เปิดผลสำรวจ "ทุจริต" ทั่วโลก 3 ธุรกิจนำโด่ง "โทรคมนาคม" แชมป์ 38% ใช้กลโกง "ตกแต่งบัญชี"
การทุจริตคอร์รัปชั่นที่ตกเป็นข่าวรายวัน สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตของสังคมที่น่าวิตกไม่แพ้วิกฤตเศรษฐกิจ เพราะไม่เพียงผลสำรวจของ "สวนดุสิตโพล" ที่ได้สอบถามความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศในรอบเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ต่อเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นในการทำธุรกิจจำแนกตามอาชีพ ปรากฏว่าพนักงานบริษัทร้อยละ 51.4 คิดว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดาในการทำธุรกิจ
ล่าสุดผล สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารทั่วโลกใน 54 ประเทศ กว่า 3,000 คนของกลุ่มไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PricewaterhouseCoopers หรือ PWC) บริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับในภูมิภาคต่าง ๆ ยังชี้ชัดว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) สถิติการทุจริตคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้นมากกว่า 50%
"ประสัณห์ เชื้อพานิช" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา PWC ได้เก็บข้อมูลความคิดเห็นผู้บริหารอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2003 จนถึงปี 2009 ทำให้เห็นวิวัฒนาการด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นชัดเจน
ภาพรวม จากรายงานผลสำรวจพบว่า การทุจริตเกิดขึ้นมากกว่า 50% ในเขตประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น รัสเซีย อินเดีย จีน บราซิล รวมไปถึงยุโรปตะวันออก
ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คิดว่าน่าจะ มีการทุจริตคอร์รัปชั่นจำนวนมาก แต่กลับมีน้อย ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่อาจจะมีรายงานน้อยหรือไม่มีก็ใช่ว่าจะไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น บางประเทศอาจไม่ได้รายงานหรืออาจไม่มีการตรวจสอบหรือตรวจสอบแล้ว ไม่เจอก็เป็นไปได้เหมือนกัน
ซึ่งเมื่อจำแนกการทุจริตออกเป็นภาค อุตสาหกรรม จะพบว่า 3 ธุรกิจแรกที่นำโด่งในการสำรวจครั้งนี้ คือ กิจการโทรคมนาคม การสื่อสาร ตามด้วยธุรกิจประกันภัย และสถาบันการเงินตามมาติด ๆ เป็นอันดับ 3
"ทั้ง 3 ธุรกิจที่พบการทุจริตมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในธุรกิจต่าง ๆ เหล่านี้มีรายการที่ต้องทำเยอะมากในแต่ละวัน เฉพาะแค่โทรศัพท์อย่างเดียวก็มีโปรโมชั่น มีแถมมากมาย บางครั้งลูกค้าโทร.ติดบ้างไม่ติดบ้าง สายหลุดบ้าง แล้วบริษัทจะคิดค่าโทร.อย่างไร ในส่วนของบริษัทประกันก็เช่นกัน มีการออกกรมธรรม์เยอะ การทุจริตก็เกิดขึ้นได้มาก ยิ่งสถาบันการเงินยิ่งไม่ต้องพูดถึงมีข่าวให้เห็นตลอดเวลา"
"ประ สัณห์" บอกว่า ยิ่งธุรกิจใหญ่โอกาสในการทุจริตยิ่งมีมาก พบว่าธุรกิจที่มีพนักงาน 1,000 คนขึ้นไป มีโอกาสเกิดการทุจริตมากถึง 46% ธุรกิจที่มีพนักงาน 201-1,000 คน มีโอกาสเกิดทุจริต 26% ธุรกิจที่มีพนักงาน 200 คนขึ้นไป สถิติจะลดลงเหลือ 15%
