อบรมพระวิปัสสนาจารย์ โดยหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ วัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี


            การที่กระผมได้เห็นพระคุณเจ้าตั้งใจ ที่จะมาอบรมวิปัสสนากรรมฐาน กระผมก็เคยได้ศึกษามาตามรูปแบบครูบาอาจารย์ เมื่อก่อนก็เที่ยวไปอย่างไม่มีจุดหมายปลายทางเหมือนกัน เที่ยวธุดงค์ไปทางเหนือทางใต้ แล้วก็นั่งกรรมฐาน สนใจตั้งแต่ยังไม่บวช พอบวชแล้วก็สนใจมากขึ้น พอเรียนรู้กรรมฐานก็เหมือนไม่มีครูบาอาจารย์ ตอนหลังกระผมกลับมาศึกษากับหลวงพ่อสังวาล เขมโก ที่วัดเขาสารพัดดี จ.ชัยนาท ตอนหลังท่านมาอยู่ที่วัดทุ่งสามัคคีธรรม จ.สุพรรณบุรี
            ท่านเป็นพระไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ท่านทำสมาธิได้ ทำเรื่องฌาน เรื่องสมาธิได้ อันนี้กระผมเชื่อว่าท่านทำได้และท่านก็ได้มาสอนในแนวสติปัฏฐาน ๔ กระผมได้มาเข้าใจแนวการทำสมาธิอย่างง่ายๆ สำหรับวิธีการของท่าน พอเอามาใช้แล้วก็นำไปแนะนำชาวบ้านแล้วก็ได้ผล ชาวบ้านก็ทำตามได้ง่าย คือว่าไม่ใช่เป็นวิชาที่ยาก จนถึงกับลึกลับจนเกินไป ถึงกับต้องขึ้นครู ถึงกับต้องมีขัน ๕ อะไรอย่างนั้น คือกระผมต้องการเรียนรู้ของที่คว่ำแล้วให้หงายออกมาง่ายๆ ประเภทที่ว่าไม่ใช่ติดกุญแจดอกใหญ่จนไขไม่ออก ต้องไปหาดอกสำคัญมาอะไรอย่างนี้ ท่านก็สอนง่ายๆ
            สอนอานาปานุสสติ (กำหนดลมหายใจเข้า-ออก) กับปัญจกรรมฐาน (กรรมฐาน ๕ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง) และสอนสติปัฏฐาน ๔ (กาย เวทนา จิต ธรรม) ซึ่งกำหนดแบบละเอียด แบบยืน เดิน นั่ง นอน แบบที่อาจารย์ท่านได้สอน กระผมได้ปฏิบัติอยู่กับท่านถึง ๓ ปี ก็แนวสติปัฏฐาน ๔ นี้เป็นหลักพระไตรปิฎก ซึ่งยืนยันว่าเป็นทางที่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าก็ได้สอนสาวกทั้งหลายมาด้วยแนวสติปัฏฐาน ๔ พอมาปฏิบัติกับท่านก็เป็นเรื่องที่เราก็เข้าใจเรื่องสติได้มากขึ้น ว่าการปฏิบัตินั้นคือเราไม่สามารถจะคุมสติตัวเองได้ เมื่อเผลอสติแล้วก็นำไปสู่อารมณ์โลกต่างๆ ทุกข์บ้าง สุขบ้าง ปรุงแต่งไปในอารมณ์ต่างๆ ที่ท่องเที่ยวอยู่ พอเรามีสติควบคุมการนั่งนอนของเรา มีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมในอารมณ์กรรมฐาน
            เอากายของเราเป็นกรรมฐาน มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ในกายของเรานี่เอง พอไปจับกายตามความเป็นจริงได้จิตมันก็ไม่ไปอื่น จิตก็ไม่เที่ยวไปถิ่นต่างๆ ไม่ไปสู่กามภพ ไม่ไปสู่รูปภพ ไม่ไปข้างหน้า ไม่ไปข้างหลัง เมื่อจิตใจมีสติแล้วก็เข้าใจเรื่องพระพุทธศาสนา ก็เป็นคำตอบที่มีอยู่ในตัวเสร็จ
            ฉะนั้นสติปัฏฐาน ๔ ก็มีหลักที่พระคุณเจ้าได้ปฏิบัติกันอยู่แล้วคือกาย เวทนา จิต ธรรม มีกายเป็นหลัก คือกำหนดกายของเรานี่เองกายที่มีอาการ ๓๒ กายกิน กายเดิน กายนั่ง กายนอน กายถ่ายอุจจาระปัสสาวะ กายเคลื่อนไหวอะไรก็กำหนด เอาจิตมาไว้ที่กาย เอาสติมาจับไว้ที่การเคลื่อนไหว เรียกว่ากำหนดสติปัฏฐาน คือกำหนดกาย กายยืน กายเดิน กายนั่ง กายนอน ก็กลายเป็นพระ เมื่อกำหนดกายชัด หนักเข้าๆ สติติดต่อกันก็เกิดรูปกรรมฐานขึ้นมา
