อริสโตเติ้ล Aristotle


(Aristotle ก.ค.ศ. 384-322 จาก The Live of Philosophers โดย Diogenes Laertius)

อริสโตเติ้ล เป็นชาวเมืองสตากีรา (Stagira) บิดารับราชการอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าอามินตัส (Amyntas) กษัตริย์แห่งมาเคด็อน (Macedon) เขาเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญคนหนึ่งจึงเป็นที่โปรดปาน อาริสโตเติ้ลได้รับการศึกษาจากอาจารย์ปลาโต้ ได้แสดงความสามารถเหนือศิษย์อื่นๆ เขาออกจากสำนักในขณะที่ปลาโต้ยังมีชีวิตอยู่ ปลาโต้ได้แสดงความรู้สึกไว้ดังนี้ "อาริสโตเติ้ลกระทำต่อข้าพเจ้า เหมือนไก่รุ่นกะทงขันสู้แม่ของมัน" แฮร์มิปเป (Hermippe) กล่าวไว้ในหนังสือชีวประวัติว่าชาวอาเทเน ได้ส่งอาริสโตเติ้ลไปเป็นทูตยังสำนักของกษัตริย์ฟิลิป ระหว่างนั้นเซโนคราแตส (Xenocrates) ได้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักอาคาเดเมีย ซึ่งเป็นสำนักศึกษาของปลาโต้ ครั้นเมื่ออาริสโตเติ้ลกลับมา และเห็นว่ามีคนได้ตำแหน่งของตนไปแล้ว จึงหาที่สอนปรัชญาแห่งใหม่ และได้ที่ลีเคอูส (Lyceus)

เขาใช้วิธีเดินเที่ยวไปสอนไป เพราะเหตุนี้เองผู้คนจึงเรียกเขาว่าเป็นพวกจาริกชน (peripatetician) ภายหลังเขาได้มาที่มาเดด็อน รับราชการอยู่ในสำนักของพระเจ้าฟิลิป รับหน้าที่ถวายอักษรแก่ยุพราชอเล็กซันแดร์ สำหรับเป็นบำนาญตอบแทนเขาทูลพระเจ้าฟิลิป ให้ฟื้นฟูบ้านเกิดเมืองนอนของเขาขึ้นใหม่ พระเจ้าฟิลิปโปรดให้ตามคำขอ โดยให้อาริสโตเติ้ลร่างกฎหมายสำหรับเมืองสตากีรา ครั้นเห็นว่าได้ถวายอักษรให้การศึกษาแก่ยุพราชอเล็กซันแดร์ เพียงพอแล้ว เขาก็ขอกลับอาเทเนสอนปรัชญา 30 ปีต่อมา อาริสโตเติ้ล ถูกฟ้องฐานดูหมิ่นศาสนา จึงต้องหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่คัลคีแด็ส (Chalcides) อาริสโตเติ้ลดื่มยาพิษถึงแก่กรรมลง เมื่ออายุได้ 70 ปี

อริสโตเติ้ลได้ทิ้งคำคมไว้มากมาย ครั้งหนึ่งมีคนถามว่า โกหกปิดบังความจริงไว้แล้วได้อะไร เขาตอบว่า สิ่งที่ได้แน่นอนก็คือแม้พูดความจริงก็ไม่มีใครเชื่อ อีกครั้งหนึ่งมีคนตำหนิเขาที่ช่วยอันธพาล เขาตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ช่วยความประพฤติของเขา แต่ช่วยความเป็นคนของเขา เขากล่าวแก่ศิษย์และสหายเสมอว่า แสงสว่างที่ส่องวัตถุมาจากอากาศรอบๆตัวเรา แต่แสงสว่างที่ส่องจิตใจมาจากการศึกษาวิชาการ เขาวิจารณ์ชาวเอเทเน ที่ได้ค้นพบสองอย่างคือเนยแข็งและกฎหมายนั้น รู้จักใช้อย่างหนึ่งอย่างดีสำหรับการดำรงชีพ แต่ไม่รู้จักใช้อีกอย่างหนึ่งสำหรับความประพฤติ

อริสโตเติ้ลกล่าวว่า วิทยาการนั้นมีรากขมแต่มีผลหวาน บุญคุณเป็นสิ่งที่เก่าเร็ว ความหวังคือความฝันของคนอื่น วันหนึ่งมีคนบอกเขาว่า มีคนใส่ความเขาให้เสียชื่อเสียง เขากล่าวว่า ปล่อยความสบายเถิด จะตีด้วยก็ไม่ว่า ขอแต่อย่าให้ถึงตัวก็แล้วกัน

