ซุนวู


รูปปั้นซุนวู ผู้แต่ง "ตำราพิชัยสงครามของซุนวู" (ตั้งอยู่ที่เมืองยุริฮิมะ จังหวัดทตโตะริ ประเทศญี่ปุ่น)

ซุนวู (จีนตัวเต็ม: 孫武; จีนตัวย่อ: 孙武; พินอิน: Sūn Wǔ; ซุนอู่) หรือ ซุนจื่อ (จีนตัวเต็ม: 孫子; จีนตัวย่อ: 孙子; พินอิน: Sūn Zǐ; เวด-ไจลส์: Sun Tzu, แปลว่า "ปราชญ์แซ่ซุน") เป็นผู้เขียนตำราพิชัยสงครามของซุนวู (ซุนจื่อปิงฝ่า - 孙子兵法) ที่นับว่าเป็นตำรายุทธศาสตร์ทางทหาร ที่มีอิทธิพลมากของประเทศจีน ปัจจุบันยุทธศาสตร์ในตำราได้ถูกประยุกต์ ใช้อย่างกว้างขวางในวงการธุรกิจและการเมือง หลักการที่สำคัญเช่น รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง


ข้อมูลที่มีหลงเหลืออยู่เกี่ยวกับชีวประวัติของซุนวูคือชีวประวัติที่เขียนขึ้นในช่วง 2 ศตวรรษก่อนคริสตกาล โดยซือหม่าเชียน นักเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ได้บรรยายถึงซุนวูว่าเป็นแม่ทัพที่อาศัยอยู่ในรัฐอู๋ ในช่วงประมาณ 600 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งอยุ่ในยุคเดียวกันกับ ขงจื๊อ นักปรัชญาจีนผู้ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตามชีวประวัตินี้ขัดแย้งกับหลักฐานอื่นๆ ของยุคนั้น รวมทั้งลักษณะการเขียนและเนื้อหาของ "ตำราพิชัยสงครามของซุนวู" ก็บ่งชี้ว่าไม่น่าจะเป็นงานที่เขียนขึ้นในช่วง 400-320 ปีก่อนคริสตกาล

"ตำราพิชัยสงครามของซุนวู" ได้ทิ้งเบาะแสเป็นนัยๆ ถึงชีวิตของซุนวู เช่น รถม้าใช้ในการสงครามที่อธิบายโดยซุนวูนั้น มีการใช้เพียงแค่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงยุค 400 ปีก่อนคริสตกาล ดังนั้นจึงถือว่าบางส่วนของงานเขียนนี้ก็อยู่ในช่วงเวลานั้น โดยคาดว่าซุนวูมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ตำราพิชัยสงครามของซุนวูได้มีการกล่าวถึงหลายคราในนิยายเรื่องสามก๊ก

ในเลียดก๊ก ซุนวูเป็นสหายกับอู๋จื่อซี อู๋จื่อซีได้ชักชวนซุนวูให้มารับราชการในแคว้นอู๋ โดยทำหน้าที่ฝึกทหารให้แก่ อู๋อ๋องเหอหลี อ๋องแห่งแคว้นอู๋ ซุนวูได้เสนอแผนพิชัยสงคราม 13 บรรพ แต่อู๋อ๋องเหอหลียังไม่เชื่อ ซุนวูจึงขอฝึกนางสนมของอู๋อ๋องเหอหลี อู๋อ๋องเหอหลีก็อนุญาต ในการฝึกมีนางสนม 2 นางได้หัวเราะอย่างสนุกสนานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของซุนวู ซุนวูจึงสั่งประหารสนม 2 นางนี้ทันที เพื่อให้เห็นถึงความเอาจริง ท้ายที่สุด อู๋อ๋องเหอหลีจึงได้เชื่อมั่นในตัวซุนวูและตำราพิชัยสงครามอย่างเต็มที่ ในก่อนคริสต์ศักราช 507 ปี อู๋อ๋องเหอหลีแต่งตั้งให้ซุนวูเป็นแม่ทัพ อู๋จื่อซีและป๋อผีเป็นรองแม่ทัพ ยกพลหนึ่งแสนไปตีแคว้นฉู่ สามารถตีแคว้นฉู่ที่ใหญ่กว่าเข้มแข็งกว่าได้สำเร็จ แต่ต่อมาสถานการณ์พลิกผลัน เพราะฉู่เจาอ๋อง อ๋องแคว้นฉู่ได้หลบหนีไปเสียก่อน เย่วอ๋องยุ่นฉาง อ๋องแห่งแคว้นเยว่ ฉวยโอกาสที่แคว้นอู๋ว่างเปล่ายกทัพมาตีแคว้นอู๋ อู๋อ๋องเหอหลีจึงรีบยกทัพกลับทันที เย่วอ๋องยุ่นฉางจึงหนีไป ทำให้อู๋อ๋องเหอหลีผูกใจเจ็บคิดจะล้างแค้นเย่วอ๋องยุ่นฉางตลอดไป

ต่อมาในก่อนคริสต์ศักราช 497 ปี เย่วอ๋องยุ่นฉางถึงแก่กรรม โกวเจี้ยนผู้บุตรได้ขึ้นครองแคว้นแทน จึงคิดฉวยโอกาสไปตีตอนนี้ ซุนวูและอู๋จื่อซีคัดค้าน แต่อู๋อ๋องเหอหลีไม่ฟัง ยกทัพสามหมื่นไปตีแคว้นเยว่ ผลคือทั้งคู่ปะทะกันที่จุ้ยหลี่ ในที่สุดอู๋อ๋องเหอหลีกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และตนเองก็ถูกอาวุธจนบาดเจ็บสาหัส และถึงแก่กรรมระหว่างการเดินทางกลับแคว้นอู๋ อู๋อ๋องฟูซาจึงได้ขึ้นครองแคว้นสืบต่อจากอู๋อ๋องเหอหลีผู้บิดา อู๋อ๋องฟูซาแรกทีเดียวดำเนินการอย่างเข้มแข็งหมายจะล้างแค้นให้บิดาให้ได้ แต่ต่อมาความประพฤติกลับเหลวไหล หลงแต่สุราและนารีจากแผนนางงามไซซี จนในที่สุดต้องฆ่าตัวตาย อู๋จื่อซือได้ฆ่าตัวตายเมื่อก่อนคริสต์ศักราช 485 ปี ส่วนของซุนวูเมื่อได้รู้ถึงนิสัยที่แท้จริงของอู๋อ๋องฟูซา คิดว่าต่อไปภายภาคหน้าแคว้นอู๋ต้องล่มสลายแน่ จึงลาออกจากราชการในก่อนคริสต์ศักราช 495 ปี

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายคนได้สรุปว่างานเขียนของซุนวูนั้นที่จริงแล้วถูกเขียนขึ้นโดยนักปรัชญาจีนไร้นาม และซุนวูก็อาจไม่มีบุคคลจริงในประวัติศาสตร์


การฝึกฝนตนเองอุปนิสัยผู้นำที่ดี 5 ข้อ ซุนวูกล่าวไว้ดังนี้
เป็นผู้ชนะหรือเป็นผู้แพ้

ผู้ชนะย่อมมีแต่คำตอบ
ผู้แพ้ย่อมมีแต่ปัญหา

ผู้ชนะย่อมมีแต่แผนงาน
ผู้แพ้ย่อมมีแต่ข้ออ้าง

ผู้ชนะพูดเสมอว่าฉันจะช่วยคุณ
ผู้แพ้พูดเสมอว่านั่นไม่ใช่งานของฉัน

ผู้ชนะมองเห็นคำตอบในทุกปัญหา
ผู้แพ้มองเห็นปัญหาในทุกคำตอบ

ผู้ชนะพูดว่าถึงแม้จะยากแต่ก็เป็นไปได้
ผู้แพ้พูดว่าถึงแม้จะเป็นไปได้แต่ก็ทำยาก


Ref: วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน




ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
การยกพลหนึ่งแสน
เพื่อทำการรณรงค์สงครามในแดนไกลนับพันหลี่
เงินทองซึ่งประชากรต้องส่งเสียเป็นส่วยสาอากร
และทั้งค่าใช้จ่ายในราชการงานทหาร
วันหนึ่งนับตั้งพันตำลึงทอง
ซ้ำจะทำให้เกิดความอลวนทั่ว
ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
ผู้คนซึ่งจำต้องต้องละงานประจำ
มาสมบุกสมบันอยู่ตามถนนหนทาง
กับงานลำเลียงขนส่งและอื่น ๆ นั้น
นับเจ็ดแสนครัวเรือนทีเดียว





ครั้นต้องมารบติดพันอยู่หลายปี
เพื่อชิงชัยชนะในวันหนึ่ง
ถ้ามัวแต่หวงแหนเนียวแน่นการใช้จ่ายเงินหลวง
โดยไม่ช่วงใช้จารชน
ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สามารถล่วงรู้
ความในของข้าศึกเสียเลยนั้น
นับว่าขาดการุณยธรรม
ต่อไพร่ฟ้าประชากรอย่างยิ่ง
อันมิใช่วิสัยขุนพล
มิใช่ผู้แบ่งเบาภารกิจของท่านประมุข
มิใช่ราชาผู้พิชิตโลก





ราชาผู้ทรงธรรมและขุนพลผู้หลักแหลม
เมื่อถึงคราวทำศึกก็จักชำนะ
ทั้งได้รับผลสำเร็จเป็นเยี่ยมกว่าบุคคลอื่นนั้น
ก็เนื่องจากสืบรู้ความในของข้าศึกก่อนนั่นเอง





การที่จะล่วงรู้ถึงความในของข้าศึกนั้น
จงอย่าถือเอาจากภูติพรายหรือเทพดาอารักษ์
อย่าคาดคะเนจากปรากฏการณ์
หรือลางเหตุเพียงผิวเผิน
อย่าพิสูจน์จากมุมฉากโคจรแห่งวิถีดาวเดือน
จำเป็นต้องรู้จากบุคคล
จึงจะนับว่ารู้ความในของข้าศึกอย่างแท้จริง





ดังนั้น การใช้จารชนจึงมี ๕ ประเภท
กล่าวคือ จารชนชาวพื้นเมือง จารชนไส้ศึก
จารชนซ้อน จารชนฝ่าความตาย
และจารชนผู้กลับเป็น





