ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ



ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
การปกครองทหารจำนวนมากได้ดั่งคนจำนวนน้อย
ก็ด้วยระเบียบการจัดกองรบ





การต่อสู้คนจำนวนมากได้เช่นเดียวกับเผชิญคนจำนวนน้อย
ก็ด้วยอาณัติสัญญาณธงและฆ้องกลอง





กองทัพหนึ่งซึ่งกอปรด้วยพลรบมากหลาย
แต่อาจบัญชาให้รบข้าศึกได้โดยไม่เพลี่ยงพล้ำนั้น
ก็ด้วยรู้จักวิธีรบซึ่งหน้าและวิธีรบพลิกแพลง





กองทัพรุกพุ่งไปทางใด เสมือนหนึ่งกลิ้งหินเข้ากระทบไข่
เพราะรู้วิธีใช้กำลังอันแข็งแกร่งทลายจุดอ่อนแอของข้าศึกนั่นเอง





สงครามใด ๆ ก็ดี
ทั้งสองฝ่ายย่อมเข้าปะทะกันซึ่งหน้า (เป็นปกติวิสัย)
แต่จักชนะกันได้ก็ด้วยยุทธวิธีพลิกแพลง





เพราะฉะนั้น ผู้จัดเจนวิธีการยุทธพลิกแพลง
วิธีการของเขาจะไม่รู้อับจน ดั่งดินฟ้าอันไม่รู้จักสิ้นสูญ
จักไม่รู้หมดสิ้นดั่งแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย
พอจบแล้วก็เริ่มใหม่ เช่นเดือนตะวันที่ตกแล้วขึ้นอีก
ตายแล้วก็ผุดเกิด เช่นการหมุนเวียนแห่งฤดูกาลทั้ง ๔





สรรพสำเนียงมีเพียง ๕
แต่ความเปลี่ยนแปรแห่งเสียงทั้ง ๕ นั้น เราจักฟังไม่สิ้น
สีมีเพียง ๕ แต่การแปรแห่งสีทั้ง ๕ จะทัศนาไม่หมด
รสมีเพียง ๕ แต่ความแปรเปลี่ยนแห่งรสทั้ง ๕
ย่อมลิ้มชิมไม่รู้จบ (ฉันใด)





(ฉันนั้น) สภาพการรบ
ซึ่งมีเพียงการรบซึ่งหน้า และรบพลิกแพลงเท่านั้น
แต่ความเปลี่ยนแปรแห่งวิธีการทั้งสอง ก็มิรู้จักสิ้นสุดดุจกัน
การรบซึ่งหน้าและรบพลิกแพลงย่อมเกื้อกัน
เหมือนห่วงโซ่ติดเป็นพืดหาข้อขึ้นต้นมิได้
ฉะนี้ ใครจะเสาะหาเงื่อนงำของมันได้เล่า?





ความเร็วของสายน้ำเชี่ยว
ถึงกับพัดพาก้อนหินลอยไปด้วยนั้น
เนื่องจากความไหลแรงของมัน
ความเร็วของนกอินทรี
ถึงกับทำลายเหยื่อแหลกลาญไป
ก็ด้วยรู้จักประมาณช่วงระยะโจมตีอย่างดี





ด้วยเหตุนี้ ยุทธานุภาพของผู้เชี่ยวชาญศึก
จึงรวดเร็วน่าสะพรึงกลัว
การจู่โจมของเขาจึงอยู่ในช่วงสั้น





ยุทธานุภาพนั้น
เหมือนหน้าไม้อันเหนี่ยวเต็มแล้
การกำหนดช่วงโจมตี
เหมือนการเล็งเพื่อปล่อยลูกธนู





ในขณะที่โรมรันพันตูกันดูชุลมุนวุ่นวาย
แต่จะระส่ำระสายไม่ได้
กระบวนศึกติดพันกันเป็นวงกลมดูสับสนอลวน
แต่จะแพ้เสียมิได้





การรบที่ชุลมุนวุ่นวายนั้น
ต้องเกิดจากยุทธวิธีอันมีระเบียบ
อาการประหนึ่งขลาดกลัวนั้น
ต้องเนื่องจากความเหี้ยมหาญ
ทีท่าซึ่งดูอ่อนเปลี้ย
ต้องสืบจากความแข็งกล้า
(ทั้งเพื่อซ่อนความจริงให้ข้าศึกหลงเข้าใจผิด)





ความมีระเบียบหรือความวุ่นวาย
เป็นเรื่องของการจัดพลรบ
(ถ้าการจัดพลดีก็จะยังความมีระเบียบได้)
ความขลาดหรือความกล้า
เป็นเรื่องของยุทธานุภาพ
(ถ้าสถานการณ์ได้เปรียบ
แม้ทหารที่ขลาดก็จะบังเกิดความกล้า)
ความเข้มแข็งหรืออ่อนแอเป็นเรื่องของกระบวนศึก
(ถ้ากระบวนศึกอยู่ในลักษณะดี
ทแกล้วที่อ่อนแอก็จะเข้มแข็งแกร่งกล้าขึ้น)







เพราะฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญการหลอกล่อข้าศึก
เมื่อแสดงกิริยาท่าทีไปบ้าง ข้าศึกจะตกหลุมพลาง
ทันทีที่หยิบยืนให้ ข้าศึกจะต้องตะครุบเอา
จึ่งล่อด้วยประโยชน์แล้วคุมเชิงด้วยพลพฤนท์





เพราะฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญศึก
พึงแสวงชัยชนะจากรูปการณ์สงคราม
มิใช่คอยแต่ตีโพยตีพายผู้อื่น
ด้วยเหตุนี้เขาจึงรู้จักเลือกใช้คน
และผ่อนคล้อยตามรูปการณ์
(เพื่อบรรลุชัยชนะในที่สุด)






ที่ว่าผ่อนคล้อยตามรูปการณ์ คือ
การบัญชากองทัพเข้ารบกับข้าศึก
ก็เหมือนงัดซุงหรือก้อนหินให้กลิ้งไป
อันธรรมชาติของไม้หรือหินนั้น
ในที่ราบเรียบมันจะนิ่งไม่ขยับเขยื้อน
ในที่ลาดชันมันจะกลิ้งเอง
ถ้าไม้และหินนั้นเป็นเหลี่ยมมันจะหยุด
ถ้ากลมมันจะหมุน





ด้วยเหตุฉะนี้ อาการประยุทธไพรี
ซึ่งเสมือนหนึ่งกลิ้งหินกลมจากภูผาสูงตั้งพัน 'เยิ่น'
(มันจะบดขยี้ไปอย่างอุตลุด)
ก็เนื่องแต่ยุทธานุภาพยังให้เป็นไปฉะนั้นแล


---


ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ


ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน





แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529