ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย



ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
อันการศึกนั้น เมื่อขุนพลได้รับแต่งตั้งจากกษัตริย์
ระดมพลเรียงค่ายขัดตาทัพไว้
จะไม่มีอะไรยากยิ่งกว่าการดำเนินสัประยุทธ์ชิงชัย






ที่ว่ายากนั้น คือ
จักต้องเปลี่ยนทางอ้อมให้เป็นทางลัด
ขจัดความร้ายให้เป็นผลดี





เพราะฉะนั้น
เพื่อให้เส้นทางเดินทัพ
ของข้าศึกอ้อมหกวกเวียน
จึงต้องล่อด้วยอามิสประโยชน์
ส่วนเราแม้จะเคลื่อนภายหลัง
แต่ก็บรรลุจุดหมายได้ก่อน เช่นนี้
เรียกว่ารู้เงื่อนงำของความอ้อมลัดแล





ด้วยเหตุนี้ การสัประยุทธ์ชิงชัย
จึงเป็นได้ทั้งความสวัสดิภาพ หรือมหันตราย
(สุดแต่ผู้บัญชาการทัพจะดำเนินการอย่างไร)






เบื้องว่า
ยกกำลังทั้งหมดเข้าชิงชัยก็ไม่ทันการ
(เพราะอุ้ยอ้ายใหญ่โต)
ครั้นจะทอดทิ้งกำลังโดยใช้แต่เพียงบางส่วน
ก็จะทำให้สูญเสียซึ่งยุทธสัมภาระ
(เพราะอยู่ล้าหลัง อาจถูกโจมตีได้)






ฉะนั้น การให้รี้พลถอดเกราะออกเสีย
และเร่งรุดเดินทัพในความเร็วเป็นทวีคูณ
โดยมิได้พักผ่อนทั้งกลางวันและกลางคืน
ถ้าเข้าชิงชัยกับข้าศึกในระยะทางร้อย 'หลี่'
นายทัพทั้งสาม (ทัพหน้า ทัพหลวง และ ทัพหลัง)
จะต้องตกเป็นเชลยของข้าศึกทั้งสิ้น
เพราะผู้ที่แข็งแรงจะถึงก่อน ผู้อ่อนแอจะถึงหลัง
กำลังซึ่งถึงจุดจะมีได้เพียง ๑ ใน ๑๐ เท่านั้น
ถ้าเข้าชิงชัยในระยะ ๕๐ 'หลี่' ทัพหน้าก็จะปราชัย
เพราะกำลังพลถึงได้เพียงครึ่งเดียว
ถ้าเข้าชิงชัยในระยะทาง ๓๐ 'หลี่'
กำลังจะถึงระยะเพียง ๒ ใน ๓ เท่านั้น






เพราะฉะนั้น กองทัพจะขาดเสียซึ่งยุทธสัมภาระ
เสบียงอาหาร และสรรพสิ่งเครื่องสำรองไม่ได้
หาไม่แล้วจักต้องแตกพ่ายวางวายแน่นอน






ฉะนั้น ถ้าไม่รู้เจตจำนงของเหล่าเจ้าครองนคร
เราจะผูกไมตรีไว้ไม่ได้
ถ้าไม่รู้ลักษณะภูเขาลำเนาไม้
ที่คับขันลุ่มดอน
ตลอดห้วยหนองคลองบึงบาง
เราจะเดินทัพไม่ได้
ถ้าไม่ใช้มัคคุเทศก์นำทาง
เราจะไม่ได้เปรียบทางพื้นภูมิประเทศ






ฉะนั้น การศึกจึงตั้งบนเล่ห์เหลี่ยมแต้มคู
เคลื่อนไหวเมื่อผลได้
และยังแปรโดยการรวมหรือกระจายกำลัง







ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเร็วเหมือนลมเพชรหึง
เชื่องช้าประหนึ่งแมกไม้ในพงไพร
ราวีเฉกเช่นไฟประลัยกัลป์
หนักแน่นเล่ห์ปานภูผา
ยากที่จะหยั่งรู้ดุจท้องฟ้าอันคลุมเครือ
และไหวตัวดั่งเมื่อสายฟ้าคำรณลั่นสะท้านสะเทือน






(เมื่อเหยียบประเทศข้าศึก)
ได้ลาภสงครามอันใดมา ก็แจกจ่ายรี้พล
ยึดได้พื้นที่ก็แบ่งปันแก่แม่ทัพนายกอง
จะประกอบการอันใด จงชั่งตรองให้ถ่องแท้แน่ใจ






