ดร.สมภพ เจาะลึกเบื้องหลังบริษัท 100 ปี ไฉน ! บริษัทไทยๆ ปิดฉากแค่รุ่นอาเฮีย



ปีพ.ศ. 2421 หรือ ค.ศ. 1878 ชาวยุโรปทั้งสองคือเภสัชกรชาวเยอรมันชื่อ แบร์นฮาร์ดกริม และหุ้นส่วนชาวออสเตรียชื่อ แอร์วิน มุลเลอร์ ได้เดินทางมายังประเทศไทยและก่อตั้งห้างจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ขึ้นที่ถนนโอเรียนเต็ล ห้างนี้ชื่อว่า สยามดิสเป็นซารี่ ในไม่ช้าความรู้และความชำนาญในวิชาชีพ ของบุคคลทั้งสองก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไปจนได้รับแต่งตั้งให้เป็น เภสัชกรหลวงแห่งราชสำนักไทย




130 ปี ผ่านไป อาณาจักรของ บี. กริม อยู่ในยุคของ" ฮาราลด์ ลิงค์" ธุรกิจของ บี .กริม กรุ๊ป แยกออกเป็น พลังงาน เครื่องปรับอากาศ สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ อสังหาริมทรัพย์ และคมนาคม




ถามว่า บริษัทไทย ที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป มีอีกไหม หลายคน นึกถึง โรงแรมโอเรียนเต็ล เบอร์ลี่ยุคเกอร์ อีสต์เอเชียติก ซิงเกอร์ ห้างอังกฤษตางู ดีทแฮล์ม ธนาคารไทยพาณิชย์ ยาขมน้ำเต้าทอง




เอาเข้าจริงแล้ว ธุรกิจไทยที่มีอายุผ่าน 100 ปีมีน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้ว มักพบจุดจบในรุ่นที่ 3




ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ พีไอเอ็ม (PIM) วิเคราะห์ บริษัทที่อายุผ่าน 100 ปี และบริษัทที่จบแค่รุ่นเฮีย มานำเสนอท่านผู้อ่าน


*อะไรทำให้ บริษัทบางบริษัท ผ่าน 100 ปี บางบริษัท



การปรับตัวให้ตัวเองเข้ากับภาวะวิสัยทางธุรกิจ โดยในเคสของบีกริมฯ ดีทแฮล์ม ก็ด้วย ชัดเจนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทฝรั่ง ที่มีต้นกำเนิดในประเทศไทย ทั้งบีกริมฯ ดีทแฮล์ม พวกนี้เป็นบริษัทข้ามชาติที่มาจากตะวันตกก็จริง แต่เริ่มเข้ามาตั้งในประเทศไทย พวกนี้น่าศึกษามาก



กลยุทธ์ของ บริษัท อายุ 100 ปี ส่วนหนึ่งมาจาก บริษัท พวกนี้ มีการขยายธุรกิจ ที่ไม่ออกจากกรอบของความเชี่ยวชาญของตัวเองมากเกินไป ต่อยอดธุรกิจดั้งเดิมได้ สอง สามารถเกาะกุมถึงความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้ทัน ปรับเปลี่ยนในโครงสร้างบริหารจัดการที่มีคุณภาพ


* บริษัทในยุโรปมีอายุ 100 ขึ้นไปมากมาย แต่บ้านเราไม่มาก



ก็มีบ้าง กรณีของธนาคารไทยพาณิชย์ กลุ่มที่โตจากกลุ่มปูน ซึ่งก็โตมาจากช่วงรัชกาลที่ 6 แต่ผมตั้งข้อสังเกต ได้อย่างหนึ่งว่า บริษัทไทยที่อายุ 100 ปี ได้ จะต้องใช้มืออาชีพ ผมคิดว่าการใช้มืออาชีพที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี เป็นตัวแปรสำคัญ กล่าวได้เลยว่าบริษัทในเมืองไทยที่เก่าแก่อยู่ได้ด้วยมืออาชีพที่มาจากคนที่มีพื้นฐานด้านวิศวกรรม เราไล่ไปดูเลยว่า ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย ล้วนแต่มีวิศวกร มาบริหารทั้งสิ้น ตั้งแต่ไทยพาณิชย์ และกลุ่มซีเมนต์ไทย

นอกจากนี้่ จะต้อง มี นโยบายที่ยืดหยุ่น ไม่ใช่ลักษณะตระกูล เราจะเห็นว่าบริษัทบริหารโดยตระกูลมีน้อยมาก ที่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เป็นร้อยปีแทบไม่เหลือเลย นอกจากหวั่งหลี เหลือแค่ระดับหนึ่ง ล่ำซำยังเหลืออยู่มาก นอกนั้นเรียกได้เลยว่าไปกันหมด





ปัจจัยต่อมา คือ การไม่ทิ้งความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวของตัวเอง โดยการต่อยอดจากความชำนาญการ ความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างของตัวเอง ไม่ใช่ทำตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ถ้ารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญและทำสิ่งนั้นไป


