ตำราพิชัยสงครามของซุนวู บทที่ 1. การประเมิน (จีนตัวเต็ม: 始計; จีนตัวย่อ: 始计)

1. การประเมิน (จีนตัวเต็ม: 始計; จีนตัวย่อ: 始计)

SUNTZU กล่าวไว้ว่าการสงครามเป็นงานยิ่งใหญ่ มีความสำคัญต่อชาติใหญ่หลวง ชี้ขาดความเป็นตายคนในชาติเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของชาติ จึงต้องคิดอ่านพิจารณาด้วยความรอบคอบอย่างถึงที่สุด ฉะนั้นจะต้องคิดคำนึงถึงเรื่องสำคัญ 5 ประการ และพิจารณาเปรียบเทียบ 7 ประการ

เรื่องสำคัญ 5 ประการดังต่อไปนี้
  • หนทางความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนแต่ละชั้นว่าสามารถอยู่ร่วมกัน ตายร่วมกันได้เพียงใด ( การเมืองภายใน )
  • สภาพแวดล้อม เงื่อนไขเอื้ออำนวยของจังหวะเวลา และภูมิอากาศ
  • สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์
  • แม่ทัพนายกอง ลักษณะคน
  • กฎ ระเบียบ วินัย

ปกติการคิดคำนึง และศึกษาเรื่องราว 5 ประการ แม่ทัพนายกองทุกคนเข้าใจดีอยู่แล้ว แต่ผู้เข้าใจลึกซึ้งกว่าเป็นผู้ชนะ ผู้เข้าใจลึกซึ้งน้อยกว่าเป็นผู้ไม่อาจชนะ

และเพื่อให้เข้าใจลึกซึ้งกว่าจำเป็นต้องมีการพิจารณาเปรียบเทียบเพิ่มอีก 7 ประการดังนี้

  • ผู้นำประเทศฝ่ายใดกำจิตใจคนในชาติมากกว่ากัน
  • แม่ทัพนายกองฝ่ายใดมีความสามารถมากกว่ากัน
  • เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ฝ่ายใดได้เปรียบ
  • ฝ่ายใดรักษากฎ ระเบียบ วินัย เคร่งครัด กว่ากัน
  • กองทัพฝ่ายใดเข้มแข็งกว่ากัน
  • ทหารหาญฝ่ายใดได้รับการฝึกมามากกว่ากัน
  • การให้รางวัล และการลงโทษ ฝ่ายใดมีความยุติธรรมกว่ากัน

สำหรับ SUNTZU แล้ว จากที่กล่าวมา แม้ยังมิได้รบก็รู้แพ้ชนะกระจ่างแจ้งแล้ว

2. ในกรณีแม่ทัพนายกองปฏิบัติตามการคิดคำนวณ 5 ประการ และเปรียบเทียบ 7 ประการของข้าพเจ้า ถ้าเอาคนนี้มาใช้งานจะได้รับชัยชนะแน่นอน ต้องเอาคนคนนี้มาใช้งาน

ในกรณีแม่ทัพนายกองมิได้ปฏิบัติตามการคิดคำนวณ 5 ประการ และเปรียบเทียบ ๗ ประการของข้าพเจ้า ถ้าเอาคนนี้มาใช้งานจะประสบความพ่ายแพ้แน่นอน ต้องปลดคนคนนี้ทิ้งเสีย

ถ้าปฏิบัติตาม และเข้าใจความคิดอ่านนี้ การเตรียมการก่อนออกศึกจะเกิด “ พลังอำนาจ ” ซึ่งจะช่วยกองทัพในการศึก พลังอำนาจที่กล่าวช่วยให้ฝ่ายเราสามารถใช้ความอ่อนตัวบังคับสถานการณ์ได้ เปรียบให้ตกอยู่กับฝ่ายเรานั่นเอง ( พลังอำนาจ ...... ศักย์สงคราม )

3. การศึกนั้นเป็นการเคลื่อนไหวด้วยเล่ห์เหลี่ยม หมายถึงการกระทำที่กลับกันกับการกระทำปกติ ฉะนั้น เมื่อเข้มแข็งต้องให้เห็นว่าอ่อนแอ เมื่อกล้าต้องให้เห็นว่ากลัว เมื่อใกล้ให้ดูไกล เมื่อไกลให้ดูใกล้ เมื่อข้าศึกต้องการประโยชน์เอาประโยชน์เข้าล่อ เมื่อข้าศึกวุ่นวายสับสนให้ฉวยโอกาสข้าศึกเหนียวแน่นให้ป้องกัน ข้าศึกเข้มแข็งให้ถอยออกมา เมื่อข้าศึกโกรธให้ยั่วยุ ข้าศึกสบายทำให้พวกเขาเหนื่อยล้า เมื่อข้าศึกกลมเกลียวทำให้แตกแยก โจมตีข้าศึกในที่ซึ่งไม่มีการป้องกัน รุกเข้าไปในที่ซึ่งข้าศึกไม่คาดคิด เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ข้าศึก ก่อนรบไม่มีผู้ใดล่วงรู้ได้ว่าจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นไร ..

4. ปกติการคิดอ่านก่อนออกศึกแล้วชนะ หมายถึงผลจากการคิดคำนวณ 5 ประการเปรียบเทียบ 7 ประการ แล้วมีทางชนะมากกว่าทางแพ้นั่นเอง แต่หากคิดอ่านก่อนออกศึกแล้วไม่อาจชนะก็หมายถึงผลจากการคิดคำนวณ 5 ประการเปรียบเทียบ 7 ประการแล้วมีทางชนะน้อยนั่นเอง ดังนั้น จากการคิดคำนวณก่อนออกศึก ถ้ามีทางชนะมากจะชนะ ถ้ามีทางชนะน้อยกว่าก็จะมิอาจชนะ สำหรับข้าพเจ้า เพียงสังเกตดังกล่าว ก็รู้แพ้ชนะชัดเจนแล้ว