ทุกสิ่งอุบัติขึ้นด้วยการเปรียบเทียบ
- เมื่อคนในโลกรู้จักความสวยว่าสวย ความน่าเกลียดก็อุบัติขึ้น
- เมื่อคนในโลกรู้จักความดีว่าดี ความชั่วก็อุบัติขึ้น
- มีกับไม่มีเกิดขึ้นด้วยการรับรู้ ยากกับง่ายเกิดขึ้นด้วยความรู้สึก
- ยาวกับสั้นเกิดขึ้นด้วยการเปรียบเทียบ สูงกับต่ำเกิดขึ้นด้วยการเทียบเคียง
- เสียงดนตรีกับเสียงสามัญเกิดขึ้นด้วยการรับฟัง หน้ากับหลังเกิดขึ้นด้วยการนึกคิด
- ปราชญ์ย่อมกระทำด้วยการไม่กระทำ เทศนาด้วยการไม่เอ่ยวาจา การงานทั้งหลายก็สำเร็จลุล่วงลง
- ท่านให้ชีวิตแก่สรรพสิ่ง แต่มิได้ถือตนเองเป็นเจ้าของ ประกอบกิจการยิ่งใหญ่ แต่มิได้ประกาศให้โลกรู้
- เหตูที่ท่านไม่ปรารถนาในเกียรติคุณ เกียรติคุณของท่านจึงดำลงอยู่ไม่สูญสลาย.
..........................................................................
มิได้อยู่เพื่อตนเอง
- ฟ้ามีอายุยาวนาน ดินมีอายุยาวนาน เหตุเพราะฟ้าและดินมิได้ดำรงอยู่เพื่อตนเอง จึงอยู่ได้คงทน
- ปราชญ์ย่อมตั้งตนอยู่รั้งท้าย และก็จะกลับกลายเป็นหน้าสุด
- ละเลยตนเอง แต่กลับมีชีวิตอยู่ได้ด้วยดี
- เพราะปราชญ์มิได้อยู่เพื่อตนเองหรือมิใช่ ตัวตนของท่านจึงถึงซึ่งความสมบูรณ์.
..............................................................
กากเดนแห่งคุณความดี
- ผู้ที่ยืนเขย่งบนปลายเท้าจะยืนได้ไม่มั่นคง ผู้ที่เดินเร็วเกินไปจะเดินได้ไม่ดี
- ผู้ที่แสดงตนให้ปรากฎจะไม่เป็นที่รู้จัก ผู้ที่ยกย่องตนเองจะไม่มีใครเชื่อถือ
- ผู้ที่ลำพองจะไม่ได้เป็นหัวหน้าในหมู่คน
- สิ่งเหล่านี้ในทัศนะของเต๋าแล้วย่อมเรียกได้ว่า กากเดนและเนื้อร้ายของคุณความดี อันเป็นสิ่งที่พึงเหยียดหยาม ดังนั้นบุคคลผู้ยึดมั่นในหนทางแห่งเต๋า พึงหลีกเลี่ยงจากสิ่งเหล่านี้
รู้จักตนเอง
- ผู้ที่เข้าใจคนอื่นคือผู้รอบรู้ ผู้ที่เข้าใจตนเองคือผู้รู้แจ้ง
- ผู้ที่มีชัยต่อคนอื่นคือผู้มีกำลัง ผู้ที่มีชัยต่อตนเองคือผู้เข้มแข็ง
- ผู้ที่มักน้อยคือผู้ร่ำรวย ผู้ที่มีมานะพยายามคือผู้มีความหวัง
- ผู้ที่อยู่ในสถานะอันเหมาะสมของตนเอง ย่อมอยู่ได้นาน
- ถึงแม้ผู้นั้นจะสิ้นชีวิตไปแล้ว แต่คุณความดียังอยู่สืบไป.
................................................
ชนะแข็งด้วยอ่อน
- ผู้ที่ถูกลดทอน จะต้องมีมาก่อน
- ผู้ที่อ่อนแอ จะต้องเข้มแข็งมาก่อน
- ผู้ที่ตกต่ำ จะต้องยิ่งใหญ่มาก่อน
- ผู้ที่ได้รับ จะต้องให้มาก่อน
- ความอ่อนละมุนมีชัยเหนือความแข็งกร้าว
- ควรปล่อยให้มัจฉาอยู่ในสระลึกจะดีกว่า เหมือนดั่งเก็บงำศัตราวุธทั้งมวล ของบ้านเมืองไว้มิให้ใครแลเห็น.
......................................................
