ข้อควรรู้ในการเลือกตั้ง 2554




ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของคนไทยทุกคนที่ต้องปฏิบัติ เพื่อมอบอำนาจอธิปไตยของเราให้กับผู้แทนราษฎร เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนเราในสภา รักษาผลประโยชน์ และบริหารประเทศของเรา ดังนั้นการเลือกตั้งจึงมีความสำคัญต่อประเทศชาติ และต่อตัวเราชาวไทยมาก จึงขอเชิญชวนผู้ที่มีสิทธิไปใช้สิทธิของตัวเอง เลือกผู้แทนที่ดีเข้าสภา … ว่าแต่การเลือกตั้งต้องเตรียมตัวอย่างไร หรือตรวจสอบรายชื่อเขตเลือกตั้งที่ไหน อย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลในการเลือกตั้งมาฝากกันค่ะ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. นั้น เป็นตัวแทนของประชาชน ที่เข้าไปทำหน้าที่ ออกกฎหมาย และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา โดยในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะต้องมี ส.ส. มีจำนวน 500 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง 2 แบบ คือ
ส.ส. แบบแบ่งเขต

เป็นการเลือกตั้งจาก 375 เขตทั่วประเทศ โดยในแต่ละเขตจะเลือกผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุด ให้เป็น ส.ส. โดยจะมี ส.ส. ทั้งสิ้นจำนวน 375 คน
ส.ส.แบบสัดส่วน หรือ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
เป็นการเลือกตั้งโดยทางพรรคการเมืองนั้น ๆ จะส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ไว้เพียงบัญชีเดียว เรียงลำดับไม่จำนวนไม่เกิน 125 รายชื่อ ซึ่งการเลือกตั้งแบบนี้ หมายถึงทั้งประเทศ จะมีผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อชุดเดียวกัน มีทั้งสิ้นจำนวน 125 คน

สำหรับหน้าที่ของ สมาชิกสภาผู้แทนราฎร มีดังต่อไปนี้
- ออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
- เป็นผู้เลือก ส.ส. ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
- ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
- จัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อพัฒนาประเทศ
- นำปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนเสนอรัฐบาล

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

- สัญชาติไทย หรือผู้มีสัญชาติไทยโดยได้แปลงสัญชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
- อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง ในปีนี้ถึงว่า ต้องมีอายุครบ 18 ปีบริบรูณ์ภายในวันที่ 1 มกราคม 2553
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

- ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
- อยู่ในระหว่างถูกเพิงถอนสิทธิการเลือกตั้ง
- ต้องคุมขังโดยหมายของศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
- วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน หรือไม่สมประกอบ
การเตรียมตัวในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การตรวจสอบรายชื่อ

- ตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 20 วันก่อนวันเลือกตั้ง ที่ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการเขต ที่ทำการ อบต. สำนักงานเทศบาล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือเขตชุมชน

- ตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง จากหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน (ส.ส.12)

ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่พบชื่อของตนเองในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้แจ้งทะเบียนนายอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น โดยนำหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้มาแสดงด้วย

หลักฐานที่ใช้ในการเลือกตั้ง

- บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
- บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้มีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น
- บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- ใบขับขี่
- หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)


การแจ้งเหตุที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้

สำหรับผู้ที่มีเหตุทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้ ต้องทำหนังสือชี้แจงเหตุ ส.ส. 28 ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน โดยระบุเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นด้วยตนเอง มอบหมายผู้อื่นหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
ผู้ที่มีเหตุทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้

- ผู้มีธุรกิจจำเป็นเร่งด่วนต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
- ผู้ป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- ผู้พิการหรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
- ผู้มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
- ผู้ประสบเหตุสุดวิสัย เช่น อุทกภัย วาตภัย ฯลฯ

การเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด
สำหรับผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่คนละจังหวัดกับทะเบียนบ้าน หรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านปัจจุบันไม่ถึง 90 วัน สามารถไปลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางของจังหวัดที่ท่านทำงานหรืออาศัยอยู่ได้ แต่ต้องยืนคำขอลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน

การเลือกตั้งในเขตจังหวัด

สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านตามทะเบียนบ้าน แต่ในวันเลือกตั้งต้องเดินทางออกนอกเขต ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ก็สามารถไปแสดงตนเพื่อขอลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนวันเลือกตั้งได้ (การเลือกตั้งล่วงหน้า) ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง โดยไม่ต้องยื่นคำขอลงทะเบียนแต่ต้องแจ้งขอใช้สิทธิดังกล่าวต่อ กกต.เขต

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ต่างประเทศ ต้องขอลงทะเบียนใช้สิทธินอกราชอาณาจักรก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน (ภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2554) และไปลงคะแนนล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 17 - 26 มิถุนายน 2554 ณ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล หรือลงคะแนนทางไปรษณีย์ ตามที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลกำหนด

ข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีดังต่อไปนี้

- ห้ามซื้อเสียง หรือจัดเตรียมซื้อเสียง
- ห้ามรับเงินและประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง
- ห้ามส่งเสียง และห้ามขายหรือจัดเลี้ยงสุรา ตั้งแต่ 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
- ห้ามนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิของลูกจ้าง
- ห้ามขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง
- ห้ามจัดยานพาหนะ (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกตั้ง โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสาร
- ห้ามทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดอย่างจงใจ
- ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนแล้ว ด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ
- ห้ามเล่นการพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง
- ห้ามเปิดเผย หรือเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (โพลล์) ในระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง


การคัดค้านการเลือกตั้ง
ผู้ที่มีประสงค์จะคัดค้านการเลือกตั้ง ต้องยื่นคัดค้านต่อ กกต. ก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง หรือ ภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง กรณีเห็นว่า การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ ภายใน 180 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง กรณีที่เห็นว่า ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเกินจำนวนที่ กกต. กำหนด หรือผู้สมัครไม่ยื่นบัญชีรายรับ-รายจ่าย ภายใน 90 วันหลังวันเลือกตั้ง

การแจ้งเหตุเมื่อพบการทุจริต

เมื่อพบเห็นการทุจริตเลือกตั้ง ทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน สิ่งของ หรือมีการเรียกรับเงิน หรือทรัพย์สิน ให้ช่วยกันแจ้งเบาะแส หรือรวบรวมหลักฐานการทุจริตแจ้งต่อตำรวจในพื้นที่หรือรายงานให้ กกต. ทราบโดยด่วน


สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

เลขที่ 120 ม.3 ชั้น 2 อาคารรวมหน่วยราชการ บี
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพ 10210

เว็บไซต์ http://www.ect.go.th/newweb/th/home/index.php
อีเมล์ dav@ect.go.th

โทรศัพท์ หมายเลข 0-2143-8668 , 0-2141-8888



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.ect.go.th/newweb/th/election/