            พอเกิดรูปกรรมฐานขึ้นมาก็รู้เวทนา เวทนาเราก็กำหนดในอารมณ์ตัวเองว่าสุขที่เกิดขึ้นกับจิต ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส ใจสัมผัสยินดี ยินร้ายก็กำหนดที่จิต มีสุขบ้างมีทุกข์บ้าง แล้วมีวางเฉยบ้าง ก็กำหนดเวทนาเป็นอารมณ์ เพราะเมื่อกระทบแล้วจิตต้องมีเวทนา มีความดีใจบ้าง เศร้าหมองใจเป็นธรรมดา เราก็ตั้งสติให้มากขึ้น มีการกำหนดรู้มากขึ้น เมื่อเรากำหนดมากขึ้นจิตก็ปล่อยวางได้ ปล่อยวางต่อทุกขเวทนาทั้งปวงได้ ก็เป็นอุเบกขาได้ เมื่อเรารู้มากๆ ขึ้นมา จิตอันนี้ก็เจริญเป็นมรรคขึ้นมา
            มรรคก็กำหนดรู้จิตเห็นจิตอยู่เสมอไป จิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ ก็กำหนดรู้เท่าทันอารมณ์ทางจิต เรียกว่าจิตตานุปัสนาปฏิปัฏฐานา ตั้งไว้ที่จิตของเรา พิจารณาจิตอยู่ภายใน เมื่อเรารู้จิตของเรา นั่นแหละฐานที่ตั้งของความสงบ มรรคาปฏิปทา การปฏิบัติเข้าไปสู่ฐานจิต นั่นคือการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าปฏิบัติอะไรไม่เข้าสู่ฐานจิตแล้วนั่นคือเป็นโมหะ เป็นโลภะหรือเป็นโทสะ เพราะกำหนดออกนอกกายการกำหนดเข้ามาในกายในใจนั้นคือฐานที่ตั้ง เรียกว่าฐานที่ตั้งของความสงบ ปัญญาก็จะเกิดขึ้นได้ เมื่อปัญญาเกิดขึ้นได้ก็เป็นผู้ละ ผู้ตัด ผู้วาง จากราคะ โทสะได้ ก็เป็นธัมมานุปัสนาปฏิปัฏฐานา พิจารณาธรรมที่เกิดขึ้นในอารมณ์กรรมฐาน มีปีติ สุข เอกัคตา  (ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว) บางครั้งก็เกิดมาก บางครั้งก็เสื่อมถอยลงไป เมื่อเจริญมากๆ ขึ้นก็เป็นธรรมะที่ปรากฏ เป็นญาณ ทำให้เรารู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจธรรมได้ ให้เห็นอนิจลักษณะได้ (ความไม่เที่ยง)
            พิจารณากายมากๆ กรรมฐานนี้อยู่ที่กายส่วนใหญ่ กายกิน กายเดิน กายนั่ง กายนอน ต้องตั้งต้นอยู่ตรงนี้อยู่ตลอดเวลา จะภาวนาอะไรก็ได้ อานาปานุสสติก็ได้ หนอก็ได้ ก็ขอให้จิตของเรามาอยู่กับกาย แล้วให้รู้อารมณ์ของตัวเองตลอดวันตลอดคืน เราก็ต้องเฝ้าดูจิตดูใจของเรา นักปฏิบัติเมื่อรู้อย่างนี้ก็พอที่จะเข้าใจวิธีการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าสิ้นความสงสัยในเรื่องศาสนาพุทธนี้เราก็มีพยานยืนยันที่เกิดขึ้นในตัวเราแล้วก็มั่นใจที่จะนำคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปประกาศให้คนอื่นได้ทราบต่อไปได้
