เส้นทางสู่ดวงดาว จากสามก๊ก

บทความนี้กล่าวถึงการเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อความยิ่งใหญ่ของมืออาชีพระดับพระกาฬในสามกีก ซึ่งเปรียบได้กับการต่อสู้ทางการเมืองภายในองค์กรต่างๆในปัจจุบันก็ย่อมได้ จึงขอใช้แนวทางนี้ในการวิจารณ์ตัวละครทั้ง 10 ดังกล่าวตามสมมุติฐานข้างต้น

1. โจรโพกผ้าเหลือง (ลิขิตสวรรค์กำหนดไว้) กลุ่มโจรผู้จุดชนวนสงครามอันยาวนานนี้ อ้างอิงประกาศิตสวรรค์ ทำให้ประชาชนเข้าร่วมขบวนการเป็นจำนวนมาก การใช้จิตวิทยาขั้นสูง เช่น สิ่งเหนือธรรมชาติ เช่นนี้ เป็นวิธีการที่ใช้ได้ดีในยุคสมัยนั้น และเมื่อผ่านเวลาอันยาวนาน สิ่งสมมุติเหล่านั้น ก็กลับกลายเป็นตำนานที่ยากจะพิสูจน์ได้จริงแล้ว

หมายเหตุ จงโฮย แม่ทัพวุยก๊ก อ้างว่า ขงเบ้งมาเข้าฝันให้ละเว้นชีวิตราษฎรเมืองเสฉวน เมื่อยึดเมืองได้ นั่นก็เป็นสิ่งที่ยากพิสูจน์ แต่ก็ทำให้ชาวเมืองเสฉวนถอดใจยอมแพ้ได้ง่ายๆอย่างแน่นอน

2. ตั๋งโต๊ะ (ปฏิวัติยึดอำนาจ) การเข้าสู่อำนาจที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพที่สุด ย่อมเป็นการใช้กำลังเข้ายึดครอง ตั๋งโต๊ะฉวยโอกาสที่เมืองหลวงวุ่นวายไร้ผู้นำ จู่โจมเข้าราชสำนัก ปรับเปลี่ยนฮ่องเต้ที่ง่ายแก่การควบคุมเข้าแทน จึงเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้ในทันที แต่การกระทำเช่นนี้ หักหาญและโจ่งแจ้งเกินไป ทำให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างมากมาย อันนำไปสู่ความตายของเขาในที่สุด

3. อ้วนเสี้ยว (กำลังเข้มแข็ง ชื่อเสียงยาวนาน) จากศึกสิบเจ้าเมือง จะเห็นได้ว่าทัพอ้วนเสี้ยวแข็งแกร่งที่สุด (นับรวมทัพอ้วนสุดด้วย) และตัวเขาเองก็อยู่ในตระกูลขุนนาง สืบทอดมาหลายชั่วคน จึงได้เป็นผู้นำในหมู่เจ้าเมืองทั้งหลายโดยชอบธรรม เสียดายที่การกระทำของเขาเอง ไม่อาจยึดกุมจิตใจของเจ้าเมืองทั้งหลายได้ และทำให้การศึกไม่เกิดผลตามที่หวัง

4. โจโฉ (อิงอำนาจรัฐ) โจโฉช่วงชิงจังหวะที่เมืองหลวงเกิดสูญญากาศทางการเมืองเพราะการตายของตั๋ง โต๊ะ บุกเข้าเมือง ปราบสมุนทรราชย์ ค้ำจุนเหี้ยนเต้ จึงเกิดความชอบธรรมในการปกครอง และชูธงกองทัพแห่งราชวงศ์ฮั่นปราบขบถแข็งข้อ โดยเริ่มจากก๊กเล็กก๊กน้อยไปเรื่อย แล้วค่อยขยายผลไปสู่ศึกใหญ่ เช่น ศึกกัวต๋อ ศึกเซ็กเพ็ก ในที่สุด แม้ว่าจะแพ้บ้างชนะบ้าง แต่ด้วยความที่เป็นผู้ค้ำจุนบัลลังค์กษัตริย์ จึงคงอยู่ในตำแหน่งได้อย่างยาวนาน

5. ซุนเซ็ก (ยอมถอยเพื่อรุก) ซุนเซ็กยอมเสียสละดวงตราจักรพรรดิ์ให้อ้วนสุด เพื่อแลกกับกองกำลังจำนวนหนึ่ง และเขาก็เริ่มบุกลงใต้ สร้างเสริมขุมกำลังให้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นการถอยจากจุดยุทธศาสตร์ที่วุ่นวาย ไปสู่จุดตั้งมั่นที่มั่นคงยิ่งกว่า ทำให้เขาสร้างตนขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว แต่การที่เขามาด่วนตายไปเสียก่อน ทำให้พลาดโอกาสในการรุกคืบหน้าไปอย่างน่าเสียดาย

