ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
การเคลื่อนพลนั้น
รถใช้ในการโจมตีอันเทียมด้วยม้าสี่
และรถพิทักษ์หุ้มเกราะหนังแต่ละพันคัน
พลรบนับแสนซึ่งพร้อมสรรพด้วยเกราะ โล่ ดั้ง เขน
การลำเลียงเสบียงอาหารในระยะทางไกลตั้งพันโยชน์
ค่าใช้จ่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ
รายจ่ายในการรับรองทูตานุทูต
ค่าเครื่องอุปกรณ์อาวุธ เช่น กาวหรือยางไม้
ค่าซ่อมแซมเครื่องรบนานาชนิด
ต้องใช้จ่ายวันละพันตำลึงทอง
จึงสามารถยกพลจำนวนเรือนแสนได้
ดังนั้น การนำพลเข้าโรมรันกัน
หลักสำคัญคือ รีบคว้าเอาชัยชนะเสียในเร็ววัน
ถ้าปล่อยให้การรบยืดเยื้อแล้ว
อาวุธยุทโธปกรณ์จะลดความคมกล้า
ขวัญทหารนับวันจะเสื่อมทราม
เมื่อคิดจะโหมเข้าหักเมือง
กำลังรี้พลก็อ่อนเปลี้ยแล้ว
กองทัพต้องติดศึกอยู่นานวันฉะนี้
การคลังของประเทศก็จะเข้าตาจน
อันอาวุธขาดความคมกล้า
ขวัญทหารเสื่อมทราม
กำลังรี้พลกะปลกกะเปลี้ย
และทรัพย์สินเงินทองฝืดเคือง
(เมื่อมีอันเป็นไปเช่นนี้)
ประเทศราชทั้งหลาย
ก็จักฉวยโอกาสลุกฮือขึ้นทันที
เบื้องนี้ ถึงแม้จะมีผู้กอปรด้วยสติปัญญาเฉียบแหลมปานใด
ก็ไม่สามารถบริหารงานให้เป็นไปโดยราบรื่นได้
ฉะนี้ ดั่งได้สดับมา การรบนั้น
แม้ผู้เขลาก็ยังทราบว่า
ต้องการความรวดเร็ว
ไม่เคยปรากฏว่าผู้ฉลาดใด
นิยมการยืดเยื้อชักช้าเลย
อันการศึกติดพันกันเป็นเวลานาน
แต่ประเทศชาติกลับได้รับประโยชน์จากเหตุนั้น
ยังไม่เคยปรากฏเลย
จึ่งผู้ใดยังไม่ทราบผลร้ายของสงครามโดยถ่องแท้แล้ว
ผู้นั้นยังไม่ทราบซึ้งถึงผลดีของสงครามเช่นเดียวกัน
ผู้สันทัดจัดเจนในการศึก
เขาไม่ระดมพลถึงคำรบสอง
เขาจะไม่ลำเลียงเสบียงอาหารถึง ๓ ครั้ง
อาวุธยุทโธปกรณ์เครื่องใช้
ซ่อมจากประเทศของตนเอง
แต่เสบียงอาหารพึงเอาจากศัตรู กระนี้
อาหารของเหล่าทหารจึงเพียงพอแล
ประเทศจะยากจนลง
ก็เพราะต้องส่งเสบียงอาหาร
แก่กองทัพในระยะทางไกล
ด้วยว่าการกระทำเช่นนั้น
ย่อมทำให้เหล่าประชายากแค้นแสนเข็ญ
ในเขตการทหาร
จะซื้อสิ่งของก็ต้องซื้อด้วยราคาแพง
ของแพงจักทำให้เงินทองราษฎร
ร่อยหรอสิ้นเปลืองไป
การสิ้นเปลืองนี้แหละ
จะนำมาซึ่งการเกณฑ์สรรพวัตถุต่าง ๆ อีก
กำลังแรงงานและกำลังทรัพย์ของประเทศ
ต้องสิ้นเปลืองไปจนหมดสิ้น
ทุกครัวเรือนจักว่างเปล่า
รายได้ของประชาราษฎร์
ต้องถูกเกณฑ์ใช้ ๗ ใน ๑๐
การสิ้นเปลืองของประเทศ
อาทิ รถรบที่ชำรุดเสียหาย
ม้าลาที่พิกลพิการ
เสื้อเกราะ หมวกเหล็ก ธนู
หอกหลาว ดั้ง เขน โล่ใหญ่
ตลอดจนวัวเขื่องและรถหนัก
จะต้องสูญเสียถึง ๖ ใน ๑๐
เพราะฉะนั้น ขุนพลผู้กอปรด้วยสติปัญญา
พึงหาเลี้ยงรี้พลของตนจากศัตรู
การกินข้าวของศัตรู ๑ 'จง'
มีผลดีเท่ากับกินของตนเอง ๑๐ 'จง'
ใช้พืชเลี้ยงสัตว์พาหนะ
เช่น ต้นถั่วหรือฟางข้าว ๑ 'ซึ'
เท่ากับใช้ของตนเอง ๒๐ 'ซึ'
ดั่งนี้ การที่จะให้ทหารเข่นฆ่าข้าศึก
ก็โดยปลุกปั่นให้เกิดความเคียดขึ้ง
จะให้รี้พลหาญหักเข้าช่วงชิง
สัมภาระทั้งหลายของศัตรู
ก็โดยให้สินจ้างรางวัล
ดั่งเช่นการรบด้วยยานรถ
ผู้จับรถข้าศึกได้ ๑๐ คันขึ้นไป
ต้องปูนบำเหน็จทหารเข้ายึดคนแรกให้ถึงขนาด
แล้วเปลี่ยนธงประจำรถขึ้นทำเนียบของเรา
เชลยศึกซึ่งจับได้นั้นต้องเลี้ยงดูโดยดีเพื่อช่วงใช้ตามควร
นี้แหละจึงจะได้ชื่อว่า ยิ่งชนะข้าศึกเพียงใด
ก็ยิ่งเพิ่มความเกรียงไกรแก่ตนเองเพียงนั้น
เพราะฉะนั้น การทำสงคราม
ต้องรีบกำชัยชนะเผด็จศึกในเร็ววัน
ไม่ควรเนิ่นช้าอยู่
ฉะนั้น ขุนศึกผู้รอบรู้การศึก ก็คือ
วีรบุรุษผู้กำความเป็นความตายของผองนิกร
และผู้แบกไว้ซึ่งภาระ
อันจะยังความร่มเย็นหรือทุกข์เข็ญ
แก่ประเทศชาตินั้นแล
---
ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน
แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529