            อันนี้เป็นอารมณ์กรรมฐานง่ายๆที่อาจารย์สอน อาจารย์ที่สอนก็สอนให้เราอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำงานอะไรมาก เหมือนอย่างที่พระคุณเจ้ามาอยู่นี่ ไม่ต้องทำงานไม่ต้องก่อสร้างอะไรทั้งหมด ไม่ต้องคุยกับใคร เหมือนอย่างที่สำนักลำเปิงเขาสอน เดิน ยืน นั่ง นอน แบบไม่ต้องพูดคุยกับใคร กินคนเดียว นอนคนเดียว ทำแต่สติตลอดวัน ไม่ต้องอ่านหนังสือ ไม่ต้องสวดมนต์ ไม่ต้องเขียนหนังสือ ทำแต่ดูจิตอย่างเดียว กระผมก็ได้เคยทำมา ๓ ปี ทำวิธีสติปัฏฐาน ๔ นี้มี พลานิสงส์อย่างมาก ที่เราจะเข้าถึงพุทธศาสนาได้โดยตรง ถึงแก่น
            การเป็นพระ..ก็มารู้จักคำว่าเป็นพระตรงที่เราได้เข้ามาปฏิบัติธรรมนี่เอง ถ้าเราเป็นพระแล้วไม่มีโอกาสปฏิบัติธรรมแล้วเราก็ไม่รู้ว่าเป็นพระกันตรงไหน พุทธศาสนาอยู่ที่ใคร นึกว่าอยู่ที่ตำรับตำรา ในตู้พระไตรปิฏก พอเรามารู้เรื่องจิตใจก็รู้เรื่องพุทธศาสนาอยู่ที่ใจของเรา เรามีที่พึ่งคือทำใจ เรามีที่พึ่งคือศีล คือสมาธิ คือการเจริญใจของเราให้งอกงามขึ้น เราก็รู้ว่าอกุศลกรรมนี้ที่มันให้ผลในชาตินี้และในชาติที่แล้วมาก็คือรู้จักกรรมที่ใจของตัวเอง ถ้าเราทำใจดีแล้ว
ผลดีมันก็ออกมา ถ้าเราทำใจไม่ดีผลไม่ดีมันก็จะออกให้ผลกับเรามาเป็นทุกข์เร่าร้อนตลอดไป แต่ถ้าเราทำกายวาจาใจมีศีลมีธรรม ผลความสุขสงบทางใจมันก็เกิดขึ้นกับตัวเรา เป็นผลสะท้อนที่เกิดขึ้นมาจากจิตใจ อันนี้พุทธศาสนาก็เลยเข้าถึงทางด้านจิตใจของบุคคล ก็คือปฏิบัติตามคำสอน
            ตอนที่ผมได้ปฏิบัตินั้นก็ได้ทิ้งหมดเลย คือว่าปฏิบัติแบบว่าไม่เอาอะไร เครื่องรางของขลังก็ทิ้งหมด เมื่อก่อนผมชอบมากครื่องรางของขลัง ตะกุด ผ้ายันต์ ตอนเป็นฆราวาสผมชอบอิทธิฤทธิ์ ชอบเล่นวิชาอาคมตั้งแต่เล็กๆ ชอบมากเลย เครื่องรางของขลังท่านคงทราบอยู่แล้วว่าเมืองสุพรรณฯ เป็นเมืองพระ เมืองนิยมวิชาอาคมพวกนี้อยู่แล้ว แต่ว่าพวกนี้เป็นสายเลือดที่สืบกันมา พอมาปฏิบัติแล้วอยากจะรู้เรื่องแบบปฏิบัติโดยตรง
            พรรษาแรกก็ยังสนใจเล่นของ ยังเอากล้องไปส่องพระว่าองค์ไหนแท้ องค์ไหนไม่แท้ ส่องดูองค์ไหนเก่า องค์ไหนไม่เก่า กรุขึ้นหรือไม่ขึ้น รุ่นไหนแท้หรือไม่แท้ ชอบใจพระ แต่พอมาเจริญสติปัฏฐาน ๔ กับหลวงพ่อสังวาล กลับเปลี่ยนใจได้เลิกเล่นเลย ออกมาผมก็ยกให้เขาหมดเลย หลวงพ่อไหนแท้ไม่แท้อยู่ที่ใจอย่างเดียว อันนั้นเป็นพระสมมติทั้งหมด ตะกุด ผ้ายันต์ ทองเหลือง ทองแดง จะเป็นสมเด็จรุ่นไหนก็เป็นวัตถุธาตุ พระที่แท้คือศีล สมาธินี่เอง ก็เลยเอาพระออกหมดเลย ทิ้งออกจากย่ามหมด พวกคนเขาดีใจว่าให้พระเขา ให้เครื่องรางของขลังเขา

            ตอนที่ผมยังไม่บวช พระของผมที่ผมเล่น พออธิษฐานฟาดสายรุ่งแล้วสายรุ่งจะขาด เพื่อนก็วิ่งมาหาผม บอกว่า นี่ลองพระดูทีŽ เพราะเพื่อนรู้ว่าที่บ้านมีพระของเก่าๆ เยอะ ผมก็ไม่ได้คิดอะไร ก็ลองอธิษฐาน พออาราธนาพระก็เอาพระจับฟาดสายรุ่งเลย พอฟาดเข้าไปสายรุ่งจะแหวกขาดเลย เราก็ไม่เชื่อสายตา พอฟาดทางนี้อีกทีก็ขาดทางนี้อีกที ฟาดสามท่อนก็ขาดสามท่อน อานุภาพพุทธคุณ ธรรมคุณนี้มีจริง แต่ว่าเป็นวัตถุธาตุ ผมก็เชื่อว่ามีเมื่อสมัยก่อน ก็เล่นครับ พระนี่เอาใส่ปากปลาแล้วฟันไม่เข้าหรอกครับ พระเมืองลำพูนนี่แหละครับ ลำพูนแดง ลำพูนดำ เอาใส่ปากปลาฟันจนปลาตายจึงจะเข้า หนังไม่ขาดหรอก ให้ผู้หญิงฟันก็ได้ ให้ผู้ชายฟันก็ได้
