ปตท.เคมิคอลเดินหน้าลุย นวัตกรรมสินค้ากรีนป้อนตลาดโลก
โปรเจ็กต์ใหม่ของบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) "PTTCH" ก้าวเข้าสู่พัฒนาการเติบโตในโลกธุรกิจไบโอเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน ด้วยการผนึกกลยุทธ์กับ บริษัท มีเรียนท์ เทคโนโลยี (Myriant technologies, lnc.) จำกัด จากสหรัฐอเมริกา ร่วมลงทุนวิจัยและพัฒนาไบโอเทคโนโลยีและก่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio-Succinic Acid) ในมลรัฐลุยเซียนา โดยจะเลือกวัตถุดิบเหลือจากภาคการเกษตรเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต
เป็นก้าวสำคัญของบริษัท ปตท.เคมิคอลฯเร่งขับเคลื่อนสู่เทคโนโลยีการผลิต Green Chemicals วางแผนขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์จากธรรมชาติ (Bio-based Chemicals) เต็มตัว
ความร่วมมือครั้งนี้ บริษัท ปตท. เคมิคอลฯเปิดช่องทางด่วนหรือฟาสต์แทร็ก ดึง "เทคโนโลยี" ซึ่งเดิมยังไม่เคยนำมาใช้ เนื่องจากที่ผ่านมาอาศัยจุดแข็งแค่โรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ มีเงินลงทุนเพียงพอ กับมีเฉพาะตลาดรองรับเท่านั้น แต่ครั้งนี้เดินหน้าเต็ม รูปแบบ
นายวีรศักดิ์ โฆษิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.เคมิคอลฯ กล่าวว่า วิธีการสร้างความสำเร็จครั้งนี้ได้เลือกซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากบริษัท Myriant วงเงินรวม 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หวังผลสัมฤทธิ์จากการทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม (Industrial Biotechnology) และการผลิตพลาสติกและเคมีภัณฑ์ชีวภาพ
"เป็นวิธีเริ่มจากต้นทางด้วยการร่วมวิจัย พอได้รายละเอียดครบจะสามารถนำเทคโนโลยีที่ได้มาต่อยอดกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน และคาดว่าจะพัฒนาไบโอเทคโนโลยีไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ภายใน 5 ปีหน้า ก่อนจะลงทุนขยายธุรกิจ เช่น โรงงานเพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพ ต้องมองมุมกว้างเรื่องความสามารถทางการแข่งขันด้วย ต้นทุนทำได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทางบริษัทต้องการเทคโนโลยีแต่ไม่มีคนขาย การร่วมทุนครั้งนี้เท่ากับเป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้วย"
ส่วนแผนการขยายโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพในสหรัฐอเมริกาจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยและพัฒนาออกมาแล้วคุ้มค่าขนาดไหน เวลานี้กำลังหารือกับบริษัท Myriant ถึงแนวทางการต่อยอดธุรกิจ เพราะโรงงานลงทุนร่วมกันต้องใช้เวลาก่อสร้างอีกประมาณ 19 เดือน เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถผลิตพลาสติกชีวภาพ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ประมาณ 14,000 ตัน/ปี
แต่จะขยายโรงงาน ผลิตพลาสติกชีวภาพในไทยด้วยอีกทางหรือไม่ ก็ต้องรอวิจัยความคุ้มค่าเหมือนกัน รวมถึงการเลือกใช้เป็นวัตถุดิบ เพราะกลุ่ม ปตท.มีนโยบายสำคัญคือ ในแต่ละโครงการจะต้องให้ผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ขั้นต่ำร้อยละ 15 ด้วย
"จากการเปรียบเทียบจีดีพี การเติบโตของประเทศไทยมาจากภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างมากที่สุด ประมาณร้อยละ 40 มาจากภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคการเกษตร มีน้อยมาก เพียงร้อยละ 9 พอเทียบ การใช้คนในภาคเกษตรมีค่อนข้างมหาศาล ทางบริษัทจึงต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบเกี่ยวกับการต่อยอดธุรกิจจากจุดนี้ไป ถึงปลายทางจะต้องทำอย่างไร"
ทั้งนี้ บมจ.ปตท.เคมิคอลมีนโยบายจะเดินหน้าต่อโครงการธุรกิจพลาสติกชีวภาพที่เป็น มิตรกับสิ่งแวดล้อมว่า เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจเคมีภัณฑ์และการ ผลิต โพลีเมอร์ในภูมิภาคเอเชีย อาศัยความได้เปรียบด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ผลิตอย่างเต็มที่
สำหรับ Myrient Tecnology Inc. เป็นบริษัทชั้นนำทางด้านไบโอเทคโนโลยีล่าสุดได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวง พลังงาน สหรัฐอเมริกา 60 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อมาทำ Renewable Biochemical ปัจจุบันทั่วโลกผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เพียง 1% เท่านั้น
ดังนั้นความร่วมมือระหว่าง บมจ. ปตท.เคมิคอล ครั้งนี้จะสร้างผลดีกับ คู่ค้าในตลาดทั้งในจีนและสหรัฐอเมริกา
วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4283 ประชาชาติธุรกิจ