เขากล่าวถึงความงามว่าเป็นสิ่งที่น่ายกย่องที่สุด แต่บางคนพูดว่าคำพูดนี้เป็นของ ดีโอเกแน็ส และอ้างว่าอาริสโตเติ้ลบอกว่าความงามเป็นพรสวรรค์ ในขณะที่โซคราแต็สกล่าวว่า ความงามเป็นทรราชชั่วคราว เทโอฟรัสตุส (Theophrastus) ว่าเป็นตัวลวงใบ้ เทโอครีแต็ส (Theocrites) ว่าเป็นความชั่วสวย คาร์เนอาแด็ส (Carneades) ว่าเป็นราชินีไร้องครักษ์

มีคนถามอริสโตเติ้ลว่า นักปราช์ญกับคนโง่ต่างกันอย่างไร เขาตอบว่าต่างกันเหมือนดั่งคนตายกับคนเป็น เขายังกล่าวไว้อีกว่า การรอบรู้เป็นเครื่องประดับในเวลารุ่งโรจน์ และเป็นเครื่องบรรเทาใจในเวลาที่ตกอับ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ที่รู้จักให้การศึกษาแก่ลูกตามสมควรย่อมได้รับคำชมเชย กว่าพ่อแม่ที่พอใจเพียงแต่ให้ชีวิตเกิดมาในโลก การศึกษาแทนที่จะเป็นการติดหนี้บุญคุณ กลับเป็นทางได้เปรียบ ให้ดำรงชีพอย่างสุขสบาย
มีชายคนหนึ่งอวดตัวว่าเป็นชาวเมืองใหญ่ เขากล่าวว่านั่นไม่สำคัญ สำคัญอยู่แต่ที่ว่าได้กระทำตนให้สมกับบ้านเมืองของตนหรือไม่ต่างหาก เคยมีคนถามว่าเพื่อนคืออะไร เขาตอบว่าคือสองร่างที่มีใจเดียว เขายังกล่าวอีกว่า บางคนตระหนี่เสียจนคิดว่าเขาจะอยู่ค้ำฟ้า บางคนสุรุ่ยสุร่ายเสียจนดูเหมือนจะคิดว่า เขาจะตายในวินาทีหน้า

อริสโตเติ้ลกล่าวว่า ปรัชญาช่วยให้ปฎิบัติตนด้วยความพอใจ ในเรื่องที่คนอื่นเขาปฎิบัติกันเพราะกลัวกฎหมาย ครั้งหนึ่งมีคนถามว่า ศิษย์ต้องพยายามก้าวหน้าอย่างไร เขาตอบว่าต้องพยายามก้าวหน้าไปให้ทันคนที่ล้ำหน้า และต้องไม่หยุดคอยคนที่ตามมาข้างหลัง ใครคนหนึ่งถามอีกว่า เราควรปฎิบัติต่อมิตรสหายอย่างไร เขาตอบว่าต้องปฎิบัติตามที่เราอยากให้มิตรสหายปฎิบัติต่อเรา ในหนังสือปรัชญาจริยะธรรมของเขากล่าวว่า สหายรัก เพื่อนแท้นั้นอย่าหวังว่าจะหาได้ง่าย



วิจารณ์ปลาโต้ (จาก Metaphysics)

ส่วนพวกที่ถือว่ามโนคติ (Ideas) เป็นสาเหตุนั้นเล่าเพราะอยากจะเข้าใจสาเหตุของภวันต์ (being) ที่อยู่รอบๆตัวเรา ก็เลยประดิษฐ์ภวันต์ขึ้นจำนวนเท่าๆกัน ถ้าจะเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับนักคำนวน เห็นวัตถุที่ต้องคำนวนมีน้อยไป คำนวนไม่ออกก็เลยต้องเพิ่มขึ้นจนคำนวนออกมาได้ แน่อนนว่าจำนวนของมโนคติจะต้องเกือบเท่า หรือเกือบจะไม่น้อยกว่าจำนวนภวันต์ที่รับรู้สึกได้ ซึ่งนักปราชญ์เหล่านั้นอยากจะหาสาเหตุ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดจนบรรลุถึงเรื่องมโนคติ นั่นคือสิ่งแต่ละสิ่งที่มีอยู่จะต้องมีความจริงที่พ้องกันคู่กัน และโดยที่อยู่แยกกัน พวกหนึ่งเป็นสาร (substance) ซึ่งมีอยู่จริงในเอกภพ และอีกพวกหนึ่งเป็นสาระ (essence) ซึ่งถือว่าเป็นตัวการของเอกภาพในพหุภาพ ไม่ว่าจะเป็นพหุภาพ ของสิ่งที่สัมผัสได้หรือพหุภาพของสิ่งอันเป็นนิรันดร์