ผู้ช่วงใช้จารชนทั้ง ๕ พร้อมกันตามรูปการณ์
ซึ่งทำให้ข้าศึกมืดแปดด้าน
ไม่รู้ความแยบยลของเราอันดุจปาฏิหาริย์ของเทพเจ้า
จึงนับได้ว่าเป็นบุรุษแก้วแห่งพสกนิกร
และประมุขของชาติทีเดียว





จารชนชาวพื้นเมืองนั้น หมายความว่า
การช่วงใช้บุคคลซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของข้าศึก





จารชนไส้ศึกนั้น หมายความว่า
การใช้เสนาอำมาตย์ราชพฤฒาจารย์ของข้าศึก





จารชนซ้อนนั้น หมายความว่า
ซ้อนกลข้าศึกโดยกลับใช้จารชนของข้าศึกเอง





จารชนฝ่าความตายนั้น คือ
ฝ่ายเราประโคมข่าวเท็จภายนอก
แล้วให้จารชนของเรา
ทราบความไปแจ้งแก่ข้าศึก
(ซึ่งมักจะต้องพลีชีพเพื่อให้บรรลุจุดหมาย)





จารชนผู้กลับเป็นนั้น
คือจารชนที่ไปบำเพ็ญกรณียกิจถึงแดนข้าศึก
และสามารถกลับมารายงานข่าว
ยังประเทศของตนเอง





เพราะฉะนั้น ในวงการทหาร
ผู้ที่สนิทชิดเชื้อที่สุด
ผู้ที่ควรปูนบำเหน็จรางวัลงามที่สุด
และผู้ที่สงวนความลับอย่างมิดชิดเร้นลับที่สุด
จะไม่มีผู้ใดเกินกว่าจารชนไปอีก





จึ่งหากมิใช่ผู้ที่ทรงสติปัญญาปราดเปรื่องยิ่ง
ไม่อาจใช้จารชน
มิใช่ผู้ที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาการุณยธรรม
ไม่อาจบัญชาจารชน
และหากมิใช่ผู้ที่ละเอียดสุขุม
คัมภีรภาพประดุจมีญานวิเศษ
จักไม่อาจถึงซึ่งสารัตถประโยชน์ในจารกรรมได้





มันช่างแยบยลพิลึกพิลือหนอ
ซึ่งไม่มีอะไรจะพิสดารยิ่งไปกว่า
การใช้จารชนอีกแล้ว





ในกรณีที่ยังมิทันลงมือประกอบจารกรรม
แต่ความก็แพร่งพรายเสียก่อน
จารบุรุษพร้อมทั้งผู้รับบอกกล่าว
ให้ลงทัณฑ์ถึงตายทั้งสิ้น






บรรดากองทัพซึ่งประสงค์
จะตีเมืองด่านอันกำหนดจะทลาย
และบุคคลซึ่งมุ่งหมายจะสังหารเสีย
เราจำเป็นต้องให้จารชน
สืบนามนายทหารผู้รักษาเมือง
บรรดาบริวารนายทหารคนสนิท
ซึ่งทำหน้าที่ต้อนรับแขก
ทหารองครักษ์และคนรับใช้อื่น ๆ





ทั้งต้องสืบทราบจารชนซึ่งข้าศึกใช้
มาประกอบจารกรรมในประเทศเรา
แล้วจงล่อด้วยอามิสประโยชน์
เกลี้ยกล่อมให้เอาใจออกหากจากศัตรู
เพื่อจะได้ใช้เป็นจารชนซ้อนในภายหลัง





ถ้าหากรู้ความจริงจากจารชนซ้อนนี้ไซร้
ก็สามารถช่วงใช้
จารชนชาวพื้นเมือง หรือจารชนไส้ศึกได้
ส่วนจราชนฝ่าความตาย
ก็จะได้อาศัยเป็นปัจจัยนำความเท็จ
ไปแจ้งแก่ข้าศึกตามช่องทางที่แนะ
ทั้งเรายังสามารถกำหนดเวลา
ให้จารชนผู้กลับเป็น
ได้แจ้งรหัสแก่เราตามโอกาส





จารกรรมทั้ง ๕ ประเภทดังกล่าว
จอมทัพย่อมต้องทราบดี
และจะทราบได้จากจารชนซ้อน
ด้วยเหตุนี้ การติดสินบนต้องให้ถึงขนาดแล





ในเบื้องโบราณกาล
ราชวงศ์ "อิน" รุ่งเรืองขึ้นได้
ก็โดยอิจื้อเคยรับราชการ
ในแผ่นดิน 'เสี้ย' มาก่อน
(ภายหลังมาเป็นเสนาธิการแห่งซาง
ทางกษัตริย์ราชวงศ์ 'อิน' จึง
ได้ล้มแผ่นดิน 'เอี้ย' สำเร็จ - ผู้แปล)
ครั้งราชวงศ์ 'โจว
สืบแทน ราชวงศ์ 'อิน' โดยรุ่งโรจน์สืบมา
ก็โดยอาศัยหลู่หยา
เคยรับราชการในแผ่นดิน 'อิน'
มาก่อนดุจกัน





