ข้อคิดจากอริสโตเติล กับรูปแบบการปกครองในปัจจุบัน



อริสโตเติล

สําหรับอริสโตเติลแล้ว การปกครองแบบประชาธิปไตยตัวแทนในปัจจุบันย่อมไม่ใช่ "ประชาธิปไตย" ในความเข้าใจของเขา เพราะอริสโตเติลถือว่า ถ้าที่ใดใช้การเลือกตั้งเป็นหลักสำคัญในการหาคนเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชน ทั้งปวง ในการตัดสินใจเกี่ยวกับกิจการสาธารณะ การปกครองในที่นั่นย่อมไม่มีทางที่จะเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องเชื่อว่า ประชาชนพลเมืองทุกคนมีความเท่าเทียมกันที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เกี่ยวกับกิจ การสาธารณะในสภาด้วยตนเอง

ด้วยเหตุนี้เองที่ประชาธิปไตยเอเธนส์ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรงจึงใช้วิธีการจับฉลากให้พลเมืองเอเธนส์ ได้หมุนเวียนกันเข้าไปใช้สิทธิทางการเมืองได้อย่างเสมอหน้ากัน ดังนั้น การปกครองที่ไม่ยอมให้ประชาชน เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้โดยตรง แต่ใช้วิธีการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่แทน จึงเข้าข่ายรูปแบบการปกครองที่อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อย ซึ่งอริสโตเติล จำแนกรูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยนี้ออกเป็น 2 ชนิดที่แตกต่างกันในเรื่องของคุณภาพ แต่เหมือนกันในเชิงปริมาณ

ที่ว่าเหมือนกันในเชิงปริมาณ ก็เพราะว่า ในรูปแบบการปกครองทั้งสองชนิดนี้ อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของคนจำนวนหนึ่ง แต่ที่ว่าแตกต่างกันในเชิงคุณภาพ ก็เพราะว่า อริสโตเติลแบ่งรูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยนี้ออกเป็น ชนิดที่ดี กับ ชนิดที่เลว

ชนิดที่ดี อริสโตเติลให้ชื่อว่า "อภิชนาธิปไตย" หรือ "Aristocracy" ส่วนชนิดที่เลว เขาเรียกว่า "คณาธิปไตย" หรือ "Oligarchy"

อริสโตเติลอธิบายรูปแบบการปกครองแบบอภิชนาธิปไตยไว้ว่า เป็นการปกครองโดยกลุ่มคนที่ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยผิวเผินแล้ว เราอาจเข้าใจได้ว่า คนกลุ่มที่ว่านี้คือ ประดาชนชั้นสูง ที่มีการศึกษาและได้รับการอบรมขัดเกลา มีพื้นเพกำเนิดที่ดี คนเหล่านี้มีคุณลักษณะที่คนในยุคปัจจุบันมักจะเห็นว่าเป็นคุณสมบัติของพวก อภิชน นั่นคือ มีฐานะมั่งคั่ง มีสถานภาพที่รวมถึงระดับของวัฒนธรรมและการศึกษา

ส่วนคณาธิปไตยนั้น อริสโตเติลอธิบายว่าเป็นการปกครองโดยคนกลุ่มน้อยที่ปกครองเพื่อผลประโยชน์ ของพวกพ้องตัวเอง ลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัดของคณาธิปไตยคือ การปกครองอยู่ในมือของกลุ่มคนที่มีอำนาจครอบงำทางเศรษฐกิจ เป็นกลุ่มคนที่มีฐานะมั่งคั่ง ขณะเดียวกันก็อาจมีกำเนิดที่ดีและการศึกษาสูงคล้ายกับพวกอภิชน แต่กระนั้น ลักษณะสำคัญของคณาธิปไตยอยู่ที่เรื่องทรัพย์สินเหนือคุณสมบัติอื่นๆ ทั้งหมด

แม้ว่ากลุ่มผู้มีอำนาจในระบอบคณาธิปไตยคือ กลุ่มที่มีอำนาจอิทธิพลทางเศรษฐกิจ แต่ก็อาจจะรวมเอาพวกช่างฝีมือ ที่มีฐานะร่ำรวย หรือพ่อค้าที่มั่งคั่ง ซึ่งอาจเป็นคนที่ไม่มีชาติตระกูล และไม่มีวัฒนธรรมการศึกษา หรือได้รับการขัดเกลาอบรมอย่างชนชั้นสูง

อริสโตเติลยังแบ่งการปกครองแบบคณาธิปไตยนี้ออกเป็นสี่ ประเภทย่อย แบบแรกคือคณาธิปไตยแบบอ่อนๆ ในระบอบแบบนี้ ผู้ปกครองตามกฎหมายและคนที่จะมีโอกาสเข้าทำงานการเมือง หรืองานราชการจะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่มีทรัพย์สินในระดับหนึ่ง แต่เกณฑ์ที่ว่านี้ไม่ได้เคร่งครัดมากนัก นั่นคือ คุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินไม่ได้ตั้งไว้สูง และตำแหน่งทางการเมืองจะเปิดให้กับทุกคนที่เข้าเกณฑ์ที่ตั้งไว้