เหตุผลต่างๆ ที่ใช้อ้างอิงพิสูจน์การมีอยู่ของมโนคตินั้น ไม่มีข้อใดเลยที่ยอมรับได้ ประเด็นสำคัญที่อาจจะยกขึ้นแย้งทฤษฎีดังกล่าวได้ก็คือ ตั้งปัญหาถามว่ามโนคติเหล่านี้สัมพันธ์กับภวันต์ ที่รับรู้ได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นภวันต์นิรันดร หรือภวันต์ทั่วไปที่รู้สึกเสื่อมสลาย อันที่จริงมโนคติเหล่านั้นหาได้เป็นสาเหตุของการเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนแปลงแต่ประการใดไม่ มันไม่สามารถแม้แต่จะช่วยให้รู้เรื่องภวันต์อื่นๆ (อันที่จริงจะให้เป็นสารของสิ่งต่างๆก็ไม่ได้ เพราะถ้าเป็าสารต้องอยู่ภายใน) และแม้จะช่วยอธิบายความมีอยู่ก็ยังไม่ได้ เพราะมันอยู่นอกภวันต์ย่อยทั้งหลาย ถ้าหากอยู่ภายใน บางทีอาจจะยกให้เป็นสาเหตุก็ได้

เหมือนสีขาวเป็นสาเหตุของความขาวในสิ่งที่ขาว เพราะเข้าเป็นส่วนประกอบอยู่ในสิ่งนั้น แต่ข้อพิสูจน์นี้มีต้นตอมาจาก อานักซาโกรัส(Anaxagoras) และต่อมาก็มีเอ็วด๊อกซา (Eudoxa) และนักปราชย์อื่นๆอีกด้วย บางคนนำเอามาใช้ก็ดูเหมือนจะอ่อนเกินไป เพราะยังไม่มีข้อโต้แย้งอีกมากสำหรับทฤษฎีนี้และไม่มีใครสามารถตอบให้ กระจ่างได้

ยิ่งกว่านั้นวัตถุต่างๆ ไม่สามารถจะสืบเนื่องมาจากมโนคติดังกล่าว ไม่ว่าจะตีความหมายของคำว่า จาก (ek) ในความหมายใด ครั้นจะกล่าวว่ามโนคติเป็นแม่แบบ (paradigmata) และสิ่งอื้นๆมีส่วนในแบบ ก็ดูจะเป็นคำพูดที่ไร้ความหมายและเป็นการเปรียบเทียบแบบกวีมากกว่า ถ้าเช่นนั้นความคิดเรื่องมโนคตินี้มาได้อย่างไรกันเล่า ความจริงอาจเป็นไปได้ที่มีภวันต์หนึ่งอยู่แล้ว หรือเกิดมีขึ้นมาใหม่เหมือนกับภวันต์อีกภวันต์หนึ่ง เช่น โซคราแต็สจะมีจริงหรือไม่ก็ตาม อาจจะมีอีกคนหนึ่งเหมือนโซคราแต็สขึ้นมา นี่เป็นเรื่องเห็นแจ้ง แม้จะสมมุติว่าโซคราแต็สมีอยู่นิรันดร อาจจะมีแม่แบบหลายแม่แบบของภวันต์เดียวกัน นั่นคือมีหลายมโนคติของภวันต์เดียวกัน เช่น คนคนหนึ่งจะต้องมีมโนคติของสัตว์สองขา และมโนคติของคนด้วยในเวาลาเดียวกัน นอกจากนั้นไม่ใช่เพียงแต่ภวันต์ที่รับรู้สึกได้เท่านั้น จะต้องมีแม่แบบ แม้แต่มโนคติเองก็ต้องการแม่แบบ เช่น ประเภทกว้าง(genus) ในฐานะที่เป็นประเภทกว้างก็ต้องเป็นแม่แบบประเภทเจาะจง (species) ที่บรรจุอยู่ในประเภทกว้างนั้น ความหมายก็คือสิ่งเดียวกันอาจจะต้องเป็นทั้งแม่แบบและลูกแบบ เป็นไปไม่ได้ที่สารจะอยู่แยกจากวัตถุของมัน ดังนั้นมโนคติถ้าหากเป็นสารของวัตถุ จะอยู่แยกกับสิ่งต่างๆ อย่างไรได้


กรรตุภาวะกับสมรรถนภาวะ (Act and Potentiality)

