เสพติด"เฟซบุ๊ก" โรคใหม่ยุคดิจิตอล



"เฟซบุ๊ก" หรือ "เอฟบี" มีสถานะเป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์หมายเลข 1 อย่างปราศจากข้อกังขา ด้วยยอดสมาชิกทะลุ 400 ล้านคน พลเมืองโลกในยุคดิจิตอลจากทั่วโลกแห่หลั่งไหลเข้ามา สมัครสมาชิกใช้งาน โพสต์บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของตนเองลงไปบน "หน้ากระดาน" หรือ "Wall" ของเฟซบุ๊ก เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่ ขณะเดียวกัน บางกลุ่มก็ใช้เฟซบุ๊กเป็นสื่อคลายเหงา ระบายความขุ่นข้องใจ แสดงทรรศนะการเมือง ไปจน ถึงทำการค้า ฯลฯ แต่ในกระแสนิยมดังกล่าวนี้เองได้ทำให้เกิดโรคๆ ใหม่ขึ้นมา นั่นคืออาการ ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า โรคเสพติดการเล่นเฟซบุ๊ก หรือ "เฟซบุ๊ก แอดดิกชั่น ดิสออร์เดอร์" (Facebook Addiction Disorder : FAD) ซึ่งชาวเอฟบีจำนวนไม่น้อยอาจล้มป่วยด้วยโรคนี้ไปแล้วโดยไม่ทันรู้ตัว ขณะที่ผลสำรวจล่าสุดในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงเกิดอาการนี้มากที่สุด

ปัจจุบัน "สหรัฐอเมริกา" เป็นประเทศที่มีสถิติผู้ใช้งานเว็บเฟซ บุ๊กมากที่สุดในโลก

มีจำนวน ผู้ลงทะเบียนทั้งหมดราว 125,881,220 คน

ในกลุ่มนี้เป็นผู้หญิง 55.8 เปอร์เซ็นต์ ชายอีก 44.2 เปอร์เซ็นต์

ผลจากการที่สหรัฐทุบสถิติมีพล เมืองเฟซ บุ๊กสูงสุด ทำให้นักจิตวิทยาแสดงความวิตกกังวลว่า ปัญหาเสพติดเฟซบุ๊ก หรือ FAD อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ถ้าเล่นเว็บดังแห่งนี้โดยปราศจากความยับยั้งชั่งใจ

ข้อห่วงใยดัง กล่าวยิ่งตอกย้ำว่าไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ภายหลังบริษัท ออกซิเจนมีเดียและไลต์สปีดรีเสิร์ช ทำแบบสอบ ถามสำรวจพฤติกรรมประชากรสหรัฐ วัยผู้ใหญ่ 1,605 คน ระหว่างเดือนพ.ค. ถึงมิ.ย. ที่ผ่านมา และพบข้อมูลชวนตกตะลึงว่า

ผู้หญิงยุคใหม่ในสหรัฐที่เติบโตมาพร้อมๆ กับความเจริญของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตนั้น ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตประจำวัน "ผูกพัน-ผูกติด" กับเฟซบุ๊กอย่างมาก

โดยผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งเป็นผู้หญิงอายุ 18-34 ปี จำนวน 1 ใน 3 ระบุว่า

สิ่ง แรกที่ทำหลังจากตื่นนอนก็คือต้องเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อเช็กความเคลื่อนไหวใน เฟซบุ๊กก่อนเป็นอันดับแรก

จากนั้นจึงค่อยเข้าไปแปรงฟันทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ!

นอกจากนี้ ผู้ตอบร้อยละ 39 ยอม รับว่า รู้สึกว่าตนเองเสพติดการเล่นเฟซบุ๊กเข้าให้แล้ว!



ส่วนสถิติในด้านอื่นๆ จากการทำสำรวจข้างต้น ยังมีข้อมูลชวนตะลึงเกี่ยวกับสาวๆ ซึ่งเป็นสาวกเฟซบุ๊ก อีกหลายข้อ เช่น

ร้อยละ 21 บอกว่า ตื่นมากลางดึกเพื่อเช็กเฟซบุ๊ก

ร้อยละ 63 ใช้เฟซบุ๊กเป็นสื่อกลางสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์

ร้อยละ 42 มองว่า การโพสต์ภาพวาบหวามของตัวเองลงในเว็บเฟซบุ๊กเป็นเรื่องธรรมดาๆ

ร้อย ละ 79 เห็นว่า การโพสต์ภาพจูบกันลงเว็บไม่ใช่เรื่องผิด

ร้อยละ 58 จะติดตามพฤติกรรมของคนที่เกลียดขี้หน้ากันผ่านเฟซบุ๊ก

ร้อยละ 50 มองว่า การคบหาเป็น "เพื่อนใหม่" กับ "คนแปลกหน้า" ผ่านเฟซบุ๊กเป็นเรื่องปกติ

ร้อยละ 50 ตอบว่าพร้อมลองคบหาไปเที่ยวกับผู้ชายที่พบเจอในเฟซบุ๊ก

ร้อยละ 6 ใช้เฟซบุ๊กหาแฟน

ขณะที่หญิงสาวร้อยละ 57 เผยว่าโพสต์ข้อความคุยกับคนในเฟซบุ๊กมากกว่าคนตัวเป็นๆ ที่เจอในชีวิตจริง!