อริสโตเติลชี้ให้เห็นถึงการกำหนดคุณสมบัติเรื่อง ทรัพย์สินไว้เป็นสองประเภท นั่นคือ แบบที่ตั้งไว้สูงสำหรับตำแหน่งที่สำคัญมากที่สุด และเกณฑ์ขั้นต่ำลงมาสำหรับตำแหน่งที่รองๆ มา แต่อย่างไรก็ตาม ในระบอบนี้ จำต้องกำหนดเกณฑ์ไว้บ้าง แม้จะเป็นขั้นต่ำ เพื่อให้แน่ใจว่า จะมีเสรีชนน้อยคนเท่านั้นที่จะสามารถมีส่วนร่วม ในตำแหน่งทางการเมือง

พูดง่ายๆ ก็คือ มีเกณฑ์ไว้เพื่อกันไม่ให้คนจนเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจทางการเมืองนั่นเอง

คณาธิปไตยแบบที่สอง เป็นแบบที่จำกัดเฉพาะมากขึ้น เกณฑ์คุณสมบัติสำหรับการมีสิทธิ์ในตำแหน่งทางการเมือง จะถูกกำหนดไว้สูงมากขึ้น และการแต่งตั้งตำแหน่งใหม่ๆ ก็กระทำโดยประดาผู้ซึ่งอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองมาแล้ว โดยทั่วไปเท่าที่อริสโตเติลได้สังเกตศึกษาจากนครรัฐกรีกโบราณต่างๆ เขาพบว่า ผู้ปกครองในระบอบนี้จะมีน้อยกว่าและมีฐานะร่ำรวยกว่าในระบอบคณาธิปไตยแบบแรก (แบบอ่อนๆ) แต่อย่างไรก็ตาม พวกผู้ปกครองในคณาธิปไตยแบบที่สองนี้ ก็ยังคงปกครองตามกฎหมาย และด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงไม่ได้ใช้อำนาจไปเพื่อมุ่งแต่ผลประโยชน์ของพวกตนเสียทั้งหมด

ส่วนคณาธิปไตยแบบที่สาม อริสโตเติลหมายถึง คณาธิปไตยที่แคบขึ้นไปอีก และมีข้อจำกัดที่เคร่งครัดกว่าที่กล่าวไป จนถึงขนาดที่สมาชิกของกลุ่มผู้ปกครองในคณาธิปไตยแบบนี้ จะต้องมาจากการสืบสานเครือญาติเท่านั้น

แบบสุดท้ายคือคณาธิปไตยแบบที่สี่มีกลุ่มผู้ปกครองเป็นชน ชั้นร่ำรวยและมีจำนวนน้อยลงไปกว่าที่ผ่านมา และไม่ยอมอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายใดๆ อริสโตเติลถือว่ารูปแบบการปกครองนี้เป็นรูปแบบของคณาธิปไตยแบบบริสุทธิ์ สมบูรณ์ ไม่มีส่วนผสมของรูปแบบการปกครองอื่นใดเลย

จากที่อธิบายรูปแบบการปกครองแบบคณาธิปไตยโดยคร่าวๆ มานี้ หลายคนคงอดไม่ได้ที่จะนึกสะท้อนถึงการปกครองในบ้านเรา!

เอาว่าไม่ต้องพูดถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ตัดสินใจเรื่องบ้านเมืองโดยตรง เพราะนั่นคงจะเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่เลยทีเดียว เพราะการเปิดโอกาสเช่นนั้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบบตัวแทนมาเป็นประชาธิปไตยทางตรง เอาเป็นว่าเรามาลองพิจารณาถึงเกณฑ์ของการให้ประชาชน สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 กำหนดให้ผู้สมัครจะต้องมีวุฒิการศึกษาอย่างต่ำ ระดับปริญญาตรี

แค่นี้ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า กีดกันคนจำนวนมากที่ไม่มีการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี ขณะเดียวกัน การศึกษาระดับปริญญาตรีหรือระดับไหนก็ตามก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า คนที่จบมาจะเป็นคนที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมเสมอไป ขณะเดียวกัน คนส่วนใหญ่ที่มีปัญญาเรียนระดับปริญญาตรี ก็มักจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะพอจะสนับสนุนให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือได้

นั่นหมายความว่า สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการกำหนดเกณฑ์ปริญญาตรี ก็คือ เกณฑ์ของการมีทรัพย์สินนั่นเอง

ขณะเดียวกัน คนที่ไม่มีปริญญาตรีที่อยากเข้าสู่การเมือง พอเจอกฎเกณฑ์ข้อบังคับภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 หลายคนก็ต้องดิ้นรนให้ตัวเองได้ใบปริญญามาครอบครอง คนที่มีเงินมีเวลาก็หาทางไปเรียนหนังสือ โครงการปริญญาตรีภาคพิเศษตามสถาบันอุดมศึกษาก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเพื่อรอง รับคนเหล่านี้ ทั้งนี้ ไม่ต้องถามถึงคุณภาพของบัณฑิตที่จบออกไป ดังนั้น ในที่สุดแล้วปริญญาตรีก็กลายเป็นของซื้อของขายไป คนที่มีเงินมีเวลาเท่านั้นที่จะสามารถทำตัวให้เข้าเกณฑ์ดังกล่าวนี้

นอกจากเกณฑ์เรื่องปริญญาตรีแล้ว การกำหนดค่าสมัครรับเลือกตั้งเป็นหลักหมื่น และไหนจะต้องมีค่าหาเสียงอะไรอีกจิปาถะ ดูๆ ไปแล้ว คนมีทรัพย์เท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์เข้าไปเล่นการเมืองได้ อย่างนี้คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า รูปแบบการปกครองของไทยเราเข้าข่ายคณาธิปไตยของอริสโตเติลอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่คำถามต่อมาคือ เป็นคณาธิปไตยแบบไหน? แบบอ่อนๆ กลางๆ หรือแบบบริสุทธิ์

ถ้าจะลองพิจารณากันเล่นๆ เราจะพบว่า นักการเมืองบางกลุ่มมีการสืบสานกันทางสายโลหิตเครือญาติ เช่น แต่ก่อนนี้ก็มีตระกูลอดิเรกสาร (เดี่ยวนี้ก็พยายามดิ้นรนต่อไป แต่อ่อนแรงลงไปมากแล้ว) ตระกูลสารสิน ตระกูลศิลปอาชา ตระกูลชิดชอบ ตระกูลพลซื่อ ตระกูลขจรประศาสน์ และถ้าไปดูตามต่างจังหวัดก็จะพบความพยายาม ในการสืบสานทางการเมืองหรือพูดง่ายคือ ผูกขาดอำนาจทางการเมืองให้อยู่ในวงแคบๆ เฉพาะสายโลหิตเครือญาติกันมากมาย

และที่กำลังสืบสานมาแรงให้เห็นกันชัดๆ ในอนาคตอันใกล้ หากไม่เกิดรัฐประหาร 19 กันยาเสียก่อน ก็คือ ตระกูลชินวัตร ตระกูลมหากิจศิริ ตระกูลมาลีนนท์ และอีกหลายตระกูลที่เกิดใหม่ทางการเมืองไม่นานมานี้

กล่าวโดยคร่าวๆ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า รูปแบบการปกครองของเรานั้นเป็นรูปแบบการปกครองแบบคณาธิปไตย และเป็นคณาธิปไตยแบบที่สามผสมแบบที่สอง แต่ดูทีจะมีความเป็นแบบที่สามเสียมากกว่า และถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังมีอำนาจทางการเมืองอยู่ต่อไป ก็คงจะกลายพันธุ์เป็นแบบที่สี่แน่ นั่นคือ อยู่ภายใต้กลุ่มผู้ปกครองเป็นชนชั้นร่ำรวย และมีจำนวนน้อยลงไปกว่าที่ผ่านมา และสืบสานอำนาจกันในหมู่เครือญาติพวกพ้อง และไม่ยอมอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายใดๆ อีกด้วย

หลายคนอาจจะท้วงติงว่า การปกครองไทยของเราไม่ได้เป็นคณาธิปไตยอย่างที่ว่า แต่เป็นอภิชนาธิปไตยต่างหาก เพราะรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณมีนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ (นอกจากการซื้อเสียงที่ส่วนใหญ่กระทำกันแล้ว นโยบายบางอย่างก็เป็นการให้แบบเลี้ยงไข้ บางอย่างก็เป็นการให้แบบชาวบ้านดีใจวันนี้ แต่ประเทศไปล้มละลายในวันหน้า)

คำตอบอยู่ที่ "เมื่อคณาธิปไตยโบราณผสมกับระบอบการเลือกตั้งตัวแทนสมัยใหม่" มันก็ต้องมีอะไรให้กับคนที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตนเข้าสภาบ้างนั่นเอง

หน้า 38


ข้อคิดจากอริสโตเติล กับรูปแบบการปกครองในปัจจุบัน (ต่อ)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1389

ข้อคิดจากอริสโตเติลกับรูปแบบการปกครองในปัจจุบัน (ต่อ)

คราวที่แล้วได้กล่าวถึงรูปแบบการปกครองที่อำนาจทางการ เมืองอยู่ในมือของกลุ่มน้อย ซึ่งรูปแบบการปกครองที่ว่านี้สามารถดีหรือเลวก็ได้ ขึ้นอยู่กับเจตจำนงในการใช้อำนาจของผู้ปกครอง

ถ้ามุ่งสู่ผลประโยชน์ส่วนรวมก็ถือว่าดี เรียกว่า อภิชนาธิปไตย

ส่วนที่เลวเรียกว่า คณาธิปไตย ขณะเดียวกัน การปกครองแบบคณาธิปไตยก็ยังแบ่งซอยย่อยตามดีกรีของความเข้มข้นด้วย