เพราะฉะนั้น
ราชาผู้ทรงธรรม
และขุนพลผู้หลักแหลม
สามารถใช้ผู้ทรงปัญญาชนเลิศ
ทำหน้าที่จารกรรม
ย่อมสัมฤทธิผลยิ่งใหญ่
นี้เป็นหลักสำคัญของการทำศึก
ด้วยเหตุว่ากองทัพได้อาศัยรหัสนั้น ๆ
เป็นแนวทางในการทำศึกแล


---


ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ


ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน





แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง




ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
อันการพิฆาตด้วยเพลิงนั้นมี ๕
กล่าวคือ ๑. คลอกพลเมืองของข้าศึก
๒. เผาผลาญบรรดาเสบียงอาหารของข้าศึก
๓. ทำลายกองลำเลียง
๔. กวาดล้างคลังยุทโธปกรณ์
๕. พิฆาตรี้พลศัตรู





แต่การใช้เพลิงต้องมีกรณีแวดล้อมเหมาะสม
และเครื่องอุปกรณ์เชื้อเพลิงจะต้องเตรียมไว้พร้อม





ย่อมมีกำหนดเวลาในการวางเพลิง
และวันจะใช้เพลิงก็ควรต้องตามฤดูกาลด้วย
เวลาวางเพลิงต้องคอยวันเวลาที่อากาศแห้งแล้ง
ส่วนฤดูที่จะใช้เพลิงต้องรอ
เมื่อพระจันทร์โคจรระหว่างกลุ่มดาว จีปี้เจิ่นอี้

(เพราะเหตุว่า) เมื่อพระจันทร์เสวยฤกษ์ดาวทั้งสี่นี้
เป็นวันที่ลมพัดจัดแล





อันการพิฆาตด้วยเพลิงนั้น
ยังต้องใช้กำลังทหารสนองสำทับ
ตามประเภทการใช้เพลิงทั้ง ๕ อีกด้วย





กล่าวคือ เมื่อเกิดเพลิงภายในค่ายข้าศึก
พึงตีซ้ำจากภายนอก





หากเกิดเพลิงขึ้นแล้ว แต่ข้าศึกยังเงียบเชียบอยู่
จงคอยที อย่าเพิ่งวู่วามเข้าตี





เมื่อเพลิงไหม้ลุกลามจนสุดขีด
เห็นว่าควรซ้ำเติมได้ ก็จึ่งลงมือทันที
ถ้าเห็นว่ายังมิใช่โอกาสก็พึงระงับเสีย





ในกรณีที่ก่อเพลิงภายนอกได้สะดวก
ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดจากภายใน
ควรกำหนดวันเวลาจัดการเสียทีเดียว





ในขณะที่ไฟลุกไหม้ทางเหนือลม
จงอย่าเข้าตีทางด้านใต้ลม





ลมในเวลากลางวันพัดนาน
แต่ลมในเวลาค่ำคืนสงบ





การศึกนั้น พึงรู้การเปลี่ยนแปร
อันเนื่องแต่ประเภทการใช้เพลิงทั้ง ๕
และระมัดระวังตนเองตามหลักคำนวณพยากรณ์





เพราะฉะนั้น ผู้ที่ใช้เพลิงประกอบการโจมตี
จึงสัมฤทธิ์ผลแน่ชัด
ส่วนวิธีปล่อยน้ำเข้าช่วยทำลาย
เพียงแต่เพิ่มพูนกำลังให้ยิ่งใหญ่
ด้วยว่าน้ำนั้นตัดทางคมนาคมของข้าศึกได้
แต่ไม่อาจบดขยี้ข้าศึกให้แหลกลาญไป





อันการศึกนั้น
มาตรว่าจะได้ชัยชนะในบั้นปลายก็ตาม
แต่ถ้ามิสามารถย่นระยะเวลาการรบ
โดยเผด็จศึกเร็วพลัน ย่อมเป็นโทษมหันต์

จึงขอให้ชื่อว่า 'เฟ่ยหลิว'
(การกระทำซึ่งพล่าเสียซึ่งทรัพย์สมบัติ
และชีวิตมนุษย์แต่มิได้รับผลเป็นแก่นสารเลย)
ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า
ราชาผู้ทรงธรรมพึงใคร่ครวญ
ผลได้ผลเสียในการทำสงครามจงหนัก
และขุนพลที่ดีย่อมเผด็จศึกได้ในเร็ววัน






เมื่อไม่อำนวยประโยชน์ ไม่พึงเคลื่อนทัพ
เมื่อมิสามารถเอาชนะ ไม่พึงใช้กำลังทหาร
เมื่อมิอยู่ในสถานะล่อแหลมอันตราย ไม่พึงทำสงคราม





ประมุขแห่งประเทศ
จงอย่าก่อสงครามเพราะความโกรธแค้น
และขุนพลจงอย่ารุกรบด้วยความขึ้งเคียด
จงลงมือปฏิบัติการต่อเมื่อเห็นผลประโยชน์แล้ว
และพึงระงับเสียเมื่อเห็นทีจะเสียผล
อันความโกรธแค้นนั้นอาจกลับเป็นความยินดี
ถึงความขึ้งเคียดก็อาจจะกลายเป็นความหรรษาได้เช่นเดียวกัน
แต่ประเทศที่ล่มแล้วจะหวังธำรงอยู่อีก
ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว จะชุบให้กลับฟื้นคืนชีพนั้นหาได้ไม่






