'ทัศนะ' คือ วิธีคิด ความเชื่อ การให้คุณค่า หรือความหมายที่มนุษย์มีต่อสิ่งใดๆ และมนุษย์มักมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมไปตามทัศนะของตนเอง ทัศนะ จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรม ตลอดจนวิถีชีวิตของมนุษย์ ทั้งทัศนะต่อธรรมชาติ ทัศนะต่อชีวิต หรือทัศนะต่อสุขภาพ การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตของมนุษย์ จึงขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนทัศนะเดิมของมนุษย์เป็นสำคัญ
สุขภาพ คือ…ดุลยภาพของชีวิต
ในช่วงสามศตวรรษที่ผ่านมา เราถูกครอบงำด้วยทัศนะที่เห็นว่ามนุษย์เป็นเครื่องจักร สามารถแยกแยะออกเป็นส่วนๆ จิตใจและร่างกายก็เป็นคนละส่วนกัน สุขภาพดีก็คือการปราศจากโรคแต่ให้ความสำคัญน้อยมากกับการศึกษาถึงระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบย่อยๆ ของชีวิต
ทัศนะเช่นนี้มีส่วนถูกตรงที่ ชีวิตมีการทำงานด้วยกลไกที่คล้ายเครื่องจักรกล แต่ ผิดอย่างมหันต์หากมองว่าชีวิตคือเครื่องจักรกล เพราะเพียงแค่ ข้อเท็จจริงที่ว่า เครื่องจักรกลถูกสร้างขึ้นมา ในขณะที่ชีวิตเติบโตขึ้นมา ก็เป็นข้อพิสูจน์ความแตกต่าง ระหว่างชีวิตกับเครื่องจักรกล ที่ชัดเจนที่สุดแล้ว
ถึงวันนี้ทัศนะแบบเดิมกำลังถูกโต้แย้งและเริ่มจะถูกบดบังด้วยทัศนะแบบองค์รวมซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดนิเวศวิทยา
ทัศนะนี้ เชื่อว่า ชีวิตคือ หน่วยของกระบวนการเชิงระบบที่มีองค์ประกอบย่อยๆ อยู่ภายใน ทั้งองค์ประกอบด้านร่างกาย ตั้งแต่ เซลล์ โมเลกุล และอวัยวะต่างๆ องค์ประกอบทางจิตใจ คือ ความรู้สึก ความคิด และองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ดิน น้ำ อากาศ ทุกองค์ประกอบมีความสัมพันธ์กัน มีหน้าที่ทำงานประสานสอดคล้องกัน โดยที่ความสัมพันธ์นี้ดำเนินไปด้วยการเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดนิ่ง และถูกควบคุมด้วยการจัดระเบียบตัวเอง ที่พอเหมาะพอดีเรียกว่า "ดุลยภาพของชีวิต"
นอกจากความสัมพันธ์ภายใน ของระบบชีวิตแล้ว แต่ละชีวิตยังอยู่ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบย่อยของระบบใหญ่ มีหน้าทีทำงานประสานสอดคล้องกับชีวิตอื่นๆ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีกทั้งยังมีการจัดระเบียบความสัมพันธ์กับชีวิตอื่นหรือสิ่งแวดล้อมอื่นด้วย เช่นกัน การจัดระเบียบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบภายในระบบนี่ต่างหาก ที่ทัศนะแบบองค์รวมพยายามศึกษาค้นคว้า เพื่อรักษาระบบให้อยู่ในภาวะสมดุลตลอดไป
วันใดที่ระบบชีวิตขาดดุลยภาพ ไม่ว่าจะเกิดจากความผิดปกติขององค์ประกอบส่วนใด ก็จะส่งผลต่อการทำงานของทั้งระบบ ระบบจะพยายามปรับเข้าสู่สภาวะสมดุล โดยการแสดงออกเป็นอาการเจ็บป่วย เช่น อุณหภูมิสูงผิดปกติ หนาวสั่น การปวด บวม ฯลฯ หากร่างกายสามรถปรับให้คืนสู่สภาวะสมดุลได้ สุขภาพก็จะดำรงอยู่ต่อไป ในด้านจิตใจก็เช่นเดียวกัน เมื่อจิตใจได้รับแรงกระทบ ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ เครียด หรือวิตกกังวล หากไม่สามารถควบคุม หรือปรับให้อยู่ในสภาวะปกติได้ จิตใจก็จะขาดความสมดุล เป็นเหตุให้เกิดอาการทางจิต หรือโรคจิตนั่นเอง
ตามแนวคิดแบบองค์รวมนี้สุขภาพ จึงมิได้หมายถึงการปราศจากโรค แต่หมายถึง สภาวะที่ระบบชีวิตสามารถรักษาสมดุลของระบบความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบ ต่างๆไว้ได้ ทั้งองค์ประกอบด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ภาวะสมดุลเช่นนี้คือ สุขภาวะ หรือการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิด "สุขภาพแบบองค์รวม"
ทัศนะใหม่ สู่…วิถีใหม่
จะเห็นได้ว่า การรักษาสุขภาพตามทัศนะแบบองค์รวมนี้ มิได้คับแคบอยู่เพียงแค่การหาสาเหตุโดดๆ ของการเจ็บป่วย หรือโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น ตัวอย่างของการดูแลรักษาสุขภาพตามแนวทาง สุขภาพแบบองค์รวม คือ การดูแล รักษาสุขภาพตามแบบของชาวจีน