6. เล่าปี่ (ใช้ภาพลักษณ์และสายสัมพันธ์) เล่าปี่เริ่มต้นด้วยการอ้างตนเป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่น สาบานเป็นพี่น้องกับสองยอดฝีมือ จนมีโอกาสเข้าเฝ้า และได้รับการแต่งตั้งเป็น "พระเจ้าอา" ไปได้ เล่าปี่มักวางตนเป็นฝ่ายธัมมะ ยึดหลักการความถูกต้องอยู่เสมอ ทำให้หลายครั้งที่เล่าปี่ต้องไปอาศัยพึ่งพิงเส้นสายต่างๆบังเกิดผลดีต่อตัว เขาเอง เช่น เล่าเปียว ลิโป้ โจโฉ อ้วนเสี้ยว ซุนกวน เป็นต้น และในที่สุด เล่าเจี้ยงแห่งเสฉวน ก็หลงตามกระแส ยินยอมชักศึกเข้าบ้านตัวเองโดยแท้

7. ซุนกวน (เล่นบทที่ชำนาญ) ซุนกวนเข้าสู่อำนาจด้วยเชื้อสาย แต่รักษาอำนาจได้ดียิ่งนัก ทั้งนี้ เพราะเขาเล่นบทที่เขาชำนาญกว่าใคร ความที่เขาเป็นนักบริหาร จึงสร้างรูปแบบการทำงานแบบหนู่คณะ เพื่อให้คนที่เหมาะสมไปทำงานตามที่ตนถนัด เช่น จิวยี่ โลซก ดูแลการทหาร และ เตียวเจียว จูกัดกิ๋น ดูแลงานบุ๋น เป็นต้น นอกจากนี้ เขายังดำเนินนโยบายตั้งรับ ไม่บุกขยายผลอย่างพร่ำเพรื่อ จึงทำให้ก๊กนี้อยู่รอดได้ยาวนาน

8. ขงเบ้ง (ยืมร่างสร้างชีวิตใหม่) จากชาวนาแห่งโงลังกั๋ง กลับกลายมาเป็น รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของแคว้นหนึ่ง ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก หากมิได้การเกื้อหนุนจากคนรอบข้าง ขงเบ้งอาศัยเล่าปี่ในการไต่เต้าตามเส้นทางของเขาจนมาในจุดที่มั่นคงได้แล้ว ส่วนการจะเข้าแทนที่เล่าเสี้ยนนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแต่อย่างใด เพียงแต่รอจังหวะและโอกาสอันสมควรเท่านั้นเอง เช่น การยึดครองฮันต๋งและริดรอนอำนาจจากอุยเอี๋ยน (เจ้าฮันต๋ง - พี่เมียของเล่าปี่) การลดทอนความฮึกเหิมของจูล่งและลิเงียม (คนเก่าแก่ของเล่าปี่) เป็นต้น หากเขาไม่ด่วนตายไปเสียก่อน เขาคงไม่ปล่อยเล่าเสี้ยนผู้โง่งมครองราชย์ได้นานนัก

9. สุมาอี้ (แทรกซึมแล้วยึดครอง) ไต่เต้าจากขุนนางชั้นผู้น้อย สุมาอี้เดินบนเส้นทางคล้ายคลึงกับขงเบ้ง เขาทำให้เจ้านายไว้ใจและวางใจในตนเอง จนเหลือเพียงแต่การช่วงชิงอำนาจจากพวกแซ่โจให้สำเร็จเท่านั้น และแล้ว พรรคพวกของเขาจึงเริ่มผงาดเหนือราชวงศ์วุยเป็นเวลายาวนาน ประชาชนก็เริ่มจะคุ้นเคยกับการบริหารบ้านเมืองของพวกเขา จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานซึ่งรวบรวมแผ่นดินได้เป็นหนึ่งเดียว ก็ด้วยวิธีการแทรกซึมก่อนเช่นกัน ราชวงศืจิ้นจึงได้บังเกิดขึ้น ด้วยนโยบายอันลึกซึ้งและวิสัยทัศน์อันยาวไกลของสุมาอี้นั่นเอง

10. เกียงอุย (ยุยงให้ล้มตาย) เกียงอุยใช้โอกาสอันน้อยนิด ทุ่มทุนสุดตัวเพื่อให้จงโฮย เตงงายและสุมาเจียวต่อสู้กันให้บอบช้ำที่สุด โดยอาศัยทัพของจงโฮยเป็นใบเบิกทาง เพื่อให้ตนเองมีโอกาสพลิกฟื้นสถานการณ์ได้บ้าง เสียดายที่สุมาเจียววางแผนลึกซึ้งกว่า ทำให้แผนการณ์ของเขาล้มเหลวไปแค่ครึ่งค่อนทางเท่านั้นเอง


*bloggang.com


บทความที่เกี่ยวข้อง: