ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน




ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
การยกพลหนึ่งแสน
เพื่อทำการรณรงค์สงครามในแดนไกลนับพันหลี่
เงินทองซึ่งประชากรต้องส่งเสียเป็นส่วยสาอากร
และทั้งค่าใช้จ่ายในราชการงานทหาร
วันหนึ่งนับตั้งพันตำลึงทอง
ซ้ำจะทำให้เกิดความอลวนทั่ว
ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
ผู้คนซึ่งจำต้องต้องละงานประจำ
มาสมบุกสมบันอยู่ตามถนนหนทาง
กับงานลำเลียงขนส่งและอื่น ๆ นั้น
นับเจ็ดแสนครัวเรือนทีเดียว





ครั้นต้องมารบติดพันอยู่หลายปี
เพื่อชิงชัยชนะในวันหนึ่ง
ถ้ามัวแต่หวงแหนเนียวแน่นการใช้จ่ายเงินหลวง
โดยไม่ช่วงใช้จารชน
ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สามารถล่วงรู้
ความในของข้าศึกเสียเลยนั้น
นับว่าขาดการุณยธรรม
ต่อไพร่ฟ้าประชากรอย่างยิ่ง
อันมิใช่วิสัยขุนพล
มิใช่ผู้แบ่งเบาภารกิจของท่านประมุข
มิใช่ราชาผู้พิชิตโลก





ราชาผู้ทรงธรรมและขุนพลผู้หลักแหลม
เมื่อถึงคราวทำศึกก็จักชำนะ
ทั้งได้รับผลสำเร็จเป็นเยี่ยมกว่าบุคคลอื่นนั้น
ก็เนื่องจากสืบรู้ความในของข้าศึกก่อนนั่นเอง





การที่จะล่วงรู้ถึงความในของข้าศึกนั้น
จงอย่าถือเอาจากภูติพรายหรือเทพดาอารักษ์
อย่าคาดคะเนจากปรากฏการณ์
หรือลางเหตุเพียงผิวเผิน
อย่าพิสูจน์จากมุมฉากโคจรแห่งวิถีดาวเดือน
จำเป็นต้องรู้จากบุคคล
จึงจะนับว่ารู้ความในของข้าศึกอย่างแท้จริง





ดังนั้น การใช้จารชนจึงมี ๕ ประเภท
กล่าวคือ จารชนชาวพื้นเมือง จารชนไส้ศึก
จารชนซ้อน จารชนฝ่าความตาย
และจารชนผู้กลับเป็น





ผู้ช่วงใช้จารชนทั้ง ๕ พร้อมกันตามรูปการณ์
ซึ่งทำให้ข้าศึกมืดแปดด้าน
ไม่รู้ความแยบยลของเราอันดุจปาฏิหาริย์ของเทพเจ้า
จึงนับได้ว่าเป็นบุรุษแก้วแห่งพสกนิกร
และประมุขของชาติทีเดียว





จารชนชาวพื้นเมืองนั้น หมายความว่า
การช่วงใช้บุคคลซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของข้าศึก





จารชนไส้ศึกนั้น หมายความว่า
การใช้เสนาอำมาตย์ราชพฤฒาจารย์ของข้าศึก





จารชนซ้อนนั้น หมายความว่า
ซ้อนกลข้าศึกโดยกลับใช้จารชนของข้าศึกเอง





จารชนฝ่าความตายนั้น คือ
ฝ่ายเราประโคมข่าวเท็จภายนอก
แล้วให้จารชนของเรา
ทราบความไปแจ้งแก่ข้าศึก
(ซึ่งมักจะต้องพลีชีพเพื่อให้บรรลุจุดหมาย)





จารชนผู้กลับเป็นนั้น
คือจารชนที่ไปบำเพ็ญกรณียกิจถึงแดนข้าศึก
และสามารถกลับมารายงานข่าว
ยังประเทศของตนเอง





เพราะฉะนั้น ในวงการทหาร
ผู้ที่สนิทชิดเชื้อที่สุด
ผู้ที่ควรปูนบำเหน็จรางวัลงามที่สุด
และผู้ที่สงวนความลับอย่างมิดชิดเร้นลับที่สุด
จะไม่มีผู้ใดเกินกว่าจารชนไปอีก