เพราะฉะนั้น ราชาผู้ทรงธรรม
จึงระมัดระวังต่อการทำศึกอย่างยิ่งยวด
และขุนพลที่ดีก็ย่อมจะสังวรณ์ไม่บุ่มบ่าม
นี้คือวิถีธำรงประเทศให้สถาพร
และรักษากำลังทัพให้สมบูรณ์คงไว้แล





---

ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน





แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529


ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ



ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
พื้นภูมิในการทำศึกนั้น มี
อุทธัจจภูมิ๑ ลหุภูมิ๑ อุกฤษฏ์ภูมิ๑
สัญจรภูมิ๑ มรรคภูมิ๑ ครุภูมิ๑
ทุรภูมิ๑ บัญชรภูมิ๑ มรณภูมิ๑





ข้าศึกรุกเข้าโจมตีในแดนเรา
เรียกว่า เรียกว่าอุทธัจจภูมิ





กองทัพฝ่ายเราล่วงล้ำเข้าไป
ในแดนข้าศึกเพียงผิวเผิน
นั้นเรียกว่า ลหุภูมิ




พื้นที่ซึ่งฝ่ายใดยึดได้
ย่อมอวยผลทางยุทธการ
เรียกว่า อุกฤษฏ์ภูมิ





พื้นที่ซึ่งฝ่ายใดก็ไปมาได้โดยสะดวก
เรียกว่า สัญจรภูมิ





ประเทศราชใดมีเขตแดนต่อเนื่องหลายประเทศ
ผู้ใดถึงก่อนย่อมได้รับความสนับสนุนจากชนทั่วไป
เรียกว่า มรรคภูมิ





พื้นที่ซึ่งฝ่ายเรารุกลึกเข้าไป
เบื้องหลังเราได้ผ่านด่านตั้งขวางมากหลาย
เรียกว่า ครุภูมิ





ในแดนโขดเขาลำเนาไม้ หรือที่วิบาก
หรือห้วยหนองคลองบึงบาง
และวิถีทางอันยากแก่การสัญจรทั่วไป
เรียกว่า ทุรภูมิ





ปากทางที่จะเข้านั้นแคบ
คราวถอยต้องอ้อมวกเป็นระยะทางไกล
พื้นที่เช่นนี้ข้าศึกย่อมใช้กำลังส่วนน้อย
โจมตีกำลังส่วนใหญ่ของเราได้
เรียกว่า บัญชรภูมิ





ในพื้นที่ที่ต้องรบพุ่งอย่างอุตลุดรวดเร็วจึ่งจะพ้นภัย
มิฉะนั้นจะต้องถึงแก่ล่มทัพ
เรียกว่า มรณภูมิ





เพราะฉะนั้น จึ่งหลีกเลี่ยงในอุทธัจจภูมิ
แต่รุกตะลุยไปในลหุภูมิอย่าหยุดยั้ง





จงอย่าวู่วามเข้าตีอุกฤษฏ์ภูมิ
และอย่าได้สะกัดกั้นข้าศึกในสัญจรภูมิ





พึงผูกไมตรีกับประเทศซึ่งเป็นมรรคภูมิ
และเมื่อตกอยู่ในครุภูมิแล้ว
พึงกวาดเก็บเสบียงอาหาร (เพื่อเลี้ยงกองทัพ)





ในทุรภูมิ จงรีบเดินทัพผ่านไป
หากตกอยู่ในบัญชรภูมิ
ก็ต้องคิดแก้ไขหักออกด้วยกลอุบาย
ถ้าอยู่ในมรณภูมิจงรีบรบเพื่อเอาตัวรอด





อันผู้ใดได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญศึกในบรรพกาล
ท่านย่อมสามารถทำให้
ทัพหน้าทัพหลังของข้าศึกขาดจากกัน
กองใหญ่กองย่อยต่างไม่คิดพึ่งพิงกัน
นายไพร่ไม่มีจิตช่วยเหลือกัน
ผู้ใหญ่ผู้น้อยไม่ถ้อยทีออมชอมกัน
เหล่าพลแตกแยกมิเป็นส่ำ
แม้จะชุมนุมพลไว้พรักพร้อม
ก็ขาดความสามัคคี





ท่านย่อมปฏิบัติการเมื่อเห็นผล
และระงับเมื่อเห็นผลยังไม่อำนวย





หากตั้งปุจฉาว่า
"เมื่อข้าศึกพรักพร้อม
ไหลหลั่งถะถั่นมา ควรปฏิบัติดังฤา?"
เฉลยว่า "ควรช่วงชิงจุดสำคัญ
ซึ่งข้าศึกประสงค์เสียก่อน"
นี้จะทำให้ข้าศึกจำต้อง
คล้อยตามยุทธกระบวนของเรา
อันการศึกนั้นสำคัญที่ฉับไว
จึ่งเอาความไม่ประมาทของเรา
เข้าจู่โจมจุดที่ข้าศึกขาดความระวัง