เมื่อใช้ตัวแบบการปกครองแบบคณาธิปไตยเข้ามาจับรูปแบบการ ปกครองของไทยเรา ก็พบว่า เป็นคณาธิปไตยเสียมากกว่าที่จะเป็นอภิชนาธิปไตย แต่ก็หาใช่คณาธิปไตยแท้ๆ ไม่ เพราะคนกลุ่มใดที่จะเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองต้องผ่านการเลือกตั้งลงคะแนน เสียงของประชาชน ซึ่งการปกครองแบบเลือกตั้งนี้มีคนตั้งชื่อว่า ประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่จริงๆ แล้วมันคือการผสมผสานระหว่างคณาธิปไตยกับระบบตัวแทนเสียเท่านั้น มิได้เป็นประชาธิปไตยในความเข้าใจของอริสโตเติล

เมื่อรูปแบบการปกครองในปัจจุบันทั้งของไทยและเทศมิได้ เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในสายตาของอริสโตเติลแล้ว ก็หมายไม่ได้ความว่า อริสโตเติลจะตั้งแง่รังเกียจ เพราะจริงๆ แล้วอริสโตเติลไม่ได้คิดว่ารูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยทางตรงอย่างที่ เกิดขึ้นในเอเธนส์เป็นรูปแบบการปกครองที่ดีเด่อะไร

ประชาธิปไตยทางตรงเป็นรูปแบบการปกครองที่ไม่ดีในสาย ตาของอริสโตเติล เป็นหนึ่งในสามแบบที่ไม่ดี นั่นคือ นอกจากประชาธิปไตยแล้ว การปกครองโดยทรราช ซึ่งอำนาจอยู่ในมือของคนคนเดียวและใช้อำนาจนั้นไปเพื่อประโยชน์ของตนเป็น หลัก และการปกครองแบบคณาธิปไตยดังที่กล่าวไปแล้วถือเป็นการปกครองที่เลว ซึ่งไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรมากนัก เพราะมันชัดเจนในตัวของมันเองอยู่แล้ว

ในบรรดาการปกครองที่เลวทั้งสามรูปแบบนี้ อริสโตเติลเทความสนใจให้กับระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะสำหรับอริสโตเติล มันเป็นระบอบที่ดำรงอยู่ในเอเธนส์เป็นเวลาถึงกว่าศตวรรษ และยังได้พัฒนาหลักการและแบบแผนอุดมคติสำคัญขึ้นชุดหนึ่งที่ตัวเขาคิดว่า น่าสนใจวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ในรายละเอียด ซึ่งจะว่าไปแล้ว ตัวเพลโต ซึ่งเป็นอาจารย์ของอริสโตเติลเองก็ให้ความสนใจกับระบอบประชาธิปไตยมากเช่น กัน แม้ว่าเขาจะประเมินว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ไม่ดีก็ตาม

เพราะในหนังสือ the Republic ของเพลโตกล่าวไว้ว่า ระบอบนี้เป็นระบอบที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจผู้คนจำนวนมาก เพราะมันมีความหลากหลายในตัวของมัน เมื่อเทียบกับระบอบอื่นๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจทางการเมืองเหมือนระบอบนี้ ความหลากหลายของประชาธิปไตยเกิดจากการที่พลเมืองแต่ละคนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ เท่าเทียมกัน ทุกคนจึงปกครองตัวเอง และเป็นนายตัวเองกันทุกคน

ถ้าจะกล่าวในสำนวนของนักคิดสมัยใหม่ก็กล่าวได้ว่า "แต่ละคนเป็นกษัตริย์ของตัวเขาเอง" ดังนั้น ใครจะทำอะไร ดำเนินชีวิตไปอย่างไร ก็สามารถทำได้ ใช้เสรีภาพของตนได้ ตราบเท่าที่มันไม่ได้ไปหนักหัวกบาลใคร

เพลโตเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่มีสีสันตระการ ตา เปรียบได้กับผืนผ้าที่มีลวดลายต่างๆ ถักทอด้วยด้ายหลากสี ซึ่งสะท้อนถึงการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันไปตามรสนิยมความพอใจของผู้คน

ด้วยเสน่ห์ดังกล่าวของระบอบประชาธิปไตยทำให้ผู้คนส่วน ใหญ่มักจะพอใจที่จะใช้ชีวิตในสังคมแบบนี้ ประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบที่มีพลัง อันเกิดจากความกระหายที่จะทำอะไรได้อย่างเสรี สร้างชีวิตชีวาให้กับคนที่อาศัยอยู่ในนั้น หลายคนที่เคยเดินทางไปประเทศที่ "มีเสรีภาพและความเท่าเทียมมากกว่า" ประเทศไทย คงจะสัมผัสถึงความรู้สึกที่ว่านี้ได้ ขณะเดียวกัน ก็คงมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่า "สังคมที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคมากกว่า" ดูสับสนวุ่นวาย ไม่มีระเบียบทางสังคม ตัวใครตัวมัน แต่อย่างน้อยสังคมดังกล่าวเขาก็ยังปล่อยให้คนที่ไม่ชอบเสรีภาพและความเสมอ ภาคมากนักอยู่ได้โดยไม่มีปัญหาอะไร

เพราะจะว่าไปแล้ว ประชาธิปไตยเอเธนส์ก็เป็นระบอบการปกครองที่เพาะคนอย่างโสกราติสและเพลโตขึ้น มา อีกทั้ง ก็ยังปล่อยให้โสกราติสใช้ชีวิตอย่างที่เขาต้องการมาเกือบทั้งชีวิตของเขาได้ เพราะถ้าโสกราติสไปเกิดในสังคมเยอรมันช่วงนาซี และคอยตั้งคำถามอะไรต่อมิอะไรอยู่เสมอ เขาคงไม่ได้ใช้ชีวิตแบบนั้นจนแก่หรอก

เช่นเดียวกันกับที่บางคนเคยกล่าวไว้ว่า มหาตมะคานธีสามารถประท้วงขัดขืนต่อผู้ปกครองอังกฤษจนได้ชัยชนะก็เพราะผู้ ปกครองคือผู้ปกครองอังกฤษ เพราะถ้าอินเดียถูกปกครองด้วยคนอย่างฮิตเลอร์ หรือ อีดี้ อามิน แห่งอูกานดาหรือพอลพตที่เขมร ก็ยากที่เขาจะได้กลายเป็นมหาตมคานธีผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดียไปได้

ด้วยเหตุผลบางประการที่กล่าวไปนี้เองที่ทำให้ประชาธิปไตย เป็นที่น่าสนใจของนักคิดนักปรัชญาการเมืองอย่างเพลโตและอริสโตเติล เป็นต้น

ประชาธิปไตยในความเข้าใจของอริสโตเติลคือ การปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ที่ว่านี้คือ "demos" ที่เป็นคำหนึ่งในคำว่า "democracy" นั่นเอง

คำว่า "demos" นี้อาจหมายถึงประชาชนทั้งหมดหรือหมายถึงพลเมืองพวกหนึ่งเท่านั้นก็ได้

พลเมืองที่ว่านี้คือ คนธรรมดาสามัญชาวบ้าน ซึ่งแตกต่างไปจากชนชั้นสูงหรือคนรวย

ดังนั้น ประชาธิปไตยตามเข้าใจของอริสโตเติลคือ การปกครองของคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนธรรมดาเป็นชาวบ้าน และคนส่วนใหญ่ที่ว่านี้ก็มักจะยากจนเสียด้วย เพราะอริสโตเติลเห็นว่า โดยทั่วไปในแทบทุกสังคมในสมัยของเขานั้น คนส่วนใหญ่มักจะยากจนเสมอ ซึ่งก็น่าคิดว่า ข้อสรุปของเขาเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้วนี้ ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ในปัจจุบัน!?

ถ้ายังใช้ได้ ก็ให้น่าสงสัยว่า ทำไมมันถึงยังเป็นเช่นนั้นอยู่?

หลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในความคิดของอริสโตเติล คือ เสรีภาพ ซึ่งแบ่งได้เป็นสองส่วน

ส่วนแรก คือ การมีกำเนิดที่เสรี หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เกิดมาเป็นเสรีชน ไม่ได้เกิดมาเป็นทาส หรือลูกทาส เพราะในสมัยนั้น ยังมีระบบทาสอยู่ การมีกำเนิดเสรีนี้เป็นคุณสมบัติหรือเป็นเกณฑ์สำคัญในระบอบประชาธิปไตย เพราะนั่นหมายถึง การมีสิทธิความเป็นพลเมือง

ส่วนที่สอง คือ เสรีภาพในความหมายของการ "ใช้ชีวิตตามแบบที่ตนชอบ" ซึ่งการสามารถกำหนดเป้าหมาย และรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคนอย่างเสรี ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเลยทีเดียว

ในระบอบประชาธิปไตยที่ว่านี้ มีหลักการความเชื่อที่สำคัญที่เชื่อว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง ที่ตั้งอยู่บนเกณฑ์ของกำเนิดเสรีมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น กับหลักการเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกัน คนที่สนับสนุนระบอบนี้เชื่อใน "การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันทุกคน" ซึ่งความเท่าเทียมกันของคนทุกคนที่เป็นเสรีชนนี้ อริสโตเติลวิจารณ์ว่าเป็น "ความเท่าเทียมกันทางคณิตศาสตร์" หรือ "arithmetic equality" ซึ่งเป็นความเท่าเทียมกันในความหมายเชิงปริมาณ โดยมิได้นำเรื่องคุณภาพหรือคุณสมบัติที่แตกต่างกันของผู้คนมาพิจารณา

แม้ว่าอาจจะมีบางคนโต้แย้งว่า ความเท่าเทียมกันนี้เกิดขึ้นจากการใช้เกณฑ์คุณสมบัติของการเป็นเสรีชน ซึ่งการเป็นเสรีชนนี้เป็นคุณภาพที่แตกต่างจากการเกิดมาเป็นทาส แต่กระนั้น ภายใต้ร่มเงาของการเกิดมาเป็นเสรีชน ก็ใช่ว่า เสรีชนที่ว่านี้ทุกคนจะเป็นคนที่มี "คุณสมบัติอื่นๆ" เหมือนกันหรือเท่ากัน

นอกจากนี้ ความเท่าเทียมแบบคณิตศาสตร์หรือความเท่าเทียมกันในนัยที่ขาดการพิจารณา เรื่องคุณภาพนี้เองได้นำไปสู่ ความเชื่อในความสำคัญยิ่งใหญ่ของ "เสียงข้างมาก" (the supremacy of the majority)

