เตือนภัย "Generation Y" เสี่ยงอันตรายบนกระแส "โซเชียลเน็ตเวิร์ก"




"Be careful what you post on facebook" หรือ "จงระวังสิ่งที่คุณโพสต์ในเฟซบุ๊ก" เป็นคำแนะนำของ "บารัก โอบามา" ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่กล่าวกับเยาวชน เพื่อเตือนให้ผู้ใช้งานระวังการโพสต์ข้อความใด ๆ ที่อาจนำภัยมาสู่ตัว

การ์ด เนอร์คาดการณ์ว่า ปี 2012 เฟซบุ๊กจะกลายเป็นฮับของโซเชียลเน็ตเวิร์กทั่วโลก ซึ่งล่าสุดเฟซบุ๊กระบุว่ามียอดผู้ใช้ทะลุ 500 ล้านรายแล้ว มากกว่าจำนวนประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนที่มีจำนวน 400 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทย ยอดผู้ใช้เฟซบุ๊กมีประมาณ 4.2 ล้านราย ส่วนผู้ใช้ทวิตเตอร์มีสัดส่วนหลักแสนราย เป็นสถิติบ่งบอกความฮิตของผู้ใช้งานเครือข่ายสังคม ณ ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

แต่ในทางกลับกันรายงานล่าสุดระบุว่า เฟซบุ๊กเป็นเครือข่ายสังคมที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยมากที่สุดสำหรับ องค์กรถึง 61% ตามมาด้วยมายสเปซ 18% ทวิตเตอร์ 17% โดยเฉพาะรูปแบบการโจมตีผ่านเครือข่ายสังคมที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่น การขโมยตัวตน เรื่องมาตรการความปลอดภัย ปัญหาเรื่องราวส่วนตัว ปัญหาศีลธรรมซึ่งล้วนส่งผลกระทบ ต่อองค์กรและส่วนบุคคลทั้งสิ้น จนผู้ใช้งานบางรายอาจจะต้องเจอกับภัยร้ายหรืออันตรายตามมาอย่างคาดไม่ถึง

"ปริญญา หอมเอนก" ประธานกรรมการ บริษัท เอซิส โปรเฟสชันเนล เซ็นเตอร์ จำกัด เล่าว่า สิ่งที่มาควบคู่กับประโยชน์ของโซเชียลเน็ตเวิร์ก คือ ภัยคุกคามที่นับวันจะมีสถิติเพิ่มมากขึ้น นอกจากการเป็นสื่อกลางนำพาไวรัสโทรจัน หรือเวิร์มต่าง ๆ ที่ส่งผลเสียหาย ต่อระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้แล้ว ยังมีอันตรายที่เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากผู้ไม่ประสงค์ดีลักลอบนำ ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่น ๆ ไปแอบอ้าง

สิ่งที่อาชญากรไซเบอร์ ปฏิบัติ คือ การใช้เครือข่ายสังคมเป็นช่องทางในการหาเหยื่อมากขึ้น การขโมยตัวตนของบุคคลผ่านการซื้อข้อมูล การดาวน์โหลดมัลแวร์ที่มากับเว็บ 2.0, การโจมตีโดยอีเมล์, การสร้างโปรไฟล์ใหม่ขึ้นมาเพื่อไปโจมตี เป้าหมายที่ต้องการ และการแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นในเครือข่ายสังคมที่มีเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงล่าสุดที่รัฐมนตรีไอซีที นายจุติ ไกรฤกษ์ ซึ่งถูกแอบอ้าง เป็นต้น หรือแม้แต่การถูกแฮกข้อมูลของบรรดาเซเลบริตี้ รวมถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของ ผู้ใช้เอง

โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้น จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และขาดความระมัดระวังในการใช้งานจนนำไปสู่ภัยต่าง ๆ นั้น ปัจจุบันกำลังเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในหัวข้อการประชุมเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครือ ข่ายสังคมระดับโลก

ปริญญาอธิบายว่า เจเนอเรชั่นวาย หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี 1980-1995 (อายุ 15-30 ปี) ซึ่งมีประมาณ 80 ล้านคนทั่วโลก ส่วนใหญ่มีไลฟ์สไตล์ที่เสี่ยงต่อการโดนแฮกข้อมูลจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพราะพฤติกรรมการใช้งานออนไลน์ของคน เจนวายที่ขาดความระมัดระวัง จึงมีโอกาส "เสี่ยง" ต่อการเกิดภัยคุกคามมากกว่าคนในเจเนอเรชั่นอื่น ๆ

