เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
(หมายเหตุ คัดบางส่วนมาจาก นิตยสารสารคดี ฉ. 269 กรกฎาคม 2550)
ถ่ายที่ทำเนียบท่าช้างในปี ๒๕๔๔ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๖๐ ปีขบวนการเสรีไทย (ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์) |
ทายาทท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยารัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ ๘ มีอาการทางโรคหัวใจ จึงได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ต่อมาในค่ำวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันปรีดี พนมยงค์ อาการของท่านผู้หญิงได้ทรุดหนักลงโดยลำดับ กระทั่งได้ถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบ เมื่อเวลา ๐๒.๐๐ น. ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริอายุ ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน
ทั้งนี้ทายาทของท่านผู้หญิง ขอขอบคุณคณะแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ได้พยายามดูแลรักษาจนสุดความสามารถอย่างดียิ่งทุกประการ
ในการจัดพิธีศพท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทายาทจะปฏิบัติตาม “คำสั่งถึงลูก” ที่ท่านผู้หญิงได้เขียนไว้ด้วยลายมือ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑ ความว่า
คำสั่งถึงลูก ๆ ทุกคน
เมื่อแม่สิ้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑) นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแน่แล้ว
๒) ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น
๓) ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ
๔) ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน
๕) มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรสำหรับหนังสือที่ระลึก
๖) ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้หรือเงินช่วยทำบุญ
๗) เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย
๘) ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสถานที่ที่แม่เกิด
๙) หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทานแก่มูลนิธิต่าง ๆ ที่ทำสาธารณกุศล
๑๐) ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูก ๆ ที่ปฏิบัติตามคำสั่งแม่จงมีความสุขความเจริญ
พูนศุข พนมยงค์
ในชีวิตของลูกผู้หญิงคนหนึ่ง ผ่านทั้งความสุข ความทุกข์ยาก การถูกใส่ร้ายป้ายสีต่าง ๆ นานา และมรสุมชีวิตที่โถมกระหน่ำครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ยังยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งร้ายรอบตัวได้อย่างเด็ดเดี่ยว มีสติมั่นคง และรักษาตัวเองให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรีได้ตลอดชีวิต หญิงผู้นั้นนาม พูนศุข พนมยงค์
พูนศุข พนมยงค์ เป็นลูกพระยา เกิดในตระกูลชนชั้นสูงในสังคม แต่งงานกับนายปรีดี พนมยงค์ ลูกชาวนา ดอกเตอร์หนุ่มจากฝรั่งเศสซึ่งภายหลังกลายมาเป็นผู้ก่อการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เป็นภรรยารัฐมนตรี ภรรยาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ภรรยานายกรัฐมนตรี เป็นท่านผู้หญิงอายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง ๒๘ ปี สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ต่อสู้ลับ ๆ กับกองทัพญี่ปุ่น ช่วยให้ประเทศไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจ แต่ภายหลังสามีถูกใส่ร้ายว่ามีส่วนพัวพันในกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ ถูกทหารยิงปืนกลกราดเข้ามาในบ้านเมื่อเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐ ต่อมาถูกจองจำในข้อหากบฏ ลูกชายถูกจับติดคุก จนกระทั่งต้องหนีตามสามีลี้ภัยไปอยู่ต่างแดนด้วยความขมขื่นใจ สุดท้ายกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในเมืองไทยด้วยความสงบ ให้อภัยกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต ดำรงตนเป็นแบบอย่างให้แก่ชนรุ่นหลังได้กราบไหว้ด้วยความสนิทใจ แม้กระทั่งคำสั่งเสียในวาระสุดท้ายของชีวิต
“ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น”
พูนศุข วัย ๑๓ ปี เมื่อครั้งเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์
วัยเด็ก
“ดิฉันเริ่มเข้าโรงเรียนเมื่ออายุได้ราว ๖ ขวบ คุณพ่อได้เลือกให้ดิฉันไปเรียนโรงเรียนฝรั่ง คือ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ย่านถนนสีลม ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นโรงเรียนฝรั่งที่โก้มากและแพง เพื่อนร่วมชั้นของดิฉันมีคุณหญิงแร่ม พรหมโมบล คุณหญิงละไม หงส์ยนต์ คุณเจริญ ชูพันธุ์ ม.ล. ต่อ กฤดากร...”
พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ เป็นบุตรคนที่ ๓ ของคุณหญิงเพ็ง (สุวรรณศร) และพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสมุทรปราการ เกิดในจวนเจ้าเมือง เมื่อวันอังคารขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน ร.ศ. ๑๓๐ เวลา ๗ นาฬิกา ๒๐ นาที ตรงกับวันที่ ๒ มกราคม ปฏิทินขณะนั้นเป็น พ.ศ. ๒๔๕๔ (ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๓ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศพระบรมราชโองการใช้วันที่ ๑ มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่แทนวันที่ ๑ เมษายนที่เคยใช้มาแต่เดิม ทำให้วันที่ ๒ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ เปลี่ยนเป็น พ.ศ. ๒๔๕๕)
พออายุได้ ๔ เดือนเศษ บิดามารดาได้ขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) ในรัชกาลที่ ๖ เพื่อขอรับพระราชทานนามบุตรี ซึ่งต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “พูนศุข”
เมื่อ ด.ญ. พูนศุขอายุได้ ๔ ขวบ บิดาได้ย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกของสยามประเทศ มีบ้านพักอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาที่คลองสาน พอย่างเข้า ๖ ขวบ ก็ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ซึ่งก่อตั้งโดยคณะนักบวชคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจากประเทศฝรั่งเศส
“ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ เน้นด้านภาษา อย่างข้าพเจ้าเรียนแผนกภาษาอังกฤษ การเรียนการสอนทุกวิชาในห้องเรียน แม้แต่วิชาคณิตศาสตร์ก็สอนเป็นภาษาอังกฤษ นอกห้องเรียนนักเรียนก็ต้องพูดภาษาอังกฤษกัน... โรงเรียนสอนให้ข้าพเจ้าซื่อสัตย์ มีวินัย มีมารยาทในสังคม มีวิชาความรู้ ทำให้ข้าพเจ้าทำหน้าที่ภรรยาของนักการเมืองและแม่ของลูกได้อย่างมีความอดทน เชื่อมั่นและไม่ท้อแท้”
ความสัมพันธ์ระหว่างพูนศุขกับโรงเรียนแห่งนี้ดำเนินต่อมาอีกยาวนาน ลูกสาว ๓ คน คือ สุดา ดุษฎี และวาณีก็เรียนที่นี่ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ เป็นศัตรูกับสัมพันธมิตร นักบวชชาวฝรั่งเศสในเมืองไทยถูกจับกุมคุมขัง บางคนถูกขับไล่ออกนอกประเทศ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เวลานั้นก็ได้ช่วยเหลือคณะนักบวชเหล่านี้มาโดย ตลอด จนเมื่อนายปรีดีประสบภัยทางการเมืองในเวลาต่อมา บรรดานักบวชแม่ชีในโรงเรียนก็ได้ดูแลลูก ๆ ของท่านเป็นอย่างดี
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ พูนศุข พนมยงค์ ได้รับเลือกจากสมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้เป็นศิษย์เซนต์โยเซฟตัวอย่าง สาขาการเมือง
ช่วงเวลาที่ศึกษาอยู่นี้ คุณพ่อคุณแม่ได้ย้ายบ้านมาอยู่ถนนสีลม พูนศุขเคยเล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่า วัยเด็กท่านมีความเป็นอยู่แบบผู้มีอันจะกิน เรียกได้ว่าเป็นคุณหนู ใช้ชีวิตค่อนข้างหรูหรา มีคนรับใช้ใกล้ชิด เพราะมีพ่อเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ บ้านที่ถนนสีลมก็ได้ช่างชาวอิตาลีออกแบบ เกิดมาจำความได้ที่บ้านก็มีส้วมชักโครกใช้แล้ว ซึ่งสยามในเวลานั้นมีส้วมชักโครกนับชิ้นได้
และในช่วงเวลานี้เธอก็ได้พบกับชายคนหนึ่งชื่อ ปรีดี พนมยงค์ เป็นลูกชาวนา พ่อชื่อนายเสียง แม่ชื่อนางลูกจันทน์ พนมยงค์ จนเมื่อเรียนจบชั้น Standard 7 ก็ได้ลาออกจากโรงเรียนมาแต่งงานกับชายผู้นี้ พูนศุขเคยเล่าให้ฟังว่า