*การแตกไลน์ธุรกิจมีความเสี่ยง





ใช่ ธุรกิจในเมืองไทยที่ผมจับได้ว่ามันจะโตได้ มีอยู่ 4 ปัจจัย คือ
1.business expansion การขยายตัว คือการขยายตัวในเชิงปริมาณ
2.business divertification การกระจายตัวทางธุรกิจ ซึ่งต้องต่อยอดกันได้จากธุรกิจดั้งเดิม
3.business intigration การต่อยอดธุรกิจดั้งเดิม หรือต่อท้าย เช่น คุณสามารถผลิตวัตถุดิบจากบริษัทนี้ ไปเป็นสินค้าส่งใหอีกบริษัทดั้งเดิม การต่อยอดต่อหาง
4.business co-operaion การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ





ถ้าคุณทำ 4 ตัวนี้ให้ดี ธุรกิจเหล่านี้จะไปได้ดีและเติบโต แต่จะเกิด 4 ตัวนี้ได้คุณต้องใช้มืออาชีพ แต่ไม่ใช่เอาลูกหลานสายเลือดของตระกูล มักจะมีปัญหาสำหรับเชื้อสายจีน เมื่อเทียบกับบริษัทญี่ปุ่นหรือฝรั่ง ที่ดำรงอยู่ได้เพราะมืออาชีพ ไม่ใช่สายเลือดเป็นตัวดำเนินการธุรกิจ ทำให้องค์กรเจริญเติบโต





ถามว่าทำไมธุรกิจดั้งเดิมที่อยู่ในเมืองไทยหลายแห่งถึงดำรงอยู่ได้นาน ล้วนแล้วแต่ผ่านกระบวนการอย่างนี้ทั้งสิ้น แม้แต่โรงแรมโอเรียลเต็ลก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นโรงแรมแห่งแรกที่ตั้งในไทย ในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 และยังรักษาความเป็นอันดับหนึ่งและอันดับต้นของโลกได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะเขาใช้มืออาชีพ ตลอดมา


* ข้อเสียของการบริหารด้วยระบบตระกูล พี่น้อง



การใช้ระบบตระกูลพี่น้อง สำหรับคนในเอเชีย ถ้าถึงเจเนอเรชั่นที่ 3 มักจะมีปัญหา คือ 1.ศึกสายเลือด ปัญหาซ้อและเฮียทั้งหลาย เป็นตัวแปรสำคัญมากที่ทำให้ธุรกิจแบบจีนไปไม่รอด แตกต่างจากธุรกิจฝรั่งและญี่ปุ่น ที่มีโครงสร้างองค์กรใช้มืออาชีพจริงๆ ขึ้นมาบริหารจัดการ แบ่งแยกชัดเจนระหว่างเจ้าของและฝ่ายบริหารจัดการ คุณเป็นเจ้าของก็ถือหุ้นไป แต่เอามืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการ ถ้าแบ่งแยกได้ชัดเจนและทำตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัย มีธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยให้ทัน ไม่ถูกประวัติศาสตร์ทอดทิ้ง เท่าที่จับมา หลายบริษัทดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ในเมืองไทย ล้มหายตายจากไปแล้ว หลายบริษัทดำรงอยู่และเจริญเติบโตล้วนแต่เข้าข่ายที่ผมพูดมาทั้งสิ้น


ความเป็นธุรกิจครอบครัว เป็นข้อจำกัด



ถึงจุดหนึ่งไม่ควรมีความเป็นเจ้าของโดยตระกูลใดตระกูลหนึ่ง แต่ควรเป็นบริษัทมหาชน เพราะความเป็นบริษัทมหาชนจะดึงมืออาชีพเข้ามาได้เยอะ และมืออาชีพพวกนี้จะรู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของ เพราะตัวเองถือหุ้นอยู่ด้วย ไปเช็คดูเลย บริษัทที่ใหญ่โตในไทยล้วนแล้วแต่มีโครงสร้างแบบนี้ทั้งสิ้น คือกระจายความเป็นจ้าของให้บุคลากรของตัวเอง ให้ฝ่ายบริหารต่างๆ ด้วยวิธีการหลายรูปแบบ sense of belonging ความรู้สึกตัวเองเป็นเจัาของ ต้องการอุทิศให้บริษัท แต่ถ้ารู้สึกว่าบริษัทเป็นของตระกูลใดตระกูลหนึ่งก็จบเลย


ธุรกิจขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ถ้าผู้ก่อตั้งมีความเชี่ยวชาญ สามารถบริหารคน บริหารองค์กรให้ลงตัว ก็โอเค แต่เราจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่ารุ่นลูกรุ่นหลานจะเป็นอย่างนั้นต่อ ถ้าลูกหลานมีทัศนคติหรือวิธีการบริหารที่แตกต่างไป ก็อาจทำให้ธุรกิจที่สร้างมากับมือปู่ย่าตายายเข้ารกเข้าพงได้ และทำให้ความรู้สึกจงรักภักดีของมืออาชีพหมดไป





