น่าสนใจกว่า คุณชายพุฒิภัทร มองผ่าน ท่านพินิจ เห็น"จอมพลผ้าขาวม้าแดง" ยุคท็อปบู้ตทมิฬ
คุณพินิจ หรือ นายพลพินิจ มีแง่มุมที่น่าสนใจ
วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 matichon.co.th .....คุณชายพุฒิภัทร หนึ่งในละครชุด สุภาพบุรุษจุฑาเทพ เป็นละครช่อง 3 ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
คาดว่า ในช่วงนี้ เด็กเกิดใหม่ จะมีการใช้ชื่อ พุฒิภัทร เป็นชื่อเด็กชาย ในทุกสำนักงานเขต และคุณพ่อคุณแม่ คงอยากให้ลูกชายเป็น นายแพทย์ พุฒิภัทร
ความฮิตของละคร ดูได้จากในช่วงออนแอร์ รถยนต์บนถนนหลายสายว่างไปถนัดตา
เพราะใคร ๆ ก็รีบกลับบ้านไปเปิดดูละคร ช่อง 3
ปลายสัปดาห์นี้เป็น ตอน อวสาน คาดว่า เรตติ้ง ละครพุ่งปี๊ดแน่
เพราะคนไทย อยากเห็น คุณชายพุฒิภัทร จะได้ครองคู่กับ นางสาวสยาม กรองแก้ว บุญมี หรือไม่ อย่างไร
แต่ถ้ามองในแง่ เศรษฐศาสตร์การเมืองไทย ตัวละครที่ น่าสนใจที่สุดคือ นายพลพินิจ หรือ ท่านพินิจ ที่รับบทโดย มนตรี เจนอักษร
ท่านพินิจ ในละคร ถูกนำไปเปรียบกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ จอมพลผ้าขาวม้าแดง ในหลายๆ ประเด็น
ไม่ว่าจะเรื่อง หนูๆ ของจอมพล และความร่ำรวย มั่งคั่งของท่านพินิจ ที่จ่ายเงินปรนเปรอ หม่อมหลวงมารตี เทวพรหม หรือ หญิงสาวและไม่สาว แบบไม่อั้นเท่าไรเท่ากัน ...ขอให้ได้ตัวเธอมา
หลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อนิจกรรม หนังสือพิมพ์รายวันในยุคนั้น ได้เปิดเผยนางบำเรอของจอมพลผ้าขาวม้าแดงออกมาวันละคน ไม่ว่าจะเป็น นางงาม ดาราภาพยนตร์ หญิงบริการตามไนท์คลับ นักศึกษามหาวิทยาลัย และนักเรียนมัธยมทั้งสาวและไม่สาว
หนังสือเรื่อง “รังสวาทหลังพล 1” (โรงพิมพ์พัฒนา พ.ศ.2507) ตอนหนึ่งเขียนบรรยายว่า จอมพลสฤษดิ์อยู่ที่บ้านซึ่งเป็นฮาเร็ม ซึ่งท่านผู้หญิงวิจิตราไม่สามารถเข้าไปได้ จอมพลสฤษดิ์มักใช้เวลาอยู่กับบรรดานางบำเรอ จอมพลสฤษดิ์ยังมีภรรยาน้อยอื่นๆซึ่งมีบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ หลายแห่งที่จอมพลสฤษดิ์สั่งให้สร้าง โดยทั่วไปแล้ว จอมพลสฤษดิ์จะยังไม่ให้กรรมสิทธิ์ที่ดินเหล่านั้นแก่บรรดาภรรยาน้อยจนกว่าจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ ส่วนมากจอมพลสฤษดิ์จะใส่ชื่อนายทหารคนสนิทคนหนึ่งให้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
หนังสืออีกเล่ม เขียนโดย “โดม แดนไทย” เรื่อง “จอมพลของคุณหนูๆ” (โรงพิมพ์เกียรติศักดิ์ พ.ศ.2507) โดม แดนไทย ได้รวบรวมรายชื่อ บรรดาสตรีในชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ ได้ถึง 81 คน
จากการตรวจสอบข้อมูลในประวัติศาสตร์ พบรายงานของคณะกรรมการสอบสวนขอบข่ายการฉ้อราษฎร์บังหลวงของจอมพลสฤษดิ์ ระบุว่า เงินที่จอมพลสฤษดิ์ใช้เลี้ยงดูนางบำเรอส่วนหนึ่งมาจากเงินกองสลากกินแบ่ง
การใช้เงินกองสลากกินแบ่งของจอมพลสฤษดิ์ ได้กลายเป็นเรื่อง “อื้อฉาว” ขึ้นมาภายหลังจากการถึงแก่อนิจกรรมของจอมพลสฤษดิ์ โดยหนึ่งเดือนหลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อนิจกรรม ทายาททั้งหลายต่างก็เริ่มวิวาทแก่งแย่งทรัพย์มรดกมหาศาลของอดีตนายกรัฐมนตรี
ในวันแห่งความรัก วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2507 บุตรทั้ง 7 คนของจอมพลสฤษดิ์ ได้ยื่นฟ้องท่านผู้หญิงวิจิตราที่พยายามจะตัดสิทธิในส่วนแบ่งอันชอบของทายาท
กองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ที่ทายาทต่อสู้แย่งชิงกัน รวบรวมได้เป็นจำนวน 2,874,009,794 บาท รวมกับอสังหาริมทรัพย์อีกมากมายที่ไม่สามารถจะประมาณได้
เนื่องจากเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวมาก ประชาชนต่างให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งในคดีนี้ และสื่อมวลชนก็ได้ยกเป็นคดีที่อื้อฉาวที่สุดในเมืองไทยและการที่ประชาชนให้ความสนใจในการพิจารณาคดี จึงเป็นการบังคับให้รัฐบาลจอมพลถนอมต้องเข้ามาแทรกแซงและสอบสวนเบื้องหลังความมั่งคั่งของจอมพลสฤษดิ์
จอมพลถนอมลูกน้องของจอมพลสฤษดิ์ ถูกกระแสสังคมบีบบังคับให้ต้องนำมาตรา 17 มาใช้ในการยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์และตั้งคณะกรรมการสอบสวนขอบข่ายการฉ้อราษฎร์บังหลวงของจอมพลสฤษดิ์ ทั้งๆที่ไม่อยากทำ
จากการสอบสวนของคณะกรรมการฯ พบว่าจอมพลสฤษดิ์ได้ใช้เงินแผ่นดินเพื่อเลี้ยงดูนางบำเรอ และลงทุนในธุรกิจ เงินผลประโยชน์สำคัญ 3แหล่ง ประกอบด้วย เงินประมาณ 394 ล้านบาท เป็นเงินสืบราชการลับของสำนักนายกรัฐมนตรี เงินจำนวน 240 ล้าน จากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลและเงินจำนวน 100 ล้าน ซึ่งควรที่จะให้แก่กองทัพบก ซึ่งได้เปอร์เซ็นต์จากการขายสลากกินแบ่ง
ฮาเรมและเงินปรนเปรอ หนูๆ ของ ท่านนายพล ส่วนใหญ่มาจากเงินหวยที่ตรวจสอบไม่ได้
เห็นหรือยังว่า ในแง่เศรษฐศาสตร์การเมืองแล้ว เรื่องราวของ ท่านพินิจ น่าสนใจกว่า คุณชายพุฒิภัทร หลายเท่า !!!
และมองในแง่ ความเป็นจริง ในยุคเผด็จการที่อำนาจเต็มมือ ขนาดนั้น คุณชายพุฒิภัทรและพวก
จะขี่รถจี๊บไปช่วย นางสาวสยาม ออกมาจากรังรักของจอมพล
ย่อมเป็นไปไม่ได้ อย่างแน่นอน
เพราะยุคท็อปบู้ตทมิฬ น่ากลัวว่า การเมืองไทย พ.ศ. นี้ หลายร้อยเท่า !!!
อำนาจการเมืองที่ตรวจสอบได้ กับ อำนาจการเมืองที่ตรวจสอบ ไม่ได้ คุณเลือกเองจะเอาแบบไหน ??
..............................
ข้อมูลจาก หนังสือเรื่อง “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” ศ.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ
ปอกเปลือก ฯพณฯ เบื้องหลังข่าวสืบสวนสอบสวน โดย ธีรเดช เอี่ยมสำราญ และ เอื้อมพร สิงหกาญจน์