ทั้งจากกลุ่มนักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก โดยเกือบทุกเวทีของการประชุมระดับผู้นำ จะต้องปรากฏข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนและถอดบทเรียนจากระบบการเงินที่ล้ม เหลวในการควบคุมตรวจสอบการให้สินเชื่อ การเก็งกำไรและการจัดการความเสี่ยง ถึงขนาดที่ผู้นำประเทศอุตสาหกรรมบางคนถึงกับเรียกร้องให้มีการปฏิวัติทาง ความคิดเกี่ยวกับระบบทุนนิยมอย่างถึงราก ตัวอย่างที่สำคัญ คือ ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส ซึ่งได้ประกาศอย่างท้าทายในระหว่างการประชุม "โลกใหม่, ทุนนิยมใหม่ : คุณค่า การพัฒนาและการกำหนดกฎเกณฑ์ (
ในการประชุมครั้งนี้ ประเด็นเกี่ยวกับทุนนิยม "เก่า" และ "ใหม่" ได้กลายเป็นหัวใจหลักในการสนทนาซึ่งเน้นหนักไปที่ผลกระทบเชิงลบของโลกาภิวัต น์ (อาทิเช่น ความเหลื่อมล้ำและขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ) วิกฤติภาคการเงินซึ่งเป็นผลจากธรรมชาติของระบบทุนนิยมอเมริกัน ที่ถือกำไรระยะสั้นเป็นแรงจูงใจและมีระบบควบคุมตรวจสอบ (governance) การดำเนินธุรกิจที่บกพร่อง อีกทั้งยังมีการยื่นข้อเสนอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับกรอบความคิด เพื่อก้าวออกจากทุนนิยมที่กำลังครอบงำเศรษฐกิจโลกไปสู่ทุนนิยม ที่มี "จริยธรรม" นั่นคือ ระบบเศรษฐกิจซึ่งรัฐและธุรกิจมีจิตสำนึกและรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งเคารพข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม
ในเอกสารกำหนดประเด็นการสนทนา ซึ่งเตรียมโดยสถาบันวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศส (Centre d’analyse stratégique) ยังได้อ้างถึงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เสนอให้นำกลไกเชิงสถาบันที่นอกเหนือจาก กลไกตลาด อาทิเช่น กลไกการรวมกลุ่มต่อรองทางสังคมมาช่วยจัดสรรทรัพยากรและแทรกแซงให้เกิดสังคม ที่เสมอภาคยิ่งขึ้น
แนวทางที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือเพื่อเป็นทางเลือก จึงไม่ใช่แค่แนวนโยบายแบบเคนส์เซียน (Keynesianism) ที่เราคุ้นเคย ซึ่งเสนอเพียงให้รัฐแสดงบทบาทนำในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่านการใช้จ่าย เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือตกต่ำ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เรื่องการพัฒนา โดยเสนอให้นำตัวแปร อาทิเช่น "Capabilities" (ขีดความสามารถ : แปลโดยผู้เขียน) มาใช้เป็นดัชนีวัดทั้งรายได้และความเป็นอยู่ของคนแทนรายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากร
ทั้งนี้ "ขีดความสามารถ (capabilities)" เป็นหนึ่งในตัวแปรที่ได้รับการเสนอจากอมาตยา เซ็น (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลตั้งแต่สิบปีที่แล้ว และได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ จนเป็นที่รู้จักในฐานะกรอบความคิดใหม่ที่เรียกว่า Capabilities Approach อันเป็นตัวสะท้อนความสามารถของบุคคลที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งบุคคลนั้นปรารถนาที่จะทำ หรือจะเป็น (things that a person may value doing or being) โดยครอบคลุมตั้งแต่ความจำเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น ได้บริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ หรือได้อุปโภคเสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่มที่สะอาด ไปจนถึงการทำกิจกรรม/ดำรงสถานะ/อยู่ในสภาวะที่ซับซ้อนมากขึ้น อาทิเช่น มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น
ในบทความล่าสุดของเซ็นเกี่ยวกับระบบทุนนิยมและวิกฤติ ที่ชื่อว่า Capitalism Beyond the Crisis (25 กุมภาพันธ์ 2552, เผยแพร่ใน New York Review of Books, 26 มีนาคม 2552) เซ็นได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า จริงๆ แล้ว สิ่งที่เราต้องการในขณะนี้ คือ ระบบทุนนิยม "ใหม่" ที่มีรูปแบบและวิธีการทำงานแตกต่างไปจากเดิม หรือว่าระบบเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น หลากหลายและเคารพระบบคุณค่าทางสังคมและสถาบันที่แตกต่างกันไปในแต่ละสังคม กันแน่
เซ็น กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจคราวนี้ทำให้เราหวนกลับมาตั้งคำถามเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ที่ เราต้องการ กล่าวคือ วิชาเศรษฐศาสตร์แบบไหนที่เราจะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจ วิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่เราควรทำอันดับแรก คือ ประเมินเศรษฐศาสตร์ที่ถูกสอนและถูกใช้กันอยู่ในปัจจุบันในฐานะคู่มือชี้นำ และกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เขายังพยายามชี้ให้เห็นว่าความเข้าใจที่ไม่แตกฉานในระบบตลาดและแยกแยะไม่ ออกว่ากลไกตลาดนั้น "จำเป็น" หรือ "พอเพียง" ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญซึ่งทำให้เกิดการตีความ "มือที่มองไม่เห็น" ของ อดัม สมิท (Adam Smith) ผิดเพี้ยนไป
สำหรับเซ็นแล้ว อดัม สมิท คือ นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า "ผลประโยชน์ส่วนบุคคล" สามารถทำงานได้อย่างน่าทึ่งเพียงใดในการจัดสรรทรัพยากรและเพิ่มความมั่งคั่ง ให้กับสังคมส่วนรวม และที่สำคัญ สมิทสนับสนุนกลไกตลาดในบริบทของสังคมเศรษฐกิจช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งการค้าเสรีโดยเอกชน ที่ปราศจากการแทรกแซงจากรัฐ ได้ก่อให้เกิดผลได้ในแง่ของการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชากร ลดความยากจนและความอดอยากลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ตาม พวกที่บูชาตลาดอย่างสุดโต่ง (market fundamentalists) มักจะกล่าวอ้าง "มือที่มองไม่เห็น" ของสมิทอย่างพร่ำเพรื่อ
นอกจากนี้ สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ยุคหลังมักไม่ค่อยตระหนักเกี่ยวกับงานของอดัม สมิท คือ สมิทเห็นว่าตลาดและกลไกตลาดสามารถทำงานได้ดีก็เพียงในปริมณฑลทางเศรษฐกิจ เท่านั้น แต่สังคมที่พึงปรารถนายังคงต้องการการสนับสนุนจากสถาบันอื่น อาทิเช่น บริการสาธารณะ โรงเรียน ฯลฯ นอกจากนี้ ในงานเขียนหลายชิ้นของเขา สมิทได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าอื่นๆ ที่ไม่ใช่กำไร ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรมและมนุษยธรรม
การอธิบายความคิดและความเชื่อของอดัม สมิท ในบทความของเซ็น ทำให้เราเห็นว่าเศรษฐศาสตร์นั้นไม่ได้ขาดแคลนองค์ความรู้เกี่ยวกับทุนนิยม แม้แต่น้อย นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ยุคของอดัม สมิท ก็ได้เตือนให้เราตระหนักถึงข้อจำกัดของกลไกตลาดและระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพา เพียงกลไกตลาดโดยลำพังมาเป็นเวลานานแล้ว
การพิจารณาถึง "โลกใหม่ ทุนนิยมใหม่" อาจไม่สำคัญเท่าไรนัก หากเราสามารถเข้าใจโลก "เก่า" ที่เรายืนอยู่ได้อย่างดีเพียงพอ คำถามที่ผมอยากจะเสนอให้เราพิจารณาดู ก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ว่าวิกฤติที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ อาจมีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาเรื่อง "ความรู้ความเข้าใจ" ของเราต่อวิธีการทำงานของระบบทุนนิยมมากกว่าส่วนที่มาจาก ความบกพร่องที่เกิดขึ้นจากตัวระบบเอง
สุดท้ายแล้ว เราอาจตกใจระคนทึ่งหากได้ค้นพบว่าเราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับ "โลกเก่า ทุนนิยมเก่า" คลาดเคลื่อนไปมากแค่ไหน !
Tags : ระบบทุนนิยม • ทุนนิยมใหม่ • เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
Source: bangkokbiznews.com