ผู้รอบรู้เงื่อนงำความอ้อมลัด จักชนะ
นี้คือวิธีสัประยุทธ์ชิงชัยแล






ตำราทหารกล่าวไว้ว่า
"ด้วยเหตุไม่สามารถยิน
สรรพสำเนียงที่พูด จึ่งลั่นฆ้องเภรี
ด้วยเหตุที่ไม่สามารถแลเห็นกัน
จึงให้อาณัติสัญญาณธวัช"
อันการฆาตฆ้องกลองและใช้ธวัชนั้น
ก็เพื่อรวมหูตา (ทั้งกองทัพ)
ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั่นเอง





เมื่อรี้พลมีสมาธิแน่วแน่ฉะนี้
สำหรับผู้ที่กล้าหาญ
ก็จะไม่รุกล้ำไปเบื้องหน้าแต่โดดเดี่ยว
ผู้ขลาดจะไม่ถดถอยตามลำพัง
นี้คือวิธีการบัญชาการทัพใหญ่แล






เพราะฉะนั้น การรบในเวลาค่ำคืน
จึงมากไปด้วยคบไฟและระงมไปด้วยเสียงเภรี
การสัประยุทธ์ในเวลากลางวัน
จึงดาษด้วยสัญญาณธวัช
ทั้งนี้ เพื่อก่อกวนประสาทหูตา
ของข้าศึกให้หลงเลอะนั่นเอง






ด้วยเหตุนี้ เราอาจทำลายขวัญของข้าศึก
และจิตใจของแม่ทัพนายกองให้แหลกลาญได้






(ตามปกติ) ขวัญตอนเช้าย่อมดี (เพราะกำลังสดชื่น)
ถึงเที่ยงก็ทรามด้วยความเกียจคร้าน
ตกเย็นก็โทรมเพราะใคร่จะพักผ่อน
ผู้ชำนาญการศึกจึงหลีกเลี่ยงข้าศึกตอนสดชื่น
และเข้าโจมตีเวลาขวัญข้าศึกทรามหรือโทรมแล้ว
นี้คือวิธีปฏิบัติต่อขวัญทหารแล
จงเอาความมีระเบียบวินัยแห่งตน
คอยจู่โจมเมื่อข้าศึกอลวนวุ่นวาย






จงเอาการสงบนิ่ง
ตอบสนองความเอะอะมะเทิ่ง
นี้คือวิธีรักษากำลังจิตใจแล






จงเอาความใกล้ (ต่อสมรภูมิ)
ของเราคอยรับข้าศึกซึ่งต้องเดินไกล
จงเอาความสดชื่นของเรา
สู้ศึกซึ่งอิดโรยเมื่อยล้า
จงเอาความอิ่มหนำสำราญของเรา
รับมือข้าศึกที่หิวโหย
นี้คือวิธีถนอมกำลังแล






จงอย่าเข้าตีขบวนทัพ
ซึ่งมีทิวธวัชถะถั่นเป็นระเบียบ
จงอย่าจู่โจมป้อมค่ายแนวรบของปรปักษ์
ที่ตั้งเป็นสง่าน่าเกรงขาม
นี่คือวิธีป้องกันมิให้เกิดเภทภัยแล





เพราะฉะนั้น วิธีสัประยุทธ์มีอยู่ว่า
อย่าแหงนหน้าเข้าตีข้าศึกซึ่งตั้งบนที่สูง
อย่ารุกพุ่งข้าศึกที่อิงสันเขาเป็นที่มั่น





อย่าไล่กระชั้นข้าศึก
ซึ่งทำทีว่าแตกระส่ำ
อย่ากระหน่ำข้าศึก
เมื่อเขาขวัญดีและเหี้ยมหาญ






อย่าทะยานฮุบเหยื่อเมื่อเขาทอดให้
และไม่ควรรั้งทัพศึกที่รีบรุกจะถอนคืน






การล้อมทัพข้าศึก
จำเป็นต้องเปิดทางไปไว้ทางหนึ่ง
(นี่คงหมายถึงการรบในที่กว้าง มิใช่การล้อมเมือง - ผู้แปล)
เมื่อทัพศึกจนตรอกแล้ว
ก็อย่าได้รุกกระหน่ำประชิดเข้าไป
(เพราะเมื่อเขาไม่มีทางไป
ก็จะหันหน้าสู้อย่างไม่คิดชีวิต)






นี่คือวิธีสัประยุทธ์แล


---


ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ


ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน





แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529