จึ่งหากมิใช่ผู้ที่ทรงสติปัญญาปราดเปรื่องยิ่ง
ไม่อาจใช้จารชน
มิใช่ผู้ที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาการุณยธรรม
ไม่อาจบัญชาจารชน
และหากมิใช่ผู้ที่ละเอียดสุขุม
คัมภีรภาพประดุจมีญานวิเศษ
จักไม่อาจถึงซึ่งสารัตถประโยชน์ในจารกรรมได้





มันช่างแยบยลพิลึกพิลือหนอ
ซึ่งไม่มีอะไรจะพิสดารยิ่งไปกว่า
การใช้จารชนอีกแล้ว





ในกรณีที่ยังมิทันลงมือประกอบจารกรรม
แต่ความก็แพร่งพรายเสียก่อน
จารบุรุษพร้อมทั้งผู้รับบอกกล่าว
ให้ลงทัณฑ์ถึงตายทั้งสิ้น






บรรดากองทัพซึ่งประสงค์
จะตีเมืองด่านอันกำหนดจะทลาย
และบุคคลซึ่งมุ่งหมายจะสังหารเสีย
เราจำเป็นต้องให้จารชน
สืบนามนายทหารผู้รักษาเมือง
บรรดาบริวารนายทหารคนสนิท
ซึ่งทำหน้าที่ต้อนรับแขก
ทหารองครักษ์และคนรับใช้อื่น ๆ





ทั้งต้องสืบทราบจารชนซึ่งข้าศึกใช้
มาประกอบจารกรรมในประเทศเรา
แล้วจงล่อด้วยอามิสประโยชน์
เกลี้ยกล่อมให้เอาใจออกหากจากศัตรู
เพื่อจะได้ใช้เป็นจารชนซ้อนในภายหลัง





ถ้าหากรู้ความจริงจากจารชนซ้อนนี้ไซร้
ก็สามารถช่วงใช้
จารชนชาวพื้นเมือง หรือจารชนไส้ศึกได้
ส่วนจราชนฝ่าความตาย
ก็จะได้อาศัยเป็นปัจจัยนำความเท็จ
ไปแจ้งแก่ข้าศึกตามช่องทางที่แนะ
ทั้งเรายังสามารถกำหนดเวลา
ให้จารชนผู้กลับเป็น
ได้แจ้งรหัสแก่เราตามโอกาส





จารกรรมทั้ง ๕ ประเภทดังกล่าว
จอมทัพย่อมต้องทราบดี
และจะทราบได้จากจารชนซ้อน
ด้วยเหตุนี้ การติดสินบนต้องให้ถึงขนาดแล





ในเบื้องโบราณกาล
ราชวงศ์ "อิน" รุ่งเรืองขึ้นได้
ก็โดยอิจื้อเคยรับราชการ
ในแผ่นดิน 'เสี้ย' มาก่อน
(ภายหลังมาเป็นเสนาธิการแห่งซาง
ทางกษัตริย์ราชวงศ์ 'อิน' จึง
ได้ล้มแผ่นดิน 'เอี้ย' สำเร็จ - ผู้แปล)
ครั้งราชวงศ์ 'โจว
สืบแทน ราชวงศ์ 'อิน' โดยรุ่งโรจน์สืบมา
ก็โดยอาศัยหลู่หยา
เคยรับราชการในแผ่นดิน 'อิน'
มาก่อนดุจกัน





เพราะฉะนั้น
ราชาผู้ทรงธรรม
และขุนพลผู้หลักแหลม
สามารถใช้ผู้ทรงปัญญาชนเลิศ
ทำหน้าที่จารกรรม
ย่อมสัมฤทธิผลยิ่งใหญ่
นี้เป็นหลักสำคัญของการทำศึก
ด้วยเหตุว่ากองทัพได้อาศัยรหัสนั้น ๆ
เป็นแนวทางในการทำศึกแล


---


ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ


ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน





แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529