ระดับสูง
- เมื่อคนในระดับสูงได้รับฟังเต๋า ก็ปฎิบัติตามอย่างมีมานะ
- เมื่อคนในระดับปานกลางได้รับฟังเต๋า บางครั้งก็เข้าใจบ้างครั้งก็ไม่เข้าใจ
- เมื่อคนในระดับต่ำสุดได้รับฟังเต๋า ก็หัวเราะเยาะด้วยเสียงอันดัง หากมิถูกหัวเราะเยาะก็คงจะมิใช่เต๋าแล้ว
- ดังนั้นจึงมีคำกล่าวไว้ว่า เต๋าอันกระจ่างแจ้งคล้ายดังมืดมน
- เต๋าอันรุดหน้าคล้ายดังถดถอย เต๋าอันราบรื่นคล้ายดั่งขรุขระ
- สีขาวบริสุทธิ์คล้ายดั่งมืดดำ คุณความดีอันสูงสุดคล้ายดั่งต้อยต่ำ
- คุณความดีอันเลอเลิศคล้ายดั่งบกพร่อง
- คุณความดีอันหนักแน่นคล้ายเลื่อนลอย
- ธรรมชาติอันง่าย ๆ คล้ายดั่งแปรเปลี่ยน
- รูปจตุรัสที่ใหญ่ที่สุดนั้นไม่มีมุม ภาชนะที่ใหญ่สุดนั้นไม่เคยสร้างสำเร็จ
- เสียงดนตรีอันยิ่งใหญ่นั้นยากที่จะได้ยิน ภาพอันยิ่งใหญ่นั้นไม่อาจมองเห็น
- เต๋าอันเคลือบคลุมซ่อนเร้นนั้นไร้ชื่อ
- มีเพียงเต๋าเท่านั้นที่เสริมสร้างบำรุงเลี้ยง และให้ความสมบูรณ์แก่สรรพสิ่ง
............................................................
คล้าย
- สิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด คล้ายดั่งมีความบกพร่องอยู่ แต่คุณประโยชน์ของมันไม่มีที่สิ้นสุด
- สิ่งที่เต็มเปี่ยมที่สุด คล้ายดั่งมีความว่างเปล่าอยู่ แต่คุณประโยชน์ของมันไม่มีที่สิ้นสุด
- ที่ตรงที่สุดคล้ายดังคดงอ ที่ชาญฉลาดที่สุดคล้ายดังโง่เขลา
- ที่เปี่ยมด้วยโวหารคล้ายดังขัดข้องติดอ่าง
- เมื่อเคลื่อนไหวทำให้หายหนาว เมื่อหยุดนิ่งทำให้หายร้อน ผู้มีความนิ่งมีความสงบ จึงเป็นแบบอย่างอันเลอเลิศของจักรวาล
.................................................
หยั่งรู้
- โดยมิได้ย่างเท้าออกนอกประตู ก็อาจรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก
- โดยมิได้มองออกนอกหน้าต่าง ก็อาจเห็นเต๋าแห่งสรวงสวรรค์
- ยิ่งเดินทางแสวงหาไกลออกไปเท่าใด ยิ่งรู้น้อยลงเท่านั้น
- ดังนั้นปราชญ์อาจรู้โดยมิต้องเดินทาง อาจเข้าใจโดยมิต้องมองเห็น อาจสัมฤทธิ์ผลโดยมิต้องกระทำ
.............................
คุณความดีอันล้ำลึก
- เต๋าให้กำเนิดแก่สรรพสิ่ง คุณธรรมให้การบำรุงเลี้ยง
- วัตถุธาตุให้รูปทรง สิ่งแวดล้อมช่วยทำให้สมบูรณ์ ดังนั้นสรรพสิ่งในสากลจักรวาล จึงเทิดทูนเต๋าและยกย่องคุณธรรม
- เต๋าได้รับการเทิดทูนและคุณธรรมได้รับการยกย่องมิใช่ด้วยการบังคับขู่เข็ญของผู้ใด แต่เป็นไปด้วยตนเอง
- เต๋าให้กำเนิด คุณธรรมให้การบำรุงเลี้ยง ทำให้สรรพสิ่งเติบโตแผ่ขยาย ให้สถานที่พักอาศัย เลี้ยงดูและปกปักรักษา
- ให้กำเนิดแต่มิได้ครอบครอง บำรุงเลี้ยงแต่มิได้ถือเป็นความดี
- มีความยิ่งใหญ่แต่มิได้เข้าบังคับบัญชา นี่คือคุณธรรมอันล้ำลึก
................................................
เหนือโลก
- ผู้ที่รู้ไม่พูด ผู้ที่พูดไม่รู้
- ถมช่องว่าง
- ปิดประตู
- ที่คมทำให้ทื่อ
- ที่ยุ่งแก้ให้หลุด
- ที่กระจ่างเกินไป ก็ลดลงเสียบ้าง
- ที่วุ่นวายหลีกให้พ้น นี่คือเอกภาพอันล้ำลึก
เมื่อทำได้ดังนี้ ทั้งความรักและความเกลียดก็ไม่อาจแผ้วพานการได้ หรือการสูญเสียก็ไร้ความหมายมีเกียรติหรือต่ำต้อยก็มีผลเท่ากัน
ผู้ที่ทำได้ดังนั้นจึงเป็นผู้มีเกียรติสูงสุดอย่างแท้จริงในโลกนี้
................
