20ปีทลายกำแพงเบอร์ลินปราการแห่งการแบ่งแยก



ที่มาคมชัดลึก : ภาพประชาชนช่วยกันทำลายกำแพงสูงผ่ากลางใจกลางแบ่งแยกกรุงเบอร์ลินออกเป็นสอง ฝั่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ต้องจดจำจารึกเอาไว้เป็นบทหนึ่งของประวัติ ศาสตร์โลก 
วันนี้หน้าประวัติศาสตร์สำคัญของชาวเบอร์ลิน และชาวโลกผู้เป็นประจักษ์พยานจุดเริ่มต้นการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ได้เวียนมาครบรอบ 20 ปีแล้วในวันจันทร์นี้ โดยบรรดาผู้นำโลกคนสำคัญไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์แห่งอังกฤษ ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีแห่งฝรั่งเศส ประธานาธิบดีดีมิทรี เมดเวเดฟแห่งรัสเซีย นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่เดินทางมาเป็นตัวแทน ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่ติดภารกิจเยือนเอเชีย
 และแน่นอนงานนี้ต้องมีแม่งานหลักอย่าง นางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงคนเก่งแห่งเยอรมนีที่วันนี้รวมกันเป็นปึกแผ่นผืนแผ่นดิน เดียวกันมา 20 ปีพอดี รวมทั้ง นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต
 การรวมตัวกันครั้งสำคัญนี้มีขึ้นเพื่อฉลองช่วงเวลาแห่งความโชติช่วงใน ประวัติศาสตร์ที่เป็นแบบอย่างของการเอาชนะปัญหาต่างๆ ไปได้หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ในช่วงเวลาที่โลกกำลังประสบปัญหารุมเร้ามากมายเช่นนี้
 คาดว่าจะมีผู้คนออกมารวมตัวกันที่หน้าประตูแบรนเดนเบิร์ก สัญลักษณ์แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ตั้งอยู่บนจุดที่เคยแบ่งแยกฝั่ง เยอรมนีตะวันออก และตะวันตกกว่า 1 แสนคน
 การรำลึกค่ำคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 มีความสำคัญใหญ่หลวงเพื่อรัฐบาลเยอรมนีตะวันออก ซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ สร้างความตื่นตะลึงให้แก่โลกเมื่อตัดสินใจเปิดพรมแดนเป็นครั้งแรก หลังจากที่สร้างกำแพงกักขังชาวเบอร์ลินตะวันออกอยู่ในบ้านของตัวเองมานานถึง 28 ปี

 ชาวเยอรมันตะวันออกที่ ทราบข่าวต่างไปออกันที่จุดผ่านเพื่อข้ามกำแพงไปยังเบอร์ลินตะวันตกท่ามกลางความงุนงงของการ์ดชาย แดน ก่อนจะโผเข้าไปกอดประชาชนในฝั่งตะวันตกที่บางคนไม่เคยรู้จักมาก่อน พร้อมร่ำไห้ด้วยความปีติอย่างเหลือล้น
 การพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน ส่งช็อกเวฟกระเทือนไปทั่วโลกในค่ำคืนนั้น ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดสงครามเย็น และปูทางไปสู่การรวมประเทศเยอรมนี ที่ถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายนับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
 "การทำลายม่านเหล็กเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 ยังคงเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตคน เป็นการปลดปล่อยชีวิตผู้คนหลายล้านคน และนำมาสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในโลกที่เสี่ยงต่อการใช้นิวเคลียร์ทำลาย ล้าง" นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ให้ความเห็น
 โดยผู้นำที่มีบทบาทสำคัญต่อเหตุการณ์นี้ ได้แก่ มิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีคนสุดท้ายแห่งสหภาพโซเวียต อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ผู้ล่วงลับ และอดีตนายกรัฐมนตรีเฮลมุด โคห์ลแห่งเยอรมนีตะวันตก
 นายกอร์บาชอฟเผยเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีการทำลายกำแพงเบอร์ลินว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่มีบทบาทในการทำลายกำแพงเบอร์ลิน ก่อนจะปกป้องการตัดสินใจของตัวเองจากการวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิจารณ์ชาวรัส เซียว่า เขาเป็นต้นเหตุที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย
 "ผมภูมิใจที่เรา และประเทศในยุโรปทั้งตะวันตกและตะวันออกพบจุดหมายเดียวกันด้วยการเห็นแก่ ประโยชน์ของทุกฝ่าย" นายกอร์บาชอฟกล่าวและว่า เป็นนัยๆ ว่าผู้นำทุกคนไม่มีทางเลือกนอกจากยุติการแบ่งแยกดินแดนเยอรมนี
