จับเข่าคุยซีอีโอกสิกรไทย "บัณฑูร ล่ำซำ" ผู้พิสมัยในศาสตร์ "ฮวงจุ้ย"
จับเข่าคุยซีอีโอใหญ่กสิกรไทย "บัณฑูร ล่ำซำ" ผู้หลงไหลในศาสตร์แห่งฮวงจุ้ย เผยพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แต่แบงก์กสิกรไทยก็รอดวิกฤตศก.มาได้ และไม่ใช่แค่ฮวงจุ้ย ลายเซ็นก็มีส่วน ระบุบางเคสต้องบินไปจีน ทั้งไปขอประธานเหมา (เจ๋อตุง) บินไปถึงซีอาน ไปยืนเทเหล้าถวายจิ๋นซี ฮ่องเต้ก็ทำมาแล้ว !!
หากเอ่ยถึงนายธนาคารที่สนใจในศาสตร์ฮวงจุ้ย คงเป็นใครไม่ได้เลย นอกจากซีอีโอใหญ่แห่งธนาคารกสิกรไทย "บัณฑูร ล่ำซำ" ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า "อะไรเป็นที่มา-ที่ไป" ที่ทำให้บัณฑูรสนใจศาสตร์ด้านนี้ ขนาด ทุ่มทุนปรับทุกอย่างตามที่ซินแสแนะนำ
"ผม เชื่อว่ามนุษย์ต้องทำกรรมดี ถึงจะออกมาดี แต่ระหว่างทางมีเทวดาช่วย ก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่ก็ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง เทวดาถึงจะช่วย" นั่นคือคำตอบ เมื่อถูกถามว่า ทำไมถึงได้เชื่อและชื่นชอบในศาสตร์ฮวงจุ้ย ?
บัณฑูร เล่าให้ฟังเมื่อคราวพบกันล่าสุด จำไม่ได้ชัดเจนว่า อาจารย์ที่ปรึกษาด้าน ฮวงจุ้ยคนแรกเข้ามาในชีวิตเมื่อไหร่ และใครเป็นคนแนะนำเข้ามา จำได้แค่ว่า เข้ามาหลังสร้างตึกสำนักงานใหญ่ที่ราษฎร์บูรณะเรียบร้อยแล้ว ที่นี่ไม่ได้มีการสร้างตามหลักฮวงจุ้ยที่ถูกต้อง ซึ่งบัณฑูรพูดติดตลกว่า ถ้าอาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านฮวงจุ้ยคนแรก เข้ามาเร็วกว่านี้ จะไม่สร้างตึกแบบที่เห็นอยู่
ถาม ว่า จัดฮวงจุ้ยแล้วได้ผลไหม มันพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้หรอกว่า ผลมันออกมาอย่างนี้ เพราะฉันไปทำอย่างนี้มา แต่ของแบงก์ที่เห็น ก็คือมันรอดมาได้ และบางอย่าง จัดแล้วมันดูดี ดูแล้วสบายใจ มันก็มีประเด็นบางอันต้องระวัง เช่น ห้ามเจอเสา เรื่องนี้ใหญ่มาก อย่างประตูหน้าแบงก์ เปิดเข้ามาก็เจอตอม่อสะพานเลย อาจารย์สง่าแกก็เจาะพื้นฝังอะไรของแกลงไปให้เป็นพลังสู้เข้าไป เพราะเราเปลี่ยนทางเข้าไม่ได้ เปลี่ยนตอม่อไม่ได้ ทางเข้าจากเดิมเป็นสิงโต แกก็ให้เปลี่ยนเอาช้างมาวางแทนแล้วก็พออยู่ได้
สำหรับ โครงสร้างตึกราษฎร์บูรณะที่ผิดหลักฮวงจุ้ยอีกจุดหนึ่ง คือด้านบนตัวตึกที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนทำมุมลาดลงด้านล่าง ซึ่งเป็นที่มาของ "ความรั่วไหล" จึงแก้โครงสร้างใหม่ บล็อกไม่ให้รั่วไหลโดยต่อเติมตัวตึกขึ้นใหม่ เพื่อลบมุมที่ลาดลง
"เหลือ ไว้เฉพาะส่วนที่เป็นโลโก้แบงก์ ใช้ไฟตีขอบส่วนที่ต่อเติมขึ้นมาด้วย ยิ่งกลางคืนจะยิ่งเห็นชัดเลยนะ ต่อไปนี้ ละครที่ชอบมาถ่ายตึกแบงก์เป็นฉากหลัง จะยิ่งเห็นโลโก้แบงก์ชัดเลย วันที่ 12 ม.ค.นี้จะเปิดต้อนรับผู้สื่อข่าว มาดูกันแล้วจะเห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีมาก"
นอกจากแก้ฮวงจุ้ย ที่ตึกราษฎร์บูรณะแล้ว บัณฑูรยังพูดถึงฮวงจุ้ยที่อื่นด้วยว่า ในบรรดาสำนักงานใหญ่ 3 แห่ง ฮวงจุ้ยที่ดีที่สุด คือตึกพหลโยธิน เป็นตึกที่ดี โดยไม่ได้วางฮวงจุ้ย แต่ตึกที่แจ้งวัฒนะ เป็นตึกเก่าที่ซื้อมาปรับปรุง ซึ่งก็เอาซินแสมาดู ฮวงจุ้ยตั้งแต่แรก และโชคดีที่ไม่ใช่ตึกที่อยู่ตรงข้ามกระทรวงกลาโหม ซึ่งถ้าเลือกตึกข้าง ๆ ที่อยู่ตรงข้ามปืนใหญ่ รับรอง เจ๊ง !