อันกองทัพตีเข้าไปในแดนข้าศึก
ยิ่งรุกลึกเข้าไป เหล่าพลก็ยิ่งเด็ดเดี่ยวขึ้น
แต่ฝ่ายรับจะอลวนคุมกันไม่ติด
(เพราะถูกรังควาญถึงถิ่นตน)
ฝ่ายรุกเมื่อเก็บกวาดเสบียงอาหาร
ในแดนสมบูรณ์ได้แล้ว
จงเลี้ยงดูทวยหาญให้อิ่มหมีพีมัน
อย่าใช้ตรากตรำงานหนัก
ออมกำลังและบำรุงขวัญไว้จงดี
คราวจะใช้กำลังทหารหรือกะการณ์ใด ๆ
พึงเป็นไปอย่างลึกล้ำคาดไม่ถึง
(เมื่อฉะนี้) จะต้อนพลเข้าสู่ที่อับจน
แม้ตายก็ไม่แพ้
เมื่อความตายยังไม่อาจเอาชนะได้
รี้พลจึงนับได้ว่าอุทิศกำลังงานอย่างเต็มที่





อันวิสัยของเหล่าพลนั้น
เมื่อตกอยู่ในที่ล้อมความกลัวก็หมดไป
ถ้าเข้าที่คับขันก็รวมกันอย่างแน่นแฟ้น
เมื่อรุกลึกเข้าไปก็จะสมัครสมานร่วมมือกัน
และยอมรบอย่างเด็ดเดี่ยวเมื่อถึงคราวจำเป็น





ด้วยเหตุนี้ เหล่าพล
(ของฝ่ายที่รุกลึกเข้าไปในแดนของข้าศึก)
ไม่ต้องกระตุ้นเตือนก็จักระมัดระวังตัวไม่ประมาท
เชื่อฟังคำสั่งโดยไม่ต้องเรียกร้อง
รักชิดสนิทชอบโดยไม่ต้องมีสิ่งรัดรึง
ซื่อตรงต่อหน้าที่ของตนโดยไม่ต้องพร่ำสั่ง
จงขจัดปัดเป่าเสียซึ่งความเชื่อถือ
ในโชคลางและคำเล่าอ้าง
เหล่าพลจะรบจนสุดใจไม่เปลี่ยนแปรเลย





อันเหล่าพลของเราไม่เก็บออมทรัพย์สิน
จะด้วยเกลียดการมีทรัพย์ก็หาไม่
เหล่าพลยอมมอบกายถวายชีวิต
จะด้วยเกลียดการมีชีวิตยืนยาวนานก็หาไม่
(แต่ที่สละเสียได้ก็เพราะความเด็ดเดี่ยวมั่นคงนั่นเอง)





ในวันที่ผู้บัญชาการสั่งทัพ
เหล่าพลที่นั่งได้น้ำตาจะชุ่มเสื้อ
ส่วนผู้ที่ล้มหมอนนอนเสื่อน้ำตาจะนองหน้า
(ด้วยเสียใจตนเองที่บาดเจ็บหรือป่วยไข้
ไม่สามารถไปรบศึกกับเขาได้)





(เหล่าทหารเช่นว่านี้)
หากใช้ไปปฏิบัติงานในที่คับขันปานใด
เขาก็แสดงความกล้าหาญชาญชัย
เยี่ยงจวนจู (๑*) และเฉากุ้ย
(๒**)ให้ประจักษ์เป็นแม่นมั่น







เพราะฉะนั้น
การนำทัพของผู้ชำนาญการศึก
จึงเปรียบเช่นไสว้หยาน
ไสว้หยานคืออสรพิษแห่งหุบเขาฉางซาน
เมื่อถูกตีด้านหัว หางจะตวัดถึงทันที
ถ้าถูกตีทางหาง หัวจะแว้งกัดโดยฉับพลัน
ถ้าถูกตีกลางตัว หัวและหางจะตลบถึงทั้งสองข้าง





ถ้าตั้งปุจฉาว่า
"กองทัพก็อาจทำให้เหมือน
ไสว้หยานแหละหรือ?"
ตอบว่า "ทำได้"
อันชาวหวูกับชาวเยียะเป็นอริกัน
แต่ขณะที่ร่วมสำเภาและประสบมรสุม
เขาจักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ดังหนึ่งแขนซ้ายและแขนขวาทีเดียว





ด้วยเหตุนี้ การที่ผูกม้ารบติดกัน
ให้รวมกลุ่มฝังล้อรถลงดินไว้
(อุปมาการตะล่อมผูกรัดเหล่าทหาร
ให้อยู่ในระเบียบวินัยมั่นคง)
จึงเป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้เลย
จำเป็นต้องให้เหล่าพล
มีความกล้าหาญสม่ำเสมอกัน
นี้เป็นหลักของการนำทัพ รู้จักสมคล้อย
ถือประโยชน์จากสภาพลุ่มดอนแห่งพื้นที่
นี้เป็นทฤษฎีทางภูมิศาสตร์
เพราะฉะนั้น
การนำทัพของผู้เชี่ยวชาญการศึก
อุปมาดั่งจูงคน ๆ เดียวให้ปฏิบัติงานได้นั้น
เนื่องจากเข้าใจบ่มก่อ
ความจำเป็นให้เกิดขึ้นนั่นเอง