            เหมือนคนที่เขาเล่นวิชาจริงๆ เคี้ยวตะกั่วเอามือจิ้มได้ ผมยังเคยไปจิ้มกับเขาเลย คนที่อู่ทองเคี้ยวตะกั่วแล้วเอามือไปจิ้มตะกั่วได้ของหายนี่ลองอธิษฐาน ถ้าคนไหนขโมยแล้วจิ้มไม่ได้ จิ้มแล้วตะกั่วติดเลย เรื่องจิ้มตะกั่วนี่เราก็นึกว่าเป็นเรื่องหลอกเด็ก แต่พอมาเจอกับตัวเองจึงได้เชื่อว่ามีจริงๆ เมื่อปี ๒๕๐๐ ผมยังได้ไปจิ้มกับเขาเลยของหายในวัด เอาเณรกับเด็กจิ้มก่อน ผมอยู่เป็นเณรผมก็ไปจิ้ม
            เขาบอกว่า จิ้มไปเถอะคนไหนบริสุทธิ์ไม่ติดหรอกครับŽ
            มีเณรองค์เล็ก จิ้มแล้วละๆ เพราะกลัวติด
            เขาบอกว่า ถ้าไม่ได้ลัก..จิ้มไปเถอะŽ
            พอจิ้มไปแล้วมันก็ไม่ติด ทั้งๆ ที่เณรใจเสียแล้วนะครับ เขาบอกว่าถ้าคนไหนรู้เห็นแล้วติดเลยนะ..ตะกั่ว
            ที่เรากล้าจิ้มเพราะว่าคนที่เขาเคี้ยวตะกั่วเขาเอามือช้อนขี้ตะกั่วออกได้ แล้วเขาให้สมภารวัดจิ้มก่อน มีจริงครับของพวกนี้ วิชาอาคมพวกนี้ผมได้เห็นกับตัวเองมาเยอะในประสบประการณ์ แต่พอมาทำกรรมฐานแล้วถือว่ามันเป็นของติดงมงาย ถึงจะนำญาติโยมให้ทำตามได้แต่ก็ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ไม่ใช่ทางพระพุทธเจ้าสอน เป็นของโลกีย์ก็เลยทิ้งหมดเลย
            พอมาเจอหลวงพ่อสังวาล ผมก็เลิกหมดเลยของพวกนั้นไม่ติดใจ พอผมมานั่งสมาธิที่ป่าช้า มันก็มาปรากฏอีกของพวกนี้ มาปรากฏให้เราอยากได้อีกผมก็ไม่เอา พอเข้าปีที่ ๓ พอนั่งๆ ไป ยุงมากัดไม่เข้าหรอกครับ ยุงมาตอดมากัดเหล็กหมาดคดหมด ผมมานึกว่า
            เอ้..! อารมณ์แบบนี้ยุงกัดไม่เข้า สงสัยอารมณ์ที่เขาเอาไปเล่นอยู่ยงคงกระพันมั้งž
            เอาไปเสกอุด เสกอัด ไม่ให้ปืนออกอะไรอย่างนั้น ผมก็ลองนั่งอยู่ตลอดวัน ทำอารมณ์นั้นแล้วยุงก็กัดไม่เข้า ยุงนี่กัดปากคดหมดที่แรกผมนึกว่ายุงตัวนั้นมันปากหัก กินเลือดคนไม่ได้ มันกัดตลอดไปเอาปากมาทิ่มกับเนื้อเรามันก็คดแล้วมันก็บินหนีไป ตัวใหม่มาก็แบบนั้นแหละ ทั้งวันมีตัวไหม่เข้ามากัดแบบนั้นปากคดหมด กินเลือดเราไม่ได้
            พอวันที่สองเราก็ลองอีกมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ ถ้าลองทำอารมณ์นั้นยุงจะกัดไม่เข้าเลย พอกำหนดจิตปุ๊บตรงนั้น ยุงกัดจะปากคดทันที แต่ถ้าปล่อยจิตดวงนั้นยุงก็กัดเข้า
            ผมบอก เอ้..! ถ้าอย่างนี้แสดงว่าวิชานี้เป็นวิชาอยู่ยงคงกระพันยิงไม่ออก ฟันไม่เข้าž
            แต่อาจารย์สั่งไว้ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีตัวตนอะไรของไม่เที่ยงแท้อย่าไปยึดŽ