สําหรับวิธีดูตัวเองว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายเสพติดเฟซบุ๊กหรือไม่ สามารถสังเกตได้โดยทั่วๆ ไป ดังนี้

1. ไม่มีความอดทน อยากเพิ่มเวลาการเล่นเฟซบุ๊กมากขึ้นเรื่อยๆ

2. ถ้ามีอันต้องลดเวลาการเล่น หรือหยุดเล่นไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ จะรู้สึกกังวล กระสับกระส่าย เฝ้าแต่คิดว่าตอนนี้มีใครโพสต์อะไรลงในเว็บบ้าง

3. เวลาทำกิจกรรม-เข้าสังคมจริงๆ จะลดน้อยลงหรือย้ายมาพบปะกันบนเฟซบุ๊กแทน

4. มีเพื่อนในบัญชี หรือในลิสต์มากเกินไป จนต้องเสียเวลาคอยตรวจสอบความเคลื่อนไหว หรือถึงแม้จะมีเพื่อนมาก แต่ 8 ใน 10 กลับไม่ใช่เพื่อนที่รู้จักกันในชีวิตจริง

5. ชอบบอกกับคนอื่นๆ ว่า "ถ้าอยากติดต่ออะไรให้ไปเจอกันในเฟซบุ๊ก"

6. ไม่ว่าจะเจอบัญชีเฟซบุ๊กของใคร ก็กดรับเป็นเพื่อนทั้งหมด โดยไม่เคยรู้จักปูมหลังของบุคคลนั้นๆ

7. อดนอนเพื่อเล่นเฟซบุ๊ก

8. หวนกลับไปคิดถึงความหลังดีๆ และกลับมาเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่อีกครั้งกับแฟนเก่า ที่บังเอิญกลับมาเจอกันผ่านเฟซบุ๊ก ทั้งๆ ที่ปัจจุบันมีคนรักหรือครอบครัวอยู่แล้ว

9. เวลาเหมาะสมสำหรับการท่องเฟซบุ๊กต่อวัน ไม่ควรเกิน 1.30 ชั่วโมง

10. เสียสมาธิระหว่างทำงาน เพราะใจจดจ่ออยู่กับเฟซบุ๊ก



นัก วิจัยในสหรัฐหลายสถาบันชี้ว่า ภาวะเสพติดเฟซบุ๊กเป็นอาการย่อยอาการหนึ่งของโรค "เสพติดการเล่นอินเตอร์เน็ต"

ส่วนต้นตอที่ทำให้อาการติดเฟซบุ๊กมาแรง แซงโค้ง อาการติดอินเตอร์เน็ตประเภทอื่นๆ นั้นมีหลายสมมติฐาน เช่น

ดร.พอ ล เจ. แซ็ก นักประสาทวิทยา ระบุว่า การเล่นเฟซ บุ๊กก่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น มีความสุข เหมือนๆ กับเวลา เจอเพื่อนสนิทในชีวิตจริง ซึ่งนั่นทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน "ออกซิโทซิน" หรือสารกระตุ้น ความรัก ความผูกพันออกมามากเป็นพิเศษ

ด้าน ดร.เวนดี้ วอลช์ นักจิตวิทยาความสัมพันธ์คนดังของสหรัฐ กล่าวว่า ความสนใจเพียงผิวเผินที่ผู้เล่นได้รับจาก สังคมเฟซบุ๊ก อาจสร้างแรงตอบสนองทางบวกแก่ผู้เล่นแต่ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขอารมณ์เปลี่ยวเหงาภายในจิตใจอย่างแท้จริง

กลุ่มคนที่มีแนวโน้ม "เสพติดการเล่นอินเตอร์เน็ต" รวมถึงเฟซบุ๊กมากกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่

ผู้ใหญ่ที่มีอาการของโรคสมาธิสั้น

มีพฤติกรรมหวาดกลัว-ไม่ชอบเข้าสังคม

มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม

และมีอาการซึม เศร้า

สำหรับผู้ปกครองที่ไม่อยากให้บุตรหลานต้องพลาดพลั้งกลายเป็น คนเสพติดเฟซบุ๊ก ดร.วอลช์ ให้คำแนะนำว่า

1. ฝึกให้ลูกมีระเบียบวินัย เช่น ห้ามเข้าเว็บสังคมออนไลน์จนกว่าจะทำการบ้าน หรือทำโครงงานต่างๆ เสร็จเรียบร้อย

2. บอกกับลูกๆ ว่าไม่ควรเล่นเฟซบุ๊กขณะครอบครัวใช้เวลารับประทานอาหารร่วมกัน

3. สร้างนิสัยเลิกเล่นอินเตอร์เน็ตก่อนนอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อให้สมองได้พักผ่อนเต็มที่

สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการค่อยๆ พูดคุยทำความเข้าใจกัน แต่ไม่ถึงขั้นบังคับให้ปฏิบัติตามชนิดแตกหัก

เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่เองเอาเข้าจริงก็อาจตกเข้าไปในหล่มของโรคติดเฟซบุ๊กได้เช่นกัน


ข่าวสดรายวัน