ในส่วนองค์กรของรัฐหรือรัฐ วิสาหกิจ จากผลการสำรวจพบว่า มีโอกาสเกิดการทุจริตมากถึง 37% รองลงมาเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ 31% บริษัทเอกชน 28% และอื่น ๆ 21% ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งอาจจะมาจากเจ้าของกิจการกำกับดูแลองค์กรด้วยตัวเอง จึงไม่มีใครโกงบริษัท
เมื่อถามถึงสาเหตุของการทุจริต ส่วนใหญ่วนเวียนอยู่ใน 3 เรื่องหลัก ๆ คือ เรื่องผลประโยชน์ตอบแทนที่สูงหรือแม้กระทั่งแรงกดดันต่าง ๆ เช่น การตั้งเป้ายอดขาย หรือยอดรายได้ในแต่ละปี ทำให้ผู้บริหารต้องหาวิธีการทำให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งก็เป็นที่มาของการทุจริต ซึ่งจากสถิติสาเหตุนี้มีสูงถึง 68% ซึ่งเรื่องนี้มักเกิดกับฝ่ายบริหารมากที่สุด
ส่วนเรื่องของโอกาสที่ เปิดให้มีการทุจริต ยกตัวอย่างพนักงานแคชเชียร์อยู่กับเงินทุกวัน ซึ่งหากไม่มีการตรวจสอบเป็นประจำ พนักงานอาจจะย่ามใจหยิบเงินไปใช้ก่อนแล้วคิดว่าจะนำมาใช้คืนวันหลัง ซึ่งมีความเป็นไปได้ จากการเก็บข้อมูลพบว่ามี จำนวน 18%
อีกเรื่อง หนึ่งที่สำคัญมาก คือ ทัศนคติที่มองว่าการทุจริตไม่ใช่เรื่องผิด หลายคนจึงพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง ยักยอกผลประโยชน์ของบริษัทเข้ากระเป๋าตัว ตรงนี้ตัวเลขอยู่ที่ 14%
หาก วิเคราะห์ถึงยุทธวิธีการโกงว่า ถ้าจะโกงด้วยวิธีการอะไร ที่น่าสนใจคือการตกแต่งบัญชีมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นมากจาก 10% ในปี 2003 เพิ่มขึ้นมาเป็น 38% ในปี 2009 เพราะหากผู้บริหารทำตัวเลขไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ วิธีการตกแต่งบัญชีจะเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด
สำหรับการยักยอก ทรัพย์สินบริษัทจากสถิติที่เก็บได้ก็สูงเช่นเดียวกัน โดยในปี 2003 ตัวเลขอยู่ที่ 60% และในปี 2009 ขยับมาอยู่ที่ 67% และการติดสินบนปี 2003 มี 14% ปี 2009 พุ่งขึ้นมา เป็น 27%
เหตุผลที่ทำทุจริตส่วนมาก 70% ก็เพื่อรักษามาตรฐานการ ดำรงชีวิตของตัวเอง เพราะผู้บริหารบางคนในช่วงที่เงินเดือนสูง อาจจะไปผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ไว้ แต่พอเศรษฐกิจตก ถูกปรับลดเงินเดือนทำให้ไม่มีเงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์จึงต้องทุจริต
16% เกิดจากเวลามีการทุจริตในองค์กร มีการตั้งข้อกล่าวหา ไม่มีบทลงโทษใด ๆ ทำให้คนที่โกงคิดว่าโกงแล้วไม่เป็นไร ไม่มีใครจับได้
อีก คำตอบหนึ่งที่น่าสนใจที่ได้จากการเซอร์เวย์ในครั้งนี้ คือ โครงสร้างผลตอบแทนของฝ่ายบริหารที่ผันแปรตามผลประกอบการ ทำให้เกิดการตกแต่งบัญชีเพราะถ้าตัวเลขออกมาสวย ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ผู้บริหารก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดี
สำหรับประเทศไทย "ประสัณห์" ให้ข้อมูลว่า จากการเก็บข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2543-2552) การทุจริตในภาคธุรกิจเอกชนของไทยจะเป็นรูปแบบของการฝ่าฝืนกฎระเบียบเป็นส่วน ใหญ่มีสัดส่วนถึง 73.23%
รองลงมาเป็นการปกปิดข้อเท็จจริง และการสร้างข้อมูลเท็จ 10.31% ตามมาด้วยการสร้างราคา 2.95% การหลีกเลี่ยงภาษีอากร 7.63% และการยักยอกเงินบริษัท 2.95% อื่น ๆ 2.93%
ซึ่ง หากโฟกัสไปที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะพบว่าการทุจริตส่วนใหญ่เป็นการยักยอกทรัพย์ และการใช้ข้อมูลภายใน รวมถึงการให้กู้ยืมกับบุคคลอื่นและนิติบุคคล
นอกเหนือจากเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แล้ว PWC ได้ถามผู้บริหารต่อไปว่า การทุจริตมีผลกระทบอย่างไรต่อองค์กรที่ทำงานอยู่ พบว่ามากกว่า 32% เห็นว่าพนักงานสูญเสียขวัญและกำลังใจ เพราะทันทีที่เกิดข่าวการทุจริตในองค์กร พนักงานก็เกรงว่าบริษัทจะไม่มั่นคง กลัวตกงาน
ในแง่ความสัมพันธ์กับคู่ค้าก็จะกระทบเพราะไม่มีใครอยาก ค้าขายกับองค์กรที่มีการทุจริต ลูกค้าก็เริ่มหวั่น ๆ กับคุณภาพ ของสินค้าที่อาจจะไม่ได้มาตรฐาน ทำให้สินค้าขายไม่ได้ ยิ่งเป็นบริษัทในตลาดหุ้น ราคาร่วงทันที เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ "ประสัณห์" บอกว่า ไม่ใช่ความเสียหายที่เป็นตัวเงิน แต่เป็นผลกระทบที่แรงมากจนไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้ ถึงตรงนี้ผู้บริหารในหลายองค์กรคงอยากรู้ว่า จะทำอย่างไร ถึงจะรู้ว่าในองค์กรของตัวเองมีการทุจริตหรือไม่ PWC แนะวิธี การตรวจสอบทุจริตที่น่าสนใจและได้รับความนิยมจากทั่วโลกไว้ดังนี้
แนว ทางแรก คือ การตรวจสอบภายใน มีผู้นิยมใช้สูงถึง 26% ในปี 2009 แนวทางที่ 2 คือ การบริหารความเสี่ยงอันเกิดจากการทุจริต แนวทางที่ 3 เป็นวิธีการที่ฮิตมากในอเมริกาเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา คือ บัตรสนเท่ห์
"ประ สัณห์" บอกว่า หากอยากแก้ไขปัญหาทุจริตในองค์กรผู้บริหารจะต้องสร้างวัฒนธรรมให้คนในองค์กร เชื่อมั่นว่าไม่มีการทุจริตในองค์กร โดยปฏิบัติตัวเป็นโรลโมเดลให้กับพนักงาน แล้วเขียนแนวทางปฏิบัติที่ดีให้ชัดเจน
ที่สำคัญมากต้องมีบทลงโทษที่ ชัดเจนสำหรับคนที่กระทำการทุจริตในองค์กร ซึ่งบอร์ดขององค์กรจะมีความสำคัญมากในการกำกับดูแล ตรวจสอบว่าจุดไหนที่มีความเสี่ยงในการเกิดทุจริตได้มาก บอร์ดต้องหมั่นสอบถามกรรมการอยู่ตลอดเวลาว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในองค์กร หรือไม่ มีการจัดวางระบบการเฝ้าระวังในจุดที่มีความเสี่ยงในการทุจริต รวมถึงการสร้างเครือข่ายคนในองค์กรให้ช่วยเป็นหูเป็นตาหากมีเหตุการณ์ทุจริต แล้วให้รายงาน ตรงกับกรรมการเพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้เร็ว
อย่างไรก็ ตาม ประธานกรรมการบริหาร PWC ทิ้งท้ายว่า การทุจริตในองค์กรถ้าไม่ตรวจสอบก็ไม่เจอ ถ้าไม่ค้นหาก็ไม่พบ ฉะนั้นวันนี้ผู้บริหารองค์กรต้องกลับไปตรวจสอบองค์กรของตัวเองว่ายังปกติสุขดีอยู่หรือไม่
ประชาชาติธุรกิจ