จุดอ่อนและความผิดพลาดของขงเบ้ง จากสามก๊ก


ศาลเจ้าจูกัดเหลียง (ขงเบ้ง) ที่มณฑลเสฉวน
จูกัดเหลียง (อังกฤษ: Zhuge Liang; จีนตัวเต็ม: 諸葛亮; จีนตัวย่อ: 诸葛亮; พินอิน: Zhūge Liàng) หรือ ขงเบ้ง
ที่มาภาพ: th.wikipedia.org
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความผิดพลาดของขงเบ้ง

ก๊กของเล่าปี่ ซึ่งมีขงเบ้งเป็นกุนซือ เปรียบเสมือนบริษัทใหม่ที่มาแรง พัฒนาจากบริษัทเล็กๆเป็นขุมกำลังอันกว้างใหญ่ แต่แล้ว เหตุไรการขยายตัวของอาณาจักรนี้จึงชะลอตัว และอ่อนแอไปในที่สุด ทั้งๆที่มีขุนพลขุนนางที่มีความสามารถปรากฏมากมายกว่าดินแดนอื่นๆ หรือเป็นเพราะว่าขงเบ้ง ท่านกุนซือใหญ่ ดำเนินการผิดพลาดในเรื่อง:

1. การกระจายงาน ขงเบ้งรับงานไว้กับตัวเองมากจนเกินไปทั้งด้านการทหารและการปกครอง ไม่ได้มอบหมายให้ใครมาช่วยแบ่งเบางานออกไป ขนาดว่าตัวเองออกทัพทำสงคราม ก็ยังเอานำงานการปกครองมาทำอีกด้วย ทำให้ตนเองหักโหมงานมากและสุขภาพทรุดโทรม สุดท้าย สุมาอี้รู้ทันในจุดอ่อน จึงตั้งรับเฉยๆ เพื่อให้ขงเบ้งแพ้ภัยตัวเองในบั้นปลาย

2. การใช้คน ขงเบ้งประมาทเกินไปที่ปล่อยให้กวนอูอยู่รักษาเมืองหน้าด่านสำคัญใกล้กับซุน กวน ทั้งที่รู้อยู่ว่ากวนอูนั้นเป็นคนดื้อ และพูดจาดุดัน ควรให้ออกรบหรือรักษาเมืองแบบการทหารนำหน้า ไม่เหมาะที่จะปกครองเมืองที่ต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้าน ดังนั้น ด้วยคำพูดที่ไร้ไมตรีของกวนอูนั่นเองที่ทำให้กวนอู เตียวหุย และเล่าปี่ ต้องมาตายตามกันไปหมด พร้อมด้วยกองทัพหลายสิบหมื่นคน ทำให้กำลังทหารของก๊กนี้ต้องเสียเวลาเลียแผลอยู่นาน

3. การใช้คำพูด ขงเบ้งมักใช้คารมยั่วยุและดูถูกเพื่อให้ผู้ฟังมีความโกรธ และอยากออกรบ เช่น จิวยี่ กวนอู ฮองตง และสุมาอี้ เรียกว่าทั้งมิตรทั้งศัตรูล้วนเจอไม้ตายของขงเบ้งทั้งสิ้น จริงอยู่ว่าในระยะสั้น วิธีนี้อาจจะได้ผลดีอยู่บ้าง แต่การอยู่ร่วมกันนานๆหรือมีการติดต่อสัมพันธ์กันเรื่อยๆแล้ว วาจาที่สุภาพไพเราะและการยกย่องให้เกียรติกันน่าจะให้ผลดีมากกว่า ดังจะเห็นว่า เล่าปี่เหนือกว่าขงเบ้งมากนักในเรื่องนี้ เพราะขนาดว่าเล่าปี่ใกล้ตายแล้ว ยังทิ้งคำพูดให้ขงเบ้งอยู่ทำงานต่อให้จนตายตามกันไปในที่สุด

4. ความเป็นผู้นำ ขงเบ้งมักจะทำงานแบบข้ามาคนเดียว คนอื่นให้ความเห็นก็ไม่สนใจจะรับฟัง เช่น บังทอง อุยเอี๋ยน ให้คำแนะนำก็ไม่ได้เชื่อถือ สุดท้าย คนแรกตายเปล่า คนหลังเป็นขบถไปในที่สุด และอาจเป็นสาเหตุนี้เองที่ไม่มีคนมีความสามารถเข้ามาร่วมในกองทัพเพิ่มขึ้น เลยในระยะหลังๆ

5. การสร้างคน ขงเบ้งไม่ได้ให้ความสำคัญในการสร้างคนให้รองรับงานในอนาคต ทำให้อาณาจักรอ่อนแอลงมากเมื่อขงเบ้งสิ้นอายุไป เกียงอุยที่รับช่วงการทหารต่อจากขงเบ้งไม่เคยได้รับยกย่องเท่าที่ควรทำให้ ทหารในบังคับบัญชากระด้างกระเดี่อง และเป็นเหตุให้อุยเอี๋ยนหาเหตุก่อการขบถได้ ส่วนการปกครองก็ขาดความเข้มแข็ง ทำให้เล่าเสี้ยน ลูกเล่าปี่ทำตัวเหลวแหลกจนอาณาจักรนี้ล่มสลายไปก่อนก๊กอื่น
ดูๆไปแล้วขงเบ้งก็เป็นเหมือนคนเก่ง มีความรู้ความสามารถเฉพาะตัวสูง แต่ขาดทักษะในเชิงบริหารสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ กลับกลายเป็น โจโฉ เล่าปี่ ซุนกวน 3ผู้นำ3สไตล์ ที่มีจุดเด่นในการบริหารมากกว่า และได้สะท้อน ประกายความคิดผ่านเหล่าขุนพลของพวกเขาได้อย่างล้ำลึก

บทความที่เกี่ยวข้อง: