เงื่อนปมภาษี-เปิดเสรีการค้า ความท้าทายอีคอมเมิร์ซไทย



ซื้อขายออนไลน์ แม้จะเป็นเรื่อง ที่ใคร ๆ บอกว่าง่ายแค่คลิก แต่แท้จริงแล้ว มีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ได้จัดสัมมนา "ไทยแลนด์ อีคอมเมิร์ซ ฟอรั่ม" เพื่อชี้โอกาสให้อีคอมเมิร์ซไทย

"ดร.รอม หิรัญพฤกษ์" ที่ปรึกษากระทรวงไอซีที กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซของไทยเติบโตขึ้น ทุกปี จาก 14,156 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2550 เป็น 24,288 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 และคาดการณ์ว่าจะพุ่งถึง 36,105 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีนี้ ขณะที่ภาครัฐมีการตั้งเป้าผลักดันมูลค่าการ ซื้อขายอีคอมเมิร์ซให้เพิ่มขึ้นแต่ละปีไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท

กระทรวง ไอซีทีในฐานะภาครัฐมีหน้าที่ส่งเสริมอีคอมเมิร์ซให้เติบโตอย่างยั่งยืน กระทรวงจึงได้ปรับโครงสร้างใหม่ โดยกำลังจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลด้าน อีคอมเมิร์ซ นั่นคือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) นอกจากนี้ยังเตรียมเสนอแผนแม่บทแห่งชาติด้าน บรอดแบนด์เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อให้ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการทำอีคอมเมิร์ซ

"ปัจจุบัน มีธุรกิจหลายประเทศที่สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์ที่ดี จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริม เช่นเดียวกับการสร้างระบบชำระเงินแบบเพย์พาลที่เป็นของไทย และมีธนาคารเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด แม้ปัจจุบันจะมีอีเพย์เมนต์ของไทยที่คล้าย ๆ กับเพย์พาล แต่แบงก์ชาติไม่ได้เข้ามากำกับดูแล ทำให้มีปัญหาเรื่องการฝากเงินเข้าระบบ แบงก์ชาติจึงควรเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอีเพย์เมนต์ โดยอาจจะนำระบบพรีเพดของมือถือให้กลายเป็นตัวกลางในการจ่ายเงิน"

ส่วน ปัญหาเรื่อง "ภาษี" ที่กำลังเป็นยาขมของอีคอมเมิร์ซไทย "รัตนา เพ็ชรวิจิตร" ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร กล่าวยืนยันว่า กรมสรรพากรไม่มีนโยบายที่จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ แต่ต้องการส่งเสริมผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีมากขึ้น รวมถึงเห็นประโยชน์จากการให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ชเข้าสู่ระบบภาษี

เพราะ จริง ๆ แล้ว ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบรายย่อยซึ่งได้รับสิทธิลด หย่อนมากมาย หากไม่ได้มีรายได้ต่อปีเป็นล้าน ๆ บาท ก็ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการให้ยื่นแบบแสดงรายได้ให้มีฐานข้อมูลเพื่อ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากนโยบายของ รัฐในอนาคต

ผอ.รัตนากล่าวว่า จริง ๆ แล้ว การทำ อีคอมเมิร์ซ ก็เป็นการค้าขายในรูปแบบหนึ่ง จึงใช้หลักเกณฑ์การเสียภาษีเช่นเดียวกับการค้าขายทั่วไป สำหรับผู้ประกอบการที่ทำในนามของบุคคลธรรมดา ไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท สิ่งที่ต้องทำ ก็คือหากมีรายรับต่อปีเกิน 30,000 บาท ก็ให้ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ประจำปีกับกรมสรรพากร และเป็นการทำรายงานรับ-จ่ายเงินประจำวัน คือการทำบัญชีแบบง่าย ๆ เพื่อให้รู้ว่าทั้งปีมีรายรับถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีหรือไม่

