Moon Cake สื่อรักข้ามประเทศ
โดย สมถวิล ลีลาสุวัฒน์
ใครจะไปเชื่อว่าขนมหวานชิ้นกลม ๆ จะมีอิทธิพล
ต่อความรู้สึก และความผูกพันต่อมนุษย์มากเพียงนี้
แต่นั่นก็เป็นไปแล้ว...
ด้วย สาเหตุหลักที่มาจาก "ความเชื่อ" ของคนจีนโบราณที่บอกต่อ ๆ กันมาว่า "ไหว้แล้วจะดี" และอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า "ไม่ใช่สิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นกับตัวเราเองเท่านั้น"
แต่ทั้งหมดที่คิดว่า "ดี" จะเกิดขึ้นกับคนที่เรารักและครอบครัวอันเป็นที่รักของเราด้วย
"ขนมไหว้พระจันทร์" หรือ Moon Cake ที่เราเห็น จึงไม่ใช่เป็นแค่ขนม แต่เป็น "สัญลักษณ์" ของความรัก
ความผูกพันที่บางครั้งก็หาเหตุผลมาอธิบายได้ยาก
รู้ เพียงว่า "เทศกาลไหว้พระจันทร์" เป็นเทศกาลแห่งความสุข และเป็นเทศกาลดี ๆ อีกเทศกาลหนึ่งในรอบปีที่คนไทยเชื้อสายจีนจะต้องดำเนินการปฏิบัติไปตาม ธรรมเนียมประเพณี
เทศกาลที่ว่าจึงเปรียบเสมือน "ตัวแทน" สื่อรักของความกลมเกลียวของคนในครอบครัว
ทุกวันนี้วันไหว้พระจันทร์อาจมีความหมายที่เปลี่ยนไป...
แต่ สิ่งหนึ่งที่ดำรงอยู่นั่นคือ ความเป็นครอบครัวที่ทุกคนที่ห่างหายกันไปนานจะได้มาพบปะพร้อมหน้า และร่วมฉลองกินขนมแสนอร่อย พร้อมจิบน้ำชาร้อน ๆ ภายใต้บรรยากาศของความรักความสามัคคีที่เกิดขึ้นจากหน่วยเล็กที่สุดในสังคม
"พระจันทร์" ในค่ำคืนของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งตรงกับวันที่ 22 กันยายน 2553 ว่ากันว่าจะเป็นพระจันทร์ที่มีดวงโตกลมที่สุดในรอบปี และเห็นความสุกสว่างถ้วนหน้า
ตำนานจีนเชื่อว่า ในค่ำคืนนั้นเราอาจเห็นเงาของ "นางฟ้า
ผู้งดงาม" และ "แสนใจดี" มาปรากฏอยู่ในพระจันทร์ พร้อมทักทายมนุษย์บนโลกด้วยรอยยิ้ม
สำหรับ เทศกาลไหว้พระจันทร์ สิ่งที่เป็นไฮไลต์จึงอยู่ที่ "ขนมไหว้พระจันทร์" ที่ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้าดวงจันทร์ ซึ่งคนจีนจะเรียกขนมนี้ว่า "เอี้ยปิ่ง" อันหมายถึงความพรั่งพร้อม ความสมหวัง และความสมบูรณ์
จากอดีต ถึงปัจจุบัน นอกจาก "ขนมไหว้พระจันทร์" จะเป็นเครื่องเซ่นไหว้แล้ว คนรุ่นใหม่ในยุคไซเบอร์ได้แปรเปลี่ยนให้ขนมชิ้นกลม ๆ กลายมาเป็น "ของขวัญดี ๆ" ที่ญาติมิตรและคนรู้จักนิยมยินดีซื้อเป็นของฝากเมื่อถึงเทศกาลไหว้ประจำปี
ที่น่าสังเกตบริษัทห้างร้าน องค์กรรัฐและเอกชนทั่วไป
ต่างนิยมใช้เทศกาลไหว้พระจันทร์มาประยุกต์สู่การสร้างมิตรไมตรี หรือการทำซีอาร์เอ็มต่อลูกค้า (การสร้างความผูกพัน)
ที่ สำคัญในประเทศไทย "ศิลปะ" การทำขนมไหว้พระจันทร์ที่ถูกเผยแพร่โดยชาวจีนที่อพยพเข้ามาบนผืนแผ่นดินไทยก ว่า 100 ปีแล้วนั้น เริ่มสร้างความหลากหลาย ทั้งปรับรูปแบบหน้าตาของขนมจากชิ้นใหญ่ ๆ ให้ดูมีขนาดกะทัดรัดมากขึ้น
รวม ถึง "รสชาติ" จากเดิมขนมไหว้พระจันทร์ของชาวจีน จะมีแค่ไม่กี่ไส้ อาทิ เมล็ดลูกบัว ถั่วแดง และลูกนัตจีน 5 ชนิด (โหงวยิ้ง) แต่ปัจจุบันได้มีการปรับรสชาติให้เข้ากับลิ้นคนไทยมากขึ้น และรสชาติที่มาอันดับ 1 เลย คือ "ไส้ทุเรียน"
แน่นอน "เครื่องปรุง" ที่ขาดไม่ได้ ไม่ใช่น้ำปลา พริกไทย แต่เป็น "ไข่แดงเค็ม" และ "เมล็ดแตงโม" ที่เคี้ยวแล้วกรุบกรับให้รสชาติที่เข้ากันได้ดี
ในฐานะที่ "ขนมไหว้พระจันทร์" เป็นตัวแทนของสิ่งดี ๆ ในเทศกาลดี ๆ
การ แบ่งปันกินขนมมงคลก็ถือเป็นสิ่งดี ๆ อีกเช่นกัน เพราะแสดงถึงความรัก ความกลมเกลียว อันสะท้อนให้เห็นถึงความหวังอันงดงามของผู้คนที่มีต่อชีวิต ขนมไหว้พระจันทร์จึงมีความหมายว่า "ขนมแห่งความกลมเกลียว"