คุณสมบัติของผู้บัญชาการทัพ
คือ ความเยือกเย็นสุขุม
และความเที่ยงธรรมมีระเบียบ





สามารถพรางหูตาของเหล่าพล
ไม่ให้รู้อะไรเลย





(ในด้านปฏิบัติต่อข้าศึก)
รู้จักยักย้ายวิธีดำเนินการ
และเปลี่ยนแปลงยุทโธบาย
เพื่อให้ข้าศึกตกอยู่ในความมืดมน
หรือแปลงที่ตั้งอ้อมวกวิถีทางเดิน
เพื่อมิให้ข้าศึกคาดหมายได้





การนำทัพสู่สมรภูมิดังที่กำหนดไว้
เปรียบเหมือนไต่เต้าไปสู่ที่สูง
แล้วชักบันไดออกเสีย
นำทัพลึกเข้าแดนข้าศึก
เปรียบเสมือนน้าวหน้าไม้แล้วลั่นไก
(ทั้งนี้ทั้งนั้น) อุปมาเหมือนดั่งต้อนฝูงแพะ
จะขับไล่ให้ไปหรือจะชักพาให้มา
เหล่าแพะย่อมไม่รู้กลความเลย)





การชุมนุมพลมหาศาล
คุมเข้าสู่แดนมหันตราย
(ซึ่งเป็นเหตุให้เหล่าพลร่วมใจกัน)
เป็นศิลปะของผู้บัญชาทัพ
ความพิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปรแห่งนวภูมิ
รู้แจ้งเห็นจริงในคุณหรือโทษของการหยุดยั้ง
ตั้งรับ หรือเคลื่อนไหว รุกไล่
ตลอดจนจิตวิสัยของมนุษย์
เป็นสิ่งที่ควรพิเคราะห์จงหนักแล





หลักการคุมทัพเข้าชิงชัยในแดนข้าศึก
ถ้ารุกลึกเข้าไป ขวัญทัพย่อมแน่วแน่เด็ดเดี่ยว
ถ้ากล้ำกรายเพียงชายแดน จิตใจย่อมไม่สำรวมดี
รบพุ่งถึงถิ่นแดนที่ห่างไกลจากประเทศของตน
โดยต้องข้ามประเทศเขตขัณฑ์เข้าไปนั้น
เรียกว่า อรันถภูมิ
แผ่นดินถิ่นที่ถึงไหนถึงได้ เรียกว่า มรรคภูมิ
ที่รุกลึกเข้าไป เรียกว่า คุรุภูมิ
ที่กล้ำกรายเพียงชายแดนคือ ลหุภูมิ
ด้านหลังยันที่สูง ด้านหน้าเป็นทางแคบ เรียกว่า บัญชรภูมิ
ที่จนตรอกไร้ทางออก เรียกว่า มรณภูมิ





ด้วยเหตุนี้ เมื่อกองทัพอยู่ในอุธัจจภูมิ
ต้องเขม็งจิตใจรี้พลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เมื่ออยู่ในลหุภูมิ ต้องให้สมัครสมานคุมกันตามลำดับ
ในอุกฤษฏ์ภูมิ ต้องตีโอบเข้าทางด้านหลัง
ในสัญจรภูมิ ต้องรักษาไว้โดยไม่ประมาท
ในมรรคภูมิต้องเพิ่มพูนสัมพันธภาพกับประเทศนั้น ๆ
ในครุภูมิต้องอาศัยเสบียงอาหารจากข้าศึก
ในทุรภูมิต้องรีบรุดออกเสีย
ในบัญชรภูมิ ต้องปิดช่องโหว่ซึ่งข้าศึกเปิดล่อไว้
ในมรณภูมิต้องปลุกใจรี้พลให้ถือว่าเป็นเรือนเป็นเรือนตาย
(เพื่อให้รบพุ่งเต็มความสามารถจะได้หักฝ่าออกไปได้)






เพราะว่าวิสัยของทหาร
เมื่อถูกล้อมก็จะโต้ เมื่อจำเป็นก็จะสู้
ครั้นมีเหตุคับขันก็จะปฏิบัติมั่น
ตามคำสั่งของผู้เป็นนาย





ฉะนั้น ถ้าไม่รู้เจตจำนง
ของเหล่าเจ้าครองนคร
เราก็ผูกมิตรด้วยไม่ได้
ไม่รู้จักลักษณะภูเขา
ลำเนาไม้ แดนวิบาก ตลอดจน
ห้วยหนองคลองบึงบาง
จะยาตราไม่ได้
ไม่ใช้ชาวพื้นเมืองนำทาง
จะไม่ได้เปรียบจากพื้นภูมิประเทศ





เงื่อนงำได้เสียแห่งนวภูมิ
หากไม่รู้แจ้งแม้เพียง ๑
จะเรียกว่า กองทัพผู้พิชิตไม่ได้เลย






อันกองทัพของผู้พิชิตนั้น
เมื่อเข้าโจมตีประเทศใหญ่
ประเทศนั้นแม้จะมีรี้พลมากมายก็รวมกันไม่ติด
แสนยานุภาพซึ่งเข้าบดบังข้าศึก
จะทำให้แม้ประเทศที่มีพันธะกับศัตรูอยู่
ก็ต้องละล้าละลังเอาใจออกหากเสีย






ด้วยเหตุนี้
ไม่พึงกระตือรือร้นชิงผูกมิตรทั่วหล้า
ซึ่งยังผลให้ประเทศที่เราผูกมิตรด้วย
พลอยก่อหวอดเพิ่มพูนอิทธิบาทยิ่งใหญ่
จงเชื่อมั่นในกำลังของตน
ถึงคราวใช้แสนยานุภาพเข้าทำศึก
ก็จักถอนเมืองและล่มประเทศแห่งอริราชได้






(ยามฉุกเฉิน) จงปูนบำเหน็จรางวัลแก่เหล่าพล
ที่ทำความดีความชอบอย่างถึงใจ
และตั้งกฎเข้มงวดเกินอาชญาธรรมดา
เพื่อลงโทษผู้ประพฤติผิด
จงคุมแสนยากรให้ได้ดั่งช่วงใช้คน ๆ เดียว






จงบัญชาให้เหล่าพลปฏิบัติการ (โดยเคร่งครัด)
อย่าได้แจงเหตุผล
จงชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ของงาน
อย่าได้เกริ่นกล่าวถึงด้านที่อาจเป็นโทษ






(วิสัยของพลรบนั้น) ตกอยู่ในที่จนมุม
ก็จะดิ้นรนเพื่อหาทางรอด
ตกอยู่ในแดนตายก็จะขวนขวายเพื่อสวัสดิภาพ
ดังนั้น เมื่อกองทัพตกอยู่ในที่คับขัน
จึงอาจกลับแพ้เป็นชนะได้






เพราะฉะนั้น
ในการทำศึกจึงสำคัญที่สมคล้อย
ไปตามรูปรอยที่ข้าศึกมุ่งหมายไว้
ครั้นได้ทีก็รวมกำลัง
พุ่งเข้าทลายยังจุดเดียว
ไล่รุกบุกตะลุยเข่นฆ่าแม่ทัพข้าศึก
แม้ในหนทางยาวพันหลี่
ผู้ชำนาญการศึกย่อมมี
ประสิทธิภาพในการทำศึกเช่นนี้แล





ด้วยเหตุนี้ ในวันประกาศสงคราม
ต้องสั่งปิดพรมแดนและงดใช้หนังสือเดินทาง
เพื่อตัดขาดการติดต่อในทางทูต
และเข้มงวดกวดขัน
ในงานบริหารปกครองภายในประเทศ
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพจริงจัง





ข้าศึกหลวมตัวเปิดช่องให้เมื่อใด
ก็รีบรุดบุกเข้าทันที





จงจู่โจมเข้ายึดจุดสำคัญไว้ก่อน
แล้วกะการอย่างเงียบเชียบมิดเม้น
คลุกคลีตีรบข้าศึกตามแผนการรบเพื่อเผด็จศึก






เพราะฉะนั้น
หะแรกดูประหนึ่งสาวพรหมจารี
(ซึ่งมีความสงบเสงี่ยมและเชื่องช้าเอียงอาย)
ครั้นแล้วก็จะเป็นเช่นกระต่ายที่รอดข่ายแร้ว
หาทันที่ข้าศึกจะปิดจะป้องไม่


* ในสมัยชุนชิว หวูกวาง มีความประสงค์จะสังหารเจ้าครองนครหวู ซึ่งมีนามว่า เหลียวจึ่ง ในโอกาสงานกินเลี้ยงครั้งหนึ่ง ให้จวนจูเอามีดสั้นซ่อนไว้ในตัวปลาและปลอมแปลงเป็นคนนำเข้าถวาย ครั้นประชิดติดตัวก็จู่โจม เจ้าเหลี่ยวถึงแก่ความตาย แต่ในวาระเดียวกัน จวนจูก็ต้องตายด้วยน้ำมือทหารองครักษ์ของเจ้าเหลียวเช่นเดียวกัน เรื่องนี้งิ้วแสดงเสมอ เรียกว่า "หน้าดำถวายปลา"

** ในสมัยดังกล่าวของข้างต้น ยังมีกระทาชายคนหนึ่งชื่อเฉากุ้ย เป็นชาวหลู่ มีกำลังผิดมนุษย์ธรรมดา จึงได้รับการแต่งตั้งจากจวงกงให้นำทัพไปรบกับประเทศฉี แต่ต้องปราชัยถึงสามครั้งติด ๆ กัน เป็นผลให้จวงกงต้องยอมยกดินแดนส่วนหนึ่งให้ประเทศฉีเพื่อขอสงบศึก แต่ในโอกาสที่จวงกงและเจ้าครองนครฉีพบปะเพื่อลงนามสัญญานั้น เฉากุ้ยก็แสดงความห้าวหาญโดยปรากฏตัวที่ประชุมพร้อมมีดสั้น และบังคับให้เจ้าครองนครฉีคืนดินแดนแก่จวงกงเป็นผลสำเร็จ


---


ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 1 วางแผน

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 2 การดำเนินสงคราม

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 3 ยุทธโธบาย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 5 ยุทธานุภาพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 6 ความตื้นลึกหนาบาง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 7 การสัประยุทธ์ชิงชัย

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 8 นานาวิการ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 9 การเดินทัพ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 10 พื้นภูมิ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 11 นวภูมิ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 12 พิฆาตด้วยเพลิง

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บรรพ 13 การใช้จารชน





แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2529