            ผมก็เลยไม่เอา ถ้าติดตรงนี้เดี๋ยวก็ไปเป็นเกจิอาจารย์กับเขาคงต้องไปนั่งเสกตะกุด ทองเหลือง ทองแดงกับเขา แต่ได้ผ่านอารมณ์นี้เห็นกับตัวเอง แล้วเวลาไปกำหนดตรงนั้น กล้องก็ถ่ายไม่ติด กล้องนี่เสียเลยถ้าถ่าย พังเลย พอเราเล่นอารมณ์นั้น เราก็ถือว่าไม่ใช่อารมณ์กรรมฐาน ไม่ใช่อารมณ์วิปัสสนา มันเป็นเพียงจิตดวงหนึ่งที่มีอารมณ์เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติธรรม อันนั้นเราก็ส่งอารมณ์ให้กับครูบาอาจารย์ไม่ได้ ท่านไม่ได้สอนเรา แต่ก็ถือว่าถ้าบุคคลใดได้ปฏิบัติมีบารมีแก่กล้า ก็ได้เองสิ่งพวกนี้ ถ้าเราไม่ถึงวาระนั้นมันก็ไม่เกิดกับเรา ก็ต้องเกิดจากผลของศีล สมาธิที่มีอยู่ในตัวเรา
            แต่ก่อนผมก็สนใจเล่นเรื่องกสิณ (ชื่อกรรมฐานหมวดหนึ่งว่าด้วยยอารมณ์ที่กำหนดธาตุ ๔ คือ ปฐมวี (ดิน) อาโป (น้ำ) เตโช (ไฟ) วาโย (ลม) ,ว่าด้วยวรรณะ (สี) ๔ คือ นิล (สีเขียว) ปีต (สีเหลือง) โลหิต (สีแดง) โอทาต (สีขาว) ) แต่แอบเล่นเรื่องกสิณ เพราะสนใจเรื่องกสิณมากเป็นพิเศษ ตอนหลังก็พอเข้าใจแล้วจึงเลิก ก็เลยรู้ว่ากรรมฐานนี่เป็นอุบายทั้งหมด กรรมฐาน ๔๐ นี่เป็นอุบายให้จิตของเราเป็นหนึ่ง เพื่อที่เราจะได้เข้าไปรู้เรื่องจิตใจตัวเอง แล้วก็ไปรู้การละ ปล่อยวางให้เป็น ที่ผมได้ปฏิบัติมากับครูบาอาจารย์ก็นับว่าเราได้ครูบาอาจารย์ที่ดีแล้ว เป็นโอกาสให้เราได้เดินทางต่อไป เพราะท่านสั่งไม่ให้เรามีอะไรมากมาย แล้วก็ยิ่งเป็นพระธุดงค์แล้วยิ่งง่ายในการใช้ชีวิตมากเลย ไปไหนก็เตรียมบาตรลูกหนึ่ง กลดคันหนึ่ง
            ผมเชื่อเหลือเกินว่าพระร้อยกว่ารูปนี้ไปที่ไหนก็คงไม่อด เพราะญาติโยมรู้ว่าพระเราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ แล้วก็อยากจะศรัทธาทำบุญกุศล ฉะนั้นเมื่อออกไปแล้วพระคุณเจ้าจะไปเผยแพร่ธรรมะให้กับญาติโยม ญาติโยมก็ศรัทธาผู้เผยแพร่ หมายถึงว่าก็ต้องเสียสละ ยิ่งสันโดษเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น พระยิ่งสันโดษเท่าไรก็เป็นผู้ที่น่ารักเป็นผู้ที่น่าเคารพยิ่งไม่เอาอะไรยิ่งดีใหญ่ เพราะพระพุทธเจ้าท่านไม่เอาอะไร มนุษย์และเทวดาทั้งหลายจึงยอมรับความคิดของพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ท่านเป็นผู้บริสุทธิคุณ มหากรุณาธิคุณ และปัญญาธิคุณ
            ที่ท่านสามารถปฏิบัติตัวเป็นผู้นำได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะได้รับผลไป เพราะว่าผลที่เราจะไปทำงานให้พุทธศาสนา ท่านจะเสียสละได้มากแค่ไหน เหมือนกับท่านพระครูเจ้าคณะอำเภอท่านเสียสละ ท่านจึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เสียสละความสุขส่วนตัวให้กับส่วนรวม ถึงจะลำบากในการมาอบรมพระท่านก็มา แต่ทีนี้งานที่เสียสละของพวกเรานั้นแหละที่จะทำให้กับตัวเองและก็สังคม แต่ถ้าเสียสละไม่ได้ก็เจริญไม่ได้ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า