"การยื่น แบบเพื่อสิทธิประโยชน์จากนโยบายรัฐ ซึ่งจากการหักค่าลดหย่อนสารพัด เบ็ดเสร็จจะต้องเสียภาษี ก็ต่อเมื่อรายได้เกินล้านบาท ฉะนั้น ถ้ารายได้ไม่ถึง ก็แค่ยื่นแบบไว้เฉย ๆ"

ขณะที่ผู้ประกอบการที่เป็น นิติบุคคล คือจดทะเบียนตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด มีหน้าที่จะต้องทำบัญชีและงบการเงิน ซึ่งสรรพากรได้มีมาตรการส่งเสริมสำหรับนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท ถ้ามีกำไรสุทธิไม่ถึง 150,000 บาท จะไม่ต้องเสียภาษี หากมีกำไรเกิน 150,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท จะเสียภาษีแค่ 15%

นอก จากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมอื่น ๆ อาทิ การซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้ในการทำธุรกิจ จะสามารถหักค่าเสื่อมราคาได้ 3 รอบบัญชี แต่ถ้าเป็น SME ที่มีทุนจดทะเบียนไม่ถึง 200 ล้านบาท จ้างพนักงานไม่เกิน 200 คน จะสามารถหักค่าเสื่อมได้ทันทีถึง 40% ในรอบบัญชีแรก

"มาตรการส่งเสริมพวกนี้ หรือเรื่องการทำบัญชี การเสียภาษี อยากให้ผู้ประกอบการใส่ใจหาความรู้และลงมาตรวจสอบด้วยตัวเองด้วย อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานบัญชีเพียงฝ่ายเดียว เพราะมีหลายกรณีแล้ว ที่พบว่าผู้ประกอบการถูกเชิดเงินค่าภาษี ที่ฝากให้เจ้าหน้าที่บัญชีเอาไปจ่ายแทน เสียทั้งเงิน แถมโดนสรรพากรเรียกเบี้ยปรับเงินเพิ่มอีก"

ขณะที่ "รณรงค์ พูลพิพัฒน์" ผู้อำนวยการส่วนการค้าบริการอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในปีหน้า ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซของไทยจะต้องเตรียมรับมือกับการเปิดเสรีการค้าปลีก ผ่านอีคอมเมิร์ซตามเงื่อนไของค์การการค้าโลก แม้ว่าปัจจุบันกลไกของตลาดจะทำให้ผู้ประกอบการไทยเผชิญกับการเข้ามาทำธุรกิจ ของต่างชาติอยู่แล้ว แต่ถือว่ายังไม่รุนแรง เพราะส่วนใหญ่เข้ามาโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย

ตั้งแต่ปีหน้าจะมีการ เปิดเสรี ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการต่างชาติจะเข้ามาอย่าง ถูกต้องตามกฎหมายและได้รับการคุ้มครอง โดยไม่มีกฎหมายใด ๆ มาเป็นอุปสรรคอีก

"สาขา ธุรกิจที่องค์การการค้าโลกระบุว่า บริการที่สามารถทำผ่านออนไลน์ได้ มีกว่า 200 สาขา และแต่ละสาขายังจำแนกได้อีกมาก ซึ่งผู้ประกอบการไทยยังทำได้ไม่ครอบคลุม ยังไม่เห็นช่องทางก็อีกมาก แต่ต่างชาติเขาทำอยู่แล้ว เมื่อเปิดเสรี จะทำให้บริการข้ามพรมแดนยิ่งเกิดมากขึ้น อาทิ การเปิดหลักสูตรเรียนทางไกลผ่าน อินเทอร์เน็ต แม้ปัจจุบันเริ่มมีมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเข้ามาเปิดบ้างแล้ว แต่ยัง ไม่แพร่หลาย เมื่อเปิดเสรีแล้ว รับรองว่าต่างชาติจะเข้ามาใช้สิทธิของการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อม"

ประชาชาติธุรกิจ