ยากกับง่าย
- ทำด้วยการไม่กระทำ ดูแลด้วยการไม่ดูแล
- ลิ้มรสด้วยการไม่ลิ้มรส
- ถือที่เล็กเสมือนใหญ่
- ถือที่น้อยเสมือนมาก
- ตอบแทนความชั่วด้วยความดี
- จัดการกับสิ่งที่ยุ่งยากในขณะที่ยังง่าย
- จัดการกับสิ่งที่ใหญ่ในขณะที่ยังเล็ก
- ปัญหาที่แก้ยากของโลก จะต้องแก้ไขในขณะที่ยังง่ายอยู่ ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของโลก จะต้องแก้ไขขณะที่ยังเล็กอยู่
ดังนั้นการที่ปราชญ์ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงานใหญ่ งานอันยิ่งใหญ่ก็สำเร็จลง.
......................................................
เริ่มทำเมื่อยังง่าย
- สิ่งที่อยู่นิ่งง่ายที่จะเก็บรักษา สิ่งที่ยังไม่เกิดง่ายที่จะป้องกัน
- สิ่งที่อ่อนนุ่มง่ายที่จะฉีกขาด
- สิ่งที่เบาบางง่ายที่จะปลิวฟุ้ง
- จัดการก่อนที่เหตุจะเกิด จัดระเบียบก่อนที่จะยุ่งเหยิง
- ไม้ใหญ่เต็มโอบเริ่มจากหน่อเล็ก เก๋งสูงเก้าชั้นเริ่มจากก้อนดิน
- ทางไกลพันลี้เริ่มจากการเดินหนึ่งก้าว
- ผู้ที่ทำจะล้มเหลว ผู้ที่จับยึดจะลื่นหลุด ด้วยปราชญ์มิได้กระทำจึงมิล้มเหลว
- มิได้จับยึด จึงมิลื่นหลุด
- กิจการงานของผู้คนมักจะล้มเหลวเมื่อใกล้สำเร็จ ด้วยการใช้ความระมัดระวังในตอนท้ายให้เท่ากับเริ่มแรกความล้มเหลวย่อมจะไม่เกิดขึ้น
- ดังนั้นปราชญ์ย่อมปรารถนาในสิ่งที่คนอื่นไม่พึงปรารถนา และไม่ให้คุณค่าแก่จุดหมายที่บรรลุได้ยาก
- เรียนรู้ในสิ่งที่ผู้อื่นมิได้รู้ รื้อฟื้นสิ่งที่คนมากมายได้หลงลืม
- ท่านได้ช่วยทำให้ทุกสิ่งเติบโตและเป็นไปตามธรรมชาติ แต่มิได้หาญไปยุ่งเกี่ยวกับกฎธรรมชาติ
................................
การไม่แข่งขัน
- ทหารที่กล้าหาญไม่ดุร้าย นักสู้ที่ดีไม่โกรธง่าย
- ผู้พิชิตที่ยิ่งใหญ่ไม่สู้ในเรื่องเล็กน้อย ผู้รู้จักเลือกใช้คนได้ดีย่อมตั้งตนต่ำกว่าผู้อื่น
นี่คือคุณความดีของการไม่แข่งขันช่วงชิง นี่คือความสามารถในการช่วงใช้คน นำไปสู่สถานะอันสูงส่ง เคียงคู่กับฟ้าอันมีมาแต่ก่อนเก่าก่อน
..........................................
ความอ่อนโยนมีชัยต่อทุกสิ่ง
- ไม่มีสิ่งใดจะอ่อนนุ่มไปกว่าน้ำ และไม่มีสิ่งใดจะยิ่งไปกว่าน้ำ ในการมีชัยเหนือสิ่งที่แข็ง นับว่าไม่อาจหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบและทดแทน
- ความอ่อนแอมีชัยต่อความแข็งแรง
- ความอ่อนโยนมีชัยต่อความแข็งกระด้าง
- ไม่มีใครที่ไม่รู้ แต่ไม่มีใครปฎบัติ
- ผู้ที่สามารถรับการใส่ร้ายของโลกได้ สมควรที่จะเป็นผู้ดูแลรักษาอาณาจักร ผู้ที่ทนแบกรับบาปโทษของโลกไว้ได้ สมควรเป็นกษัตริย์ปกครองโลก
- คำพูดที่ตรงไปตรงมานั้น ดูคล้ายเป็นคำที่บิดเบี้ยวและเป็นคำเท็จ
........................................................
ถ้อยคำที่แท้
- คำจริงนั้นฟังดูไม่ไพเราะ คำที่ไพเราะนั้นไม่มีความจริง
- คนดีมิได้พิสูจน์โดยการถกเถียง คนที่ถกเถียงเก่งไม่ใช่คนดี
- คนฉลาดรู้ไม่มาก คนรู้มากไม่ฉลาด
- ปราชญ์ย่อมไม่สะสมเพิ่มพูนเพื่อตนเอง ชีวิตของท่านอยู่เพื่อผู้อื่น
- ท่านกับยิ่งร่ำรวยขึ้นเมื่อท่านบริจาคแก่ผู้อื่นดังนั้นท่านยิ่งมีขึ้นทับทวี
- วิถีแห่งเต๋านั้นมีแต่คุณไม่เคยมีโทษ วิถีแห่งปราชญ์นั้นมีแต่ทำการให้สำเร็จโดยไม่แก่งแย่งแข่งขัน