ผู้สัมภาษณ์งานมองหาอะไรในตัวผู้สมัคร


ถึง แม้การรับสมัครงานในแต่ละตำแหน่ง จะต้องการผู้สมัครงานที่มีทักษะ และความสามารถ แตกต่างกันไป ตามลักษณะของงาน แต่ทราบหรือไม่ว่า มีบุคลิกลักษณะบางอย่าง ที่ผู้สัมภาษณ์งาน มักจะมองหา ในตัวผู้สมัครงานที่เขาต้องการ ซึ่งไม่ใช่แค่การเป็นคนเก่ง หรือมีความสามารถรอบด้าน

มาดูกันว่าบุคลิกลักษณะที่พึงปรารถนาในการทำงานนั้นมีอะไรบ้าง


ความตรงต่อเวลา

นายจ้างเริ่มต้นทำความรู้จักกับผู้สมัครงานผ่านประวัติส่วนตัวและการ สัมภาษณ์งาน ซึ่งเป็นโอกาสที่ผู้สมัครงาน จะแสดงให้นายจ้าง เห็นข้อดี คุณสมบัติที่สอดคล้อง ความสามารถ และทักษะของตน แน่นอนว่าทุก ๆ การกระทำ ทุก ๆ คำพูดของผู้สมัครงานกำลังถูกจับตา ความตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงาน ถ้าผู้สมัครไม่อาจบริหารจัดการตัวเอง ให้มาสัมภาษณ์งานตรงเวลานัดหมายได้ เขาจะสามารถทำงานเสร็จตามกำหนด หรือเข้าประชุมตรงเวลาได้อย่างไร หากบริษัทรับพนักงาน ที่ไม่ตรงต่อเวลาเข้ามาทำงาน ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของบริษัท เมื่อคุณมีนัดสัมภาษณ์งาน จงเผื่อเวลาสำหรับรถติด หลงทาง หรือเหตุการณ์ไม่คาดคิดอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้คุณสามารถไปสัมภาษณ์ได้ก่อนเวลา จะได้มีเวลาพักผ่อน และเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์งาน หากมีความจำเป็นจริง ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถไปทันเวลานัดหมาย คุณจะต้องโทรศัพท์ไปแจ้งผู้สัมภาษณ์ว่าคุณขอไปสายกว่าเวลานัด พร้อมอธิบายเหตุผลจำเป็นนั้นด้วย

การเตรียมพร้อม

ผู้สมัครงานจะต้องเตรียมความพร้อมโดยศึกษารายละเอียดในการทำงาน ประวัติบริษัทมาก่อนล่วงหน้า และใช้ช่วงเวลาสัมภาษณ์ ถามผู้สัมภาษณ์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับรูปแบบในการทำงาน หรือข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท การตั้งคำถามของคุณ จะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้ว่า คุณเป็นคนที่ทำการบ้านมาก่อน ผู้สัมภาษณ์จึงมักมองหาผู้สมัครที่เตรียมพร้อมมาจากบ้าน และรู้จักถามคำถามผู้สัมภาษณ์ ไม่ใช่รอให้ผู้สัมภาษณ์เป็นคนถามคำถามแต่ฝ่ายเดียว

การวางตัวเหมาะสม

ผู้สัมภาษณ์ไม่ต้องการได้ยินเรื่องครอบครัวของคุณ หรือเรื่องส่วนตัวของคุณ หากคุณทำสิ่งใดที่ไม่เหมาะสม ไม่สุภาพ เช่น ล้วง แคะ แกะ เกา หรือเป็นกันเองกับผู้สัมภาษณ์มากเกินไป จนถูกมองว่าล้ำเส้น การสัมภาษณ์งานครั้งนี้อาจทำให้คุณถูกมองว่า หากรับคุณเข้ามาทำงาน เรื่องส่วนตัวของคุณอาจเข้ามาเบียดบังเรื่องงานของคุณก็เป็นได้ ซึ่งนั้นอาจทำให้ผู้สัมภาษณ์ตัดสินใจ ไม่รับคุณเข้าทำงาน ดังนั้นจงวางตัวให้เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือการกระทำใด ๆ ก็ตาม

การยกตัวอย่างสนับสนุนสิ่งที่พูด

เมื่อคุณถูกถามว่ามีประสบการณ์ในเรื่องนี้ เรื่องนั้น หรือไม่ ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้ต้องการให้คุณตอบเพียงมี หรือไม่มีเท่านั้น แต่เขาต้องการให้คุณอธิบายเพิ่มเติมถึงประสบการณ์ดังกล่าวด้วย คุณควรยกตัวอย่างสนับสนุนด้วยว่าคุณได้ทำสิ่งนั้นอย่างไร ประสบความสำเร็จ หรือส่งผลกระทบอย่างไร หากคุณไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ ให้กล่าวถึงประสบการณ์ที่คุณเคยทำ ซึ่งมีความใกล้เคียง หรือสอดคล้องกับประสบการณ์ที่ถูกถาม หรือบอกให้ผู้สัมภาษณ์ ทราบถึงแนวทางที่คุณคิดจะทำ เพื่อให้ได้มาซึ่งประสบการณ์ ดังกล่าว หรือทักษะที่คุณควรมีเพิ่มเติม เพื่อแสดงว่าคุณสนใจงานนี้จริง ๆ

ทัศนคติที่ดีในการทำงาน

ผู้สัมภาษณ์มองหาผู้สมัครที่มีทัศนคติ การทำงานแบบทีมเวิร์ก และมีความยืดหยุ่นในการทำงาน คนที่ยินดีทำงาน ที่ไม่ใช่งานในหน้าที่โดยตรงของตนได้ เพื่อให้ทีมของตนประสบความสำเร็จกันทั้งทีม มากกว่าคนที่สนใจแต่งานของตัวเอง ไม่สนใจเพื่อนร่วมงาน จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์งานมองหาไม่เกี่ยวกับความเก่ง หรือความไม่เก่ง แต่เป็นตัวตนของคุณ ความคิดของคุณ การแสดงออกของคุณที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะสม สอดคล้องกับคุณสมบัติที่เขาต้องการหรือไม่ เวลาที่ใช้ในการสัมภาษณ์งานเพียง 1 ชั่วโมง อาจเปลี่ยนชีวิตคุณได้ ดังนั้นจงทำให้ดีที่สุด

ที่มา : JobsDB