สมรรถนภาวะ ได้แก่ตัวการที่ทำให้เคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลง อาจจะอยู่ในภวันต์อื่นหรือภวันต์เดียวกันนั่นเอง แต่อยู่ในฐานะคนละส่วน เช่น ความสามารถก่อสร้างเป็นสมรรถนภาวะที่ไม่อยู่ในอาคารที่ถูกสร้างขึ้น ส่วนความสามารถรักษาโรค อาจจะอยู่ในตัวคนที่ถูกรักษาก็ได้ แต่ไม่ใช่ในฐานะผู้ถูกรักษา โดยทั่วไปสมรรถนภาวะจึงหมายถึงตัวการของความเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนแปลงในภวันต์อื่นหรือในภวันต์เดียวกัน แต่ในฐานะคนละส่วน ยังหมายถึงความเตรียมพร้อมที่จะถูกเปลี่ยนแปลง หรือถูกเคลื่อนไหวโดยภวันต์อื่น หรือโดยตัวเองในฐานะคนละส่วน

ตามหลักการดังกล่าวมานี้ ตัวรับการกระทำก็เรียกได้เหมือนกันว่ามีสมรรถนภาวะที่จะรับการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น บางทีเราก็กล่าวกันว่า ตัวรับการกระทำมีความสามารถรับการเปลี่ยนแปลงได้มุกชนิด จะรับได้ก็เฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ตัวดีขึ้น

กรรตุภาวะคือการมีอยู่ของวัตถุ แต่ไม่ใช่ทำนองเดียวกับสมรรถนภาวะ เช่น เรากล่าวว่า แฮร์แม็ส(Hermes) อยู่ในสมรรถนภาวะของเนื้อไม้ และครึ่งบรรทัดอยู่ในสมรรถนภาวะของเต็มบรรทัด เพราะจากเต็มบรรทัดเราจะทอนเอาครึ่งบรรทัดออกมาเมื่อไรก็ได้ ผู้ที่มีความสารถคิดลึกๆ แม้ขณะยังไม่คิด เราก็เรียกได้แล้วว่าเป็นนักปราชญ์ในสมรรถนภาวะ

ภาวะตรงข้ามของตัวอย่างต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ถือว่าเป็นภาวะในกรรตุภาวะ ความรู้เรื่องกรรตุภาวะที่เสนอมานี้ อาจรู้ได้โดยวิธีอุปนัยก็ได้ โดยหาตัวอย่างเฉพาะหน่วยมาแสดงให้ดู เราจะนิยามไปเสียทุกอย่างไม่ได้ มีบางเรื่องเราต้องพอใจเท่าที่รู้ได้ โดยการเปรียบเทียบกรรตุภาวะกับสมรรถนภาวะ จะเปรียบได้กับภวันต์ผู้กำลังสร้างบ้าน กับภวันต์ผู้ที่สามารถสร้างบ้าน ถวันต์ที่กำลังตื่นกับภวันต์ที่กำลังหลับ ภวันต์ที่กำลังเห็นกับภวันต์ที่กำลังปิดตา แต่ตายังดีอยู่ สิ่งที่ยังไม่อยู่ในสสารกับตัวสสาร สิ่งที่ตบแต่งแล้วกับสิ่งที่ยังไม่ได้ตบแต่ง
ตัวอย่างต่างๆที่ได้ยกมานี้ เทอมแรกเป็นกรรตุภาวะทั้งสิ้น ส่วนเทมอหลังเป็นสมรรถน แต่ทุกๆตัวอย่างมิไม่ได้อยู่ในกรรตุภาวะเหมือนกันทุกประการ แต่คล้ายกันโดยเปรียบเทียบ ในทำนองเดียวกับที่ว่าสิ่งหนึ่งอยู่ในสิ่งนั้น หรือสัมพันธ์กับสิ่งนั้น ส่วนอีกสิ่งหนึ่งก็อยู่ในสิ่งอื่นหรือสัมพันธ์กับสิ่งอื่น เพราะว่ากรรตุภาวะบางทีก็ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวเมื่อเปรียบเทียบกับสมรรถนภาวะ บางทีก็ถือว่าเป็นสมรรถนภาวะที่จะมีรูปแบบในสสาร
กรรตุภาวะคืออะไรและเป็นชนิดใดนั้น อาจจะถือได้ว่าแจ่มแจ้งแล้ว จากการวิเคราะห์ตัวอย่างข้างต้นและตัวอย่างอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน คราวนี้จะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า เมื่อไรจึงเรียกว่าภวันต์อยู่ในสมรรถนภาวะและเมื่อไรไม่อยู่ เพราะไม่ใช่ว่าจะอ้างอะไรก็ได้เสมอไป เช่นโลกเรานี้จะอ้างว่าเป็นคนในสมรรถนภาวะจะได้หรือไม่ จะต้องตอบว่าไม่ได้ อาจจะพอเรียกได้ว่าเป็นคนในสมรรถนภาวะ ก็ต่อเมื่อมีสภาพเป็นเชื้อสืบพันธุ์ แต่นั่นก็ยังไม่แน่นัก ทำนองเดียวกับเรื่องสุขภาพ ยารักษาโรคก็ดี หรือโชคก็ดี หาได้สามารถเยียวยาไข้ทุกรายไม่จำเพราะสิ่งที่มีคุณสมบัติบำบัดโรคได้จริงเท่านั้น จึงเรียกได้ว่าสมรรถนภาวะให้สุขภาพ