ไลฟ์สไตล์ ที่ระบุว่าเป็นเจนวาย อาทิ การทำงานบนคอมพิวเตอร์ เล่นเครือข่ายสังคม มีแก็ดเจตทันสมัยเป็นของตัวเอง รู้จักเทคโนโลยี เป็นแฟนคลับดาราดัง ต้องการติดต่อสื่อสารอยู่ตลอดเวลาพิมพ์ข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว เบื่อง่ายและถูกชักจูงจากผู้ใกล้ชิดได้ง่าย ล้วนเป็นพฤติกรรมที่เอื้อให้เกิดความประมาทในการใช้งาน

มีข้อมูล ระบุว่า 79% ของคนในเจนวาย มีงานประจำเต็มเวลา และมีการใช้งานออนไลน์เรื่องส่วนตัวระหว่างการทำงาน 52% มีการใช้พาสเวิร์ดเพียงอันเดียว สำหรับทุกการใช้งานและกว่า 26% บันทึกพาสเวิร์ดไว้ที่คอมพิวเตอร์ หรือพีดีเอของตน, 45% ของคนเจนวายมีการใช้ แอปพลิเคชั่นสำหรับแชร์ข้อมูลที่อนุญาตให้บุคคลอื่นสามารถเข้าถึง คอมพิวเตอร์หรือไฟล์ได้ และ 25% ไม่เคยล็อกเอาต์ออกจากระบบเมื่อใช้เครือข่ายสังคมในที่สาธารณะ

ดัง นั้นเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น ถ้าเป็นในระดับส่วนตัวบุคคลก็ต้องมี "สติ" ในการใช้งานบนเครือข่ายสังคม แต่หากเป็นองค์กร ต้องมีการพูดคุยเรื่องจรรยาบรรณและกลยุทธ์ที่แน่ชัดในองค์กร รวมถึงการตั้งนโยบายที่ชัดเจนของการใช้เครือข่ายสังคม และสร้างการตระหนักรู้ในการใช้งาน เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น

"ปรเมศวร์ มินศิริ" ผู้บริหารเว็บไซต์กระปุก ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า เครือข่ายสังคม คือ สื่อที่เกิดจากการพูดคุยเหมือนกลยุทธ์ปากต่อปาก การใช้งานเครือข่ายสังคมจึงควรจะเล่นเท่าที่จำเป็น เรื่องใดที่น่าสนใจสามารถแชร์ให้เพื่อน ๆ รับรู้ได้ แต่หากเรื่องใดไม่จำเป็น หรือเป็นเรื่อง ส่วนตัว ก็ไม่จำเป็นที่จะเปิดเผยออกสู่สาธารณะ ผู้ใช้งานควรจะต้องรู้จักแยกแยะให้เหมาะสม

อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แต่กระนั้นยังไม่ครอบคลุมปัญหาที่เกิดขึ้น โดย พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม แสดงความเห็นว่า อยากให้กฎหมายดังกล่าวครอบคลุมทุกฐานความผิดที่มีคอมพิวเตอร์มาเกี่ยวข้อง เพราะมีการ นำไอทีไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายมากขึ้น อาทิ พนันออนไลน์ การขายของละเมิดลิขสิทธิ์บนเว็บไซต์ ไล่ไปจนถึงการฉ้อโกง เป็นต้น ขณะที่กฎหมายปัจจุบันครอบคลุมเพียงความผิดในการใช้คอมพิวเตอร์เป็นการเข้า ถึงข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เว็บโป๊เป็นหลัก ทำให้ทำอะไรไม่ได้มาก

สำหรับ ช่วงที่ผ่านมา คดีที่เกี่ยวกับ เครือข่ายสังคมเกี่ยวกับหมิ่นประมาท มีจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งความดำเนินคดีที่โรงพัก แต่คดีที่มีการขยายส่งที่ ดีเอสไอเข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบนั้นมีจำนวนไม่มากส่วนใหญ่เป็นคดีหมิ่นสถาบันเป็นหลัก

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์