อยากให้ วิเคราะห์ กรณี บี . กริม กรุ๊ป





บีกริมแอนด์โค เริ่มจากนักธุรกิจเยอรมัน ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย พร้อมตั้งบริษัทที่สิงคโปร์พร้อมกัน แรกๆ เข้ามาเป็นวิศวกร รับจ้างขุดคลอง ขายยา และช่วงหลังขายเครื่องมือแพทย์ให้ราชสำนัก โครงการสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น เครื่องมือขุดทอง ในสมัยร.5 ก็สั่งเครื่องเข้ามาขาย และถึงยุครถไฟ เขาก็สั่งเครื่องมือเกี่ยวกับรถไฟหรือหัวรถจักรเข้ามา ฉะนั้นจะสามารถปรับธุรกิจของตัวเองให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ฉะนั้นแล้วจะมีธุรกิจที่หลายหลาก แต่ยังอยู่กับความเชี่ยวชาญของเขา


บี กริม ครั้งแรกทำเทรดดิ้งก่อน ตอนยังไม่มีอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย พอถึงเวลาต่อมา แม้แต่เห็นโอกาสในการสั่งเข้าหลังคามุงวัดพระแก้ว ถึงยุคหนึ่ง เตาเผาศพของวัดต่างๆ เผากันด้วยระบบดั้งเดิม เผาแล้วมีควัน ต้องสร้างเตาเผาใช้ไฟฟ้า เขาก็สั่งเตาพวกนี้เข้ามา ทำท้องฟ้าจำลองที่สุขุมวิท เขาก็สั่งเข้ามา


ต่อมาพอ ยุครถไฟฟ้าเข้ามา เขาก็ไปร่วมกับซีเมนต์ และเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญของซีเมนต์ประจำประเทศไทย และทำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม เขาก็ไปร่วมมือกับคุณวิกรม กรมดิษฐ์ นิคมอมตะ เพราะฉะนั้นเขาทำไลน์ธุรกิจของเขา โดยที่ไม่หลุดออกจากคอนเนกชั่นและความเชี่ยวชาญ และใช้ฐานรากของเยอรมัน


* รากของบีกริม เป็นเทรดดิ้ง





เริ่มจากเทรดดิ้งและไปสู่โปรดักชั่น แต่ที่น่าสนใจคือดีทแฮล์ม ดำรงความเป็นเทรดดิ้งได้อย่างน่ามหัศจรรย์ อย่างต่อเนื่องยาวนานและไม่หลุดไปจากเทรดดิ้ง และทุกวันนี้ยังทำเทรดดิ้ง ข้อสำคัญคือนอกจากทำเทรดดิ้งมีเมืองไทยเป็นศูนย์กลางสำคัญที่สุดแล้ว เขายังขยายตัวไปประเทศรอบบ้าน ฐานใหญ่อันดับสองคือ มาเลเซีย ต่อมาคือเวียดนาม และมีฐานที่แน่นมากในพม่า เข้าพม่าไม่ต่ำกว่า 20 ปี สร้างเครือข่ายกระจายสินค้าได้มาก ถ้าพม่าเปิดกว้างกว่านี้ เครือดีทแฮล์มจะได้ประโยชน์กว่านี้อีกมาก




*มองกลับมาธุรกิจไทย บริษัทที่จะก้าวข้ามหรือผ่านเจเนอเรชั่นที่ 3 ไป มีน้อยมาก นับบริษัทได้





เรารู้อยู่แล้วว่า รุ่นเถ้าแก่ ส่งลูกต่อให้เป็นอาเสี่ยยังพอว่า แต่ลูกอาเสี่ยหรือหลานเถ้าแก่จอดแทบทุกราย ถ้าคุณไม่เปลี่ยนบริษัทของคุณจากบริษัทครอบครัว เป็นบริษัทมหาชน และมีตลาดหลักทรัพย์ กลต. มาช่วยกำกับ ผมว่ารายไหนรายนั้น หลายตระกูลที่รวยที่สุดในสมัยร.5-ร.6 แทบไม่เหลือเลย แม้ตระกูลยังอยู่ แต่ธุรกิจหมด


สมัยร.5 ใครรวยที่สุด ตระกูลพิศลยบุตร คือพิศลยบุตรยังพอได้ยินชื่ออยู่บ้างในขณะนี้ แต่ก็ไม่ใช่ตระกูลธุรกิจที่สำคัญใหญ่โต ขณะที่ "กิมเซ่งหลี" ตอนนี้แทบไม่เหลือเลย แต่ก่อนทำธุรกิจโรงสี โรงเลื่อยใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 เดินเรือกลไฟสารพัด หมด ซึ่งก็น่าเสียดาย แต่น่าแปลกใจว่าบริษัทต่างชาติที่มาตั้งในประเทศไทย กลับเจริญเติบโต ออกดอกที่อื่นได้ ซึ่งเราศึกษาน้อยเกินไป ถ้าผมมีเวลาอยากศึกษาเพิ่ม เพราะบริษัทเหล่านี้สัญชาติต่างชาติ แต่เป็นไทยไปแล้ว

วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 มติชนออนไลน์