เกรกอรี รัสปูติน


กริกอรี เยฟิโมวิช รัสปูติน


เจ้าชายเฟลิกซ์ (ซ้าย) คนสำคัญที่วางแผนสังหารรัสปูติน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กริกอรี เยฟิโมวิช รัสปูติน (รัสเซีย: Григо́рий Ефи́мович Распу́тин (Grigoriy Efimovič Rasputin); อังกฤษ: Grigori Yefimovich Rasputin) หรือที่นิยมเรียกกันว่า "รัสปูติน" เป็นนักบวช ผู้ที่มีพลังจิตพิเศษที่มีบทบาทในยุคปลายราชวงศ์โรมานอฟของประเทศรัสเซีย แต่การมีบทบาทและอิทธิพลของเขานั้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ

ก่อนเข้ามามีบทบาทในราชสำนัก

กริกอรี เยฟิโมวิช รัสปูติน เกิดเมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1869 ที่หมู่บ้านโปครอฟสกี อำเภอทยูแมน จังหวัดโตบอลส์ก ในไซบีเรีย ในครอบครัวเกษตรกร สันนิษฐานว่าเขามีความเชื่อในนิกายคริสติ และค็อปสตี ซึ่งในสมัยนั้นเป็นนิกายที่นอกรีต ต่อมาในวัยเด็ก รัสปูติน ก็ดูมีความสามารถพิเศษในการทำนายอนาคตได้อย่างค่อนข้างถูกต้อง

ในวัยเด็กและวัยหนุ่ม การที่รัสปูตินมีพลังพิเศษที่อธิบายไม่ได้ ประกอบกับอุปนิสัยที่เงียบขรึม และบางครั้งก็ชอบทำอะไรแปลกๆ ทำให้คนรอบข้างหวาดกลัว ไม่กล้าเข้าใกล้ ไม่กล้าพูดด้วย จนใน ค.ศ. 1887 รัสปูติน บวชเป็นนักบวชในนิกายคริสติ พำนักอยู่ในอาราม Verkhoturye และมีมาคาเรีย (Makariy) เป็นอาจารย์ ในช่วงแรก ผู้คนในเมืองที่รัสปูตินพำนัก ต่างนับถือ แต่ต่อมา เมื่อผู้คนพบกับธาตุแท้ ต่างเรียกรัสปูตินว่า Icha หรือ นักบวชวิปลาส

ค.ศ. 1889 รัสปูติน แต่งงานกับ ปราสโกเวีย เฟโอโดรอฟนา ดูโบรวินา (Praskovia Fyodorovna) และมีลูกด้วยกัน 4 คน แต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก 1 คน ส่วนอีก 3 คน ได้แก่ Dmitri เกิดใน ค.ศ. 1897 , Matryona เกิดใน ค.ศ. 1898 และ Varvara เกิดใน ค.ศ. 1900

ค.ศ. 1901 รัสปูติน ออกเดินทางแสวงบุญไปยัง กรีก และ เยรูซาเลม เป็นเวลา 2 ปี

ค.ศ. 1903 รัสปูติน เดินทางกลับมาถึงรัสเซีย และอ้างตนเป็นผู้มีพลังพิเศษ สามารถทำนายอนาคตและรักษาโรคได้

ค.ศ. 1904 องค์ชายอเล็กไซ พระโอรสองค์โตในพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ทรงประสูติ แต่ทรงมีพระอาการประชวรด้วยโรคฮีโมฟีเลีย (Haemophillia) หรือพระโลหิตไหลออกง่ายและหยุดยาก เนื่องจากพระโลหิตผิดปกติ ซึ่งในสมัยนั้นโรคนี้สามารถคร่าชีวิตคนได้ พระเจ้าซาร์หาหมอมือดีมาหลายคนก็ไม่สามารถรักษาพระอาการได้

ค.ศ. 1905 รัสปูติน เดินทางมาในพระราชวัง และสามารถรักษาพระอาการป่วยขององค์ชายอเล็กไซได้ (ซึ่งปัจจุบัน ข้อสันนิษฐานที่นักประวัติศาสตร์คิดว่าเป็นไปได้มากที่สุดของวิธีที่รัสปูติ นใช้ คือ สะกดจิตให้องค์ชายหลับไป และปล่อยให้ระบบในพระวรกายเยียวยาองค์ชายอย่างเงียบๆ จนทรงมีพระอาการดีขึ้น) จักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (เจ้าหญิงอลิกซ์แห่งเฮสส์และไรน์) พระมารดาขององค์ชายอเล็กไซ และพระเมหสีในพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 จึงขอให้รัสปูตินเข้ามาอยู่ในวัง เพื่อดูแลอเล็กไซต่อ ทำให้ชีวิตของรัสปูติน เริ่มมีบทบาทและอำนาจขึ้นมา
[แก้] รัสปูตินในวังหลวง

หลังจากรัสปูตินอยู่ในวังหลวงได้สักพัก รัสปูตินก็เริ่มจัดงานเลี้ยงเพื่อล้างบาป ซึ่งงานเลี้ยงแต่ละครั้ง ก็ใช้เงินมาก และยิ่งนานวัน รัสปูตินยิ่งสั่งจัดงานเลี้ยงล้างบาปบ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนดูพร่ำเพรื่อ และคนภายนอกเริ่มมองว่ารัสปูตินต้องการเสวยสุขจากงานเลี้ยงมากกว่า