            การที่ไปสั่งสอนประชาชน ความเป็นจริงเราอย่ามุ่งสอน การมุ่งสอนนั้นจะทำให้เราผิดหวัง เหมือนอย่างเราได้อบรมไปแล้ว ธรรมะเกิดแล้วหละ กลับไปวัดอยากจะเทศน์ให้โยมฟัง พอได้รู้อะไรเยอะๆ กลับจะไปเทศน์ใหญ่เลยคราวนี้ ความตั้งใจที่เราจะไปเทศน์นั้น บางทีมันล้มละลาย พอไปเทศน์เข้าจริงๆ โยมเขารับไม่ไหว โยมรับไม่ได้ โยมเบื่อ โยมยังเตรียมใจไม่พร้อม
            ผมเคยไปอบรมญาติโยมกัน ไปกับเพื่อนพระ แต่ที่จริงเพื่อนรุ่นพ่อ ท่านบวชทีหลังแต่ว่าท่านรู้มากกว่าเรา ท่านศึกษามาจากวัดมหาธาตุและท่านเรียนรู้มากตอนเป็นฆราวาส แล้วท่านบวชจากธรรมยุติท่านก็มีธรรมะดีก็ไปเผยแพร่กัน ภาคกลางก็ไปเผยแพร่ โยมมาฟังธรรมะเราเขาไม่นิมนต์ไปหรอก เพราะเราพูดไม่เก่ง แต่เราพูดไม่เหมือนท่าน เขาก็นิมนต์พระเพื่อนนั้นไปเทศน์ที่วัด คนเต็มศาลาเลยครับ ท่านเทศน์เรื่อง อริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘ เรื่องการเป็นโสดาบัน เราทำบุญกันอย่างไรจึงจะเป็นโสดาบัน ทำกันมาตั้งนานแล้วยังไม่รู้จักบุญ ท่านพูดให้ญาติโยมเข้าใจ แต่ท่านพูดไม่หยุด พูดถึงสามสี่ชั่วโมง โยมก็ฟังได้บางแห่ง
            พอท่านกลับมาถึงวัด ผมจึงถามท่านว่า
            เป็นอย่างไรบ้างครับ โยมที่นี่Ž
            แหม! โยมที่นี่ศรัทธาดีจังเลย ฟังกันไม่ยอมลุกเลย พรุ่งนี้จะต้องไปโปรดใหม่Ž
            พอพรุ่งนี้ไป โยมมาฟังอีก แต่คราวนี้เหลือครึ่งศาลาครับ สู้ไม่ไหว สู้พระเทศน์ไม่ไหวครับ พอวันที่สามไปอีกเหลือสองคนครับ หมดครับ สามวันเทศน์เกลี้ยงศาลาเลยครับ ธรรมะมันเกิด เราก็ไม่รู้จะเตือนอย่างไรได้ โยมรับไม่ไหว ธรรมะพระมากไป
            แต่ที่เราอยู่ที่นั่นก็ไม่ได้เทศน์อะไรมาก โยมก็มานั่งกรรมฐานกันมากขึ้นๆ จนเป็นวัดขึ้นมา จากวัดร้างจนกลายมาเป็นวัดมีพระสงฆ์จนสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่ท่านเทศน์เองนะครับอยู่ที่ไหนไม่ได้ครับ อยู่พรรษาสองพรรษาก็ไปแล้วเพราะมีปัญหา เทศน์ไม่ได้วัดครับ เทศน์ไม่ได้ลูกศิษย์ด้วย เทศน์ดีจริงๆ ครับ ผมฟังผมก็ชอบว่าเทศน์ได้ดี แต่เทศน์ไม่ได้ลูกศิษย์ มันเป็นกรรมอะไรของท่าน ให้พิจารณาดู มีเพื่อนพระหลายองค์ ความรู้ดีนะครับไม่ใช่ไม่ดี บางองค์บอกว่า
            ผมไม่มีวาสนามั้ง ผมนี่อุตส่าห์เผยแพร่มานานแล้ว แต่ยังตั้งสำนักไม่ได้Ž
            แล้วก็ไปเทศน์กันที่จังหวัดประจวบ ท่านเป็นโรคปวดหลัง ท่านตัดกระดูกออก พอท่านนั่งฟังเราเทศน์ ท่านจะบอกว่า
            อาจารย์ผมเหมื่อยแล้วครับ ผมไปนอนก่อน หลังไม่ดีŽ
            พอท่านนั่งฟังเราแล้วท่านปวดหลัง แล้วท่านก็กลับไปนอน พอวันรุ่งขึ้นผมรู้ วันนี้ต้องให้หลวงพ่อเทศน์แทนหน่อยž
จึงบอกว่าวันนี้หลวงพ่อเทศน์นะครับผมจะพักผ่อนŽ
            ท่านก็ดีใจ ท่านชอบเทศน์ ท่านเทศน์ตั้งแต่หัวค่ำถึงสว่างเลยครับ ท่านเทศน์ได้ไม่ปวดหลังเลยครับ แต่พอฟังเราเทศน์เดี๋ยวเดียวก็ปวดหลัง
            พอได้สามวันแล้วผมก็ชวนท่านกลับ กลัวโยมเบื่อ โยมเขาบอก
            แหม! ชอบใจพระองค์นั้น คราวหลังนิมนต์มาเทศน์อีกนะŽ