บัณฑูรยังเล่าถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้รับการแนะนำจากซินแสให้แก้ไขอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลายเซ็น ที่อาจารย์เม้ง (ชุณวัชร์ ลาภานุพัฒน์) เห็นแล้วก็ทักว่า ถ้ายังเซ็นแบบเดิมต่อไปจะต้องตาย เพราะมันแสดงให้เห็นว่า ความกดดันมันลงมาที่ตัวเองคนเดียว จึงเปลี่ยนลายเซ็นตามคำแนะนำ อีกอันหนึ่งคือโลโก้ธนาคาร ที่แต่เดิมมีแต่ต้นข้าว ก็เปลี่ยนใส่วงกลมสีแดง ซึ่งอาจารย์เม้งเป็นคนเติมให้ เพื่อให้เป็นเกราะป้องกัน ส่วนคลื่นน้ำด้านล่าง ก็เติมเข้าไปหล่อเลี้ยงองค์กร
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าสนุก ๆ ที่ขนาดเจ้าตัวมาเล่าต่อแล้วยังขำเอง เพราะไม่ใช่เฉพาะเรื่องฮวงจุ้ยเท่านั้น อาจารย์บางคนแนะนำให้ไปขอเทวดาที่นั่นที่นี่ด้วย ล่าสุด ขออนุญาตเพื่อเปิดสาขาเสิ่นเจิ้น ประเทศจีน ก็มีคนแนะนำให้ไปขอประธานเหมา (เจ๋อตุง) แต่ทางการจีนก็ยังไม่อนุญาต อาจารย์จึงแนะนำใหม่ว่า ต้องไปขอสุสานจิ๋นซี ฮ่องเต้ ก็บินไปถึงซีอาน ไปยืนเทเหล้าถวายจิ๋นซีฯ เทไปก็กลัวคนอื่นจะเห็น และเจ้าหน้าที่มาว่า ก็เทไปให้ลูกน้องบังไป
หลังจากปรับทุกอย่างให้ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ยหมดแล้ว เขาก็พูดติดตลกให้ ผู้บริหารหนาวเล่น ๆ ด้วยว่า "ผมบอกทีมงานของผมว่า เรื่องฮวงจุ้ย ซีอีโอแก้ให้หมด แล้วนะ ถ้ายังออกมาห่วยอีก ก็ฝีมือพวกคุณแล้วนะ ออกมาเสีย ก็พวกคุณทั้งนั้นนะ"
มา ถึงตรงนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาผู้นี้แหละ คือผู้นำเทรนด์ให้ฮวงจุ้ย เป็นที่สนใจในบ้านเรา เพราะว่าก่อนหน้านี้ ศาสตร์ ด้านนี้แทบจะไม่เป็นที่รู้จักกันเลย และอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์นี้ เขากำลังจะสร้างความสงสัยเล็ก ๆ ให้กับบรรดาพนักงานธนาคารกสิกรไทย ด้วยการปักป้ายอุทานธรรมที่ว่า "อะไรก็กู" ไว้ในสวนของสำนักงานใหญ่ทั้ง 3 แห่ง
เมื่อถามว่า ทำไมต้องเป็นคำนี้ บัณฑูรบอกเพียงว่า เหมือนคำอุทานธรรมที่ต้องมีการตีความ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าต้องการบอกว่า "เพราะชีวิตที่ผ่านมามันเป็นแบบนี้ ภาวะมันเป็นอย่างนั้น"
ฟัง "บัณฑูร"เล่าเรื่องทั้งหมดแล้ว ชวนให้คิดได้ว่า ผู้บริหารระดับซีอีโอนี่ จะสนใจเฉพาะเรื่องบริหารงานอย่างเดียว คงไม่ได้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์