อาการท้องเสีย

วัชรีย์ อยู่เจริญ

พยาบาลชำนาญการ 8

ท้องเสีย หมายถึง ภาวะที่ผู้ป่วยถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวมากกว่าวันละ 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดเพียงครั้งเดียว อย่างไรก็ตามความหมายของท้องเสียที่ระบุโดยจำนวนครั้งของการถ่ายอาจแตกต่างไปจากนี้ในผู้ป่วยบางราย โดยขึ้นอยู่กับลักษณะและความถี่ของการขับถ่ายในสภาวะปกติของ แต่ละคน
ท้องเสียแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประเภทแรก คือ อาการท้องเสียเนื่องจากได้รับสารพิษจากเชื้อ ประเภทที่สอง คือ การท้องเสียเนื่องจากการติดเชื้อ ส่วนการท้องเสียประเภทสุดท้าย ได้แก่ ท้องเสียธรรมดาไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อหรือสารพิษจากเชื้อ อาการท้องเสียทั้งสามประเภทนี้จะมีลักษณะอาการ วิธีการรักษาและการปฏิบัติตนที่แตกต่างกันซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรจะทราบ เนื่องจากถ้าปฏิบัติตนไม่ถูกต้องแล้วอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ถ้าเป็นการท้องเสียจากการได้รับสารพิษจากเชื้อ มักจะเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษที่มาจากเชื้อโรคเข้าไป ผู้ป่วยมักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนและถ่ายเหลวหลังจากรับประทานอาหารประมาณ 2-4 ชั่วโมง เรียกว่ากินเข้าไปไม่นานก็มีอาการแล้ว แต่มักจะไม่มีไข้ สำหรับการท้องเสียเนื่องจากการติดเชื้อนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ร่วมกับการถ่ายเหลว ซึ่งลักษณะของอุจจาระจะแปลกไปจากท้องเสียทั่วไป เช่น ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด บางรายอุจจาระจะคล้ายน้ำซาวข้าวและถ่ายพุ่ง หรือบางรายอาจถ่ายออกมามีกลิ่นเหม็นผิดปกติ เช่น เหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า เป็นต้น แต่ถ้ามีอาการท้องเสียเพียงแค่ถ่ายเป็นน้ำ ไม่มีอาการดังที่กล่าวไว้ในการท้องเสียสองประเภทแรกก็จะเป็นการท้องเสียธรรมดา
อันตรายจากท้องเสียคือ การที่ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่ ดังนั้นการรักษาที่สำคัญและจำเป็นที่สุดคือ การได้รับน้ำและเกลือแร่ทดแทน ซึ่งอาจได้จากการดื่มน้ำเกลือแร่ ORS ซึ่งหาซื้อได้จากร้านยา ดื่มโดยจิบทีละน้อยและบ่อยๆ หรืออาจจะผสมเองโดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะและเกลือป่น 1 ช้อนชาผสมกับน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วประมาณ 1 ขวดแม่โขงกลมแทนก็ได้ และในช่วงที่มีอาการท้องเสียควรรับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ไม่ควรงดรับประทานอาหาร เพราะจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
สำหรับยาที่ช่วยให้หยุดถ่ายหรือที่มักจะเรียกกันว่ายาแก้ท้องเสีย เช่น diphenoxylate loperamide (IMMODIUM )สามารถใช้ได้เฉพาะผู้ที่ท้องเสียธรรมดาเท่านั้น ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเกิดอาการท้องเสียเนื่องจากติดเชื้อหรือได้รับสารพิษจากเชื้อ เนื่องจากยาที่ทำให้หยุดถ่ายจะทำให้ลำไส้บีบตัวได้น้อยลงทำให้ความถี่ของการถ่ายลดลงและผู้ป่วยอาจคิดว่าอาการดีขึ้น แต่ความจริงแล้วเชื้อหรือสารพิษจากเชื้อจะอยู่ในร่างกายได้นานขึ้นจึงทำให้หายจากอาการท้องเสียได้ช้าลง ดังนั้นหากสงสัยว่าท้องเสียแบบติดเชื้อหรือได้รับสารพิษจากเชื้อควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อจะได้รับยาฆ่าเชื้อหรือยาดูดซับสารพิษที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม หากเด็กเล็กๆ หรือผู้สูงอายุเกิดอาการท้องเสียและได้ทำการรักษาเบื้องต้นไปแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น ควรนำส่งแพทย์โดยเร็วและถ้าผู้ป่วยยังรู้สึกตัวและรับประทานได้ควรให้ดื่มน้ำเกลือแร่ในระหว่างทางด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดน้ำอย่างรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)

สาเหตุ

โรคอาหารเป็นพิษมักพบการเจ็บป่วยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ภายหลังจากการรับประทานอาหาร เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น Salmonella, Staphylococcus aureus, Vibrio parahaemolyticus, Clostridium perfringens, bacillus cereus, Botulinum ฯลฯ เชื้อรา เห็ดมีพิษ หรือสารเคมีต่างๆ การติดต่อโดย ทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ไข่เป็ด ไข่ไก่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ นอกจากนี้อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ ถ้าไม่ได้อุ่นให้ร้อนพอก่อนรับประทานก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้

อาการ

อาการสำคัญคือ อุจจาระร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องเนื่องจากเชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้ นอกจากนี้อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว รายที่ท้องเสียมากจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่ได้ และบางรายอาจมีอาการรุนแรง เนื่องจากมีการติดเชื้อและเกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ข้อและกระดูก ถุงน้ำดี กล้ามเนื้อ หัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตจะทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ

การรักษา

1. ในระยะเริ่มแรกที่มีอาการอุจจาระร่วง ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลว เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ เช่น น้ำข้าว (ใส่เกลือ 2 หยิบมือ) น้ำแกงจืด น้ำผลไม้ โจ๊ก หรือข้าวต้ม และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ทุกครั้งที่ถ่ายเหลว

2. ไม่ต้องงดอาหารในระหว่างท้องร่วง ให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้มผสมผัก ปลา เนื้อสัตว์ต้มเปื่อย

3. การรักษาดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น ยังคงถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก อาเจียนบ่อย กระหายน้ำมาก ตาลึกโหล กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ มีไข้ ถ่ายเป็นมูกมีเลือดปน ให้นำผู้ป่วยไปตรวจรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านต่อไป

4. ไม่จำเป็นต้องกินยาหยุดถ่าย เพราะภาวะอุจจาระร่วงส่วนใหญ่จะหายได้เองและการถ่ายอุจจาระเป็นกลไกของร่างกายที่จะขับของเสีย สารพิษ และเชื้อโรคออกจากร่างกาย การกินยาหยุดถ่ายไม่ได้ทำให้ร่างกายลดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ภายในลำไส้ และยังอาจรบกวนประสิทธิผลของยาปฏิชีวนะในรายที่มีการติดเชื้อลำไส้อักเสบ

5. การใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ และควรใช้เฉพาะในรายที่เป็นบิด ถ่ายเป็นมูกหรือมีเลือดปน และในรายที่เป็นอุจจาระร่วงอย่างแรง หรือมีอาการอื่นแทรกซ้อน การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นอาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้ยาหรือดื้อยาได้