จากการที่พื้นฐานของประชาธิปไตยอยู่ที่การอ้างอิงหลักการ ของเสียงข้างมากในการปกครอง มันจึงเป็นรูปแบบการปกครองโดยเสียงข้างมาก มากกว่าที่จะเป็นการปกครองโดยทุกๆคนอย่างที่กล่าวอ้างหรือชวนเชื่อกัน

และถึงแม้ว่า สิทธิของเสียงข้างน้อยจะไม่ได้ถูกจำกัดปิดกั้นอย่างเป็นทางการ แต่โดยปรกติผลลัพธ์ที่ออกมาจากการให้สิทธิการมีส่วนร่วมแก่เสรีชนทุกคนนั้น มักจะทำให้เกิดการครอบงำโดยกลุ่มเสียงข้างมากหรือมหาชนซึ่งเป็นชาวบ้านที่ ยากจนเสียส่วนใหญ่

การปกครองแบบประชาธิปไตยจะมีปัญหามาก หากสังคมมีความแตกต่างทางฐานะชนชั้นของผู้คนแยกเป็นสองขั้ว เช่น สังคมแบ่งออกเป็นคนรวยและคนจน ซึ่งคนจนก็ย่อมจะมีจำนวนมากกว่าคนรวย เมื่อยึดหลักเสียงข้างมากในการปกครอง คนจนย่อมลงประชามติไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่พวกของตน ย่อมทำให้คนรวยไม่พอใจ จึงเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเสมอ

แต่การปกครองแบบประชาธิปไตยจะมีปัญหาน้อยลง หากสังคมนั้นมีความแตกต่างทางชนชั้นไม่มากนัก และไม่ได้แบ่งออกเป็นสองขั้วที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่ง เช่น สังคมไม่ได้มีเพียงคนรวยกับคนจน แต่ยังมีคนระดับกลางๆ หากคนระดับกลางมีจำนวนที่มากกว่าคนรวยและคนจน เสียงของคนระดับกลางๆ ก็จะเป็นเสียงข้างมากที่กำหนดความเป็นไปในสังคมนั้น

ในความความเข้าใจของอริสโตเติล ประชาธิปไตยที่มีคนชั้นกลางเป็น "demos" เป็นรูปแบบการปกครองที่ดีกว่าประชาธิปไตยที่มีแบ่งเป็นคนรวย-คนจนที่แตกต่าง กันมาก และที่สำคัญ อริสโตเติลไม่เรียกรูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ที่เป็นคน ระดับกลางว่า "democracy" เพราะนั่นเขาสงวนไว้เรียกประชาธิปไตยที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ที่ยาก จนไปแล้ว

ดังนั้น เขาจึงเรียกรูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือคนส่วนใหญ่ที่ดีที่ไม่สุดโต่ง ไปในทางใดทางหนึ่งว่า "polity"

การปกครองในแบบ "โพลีตี" นี้ดีอย่างไร คงต้องดูกันต่อไป!

หน้า 41


ข้อคิดจากอริสโตเติล กับรูปแบบการปกครองในปัจจุบัน

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1393

ในความความเข้าใจของอริสโตเติล ประชาธิปไตยที่มีคนชั้นกลางเป็น "คนส่วนใหญ่" เป็นรูปแบบการปกครองที่ดีกว่าประชาธิปไตยที่ดำเนินไปในสังคมคนส่วนใหญ่เป็น คนจน หรือสังคมที่มีการแบ่งขั้วชนชั้นเป็นคนรวย-คนจนที่แตกต่างกันมาก และที่สำคัญ อริสโตเติลไม่เรียกรูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ที่เป็นคน ชั้นกลางว่า "democracy" เพราะนั่นเขาสงวนไว้เรียกประชาธิปไตยที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ที่ยาก จนเท่านั้น

ดังนั้น เขาจึงเรียกรูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือคนส่วนใหญ่ที่ดีที่ไม่สุดโต่ง ไปในทางใดทางหนึ่งว่า "polity" (โพลีตี้)

ส่วนประชาธิปไตย (democracy) หรือรูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ที่นอกเหนือไปจาก "โพลีตี้" ล้วนแต่แย่กว่าทั้งสิ้น อริสโตเติลแบ่งประชาธิปไตยออกเป็นสี่แบบ ตั้งแต่แบบอ่อนๆ จนถึงแบบสุดโต่ง

ประชาธิปไตยแบบอ่อนๆ หรือในภาษาอังกฤษว่า "moderate democracy" การคัดสรรคนเข้าไปทำงานการเมืองยังพอมีเกณฑ์เรื่องทรัพย์สินอยู่บ้าง ในประชาธิปไตยแบบนี้ อริสโตเติลชี้ว่า เกิดขึ้นในสังคมที่ประชาชนพลเมืองส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวไร่ชาวนามักจะไม่ ค่อยมีเวลามากพอที่จะใช้ไปกับเรื่องราวสาธารณะ คนพวกนี้มักจะพอใจที่จะให้บรรดาผู้ที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ไปตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ หลายๆ เรื่องแทนพวกเขา ซึ่งคนที่ได้รับเลือกเหล่านี้มักจะมาจากชนชั้นสูง การปกครองแบบนี้ดำเนินไปตามข้อกำหนดกฎหมายที่บัญญัติขึ้น

