ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการ




ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
อันการศึกนั้น เมื่อขุนพลได้รับแต่งตั้งจากกษัตริย์
และระดมพลชุมนุมทัพแล้ว






อย่าได้ตั้งค่ายในที่ทุรลักษณ์






ความผูกพันไมตรีกับแว่นแคว้นที่อยู่ทางแพร่ง
(คือประเทศเป็นกลางอันตั้งอยู่ระหว่างเรา
และประเทศที่สาม อื่น ๆ
เพราะเป็นศูนย์กลางคมนาคม
การมีพันธะกันไว้
ย่อมเอื้ออำนวยประโยชน์อนันต์)






อย่าอ้อยอิ่งแช่ดองในแดนทุรกันดาร






เมื่ออยู่ในที่ล้อมจงเร่งขวนขวายหาทางออก
หากพลัดเข้าอยู่แดนตาย(อับจน)
จงรีบเร่งทุ่มเทกำลังเข้าสู้รบ
(เพื่อถอนตัวให้หลุดจากที่นั้น)






บางวาระอาจไม่เดินทัพตามเส้นทางที่ควรไป





และอาจจะไม่ตีทัพข้าศึกบางกองบางหน่วย





เมืองด่านของข้าศึกบางแห่งเราก็ไม่เข้าโจมตี





บางถิ่นบางที่เราไม่เข้ายุทธแย้งชิงชัยด้วย





บางครั้ง พระบรมราชโองการ
ก็ไม่พึงรับสนองเสมอไป
(เพราะผู้เป็นขุนพลต้องปฏิบัติการรบ
ให้สมคล้อยตามรูปการณ์ของสงครามโดยเสรี)





เพราะฉะนั้น
ขุนพลแจ้งในคุณานุคุณแห่งนานาวิการ
(ความเปลี่ยนแปลงบิดเบือนต่าง ๆ
อันมิได้เป็นไปตามที่ควรเป็น)
จึงนับได้ว่ารู้การศึก
ขุนพลผู้ไม่แจ้งในหลักนานาวิการ
แม้จะรู้ลักษณะภูมิประเทศดี
ก็ไม่อำนวยผลประโยชน์อย่างไรเลย
และในการบัญชาทัพ
หากไม่รู้วิธีการสู้รบต่อนานาวิการแล้วไซร้
แม้ซาบซึ้งถึงความได้เปรียบแห่งภูมิประเทศ
ก็ไม่อาจใช้กำลังพลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย





ด้วยเหตุนี้ ความใคร่ครวญของผู้ทรงปัญญา
จึงทบทวนอยู่ในระหว่างคุณ-โทษ ผลได้-ผลเสีย





ถ้าทบทวนเห็นคุณหรือผลได้
(ในโทษหรือผลเสีย)
ความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จ
ในกิจการงานก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ถ้าทบทวนเห็นโทษหรือผล
(ในคุณหรือผลได้)
เภทภัยอันอาจเกิดขึ้น
ก็จักแก้ไขกันทันท่วงที





เพราะฉะนั้น
จะให้เหล่าประเทศราชหมอบราบคาบแก้วได้
ก็ด้วยให้เห็นภัยโทษ
จะช่วงใช้ก็ด้วยมอบภารกิจ
จะจูงจิตใจให้ฝักใฝ่ต่อเรา
ก็ด้วยกอบเกื้ออามิสประโยชน์






เพราะฉะนั้น ในการศึกนั้น
อย่าวางใจข้าศึกจะไม่มาราวี
แต่พึงยึดมั่นในการเตรียมพร้อมของฝ่ายตน
อย่าวางใจว่าข้าศึกจะไม่จู่โจม
แต่พึงยึดมั่นในความแข้งแกร่งมั่นคงของเราเอง





เพราะฉะนั้น ผู้นำทัพ
จึงมีจุดอันตราย ๕ ประการ คือ

ผู้ที่คิดแต่สู้ตายถ่ายเดียว
อาจถูกหมายเอาชีวิตได้





ผู้ที่คอยแต่รักษาตัวรอด
อาจถูกจับกุมเป็นเชลย





ผู้ที่หุนหันพลันแล่น
อาจได้รับการยั่วเย้ารำคาญ





ผู้ที่คิดแต่ความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วของตน
(ถืออุดมคติเกินไป)
อาจถูกเหยียบย่ำใส่ไคล้





ผู้ที่รักพสกนิกร
มักได้รับความยุ่งยากใจ





บรรดาจุดอันตรายทั้ง ๕ นี้
เป็นปมด้อยของผู้นำทัพ
เป็นมหันตภัยของการทหาร
ทัพจะล่ม ขุนพลจะถูกเข่นฆ่า
ด้วยจุดอันตรายทั้ง ๕ นี้
ควรใช้ความพิเคราะห์จงหนักทีเดียว



---


ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ


ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน





แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529