การเปลี่ยนแปลงจากสมรรถนภาวะมาสู่กรรตุภาวะ ในการสร้างงานศิลปะอาจจะนิยามได้ดังนี้คือ เป็นความปรารถนาของศิลปินที่เป็นจริงขึ้นมาโดยไม่มีอุปสรรค์ภายนอก หรือภายใน กล่าวคือ อุปสรรค์ที่มาจากตัวเขาเอง เหมือนในตัวอย่างการบำบัดไข้ ในทำนองเดียวกัน บ้านเรียกว่าอยู่ในสมรรถนภาวะแล้ว ถ้าหากไม่มีอุปสรรค์ใดเลยจากฝ่ายรับการกระทำ นั่นคือจากฝ่ายวัตถุที่ไม่ให้กลายเป็นบ้านขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากยังไม่มีอะไรเพิ่มเข้าไปหรือตัดออก หรือดัดแปลงด้วยประการใด บ้านนั้นก็จะเป็นบ้านในสมรรถนภาวะเรื่อยไป ภวันต์อื่นๆทั้งหลายที่ต้องพึ่งพาตัวการภายนอกมาแปรสภาพ ก็เป็นทำนองนี้ทั้งสิ้น

ส่วนภวันต์ธรรมชาติที่มีตัวการกรรตุภาวะในตัวเอง ย่อมจะเป็นสิ่งอื่นในสมรรถนภาวะได้โดยตัวเอง ถ้าหากไม่มีสิ่งภายนอกมาขัดขวาง ดังเช่นอสุจิยังไม่เป็นคนในสมรรถนภาวะ เพราะยังต้องอาศัยภวันต์อื่นรับไปทำการเปลี่ยนแปลงต่อไป จนกว่าจะมีตัวการในตัวเองที่แปรสภาพมาเป็นคนได้ จึงเรียกได้ว่าเป้นคนในสมรรถถนภาวะ ส่วนในตอนแรกนั้นยังต้องการตัวการอื่นอยู่ ในทำนองเดียวกัน โลกจะเรียกว่าเป็นประติมากรรมยังไม่ได้ เพราะยังต้องมีการเปลี่ยนแปลง จนกว่าจะเป็นทองสัมฤทธิ์เสียก่อน

สรุปได้ว่า เมื่อเรากล่าวถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่ในทำนองว่าเป็นอะไร แต่ในทำนองว่าทำจากอะไร เช่น ตู้ไม่ใช่เป็นไม้แต่ทำด้วยไม้ ไม้ไม่ใช่เป็นดิน แต่มาจากดิน และถ้าสืบสาวต่อไปก็จะเห็นว่าดินมาจากอะไรอีก ดูเหมือนจะพูดได้ในความหมายที่รัดกุมทีเดียวว่า สิ่งที่ใช้ทำหรือสิ่งที่เป็นต้นตอถัดขึ้นไปนั้น เป็นสิ่งที่ถัดลงมาในสมรรถนภาวะ เราไม่กล่าวว่าตู้เป็นดินหรือทำจากดิน แต่กล่าวว่าทำจากไม้ เพราะฉะนั้นไม้จึงเป็นตู้ในสมรรถนภาวะ และกล่าวต่อไปอีกได้ว่า ไม้ทั่วๆไปเป็นเนื้อสารของตู้ทั่วๆไป และไม้ชิ้นนี้เป็นเนื้อสารของตู้ใบนี้ คราวนี้ถ้าหากไล่เรียงไปจนถึงเนื้อสารสุดท้าย จนหาต่อไปไม่ได้ว่ามาจากสารใด เนื้อสารนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นเนื้อสารแรก เช่น ถ้าดินมาจากลม และถ้าลมไม่ใช่ไฟแต่มาจากไฟ ไฟก็จะเป็นเนื้อสารแรก และไฟที่ว่านี้ก็ย่อมจะไม่ใช่สารที่มีคุณลักษณะตายตัว