อริสโตเติลมีทัศนะที่ค่อนข้างดีต่อประชาธิปไตยแบบ เกษตรกรรมนี้ แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่เพราะคนส่วนใหญ่ในระบอบนี้---ซึ่งเป็นชาวนาชาวไร่---มีความสามารถใน เรื่องราวทางการเมืองมากกว่าคนที่ทำงานประเภทอื่นๆ แต่เป็นเพราะชาวนาชาวไร่ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในระบอบนี้ ไม่ค่อยจะมีความทะเยอทะยานทางการเมืองและมักจะเป็นพวกที่ว่าง่ายหรือยอมรับ อะไรได้ง่ายกว่าคนอาชีพอื่นๆ

จะว่าไปแล้ว บ้านเราก็มีส่วนคล้ายประชาธิปไตยแบบที่หนึ่งนี้ไม่น้อยเลย!

แบบที่สอง เหมือนกับประชาธิปไตยเกษตรกรรมที่กล่าวไป แต่ต่างกันตรงที่ไม่มีเกณฑ์เรื่องทรัพย์สินสำหรับผู้ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ สาธารณะ สิทธิในการเข้าไปทำงานบ้านงานเมืองเปิดให้กับคนทุกคนที่เป็นพลเมือง นั่นคือ คนที่มีพ่อแม่เป็นคนในรัฐนั้น อย่างไรก็ตาม จากการที่ไม่มีเงินค่าตำแหน่งสำหรับผู้ที่เข้าไปทำงานสาธารณะ ประชาชนพลเมืองจำนวนมากจึงไม่ค่อยจะสนใจไปเสียเวลากับงานบ้านงานเมืองนี้กัน เท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม การปกครองก็ดำเนินไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่วางไว้

และเช่นกัน บ้านเราก็มีบางส่วนในแบบที่สองด้วย

แบบที่สาม ประชาธิปไตยแบบนี้ไม่ได้กำหนดเกณฑ์ของความเป็นพลเมืองไว้เคร่งครัดอย่างสอง แบบที่ผ่านมา สถานะความเป็นพลเมืองในประชาธิปไตยแบบที่สามนี้ อาจจะขยายรวมไปถึงบรรดาเสรีชนอื่นๆ อันได้แก่ คนต่างด้าว หรือบุตรของทาสที่ได้รับอิสระแล้ว เป็นต้น ซึ่งคนพวกนี้จะไม่มีทางได้สถานะพลเมืองในประชาธิปไตยสองแบบแรกที่กล่าวไปเลย อริสโตเติลยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า องค์ประกอบทางสังคมของพลเมืองทั้งมวลในประชาธิปไตยแบบนี้มีลักษณะของความ เป็นชนบทน้อย แต่มีความเป็นเมือง (urban) มากกว่า

ประชาธิปไตยไทยยังห่างไกลจากแบบที่สามนี้ แต่เราจะพบประชาธิปไตยแบบนี้ปรากฏในสังคมตะวันตก เช่น อังกฤษบางยุคบางสมัย และประเทศแถบยุโรปเหนือ ขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยแบบนี้เห็นทีจะอยู่ในจินตนาการของ คุณจอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ด้วย ที่เขาได้เสนอให้ขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆไปสู่คนต่างด้าวหรือคนที่ไม่ได้มี สัญชาติไทย

แบบที่สี่ หรือที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบสุดโต่ง" ประชาธิปไตยแบบนี้ไม่มีข้อจำกัดหรือเกณฑ์ต่างๆ สำหรับความเป็นพลเมือง หรือการมีสิทธิเข้าไปทำหน้าที่สาธารณะ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีการให้เงินค่าชดเชยสำหรับผู้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอีกด้วย ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ทำให้การปกครองและการบริหารงานสาธารณะเป็นไปตามกฎหรือข้อกำหนดที่มาจาก ประชาชนในทุกๆ เรื่อง โดยไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายใดๆ มาตีกรอบการตัดสินใจของประชาชน ขณะเดียวกัน กิจการงานเมืองทั้งหลายก็ถูกกำหนดให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นผลประโยชน์ของคน ส่วนใหญ่ (ซึ่งเป็นคนจน) ทั้งสิ้น

อริสโตเติลเทียบเคียงประชาธิปไตยแบบนี้กับการปกครองแบบ ทรราชสุดโต่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า การปกครองทั้งสองรูปแบบนี้ดำเนินไปโดยเน้นที่ผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างตาม อำเภอใจไม่มีกฎกติกาใดๆ นอกจากนี้ ประชาธิปไตยแบบสุดโต่งนี้ยังมักจะเอียงเอนไปตามกระแสอิทธิพลของ "นักการเมือง" หรือประชาชนบางคนที่มีความสามารถจะโน้มน้าวประชาชนส่วนใหญ่อื่นๆ ในสภาได้ โดยหวังจะมีบทบาทสำคัญในทางการเมือง

คนแบบนี้มักจะไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่แน่นอน แต่ชอบแสดงทัศนะหรือเสนอนโยบายตามการคาดเดาต่อกระแสมวลชนเพื่อแสวงหาความ นิยม คนพวกนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของ "demagogue" ความสัมพันธ์ของคนพวกนี้กับสภาประชาชนก็ไม่ต่างอะไรจากบรรดาพวกสอพลอที่ชอบ เลียทรราช

หลายคนคงคิดว่า ประชาธิปไตยของไทยเราก็มีบรรยากาศแบบสุดโต่งนี้ในบางเวลา บางขณะ!