 ส่วนนางแมร์เคิล ที่เดินทางเยือนกรุงวอชิงตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนแรกที่เข้าร่วมการประชุมรัฐสภาสหรัฐ และปราศรัยขอบคุณบทบาทของรัฐบาลสหรัฐที่ช่วยสนับสนุนการรวมชาติเยอรมนี พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายช่วยกันสนับสนุนความร่วมมือในประเด็นปัญหา สำคัญๆ อย่างภัยโลกร้อน โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และสงครามอัฟกานิสถาน
 "ฉันเชื่อว่า จากการที่เราพบความแข็งแกร่งในศตวรรษที่ 20 ด้วยการทำลายกำแพงที่ทำจากคอนกรีตและลวดหนามเช่นกำแพงเบอร์ลินได้ เราก็ควรแสดงความแข็งแกร่งเพื่อเอาชนะกำแพงอุปสรรคแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ด้วย" นางแมร์เคิลกล่าวต่อรัฐสภาสหรัฐ
 ทั้งนี้ กำแพงเบอร์ลินถูกสร้างขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่สอง โดยเริ่มสร้างขึ้นในช่วงปี 2504  เพื่อป้องกันประชาชนจากฝั่งตะวันตกซึ่งไม่ใช่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ข้ามมา แต่ภายหลังกำแพงกลับกลายเป็นปราการเรือนจำที่กักขังชาวเบอร์ลินตะวันออกไม่ให้หนีออกจากประเทศ ก่อนจะเพิ่มความสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกำแพงสูงกว่า 3 เมตร ยาวถึง 140 กิโลเมตร โดยกำแพงจะมีหอสูงคอยสอดส่องพื้นที่กว้างที่รู้จักกันในชื่อ "ลานมรณะ"
 มีประชาชนราว 5,000 คนพยายามจะหนีออกจากหลังกำแพงแห่งนี้ หลายคนหนีสำเร็จ แต่อีกหลายคนถูกการ์ดกำแพงที่คอยเฝ้าระวังอยู่ยิงเสียชีวิต ซึ่งคาดว่าคนจำนวนนี้มีอยู่ราว 100-200 คน
 ระหว่างที่การปฏิวัติเกิดขึ้นทั่วยุโรปตะวันออก รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกประกาศเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 หลายสัปดาห์หลังเกิดเหตุจลาจลในประเทศ ว่าประชาชนในเยอรมนีตะวันออกสามารถเข้าไปเยือนฝั่งตะวันตก และเบอร์ลินตะวันตกได้ ทำให้ฝูงชนจากฝั่งตะวันออกพากันปีนป่ายข้ามกำแพงไปหาชาวเยอรมันตะวันตกท่าม กลางบรรยากาศฉลองกันด้วยความดีใจของประชาชนทั้งสองฝ่ายที่ช่วยกันพังกำแพงลง มาด้วยมือของตัวเอง
 ในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา หลายส่วนของกำแพงก็ถูกพังลงโดยฝีมือของประชาชน หรือพวกนักล่าของสะสม ก่อนที่เครื่องมือหนักจะมารื้อกำแพงทั้งหมดทิ้ง และนำไปสู่การรวมประเทศเยอรมนีอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ตุลาคม 2533
 นับจากวันนั้นจวบจนวันนี้ เยอรมนีเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีอิทธิพลบนเวทีโลกตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนเบอร์ลิน ก็กลายเป็นเมืองหลวงที่มีความล้ำสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
 แต่เยอรมนีวันนี้ ก็ยังเหลือร่องรอยแผลเป็นจากการแบ่งแยก เพราะอัตราคนว่างงานในฝั่งตะวันออก ยังคงมากกว่าฝังตะวันตกเป็น 2 เท่า นอกเหนือจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคนฝั่งตะวันตก "ผู้เย่อหยิ่ง" และคนฝั่งตะวันออก "ผู้ทรพี"
 โจเชน สตาดท์ นักรัฐศาสตร์ผู้ทำการวิจัยคอมมิวนิสต์ในเยอรมนี ประจำมหาวิทยาลัยฟรี ยูนิเวอร์ซิตี้ ในกรุงเบอร์ลินกล่าวว่า ทุกวันนี้ยังคงมีความแตกต่างระหว่างชาวเยอรมันตะวันตกและตะวันออกอย่างมาก
 "การสำรวจความคิดเห็นถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา ฝ่ายตะวันตกระบุว่า ความเท่าเทียมทางเสรีภาพ ขณะที่ฝ่ายตะวันออกระบุว่า ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ" นายสตาดท์กล่าว
 แต่ถึงใครจะมองอย่างไร ในสายตาของศิลปินแล้ว ที่แห่งนี้คือผืนผ้าใบผืนใหญ่ที่เปิดโอกาสให้ได้แสดงความรู้สึกเกี่ยวกับ กำแพงแห่งนี้ หนึ่งในนั้นคือ เกอร์ฮาร์ด ไคร์ดเนอร์ หนึ่งในศิลปิน 90 ชีวิตที่มาร่วมสร้างสีสันชีวิตใหม่ให้แก่กำแพง
 "นี่เป็นเรื่องสะเทือนใจผมมาก เมื่อก่อนกำแพงเบอร์ลินเคยยืนหยัดเพื่อลิดรอนเสรีภาพ" นายไคร์ดเนอร์ ผู้หลบหนีจากเยอรมนีตะวันออกไปยังตะวันตกสมัยยังหนุ่มกล่าว แต่ตอนนี้ทุกคนมารวมตัวกันบนกำแพงที่เป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ เพื่อร่วมสร้างสรรค์งานศิลป์ให้คงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน