้ถึงหลักประกันแห่งชัยชนะนั้น ๆ ฉะนี้
วิธีเอาชนะจึงไม่ซ้ำแบบ
และอาจสนองกับเหตุการณ์โดยไม่รู้จักจบสิ้น






ฉะนั้น การใช้กำลังทหาร
จึงเหมือนหนึ่งธรรมชาติของน้ำ
น้ำย่อมหลีกที่สูงไหลสู่ที่ต่ำ
ลักษณะการยุทธก็ย่อมหลีกเลี่ยงด้านที่มีกำลังเข้มแข็ง
ยักย้ายเข้าตีจุดอ่อนแอ
น้ำย่อมจัดกระแสไหลบ่าไปตามลักษณะพื้นภูมิ
การยุทธก็ย่อมเอาชนะกันตามสภาวะของข้าศึก






ฉะนั้น การยุทธจึงไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว
เฉกเช่นน้ำ ซึ่งหามีรูปลักษณะอันแน่นอนไม่
จึงผู้เอาชนะด้วยปฏิบัติการเหมาะสม
กับความผันแปรของข้าศึกนั้น
พึงกล่าวได้ว่า
เขาคือเทพเจ้าผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ทีเดียว






ฉะนั้น ในกองธาตุทั้ง ๕
ย่อมไม่มีธาตุใดชนะเป็นเยี่ยมในที่สุด
(เช่น ธาตุไฟแพ้ธาตุน้ำ แต่ธาตุน้ำแพ้ธาตุดิน ฯลฯ ผู้แปล)
ฤดูกาลทั้ง ๔ ย่อมไม่มีตำแหล่งที่แน่นอน
แสงตะวันย่อมมีสั้นยาว (ตามฤดูกาล)
ดวงจันทร์ย่อมมีขึ้นปักษ์แรมปักษ์
(ดังเช่นการศึกซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวนั่นแล)



----


ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ


ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน





แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529