จากนักวิชาการ สู่นักการเมือง

โดย ศ.ดร. วรภัทร โตธนะเกษม

warapatr@tris.co.th


เดือนที่แล้ว ผมเขียนเรื่อง ฤดูผสมพันธ์ ของนักการเมืองลงในคอลัมน์นี้ ซี่งเป็นช่วงเวลาที่นักการเมืองทั้งหลาย กำลังเดินสายผสมพันธ์กันอีนุงตุงนังไปหมด ขณะนี้ การผสมพันธ์ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว และเราก็ได้เห็นหน้าตาและสังกัดของนักการเมืองหน้าเก่าหน้าใหม่กันชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเห็นแล้ว ก็อาจทำให้บางคนอดหงุดหงิดไม่ได้ เหมือนกัน แต่จะทำอย่างไรได้เล่าครับ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม วันที่ 23 ธันวาคมนี้ ก็มีนักการเมืองให้เราเลือกประมาณนี้แหละครับ


การผสมพันธ์ครั้งนี้ มีนักวิชาการ เข้าไป แจม ด้วย เหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา ในฐานะที่ผมเองก็เป็นนักวิชาการคนหนึ่ง จึงอยากจะตั้งข้อสังเกตว่า การที่ นักวิชาการ เข้าไป เล่นการเมือง นั้น มีมุมมองที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง


ผมคิดว่า จุดเริ่มแรก ที่ทำให้นักวิชาการบางคนเข้าไปป้วนเปี้ยนกับนักการเมืองนั้น น่าจะเป็นเพราะ พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องมี นโยบายที่เขียนไว้ชัดเจน และคนที่ถูกฝึกฝนมาตลอดชีวิต ให้รู้จักคิด วิเคราะห์ และขีดเขียนขึ้นมาอย่างเป็นสาระ ก็คือนักวิชาการนั่นเอง ดังนั้น ไม่ว่าพรรคการเมืองใด ก็พยายามหานักวิชาการเข้าไปร่วมคิดและเขียนนโยบาย ซึ่งนักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์หรือบริหาร ดูเหมือนจะเป็นเจ้าประจำของทุกพรรคอยู่แล้ว เพราะปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่เสมอ

นักวิชาการนั้น เป็นบุคคลที่สังคมให้เกียรติ ยิ่งถ้าเป็นอาจารย์เต็มตัวแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาก็นับถือกันทั้งเมือง แต่ในวงการเดียวกันเอง ก็มักจะมีโจ๊ก หรือคำคมสนุกๆ เล่าสู่กันฟังเสมอ คำคมที่อาจารย์ฝรั่งของผมใช้ล้อเลียนตัวเอง ก็คือ การล้อเลียนอาชีพอาจารย์ ว่า คนที่เขาทำเป็น เขาก็ไปทำในสิ่งที่เขาทำได้ แต่คนที่ทำไม่เป็นนั่นแหละ ที่ต้องไปมีอาชีพสอนหนังสือ--ซะ (Those who can, do. Those who can’t, teach!)


อาจารย์ ที่ร้อนวิชา และอยากจะหลุดออกมาจากคราบนักวิชาการ ซึ่งมักถูกกระแนะกระแหนว่าทำอะไรไม่เป็น จึงมักจะติดอกติดใจ เมื่อเข้ามาสัมผัสกับการเมือง เพราะเป็นโอกาสที่สามารถผลักดันให้ความคิดของตนเองนั้น ออกมาเป็นรูปธรรม สามารถกำหนดเป็นนโยบายของบ้านเมืองได้ ซึ่งสนุกสนาน และท้าทายกว่าการเขียนงานวิจัยลงในวารสารวิชาการที่มีคนอ่านเพียงไม่กี่คน เยอะเลย แถมยังได้ออกให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์บ่อยๆ เป็นที่รู้จักทั่วเมืองไทย แล้วเมื่อไปพูดหรือไปสอนที่ไหน ก็มีผู้คนและนักศึกษาอยากฟังมากขึ้น เรียกว่าสร้างความโดดเด่น และ ความเป็นดารา ให้แก่ตัวเองได้อย่างทันทีทันใด


จากการเป็นผู้เขียนนโยบายพรรค หรือให้ข้อคิดเห็นต่างๆ แก่พรรค นักวิชาการหลายคน ก็พัฒนาต่อไปบนถนนสายการเมือง เมื่อพรรคที่ตนเองร่วมหัวจมท้ายด้วยนั้น มีโอกาสได้บริหารประเทศ คราวนี้แหละครับ โอกาสได้เป็น ที่ปรึกษา หรือเลขานุการของท่านเสนาบดี ก็มาถึง บางคนก็ได้เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ขนาดใหญ่บ้าง เล็กบ้าง งานที่ทำก็เริ่มท้าทายยิ่งขึ้น เริ่มเรียนรู้ชั้นเชิงทางการบริหารและทางการเมืองมากขึ้น เริ่มมีผู้คนเข้ามาสรรเสริญเยินยอ


มากขึ้น ตามลำดับ ใครที่ยึดตัวเองไว้กับผืนดินได้ก็ยึดไว้ แต่หลายคนที่จุดศูนย์ถ่วงไม่แกร่งพอ ก็ยึดไว้ไม่อยู่ คำพูดคำจาเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อแจกนามบัตรที่มีตำแหน่งที่ปรึกษาหรือเลขานุการรัฐมนตรีห้อยท้าย บางคนอาจไปไกลถึงขนาดได้มีโอกาสสร้างฐานะทางเศรษฐกิจส่วนตัวให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย


ส่วนนักวิชาการที่โดดเด่นหน่อย กได้เป็นถึง เสนาบดี เรียกว่าได้คุมบังเหียนประเทศ ในกระทรวงที่ตนเองถนัดเลยทีเดียว (แต่บางครั้งก็ดูเหมือนว่าบังเหียนที่พรรคมอบให้คุมนั้น ไม่เห็นว่าเขาน่าจะถนัดตรงไหนเลย แต่บังเอิญมันลงตัวทางการเมืองเท่านั้นเอง) คราวนี้ ความโดดเด่นระดับชาติก็เข้ามา และถ้าทำได้ดี ข้อกระแนะกระแหนที่ว่า ทำอะไรไม่เป็น ก็จะหลุดไปอีกด้วย ็

ถ้าดูจากประวัติของนักวิชาการที่เข้าไปเป็นเสนาบดีในอดีตที่ผ่านมา ก็มีทั้งเรื่องของความสำเร็จและล้มเหลว รัฐมนตรีบางคน เข้าไปทำได้ไม่นาน ก็ไปไม่รอด เพราะความเป็นนักวิชาการกับการบริหารในชีวิตจริงนั้น มันแตกต่างกันมาก อย่าว่าแต่ไปบริหารกระทรวง ซึ่งมีปัจจัยแวดล้อมที่ซับซ้อนมากมายเลย แค่บริหารองค์กรหรือบริษัทที่ไม่ใหญ่โตนัก ก็ยังไม่เคยทำมาก่อน ความกดดันที่มีอย่างมาก ก็เคยทำให้นักวิชาการที่เข้าไปเป็นเสนาบดี ต้องถอดใจ ลาออกมาแล้วหลายคน แต่บางคนก็ไปรอด และบางคนก็ไปโลดด้วยซ้ำไป ทั้งนี้แล้วแต่ยุทธวิธีและโชคชะตาของแต่ละบุคคล


ผมคิดว่า นักวิชาการที่ดี กับนักการเมือง นั้น ส่วนผสมทางเคมี น่าจะต่างกันมาก ดังนั้น โอกาสในการอยู่รอดและรุ่งเรืองของนักวิชาการที่มุ่งสู่ถนนการเมือง จึงน่าจะอยู่ที่ความสามารถในการปรับตัวของนักวิชาการแต่ละคน เพราะเขาจะต้องเติมส่วนผสมทางเคมีของนักการเมือง ลงไปในจิตวิญญาณดั้งเดิมของตน ให้มากขึ้น ถ้าใครทำได้กำลังดี ก็อยู่รอดและรุ่งเรือง ถ้าใครเติมมากเกินไป จิตวิญญาณของความเป็นนักวิชาการ ก็อาจจะมลายหายไป กลายเป็นนักวิชาการ(เมือง) ฝีปากจัดจ้าน ที่สังคมหมดศรัทธา ในที่สุดได้


อย่างไรเสีย ก็ต้องยอมรับว่า การเมือง เป็นเรื่องที่ทำให้คนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการ ทหาร นักธุรกิจ หรืออาชีพอื่นใดก็ตาม ต้องเสียผู้เสียคน เสียภาพลักษณ์ที่ดีไปแล้วหลายคนทีเดียว ในช่วงท้ายๆ ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ นักวิชาการที่เข้าไปเป็นนักการเมืองหลายคน เริ่มวิตกกังวลกับอนาคต และบางคนก็หายุทธวิธี ถอยห่าง ออกมาจากแกนอำนาจของพรรครัฐบาลตามลำดับ บางคนก็ออกมาได้ทันเวลา บางคนก็ช้าไปนิด บางคนก็ช้ามาก จนคำทวงถามจากสังคมอาจตามมาหลอน จนถึงทุกวันนี้


วันนี้นักวิชาการหน้าเก่าบางคน ก็ขอเว้นวรรคไปแล้ว แต่เราก็เห็นนักวิชาการหน้าใหม่ ประกาศตัวตนลงในเส้นทางการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในฐานะที่เป็นเพื่อนนักวิชาการด้วยกัน ผมเองก็อยากจะแสดงความยินดีไว้ด้วย และหวังว่าประเทศชาติ จะได้นักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรง เข้าไปร่วมบริหารประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ขอฝากไว้ด้วยว่า เมื่อมีโอกาสเป็นใหญ่เป็นโตแล้ว ขอให้พยายามประคองความเป็นนักวิชาการไว้ให้มากพอสมควร อย่าเติมสารเคมีการเมืองให้แก่ตนเองมากเกินไปเลย เพราะอย่างน้อยที่สุด เกิดผิดพลาดอะไรขึ้นมา ทำให้ต้องยู-เทิร์นกลับสู่วงวิชาการในภายหลัง เพื่อนฝูงและลูกศิษย์ลูกหาเขาจะได้ต้อนรับกลับอย่างอบอุ่น ไม่ใช่ส่ายหน้าปฏิเสธ หรือมองด้วยสายตา เย้ยหยัน........

แต่ก็ไม่ใช่จะมีเพียงนักวิชาการเท่านั้นที่ก้าวไปเป็นนักการเมืองนะครับ หากนักการเมืองคนใดคิดจะเดินย้อนศร เพื่อเปลี่ยนอาชีพเป็นนักวิชาการบ้างก็น่าจะดี และอาจจะไปโลดด้วย

เพราะ อัล กอร์ ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วครับ

untitled


ref: trisrating.com