ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง




ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
อันการพิฆาตด้วยเพลิงนั้นมี ๕
กล่าวคือ ๑. คลอกพลเมืองของข้าศึก
๒. เผาผลาญบรรดาเสบียงอาหารของข้าศึก
๓. ทำลายกองลำเลียง
๔. กวาดล้างคลังยุทโธปกรณ์
๕. พิฆาตรี้พลศัตรู





แต่การใช้เพลิงต้องมีกรณีแวดล้อมเหมาะสม
และเครื่องอุปกรณ์เชื้อเพลิงจะต้องเตรียมไว้พร้อม





ย่อมมีกำหนดเวลาในการวางเพลิง
และวันจะใช้เพลิงก็ควรต้องตามฤดูกาลด้วย
เวลาวางเพลิงต้องคอยวันเวลาที่อากาศแห้งแล้ง
ส่วนฤดูที่จะใช้เพลิงต้องรอ
เมื่อพระจันทร์โคจรระหว่างกลุ่มดาว จีปี้เจิ่นอี้

(เพราะเหตุว่า) เมื่อพระจันทร์เสวยฤกษ์ดาวทั้งสี่นี้
เป็นวันที่ลมพัดจัดแล





อันการพิฆาตด้วยเพลิงนั้น
ยังต้องใช้กำลังทหารสนองสำทับ
ตามประเภทการใช้เพลิงทั้ง ๕ อีกด้วย





กล่าวคือ เมื่อเกิดเพลิงภายในค่ายข้าศึก
พึงตีซ้ำจากภายนอก





หากเกิดเพลิงขึ้นแล้ว แต่ข้าศึกยังเงียบเชียบอยู่
จงคอยที อย่าเพิ่งวู่วามเข้าตี





เมื่อเพลิงไหม้ลุกลามจนสุดขีด
เห็นว่าควรซ้ำเติมได้ ก็จึ่งลงมือทันที
ถ้าเห็นว่ายังมิใช่โอกาสก็พึงระงับเสีย





ในกรณีที่ก่อเพลิงภายนอกได้สะดวก
ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดจากภายใน
ควรกำหนดวันเวลาจัดการเสียทีเดียว





ในขณะที่ไฟลุกไหม้ทางเหนือลม
จงอย่าเข้าตีทางด้านใต้ลม





ลมในเวลากลางวันพัดนาน
แต่ลมในเวลาค่ำคืนสงบ





การศึกนั้น พึงรู้การเปลี่ยนแปร
อันเนื่องแต่ประเภทการใช้เพลิงทั้ง ๕
และระมัดระวังตนเองตามหลักคำนวณพยากรณ์





เพราะฉะนั้น ผู้ที่ใช้เพลิงประกอบการโจมตี
จึงสัมฤทธิ์ผลแน่ชัด
ส่วนวิธีปล่อยน้ำเข้าช่วยทำลาย
เพียงแต่เพิ่มพูนกำลังให้ยิ่งใหญ่
ด้วยว่าน้ำนั้นตัดทางคมนาคมของข้าศึกได้
แต่ไม่อาจบดขยี้ข้าศึกให้แหลกลาญไป





อันการศึกนั้น
มาตรว่าจะได้ชัยชนะในบั้นปลายก็ตาม
แต่ถ้ามิสามารถย่นระยะเวลาการรบ
โดยเผด็จศึกเร็วพลัน ย่อมเป็นโทษมหันต์

จึงขอให้ชื่อว่า 'เฟ่ยหลิว'
(การกระทำซึ่งพล่าเสียซึ่งทรัพย์สมบัติ
และชีวิตมนุษย์แต่มิได้รับผลเป็นแก่นสารเลย)
ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า
ราชาผู้ทรงธรรมพึงใคร่ครวญ
ผลได้ผลเสียในการทำสงครามจงหนัก
และขุนพลที่ดีย่อมเผด็จศึกได้ในเร็ววัน






เมื่อไม่อำนวยประโยชน์ ไม่พึงเคลื่อนทัพ
เมื่อมิสามารถเอาชนะ ไม่พึงใช้กำลังทหาร
เมื่อมิอยู่ในสถานะล่อแหลมอันตราย ไม่พึงทำสงคราม





ประมุขแห่งประเทศ
จงอย่าก่อสงครามเพราะความโกรธแค้น
และขุนพลจงอย่ารุกรบด้วยความขึ้งเคียด
จงลงมือปฏิบัติการต่อเมื่อเห็นผลประโยชน์แล้ว
และพึงระงับเสียเมื่อเห็นทีจะเสียผล
อันความโกรธแค้นนั้นอาจกลับเป็นความยินดี
ถึงความขึ้งเคียดก็อาจจะกลายเป็นความหรรษาได้เช่นเดียวกัน
แต่ประเทศที่ล่มแล้วจะหวังธำรงอยู่อีก
ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว จะชุบให้กลับฟื้นคืนชีพนั้นหาได้ไม่






เพราะฉะนั้น ราชาผู้ทรงธรรม
จึงระมัดระวังต่อการทำศึกอย่างยิ่งยวด
และขุนพลที่ดีก็ย่อมจะสังวรณ์ไม่บุ่มบ่าม
นี้คือวิถีธำรงประเทศให้สถาพร
และรักษากำลังทัพให้สมบูรณ์คงไว้แล





---

ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน





แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529