ชั้นโอโซนขั้วโลกเหนือลดลงกว่า 40% เตือนประชาชนรับรังสีอัลตราไวโอเล็ตอ่วม

หน่วยงานด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติเปิดเผยวานนี้ (5 เม.ย.)ว่า ชั้นโอโซนบริเวณทวีปอาร์คติก หรือขั้วโลกเหนือ ลดลงอย่างน่าใจหาย ขณะที่เตือนประเทศในแถบสแกดิเนเวีย อาจได้รับรังสีอัลตราไวโอเล็ตในระดับที่มากกว่าปกติในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก(ดับเบิลยูเอ็มโอ)เปิดเผยว่าระดับชั้นโอโซนบริเวณขั้วโลกเหนือลดลงกว่าร้อยละ40 นับตั้งแต่ช่วงต้นฤดูหนาวที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงสิ้นเดือนมีนาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการบันทึกเมื่อตลอดช่วงฤดูหนาวปีก่อนที่ลดลงร้อยละ 30

ดับเบิลยูเอ็มโอ กล่าวว่า การลดลงของชั้นโอโซนในเขตขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นเกราะกำบังที่คอยปกป้องโลกจากรังสีอัลตราไวโอเล็ต กำลังเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อันเนื่องมาจากการก่อตัวขึ้นของสสารประเภทต่างๆที่ส่งผลต่อการลดลงของชั้นโอโซนในบรรยากาศ ประกอบกับการก่อตัวขึ้นของอากาศที่เย็นจัดในบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ และชั้นโอโซนที่ลดลงนี้เอง ที่ส่งผลกระทบชั้นบรรยากาศเหนือประเทศกรีนแลนด์ และภูมิภาคสแกนดิเนเวีย ที่ทำให้แสงอาทิตย์ในช่วงเวลากลางวัน ในเขตดังกล่าวมีรังสีอัลตราไวโอเล็ตมากกว่าปกติ

บรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ ถือเป็นชั้นบรรยากาศที่มีความสำคัญเป็นอันดับสอง โดยกว่าร้อยละ 90 ของโอโซนที่อยู่ในบรรยากาศทั้งหมด อยู่ในชั้นบรรยากาศดังกล่าว โดยหน้าที่ตามธรรมชาติของมันคือเป็นเกราะกำบังโลกจากรังสีอัลตราไวโอเล็ตจากดวงอาทิตย์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบ มะเร็งต้อกระจกและมะเร็งผิวหนัง และส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร

บริเวณขั้วโลกเหนือมีระดับชั้นโอโซนลดลงอย่างมาก (ภาพ: WMO)

แม้ว่าสารเคมีส่วนใหญ่ อาทิ สารคลอโรฟลูโรคาร์บอน หรือซีเอฟซี ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำลายชั้นบรรยากาศของโลกได้ถูกระงับการใช้แล้วภายใต้พิธีสารมอนทริออล ปี 1987 แต่มันก็ยังคงล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศได้เป็นระยะเวลาหลายปี

อย่างไรก็ดี พบว่าชั้นโอโซนนอกเขตขั้วโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ภายในปี 2030-2040 ขณะที่ในเขตทวีปแอนตาร์คติกา หรือขั้วโลกใต้ คาดว่าระดับชั้นโอโซนจะสามารถฟื้นตัวได้ภายในราวๆปี 2045-2060 ส่วนบริเวณขั้วโลกเหนือ อาจฟื้นตัวได้ในเวลาหนึ่งหรือสองทศวรรษก่อนหน้านั้น

มติชนออนไลน์