"สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ" อาจถูกตัดค่าใช้จ่ายประจำปี หลังอังกฤษประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ว่า สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ อาจจำเป็นต้องประหยัดในการใช้จ่ายส่วนพระองค์มากขึ้น หลังจากทางรัฐบาลอังกฤษประกาศที่จะหยุดการให้เงินแก่สมเด็จพระราชินีฯ เพื่อใช้ในการปฎิบัติพระราชภารกิจสาธารณะ หรือที่เรียกว่า "ซีวิล ลิสต์" เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ในช่วงที่งบประมาณของประเทศประสบปัญหาอย่างหนักในรอบ 30 ปี โดยในแต่ละปีพระองค์จะได้รับเงินประมาณ 7.9 ล้านปอนด์ (ประมาณ 379.2 ล้านบาท) เป็นเวลาติดต่อกัน 20 ปีแล้ว ซึ่งตามปรกติ จะมีการพิจารณาการมอบเงินทุกๆ 10 ปี แต่ปรากฏว่าการพิจารณาครั้งสุดท้ายนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 1990 หรือเมื่อ 20 ปีมาแล้ว


เซอร์อลัน รี้ด ผู้ดูแลทรัพย์สินของสมเด็จพระราชินีได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลว่า ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในราชวงศ์ต่อปี ก็มีมูลค่าเกินกว่า 7 ล้านปอนด์แล้ว แต่คณะรัฐมนตรีและข้าราชการหลายคนก็เกรงว่า หากจำนวนเงินยังคงมียอดสูงเช่นนี้ อาจทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจได้ เนื่องจากประเทศอังกฤษกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่ สุดนับตั้งแต่ยุค 1930


แหล่งข่าวภายในราชสำนักกล่าวว่า สมเด็จพระราชินีฯ ทรงแสดงความวิตกอย่างยิ่ง ที่การเจรจาเรื่อง"ซีวิล ลิสต์" นั้น ไม่ประสบความสำเร็จ โดยปกติแล้วการเจรจาเช่นนี้จะดำเนินการอย่างลับๆและไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ทางสำนักพระราชวังก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งโดยปกติสมเด็จพระราชินีก็ดำรงพระองค์ให้อย่างมัธยัสถ์อย่างสม่ำเสมออยู่ แล้ว และท่านก็เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ข้าราชบริพารทั้งหลายให้เห็นคุณค่าของเงิน

โดยเมื่อปีที่แล้วค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์เพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 เปอร์เซนต์ เนื่อจากอัตราเงินเฟ้อ และการลงทุนด้านสารสนเทศ อีกทั้งจำนวนข้าราชบริพาร เพิ่มขึ้นจาก 15 คน เป็น 298 คนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการประกัน เงินบำนาญ และเงินเดือน รวมเป็นรายจ่ายจำนวนกว่า 9.9 ล้านปอนด์ นอกจากนั้นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานจัดเลี้ยงประเภทต่างๆและค่าทำความ สะอาดก็มีมูลค่ากว่า 4 ล้านปอนด์

มติชนออนไลน์