แนวคิดที่เป็นแกนกลางของทัศนะด้านสุขภาพของชาวจีนก็คือ เรื่องความสมดุล ชาวจีนเชื่อว่า ความเจ็บป่วยเป็นผลมาจากการเสียสมดุลของระบบชีวิต อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของสรรพสิ่งรวมทั้งมนุษย์มีแนวโน้มที่จะคืนสู่ภาวะสมดุล การเข้าและออกจากจุดสมดุลจึงถือเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ เป็นวัฏจักรของชีวิต การมีสุขภาพดีและการเสื่อมสุขภาพเป็นเรื่องธรรมชาติความเจ็บป่วยจึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับชีวิตที่ยังดำเนินอยู่ จุดมุ่งหมายของทั้งผู้ป่วยและหมอในการแพทย์จีนคือการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยรวมของแต่ละบุคคลอย่างดีที่สุดเท่าที่จะ เป็นไปได้
ในทัศนะของชาวจีน แต่ละบุคคลมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง รวมแม้กระทั่งการดูแลฟื้นฟูสภาพยามเจ็บป่วยซึ่งถึงแม้หมอจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการ ดังกล่าว แต่ความรับผิดชอบสำคัญอยู่ที่ผู้ป่วย ถือเป็นหน้าที่ของแต่ละบุคคลที่จะรักษาตนให้มีสุขภาพดี โดยการดำรงชีวิตตามกฎเกณฑ์ของสังคม และเอาใจใส่ร่างกายของตนเองอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งทางด้านสรีระ สิ่งแวดล้อมและ วัฒนธรรมของแต่ละบุคคล
ศาสนา…วิถีแห่งการรักษาดุลยภาพของชีวิต
หัวใจสำคัญของการรักษาดุลยภาพของชีวิต อยู่ที่การคำนึงถึงความสำคัญของชีวิตอื่น สิ่งแวดล้อมอื่นนอกจากตัวเอง ซึ่งก็คือการลด ละความเห็นแก่ตัวและทำความเข้าใจระบบของชีวิต อย่างถูกต้อง วิถีชีวิตที่ลด ละความเห็นแก่ตัวดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือแนวคิดใหม่แต่อย่างใด เพราะหากพิจารณาให้ดี จะพบว่าในทุกศาสนามีหลักคำสอน หลักปฏิบัติ ที่นำไปสู่การลด ละความเห็นแก่ตัว ให้คำนึงถึงเพื่อนมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับทัศนะการดำรงชีวิตแนวนี้เป็นอย่างยิ่ง ทั้งการดำเนินชีวิตด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
กล่าวเฉพาะพุทธศาสนา มีหลักคำสอนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยที่ศีลเป็นหลักปฏิบัติแห่งการครองตนด้านร่างกาย ในขณะที่ สมาธิและปัญญาจะช่วยพัฒนาจิตใจ ทำให้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ เห็นคุณค่าของชีวิตอื่น สิ่งอื่น อันจะนำไปสู่ความสงบของระบบทั้งมวล สำหรับหลักปฏิบัติเรื่องสุขภาพ พุทธศาสนาถือว่า เกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นปกติวิสัยของชีวิต เป็นกฎธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกให้พ้นได้ สิ่งที่ควรทำคือ การดำรงชีวิตที่เรียบง่าย สอดคล้องกับธรรมชาติ ดำรงตนให้อยู่ในความไม่ประมาท อีกทั้งมีปัญญาพิจารณาว่า ก่อเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร ยามเจ็บ ยามไข้ ก็ให้ดูแลรักษาตามสมควรแก่เหตุ มิใช่มุ่งหมายที่จะเอาชนะกฎธรรมชาติ
สำหรับคริสตศาสนาแล้ว หลักปฏิบัติที่เคร่งครัด คือเรื่องความเมตตา การให้ความช่วยเหลือต่อเพื่อนมนุษย์ ในนามของพระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับที่ ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับการให้ทาน การดูแลเพื่อนบ้าน ตลอดจนผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการละหมาดที่เชื่อว่าจะมีผลต่อสมาธิ และความสงบของจิตใจ
อาจกล่าวได้ว่าศาสนาทุกศาสนาแม้มีประวัติความเป็นมาไม่ เหมือนกัน แต่ทุกศาสนามีความมุ่งหมายที่ไม่ต่างกัน คือมุ่งที่จะรักษาความสมดุลหรือความสงบสุขของสรรพสิ่งในโลกโดยที่ศาสนาจะให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ มนุษย์ ระหว่างมนุษย์กับชีวิตอื่น และสิ่งแวดล้อม
ศาสนาจึงถือเป็นแบบแผนของการดำรงชีวิตที่เอื้อต่อการรักษา ดุลยภาพของชีวิตและระบบทั้งมวลอย่างแท้จริง
-----------------------------------------------------
http://www.moph.go.th/ops/doctor/drjan44/artical401.htm