            ผมไม่พาท่านไปอีกเลยครับ ถ้าพาไปอีกคราวนี้หมดเลย ไม่มีใคร
มาฟังเลย ธรรมะนี้สำคัญ คือมันเกิดเราก็ต้องรู้ รู้มันดับ ถ้าเกิดแล้วไม่รู้มันดับนี่มันจะไม่ดับ มันจะปรุงแต่ง เราก็ไม่สามารถไปรู้ใจคนได้ ไม่สามารถที่จะให้เข้าถึงศรัทธาญาติโยมได้ การแสดงธรรมให้กับญาติโยม บางทีไม่จำเป็นต้องแสดงอะไรมาก เพียงแค่ทำตัวอย่างให้เขาดูเท่านั้นเอง เดินสงบ นั่งสงบ นอนสงบ กินสงบ กิริยาวาจาอาการแสดงออกมาสงบ ที่ออกมาจากใจ ส่วนนั้นแหละเป็นการเทศนาสั่งสอนขั้นเบื้องต้น เป็นปฐม อันนั้นแหละที่จะนำศรัทธาญาติโยมมาให้ฟังธรรมของเรา
            และเมื่อเราทำอาการสงบกายวาจาใจเรียบร้อยแล้ว คำเทศน์ที่เราแสดงไปก็ได้ผล แต่ว่าถ้าเราไม่สำรวมกายวาจาใจ จะแสดงธรรมสักกี่จบ กี่กัณฑ์ ก็ไม่เกิดผลอะไร ศรัทธาเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะผู้ที่แสดงธรรมนั้นไม่ได้สำรวม หรือไม่เป็นผู้สงบระงับ อันนี้ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่นักเผยแพร่ต้องผิดพลาดกันมากในเมื่อไปทำงานให้กับศาสนา ซึ่งไม่สามารถที่จะดึงศรัทธาญาติโยมให้แน่นแฟ้นได้ แล้วก็ไม่สามารถที่จะปกครองบุคคลที่เข้ามาศึกษาธรรมะให้อยู่ในระเบียบวินัยได้ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้แสดงธรรม ที่จะต้องเอาระเบียบวินัยตามพุทธบัญญัติมาใช้จึงจะได้ประโยชน์มาก
            แล้วอีกอย่างญาติโยมบางท่าน กระผมขอเล่าถวายนะครับ ไม่ใช่ว่าคุยโอ้อวดท่านŽ
            คือในฐานะที่เรามาพบกัน แล้วท่านจะต้องไปเป็นพระวิปัสสนาจารย์ และนำธรรมะนี้ไปเผยแพร่ให้กับญาติโยม ก็อยากจะถวายความคิดเห็นไว้บ้างว่า ควรจะทำอย่างไรที่จะดึงศรัทธาญาติโยมได้ คือเราต้องปฏิบัติแบบประเภทให้อยากน้อยลง หรือว่าดับความอยากตัวเองความอยากนี้ทำให้เสียทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งจะไม่ได้มาทางผลประโยชน์ทางศาสนา
            ที่กระผมเคยไป..เราก็ไม่อยากมีลูกศิษย์ เราก็ไม่อยากได้อะไร ใจนั้นอยากจะไปอยู่ที่สงบวิเวก แต่ผลมันตามมาเองครับ ผมไปอยู่ที่ถ้ำหมี จ.สุพรรณบุรี อยู่องค์เดียว พอไปอยู่ได้สองพรรษาก็มีพระตามไปอยู่ด้วยมากขึ้น ผมเห็นว่าสองปีมีพระมากขึ้น จากถ้ำจากป่ากลายมาเป็นวัด ก็เลยมอบหน้าที่ให้องค์อื่นอยู่แทน กระผมเคยไปอยู่ที่ถ้ำกระเปาะ จ.ชุมพร ผมไปอยู่องค์เดียวไปวิเวก ไปอยู่ก็ตั้งใจไปอยู่องค์เดียว ปีแรกก็อยู่ได้องค์เดียว พอปีที่สองพระก็ตามไป ปากต่อปากก็มากขึ้น พอปีที่สามมีพระยี่สิบกว่าองค์ ผมเห็นว่าพระมากก็เลยหนีจากที่นั่น ให้พระที่นั่นอยู่แบ่งครึ่งกัน
            แต่ว่าญาติโยมโดยมากเราไม่ได้มุ่งสอนอะไรมาก แต่ก่อนที่เมืองนนท์นะครับ คนกลัวพระกรรมฐานมาก ไม่ยอมนั่งหลับตา พอพระเทศน์ญาติโยมจะกลัวพระเทศน์มากเลย ลงศาลากันหมดเลยครับ คือพระที่ภาคกลางเทศน์จนโยมเบื่อครับ นะโมตัสสะ..ถือคัมภีร์ อ่านคำภีร์จนโยมเบื่อครับ เมื่อไรก็นิทาน เมื่อไรก็ราชาศัพท์ ซึ่งโยมฟังแล้วก็ไม่รู้เรื่องครับ พระท่านก็กลัวว่าถ้าไม่เทศน์ภาษาบาลีหรือภาษาธรรมกลัวโยมจะหาว่าเราไม่มีภูมิรู้ ก็เลยรักษาภูมิรู้ของตัวเอง เทศน์จนโยมไม่เข้าใจธรรมะ นานๆ เข้าโยมก็เบื่อหมดเลยครับ
            ผมไปใหม่ๆ ผมจะสังเกตตอนไปวัดอื่นนะครับ พอโยมมาถวายอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว พอพระบอกว่าเอ้า..ต่อไปนี้เตรียมตัวฟังธรรมนะŽ
            รีบเก็บปิ่นโตลงศาลา รีบกลับบ้านกันเลยครับ ผมจึงรู้ว่า โอ้..โยมกลัวพระเทศน์กันจังเลย น่าสงสารจริงๆ เหลือแต่คนแก่แหละครับที่หนีไม่ทัน แล้วก็ฟังไปหลับไป ผมก็มานึกได้ว่า โอ..พระเทศน์จนโยมกลัวคัมภีร์ เพราะโยมฟังไม่รู้เรื่องžผมก็เลยไม่ถือคัมภีร์ครับ คิดว่าทำอย่างไรจะให้โยมฟังเทศน์ได้เพราะว่าอยู่ใกล้กับวัดต่างๆ ที่เขากลัวพระเทศน์ พอวันพระญาติโยมมาทำบุญ เมื่อฉันข้าวเสร็จแล้ว จึงบอกว่า
            โยมต่อไปนี้ตั้งใจแผ่เมตตานะ รับพรแผ่เมตตาจากพระŽ
            พอบอกเทศน์เขาก็ต้องเตรียมตัวลงศาลา ถ้าบอกนั่งกรรมฐานเขาก็ต้องเตรียมลงศาลาเหมือนกัน แล้วจะทำอย่างไรจึงจะดึงโยมเขาได้ เพราะโยมกลัวนะครับ บางคนก็อายครับ อายเรื่องนั่งสมาธิบางคนนี่อายมากครับ เมื่อสมัยก่อนนะครับเมื่อสิบกว่าปี ผมก็บอก
            เอ้า..โยมเดี๋ยวแผ่เมตตานะ ทำจิตให้เป็นกุศล แล้วจะได้เอาบุญกุศลนี้ให้ถึงญาติได้ ถ้าเราไม่มีสมาธิเราจะไม่สามารถที่จะแผ่บุญกุศลให้ถึงญาติได้ จิตใจเราวอกแวกอย่างนี้ วุ่นวายอย่างนี้แผ่เมตตาไม่ออก ตอนนี้โยมทำใจให้สงบสักห้านาทีŽเราก็เติมตรงนี้แหละครับ ห้านาทีทำอย่างไร
            ให้เอาจิตมาอยู่กับลมหายใจของเรา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ให้นึกเห็นตัวเอง อย่าให้จิตไปคิดถึงคนอื่น แล้วเราจะทำจิตให้สงบได้
Žพอห้านาทีโยมเริ่มหลับตาเป็นแล้วคราวนี้ พอมาวันหลังๆ ก็เพิ่มสิบห้านาที เพิ่มครึ่งชั่วโมง นานๆ เข้าชั่วโมงหนึ่งไม่หนีครับ พอชั่วโมงหนึ่งไม่หนี พวกขี้เหล้าเมายา พวกกินเหล้าเมายาในวัดนั้นหายหมดเลย กลายเป็นคนมีศีล มีธรรมเลิกดื่มเหล้า เลิกเล่นการพนัน กลายเป็นทายกทายิกานักเสียสละไปเลยครับ พอนั่งกรรมฐานถึงหนึ่งชั่วโมงคนดีเกิดขึ้นในวัดนั้นเลยครับทั้งผู้หญิงทั้งผู้ชาย ไม่ได้ไปหาคนที่ไหนเข้าวัดหรอกครับ ไม่ต้องไปไล่คนเก่าออกหรอกครับ เอาคนเก่านั้นมาฝึก กลายเป็นคนมีศีล มีทาน
            เรื่องเงินเรื่องทองวัดนี้ท่านไม่ต้องกลัวหรอกครับ มีแต่เอามาให้ครับ วัดอื่นปกครองยาก บอกว่า..ทายกกับทายักนี้อยู่คู่กัน พระก็ต้องเก็บเงินไว้เองบ้าง ถ้าไม่อย่างนั้นกลัวทายกไม่ซื่อตรง แต่ตรงกันข้ามครับ สำนักปฏิบัติที่พวกกระผมไปเปิดสาขาทั้งหมดสิบกว่าแห่งนี้ รวมทั้งสำนักของอาจารย์ด้วยก็ยี่สิบกว่าแห่ง ทายกมีแต่ผู้ให้ครับมีแต่คนซื่อ มีแต่คนศรัทธา ไม่มีคนจะไปกินไปโกงเงินวัดหรอกครับ มีแต่อยากจะทำบุญ อยากจะเสียสละ.

แหล่งข้อมูล vimokkha.com