ค.ศ. 1914 สถานการณ์โลกไม่ค่อยดีนัก มีแววว่าสงครามโลกกำลังจะเกิดขึ้น รัสเซียเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนอดอยากแร้นแค้น พระเจ้าซาร์ทรงให้รัสปูตินลดๆ การจัดงานล้างบาปลงเสียบ้าง เพราะจะได้นำเงินไปใช้ทำสงคราม และดูแลประชาชน รัสปูตินไม่พอใจ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 รัสปูตินก็แกล้งทำนายพระเจ้าซาร์ว่า พระเจ้าซาร์ต้องไปบัญชาการรบเอง รัสเซียจึงจะมีชัย เพื่อให้พระเจ้าซาร์ออกไปรบ และจักรพรรดินีอเล็กซานดรา ซึ่งเชื่อรัสปูตินแทบทุกอย่างได้ปฏิบัติหน้าที่แทน เพื่อรัสปูติน จะได้ทำตามใจตนเอง

ความเดือดร้อนที่ประชาชนแบกรับ ต่อมา ได้เกิดเป็นการประท้วง ตามด้วยการจราจล และการก่อการปฏิวัติ ทำให้พระเจ้าซาร์ ต้องกลับมาจากสนามรบ เมื่อกลับมา รัสปูตินก็ปรนเปรอพระเจ้าซาร์ด้วยงานเลี้ยงรื่นเริงเข้าไปอีก ทำให้พระเจ้าซาร์เริ่มปฏิบัติงานน้อยลง และฝากงานต่างๆ ให้รัสปูตินมากขึ้น จนแทบจะเรียกได้ว่า พระเจ้าซาร์ และจักรพรรดินีอเล็กซานดร้าเป็นหุ่นเชิดของรัสปูติน

การบริหารงานของรัสปูติน เริ่มสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชน จนเริ่มมีแววว่าจะเกิดความวุ่นวายในรัสเซีย
[แก้] จุดจบของรัสปูติน

ค.ศ. 1916 เจ้าชายเฟลิกซ์ ยูสชูปอฟ (Felix Yussupov) เห็นว่าเก็บรัสปูตินไว้จะเป็นภัยต่อชาติ จึงร่วมมือกับแกรด์ดยุคดมิทรี พัฟโลวิช (Grand Duke Dmitri Pavlovich) ลวงสังหารรัสปูติน โดยจะเชิญรัสปูตินไป โดยอ้างว่าเป็นงานเลี้ยงเล็กๆ ในวังเจ้าชาย และจะวางยาพิษไซยาไนด์ในเครื่องดื่มและเค้กของรัสปูติน

เมื่อรัสปูตินทานเค้กจนหมด ก็ดูไม่เป็นอะไร เหมือนไม่ได้ถูกยาพิษใดๆ เจ้าชายเฟลิกซ์จึงยิงปืนใส่รัสปูตินหลายนัด รัสปูตินก็ยังไม่เสียชีวิต เดินออกมาข้างนอกวัง กลุ่มข้าราชบริพารของเจ้าชายเฟลิกซ์ที่เจ้าชายเตรียมไว้ ก็ระดมยิงปืนใส่ ก็ยังไม่เสียชีวิต ผลสุดท้าย ข้าราชบริพารจึงยิงปืนใส่ตารัสปูตินจนตกลงไปในน้ำ เสียชีวิตในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1916 รวมอายุ 47 ปี

3 วันต่อมา ศพของรัสปูตินถูกพบ และถูกส่งไปชันสูตร ผลการชันสูตร พบสารไซยาไนด์และกระสุนปืนจำนวนมากในร่างของรัสปูติน แต่ร่างกายของรัสปูตินเสียชีวิตเพราะการจมน้ำ ส่วนไซยาไนด์และกระสุนปืนนั้นไม่ใช่สาเหตุของการเสียชีวิต
[แก้] หลังการตายของรัสปูติน

ก่อนเสียชีวิต รัสปูตินสามารถทำนายอนาคตตนเองได้ว่ากำลังจะเสียชีวิตเร็วๆ นี้ และได้พบกับคำทำนายบางสิ่ง จึงเขียนคำทำนายฉบับสุดท้ายฝากคนรับใช้ให้ไปส่งให้พระเจ้าซาร์ ฉบับนั้น เขียนไว้ในทำนองว่า ถ้าตัวเขาเองถูกฆ่าตายด้วยน้ำมือของสามัญชน ราชวงศ์โรมานอฟจะปกครองรัสเซียไปได้อีกหลายร้อยปี แต่ถ้าตัวเขาเองถูกฆ่าตายโดยเชื้อพระวงศ์ หรือบรรดาศักดิ์ ราชวงศ์โรมานอฟจะถูกโค่นล้มในอีก 2 ปีข้างหน้า นองจากนี้ยังเขียนทำนองว่า รัสปูตินจะเสียชีวิตก่อนที่จดหมายฉบับนี้จะไปถึงพระเจ้าซาร์

ทุกอย่างในคำทำนายเป็นจริง รัสปูติน เสียชีวิตชีวิตก่อนที่คนใช้จะนำจดหมายคำทำนายไปถึงพระเจ้าซาร์ และเมื่อคนที่ฆ่ารัสปูตินเป็น "เจ้าชาย" ดังนั้น ค.ศ. 1917 เกิดการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟจริงๆ หนำซ้ำ ค.ศ. 1918 ราชวงศ์โรมานอฟถูกตัดสินโทษประหารชีวิต