จริงๆ แล้ว เดิมทีคำว่า "demagogue" นี้ มิได้มีความหมายในทางลบมาก่อน เพราะคำนี้แปลตรงตัวได้ว่า "ผู้พิทักษ์คนส่วนใหญ่" หรือ "ผู้พิทักษ์ประชาชน" แต่พอมีคนชอบอ้างกันมากๆ ว่า "ตนทำหรือเสนอสิ่งต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่" แต่ในความเป็นจริงเพียงหวังคะแนนนิยมหรือผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น เมื่อพวกนี้มีมากๆ เข้า หนักๆ เข้า และทำความเสียหายให้กับสังคม คำว่าความหมายของคำว่า "demagogue" ก็เลยแผลงไปเป็น "พวกประจบสอพลอ หลอกประชาชนเพื่อหวังประโยชน์ส่วนตัวในทางใดทางหนึ่ง"

คงจะคล้ายๆ กับคำว่า "นักการเมือง" ในบ้านเรากระมัง!

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบที่ถือว่าดีได้ ก็ต่อเมื่อ คนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ซึ่งอย่างที่กล่าวข้างต้นว่า อริสโตเติลตั้งชื่อรูปแบบการปกครองแบบนี้ว่า "โพลีตี้" (polity)

จะว่าไปแล้ว นัยความหมายของคำว่า "polity" หมายถึง "ลักษณะรูปแบบการเมือง" หรือถ้าจะแปลให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ "รูปแบบการเมืองการปกครอง" นั่นเอง อริสโตเติลใช้คำว่า "polity" ในสองนัย นั่นคือ รูปแบบการเมืองการปกครอง และ รูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนชั้นกลาง

ในการทำความเข้าใจรูปแบบการปกครองที่มีชื่อว่า "โพลีตี้" นี้ เราจะสังเกตได้ว่า หลักการทั่วไป สถาบันและโครงสร้างในการปกครองรูปแบบนี้มีลักษณะที่ผสมผสานรวมเอาลักษณะของ ประชาธิปไตยและคณาธิปไตยเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ในกิจกรรมทางการเมืองหรือกิจกรรมสาธารณะอย่างการกำหนดนโยบาย อาจจะใช้สภาประชาชน แต่อำนาจของสภาจะต้องมีจำกัด

เช่นเดียวกัน ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บางตำแหน่งควรต้องใช้วิธีการแต่งตั้งตามวิถีคณาธิปไตย บางตำแหน่งก็ใช้การเลือกตั้ง ส่วนบางกลุ่มหรือบางคณะที่มีหน้าที่ในกระบวนการนิติบัญญัติและตุลาการ ก็ให้มาจากทุกชนชั้นในสังคม แต่บางคณะทำงานก็ต้องคัดสรรมาจากบางชนชั้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว อริสโตเติลก็ยังไม่ค่อยจะมีความแน่นอนนักเกี่ยวกับการจัดองค์กรและสถาบันทาง การเมืองการปกครองของรูปแบบการปกครองนี้ อาจเป็นเพราะรูปแบบการปกครองดังกล่าวนี้มีส่วนผสมที่หลากหลายจากการปกครอง แบบคณาธิปไตยและประชาธิปไตย แม้ว่าอริสโตเติลจะยอมรับว่า ในทางทฤษฎี การปกครองแบบ "โพลีตี้" นี้อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยหลากหลายที่มา เพราะมันอาจจะเกิดจากการมีส่วนผสมของอภิชนาธิปไตยก็ได้ด้วย แต่ในทางความเป็นจริง มันเป็นรูปแบบการปกครองที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นจริงได้ยากยิ่ง

เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้ว จากข้อสังเกตของเขา เขาพบว่า มันยากที่จะมีสังคมใดที่คนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว คนส่วนใหญ่ในสังคมโดยทั่วไปมักจะเป็นคนยากจน แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ก็ตาม ข้อสังเกตของอริสโตเติลก็ดูจะยังเป็นจริงอยู่

จะว่าไปแล้ว อริสโตเติลอาจจะคิดรูปแบบการปกครองแบบ "โพลีตี้" นี้ขึ้นมาเพื่อเป็นรูปแบบบริสุทธิ์ในอุดมคติที่ใช้เป็นมาตรวัดความเบี่ยงเบน ของการปกครองแบบคณาธิปไตย อภิชนาธิปไตยและประชาธิปไตยเสียมากกว่าที่เขาคิดว่ามันจะเกิดขึ้นและดำรง อยู่จริงๆ เป็นตัวให้เห็นจับต้องสัมผัสได้

Source: nidambe11.net