ตามตำนาน นั้นขนมไหว้พระจันทร์ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ถัง และนิยมมากยิ่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง ขนมไหว้พระจันทร์ไม่เพียงแต่เป็นขนมที่สืบทอดกันมาโดยถือเป็นผลิตผลของผลไม้ 4 ฤดูกาลเท่านั้น แต่รสชาติยังแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ขนมไหว้พระจันทร์แบบแต้จิ๋ว
แบบกวางตุ้ง แบบยูนนาน แบบหนิงโป ฯลฯ
ประเพณี ไหว้พระจันทร์นั้น นอกจากประเทศไทยแล้วประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่มีชนชาวจีนไปตั้งถิ่นฐานก็จะปฏิบัติคล้ายกัน คือ ตั้งโต๊ะจัดของสักการะบูชาพระจันทร์ เพื่อขอพรให้กับครอบครัวและให้กับชีวิตของตนเอง โดยมีส้มโอเป็นผลไม้หลักในจำนวนผลไม้ 5 ชนิด รวมถึงขนมโก๋ (ขนมหวานที่ทำจากแป้งสีขาวให้รสชาติหวาน ๆ) ที่พิมพ์ลายเป็นบ้านเจดีย์ หรือรูปทรงกลม ๆ พิมพ์ลายด้านบนเป็นภาษาจีน พร้อมกระดาษรูปเซียน 8 องค์
โดยใช้ต้นอ้อยประดับเป็นซุ้มประตู แขวนด้วยโคมไฟลวดลายสวยงามตระการตา แล้วตั้งโต๊ะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามธรรมเนียม
จากปรากฏการณ์ของเทศกาลไหว้พระจันทร์ มาปีนี้เกิดมิติใหม่ เกิดเวอร์ชั่นใหม่ เพราะมูนเค้กได้กลายเป็น "สื่อรัก" ที่ไร้พรมแดนไปแล้ว
โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้ร่วมลงนามเซ็น เอ็มโอยู บันทึกข้อตกลงร่วมดำเนินธุรกิจด้วยกันผ่าน "ขนมไหว้พระจันทร์" ที่มีมูลค่าการตลาดรวมต่อปีสูงถึง 500 ล้านบาท
อานุสรา จิตต์มิตรภาพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท บอกว่า ความร่วมมือนี้นับเป็นอีกก้าวของความร่วมมือระหว่างไปรษณีย์ทั้งสอง หลังจากทดลองวางขายสินค้าที่ระลึกของไปรษณีย์ไทยผ่านเว็บไซต์ ShopThruPost ของไปรษณีย์ฮ่องกงมาเมื่อปีที่แล้ว
ซึ่งการทำตลาดร่วมกันครั้งนี้ "ขนมไหว้พระจันทร์" จากเมืองไทยจะเข้าไปอยู่ในรายการสินค้าช่วงเทศกาลของบริการสั่งซื้อ ของขวัญ (gift fulfillment service) ที่ไปรษณีย์จีนและฮ่องกง ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งจากตลาดในประเทศจีนและฮ่องกง รวมทั้งมาเก๊า ตลอดจนชาวจีนในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา
"สำหรับประเทศไทย เราถือว่าเป็นการต่อยอดบริการอร่อยทั่วไทย สั่งได้ที่ไปรษณีย์ ซึ่งเมนูขนมไหว้พระจันทร์ในช่วงเทศกาลเราได้เลือกมาจากภัตตาคารเชียงการีล่า ที่เป็นต้นตำรับ โดยคนไทยสามารถสั่งซื้อได้ทั้งขนมไหว้พระจันทร์ในประเทศและจากฮ่องกง ขณะที่คนจีนในพื้นที่ที่เครือข่ายไปรษณีย์ฮ่องกงไปถึงก็จะมีโอกาสได้ลิ้มรส ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ทุเรียนรสอร่อยจากเชียงการีล่าเช่นกัน"
อัลเลน ม็อก (Allen Mok) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์การตลาดและขาย ไปรษณีย์ฮ่องกง (Hongkong Post) เสริมว่า เขารอวันนี้มานานแล้ว เพราะชาวจีนในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และมาเก๊า ต่างชื่นชอบ "ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ทุเรียน" มาก จะหาได้ก็ที่ประเทศไทยเท่านั้น
ภาย ในปีนี้ไปรษณีย์ทั้ง 2 ประเทศประกาศว่าจะขยายความร่วมมือในการทำตลาดสินค้าอื่น ๆ อีก โดยใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ บริโภคทั่วโลก ตลอดจนบริการไดเร็กต์เมล์ข้ามแดน (cross border direct mail) ระหว่างไทย-ฮ่องกง และจีน ซึ่งจะเป็นช่องทางใหม่ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของ แต่ละประเทศอย่างได้ผล
และนี่คือปรากฏการณ์ของขนมที่เป็น "สื่อรัก" และ "สื่อการตลาด" ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยมีไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเป็นตัวกำหนดโดยแท้
วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4245 ประชาชาติธุรกิจ