“เป็นญาติห่าง ๆ กัน นายปรีดีแก่กว่าฉัน ๑๑ ปี พ่อของฉันและพ่อของนายปรีดีเป็นญาติกัน จึงฝากฝังบุตรชายให้มาเรียนกฎหมายในกรุงเทพฯ นายปรีดีนี่มาอยู่ที่บ้าน จึงรู้จักกันตั้งแต่ฉันอายุเก้าขวบ พอเรียนจบได้เป็นเนติบัณฑิต แล้วก็ได้ทุนไปเรียนต่อทางกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาเจ็ดปี พอนายปรีดีกลับมาฉันอายุ ๑๖ ปี นายปรีดีกลับมาถึงเมืองไทยวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๐ กว่าจะแต่งงานก็เดือนพฤศจิกายน ๒๔๗๑ ตอนที่นายปรีดีพาพ่อจากอยุธยามาขอหมั้น ฉันยังไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ตามปรกติ... เมื่อนายปรีดีมาสู่ขอ คุณพ่อฉันก็ยอมและไม่ได้เรียกร้องอะไรนอกจากแหวนเพชรวงหนึ่ง
“สมัยนั้นดอกเตอร์มีไม่กี่คน ผู้ที่มารดน้ำในงานแต่งงานบางท่านก็อวยพรว่า จะโชคดีมีโอกาสเป็นเสนาบดีแน่นอน ตอนนั้นนายปรีดีเพิ่งได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เราแต่งงานวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๑ เราหมั้นกันก่อนประมาณหกเดือน เพราะต้องรอเรือนหอที่คุณพ่อคุณแม่สร้างให้เป็นของขวัญ ซึ่งอยู่ในบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม เวลานี้โดนรื้อกลายเป็นถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ตรงหัวมุมถนนสีลมตัดกับถนนสายใหม่นั่นแหละ พอเรือนหอสร้างเสร็จเราก็แต่งงาน”
พิธีแต่งงานจัดขึ้นที่บ้านป้อมเพชร์ ฝ่ายเจ้าสาวสวมเสื้อสีชานอ้อย นุ่งซิ่นสีเดียวกัน ฝ่ายเจ้าบ่าวแต่งชุดราชปะแตน นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน คอยรับแขกผู้ใหญ่ที่ไปร่วมงาน โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นผู้สวมมงคลและเจิมหน้าผากร่วมกับท่านผู้หญิงยมราช (ตลับ สุขุม สกุลเดิม ณ ป้อมเพชร์) และหลวงวิจิตรวาทการได้แต่งโคลงบทหนึ่งมอบเป็นของขวัญ มีเนื้อความว่า
พูน เพิ่มเฉลิมเกียรติล้ำ ลือนาม
ศุข สบายภัยขาม คลาดพ้น
ปรี ดาอย่ารู้ทราม จิตต์เสน่ห์
ดี จักมียิ่งล้น หากรู้รักกัน
จากนั้นมาหนุ่มสาวคู่นี้ได้ครองรักร่วมกันมายืนยาวถึง ๕๔ ปี จนความตายมาพรากจาก ทั้งคู่เกิดมาเพื่อเป็นเนื้อคู่ของกันและกันโดยแท้ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาโดยตลอด และกาลเวลาได้พิสูจน์ถึงความรัก ความหนักแน่น มั่นคงของผู้เป็นภรรยา แม้ว่าฝ่ายสามีจะโดนมรสุมชีวิตกระหน่ำอย่างหนักหน่วงครั้งแล้วครั้งเล่า
ปรีดีอุ้มลลิตา พูนศุขอุ้มปาล ถ่ายพร้อมกับญาติพี่น้อง ที่หัวหิน เมษายน ๒๔๗๕ |
อภิวัฒน์ ๒๔๗๕
“ชะตากรรม (destiny) ของพูนศุขภายหลังสมรสแล้วนั้น จึงพลอยเป็นไปตามชะตากรรมของปรีดี ส่วนชะตากรรมของปรีดีนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลกรรมแห่งการงานทาง ‘อภิวัฒน์’ ที่รับใช้ประเทศชาติและราษฎรไทย เพื่อที่จะก้าวหน้าไปตามแนวทางแห่งการกู้อิสรภาพของมนุษย์ให้พ้นจากการถูก เบียดเบียน และเพื่อให้ชาติไทยมีเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์”
ปรีดี พนมยงค์
ภายหลังออกเรือนมาเป็นแม่บ้าน พูนศุขได้ใช้เวลาว่างไปเรียนภาษาฝรั่งเศส และช่วยงานตรวจปรู๊ฟหนังสือในโรงพิมพ์นิติสาส์นของนายปรีดี ที่ตั้งขึ้นมาพิมพ์ตำรากฎหมายเป็นรายได้ทางหนึ่ง
“เราแต่งงานตั้งปีครึ่งถึงมีลูก ฉันมีเวลาก็ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสต่อที่สมาคมฝรั่งเศส ถนนสาทร เพื่อนร่วมชั้นที่เรียนด้วยกันที่สมาคมฝรั่งเศสมีอยู่หลายคน เท่าที่จำได้ก็มีคุณจำกัด พลางกูร คุณกนต์ธีร์ ศุภมงคล คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ บางคนมาจากเทพศิรินทร์ บางคนมาจากอัสสัมชัญ”
จนกระทั่งก่อนหน้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นายปรีดีได้บอกภรรยาว่าจะไปอยุธยา แต่ความจริงตัวเขากำลังจะเข้าร่วมก่อการครั้งสำคัญสะเทือนประวัติศาสตร์สยาม พูนศุขเล่าไว้ว่า
“ตอนนั้นอายุ ๒๐ ไม่รู้เรื่องว่าจะเกิดอะไร ก่อนหน้านี้นายปรีดีเคยมาขออนุญาตว่าจะไปบวช ฉันก็ยินดีอนุโมทนา นายปรีดีบอกว่าวันที่ ๒๓ จะไปหาบิดามารดาที่อยุธยาเพื่อขอลาบวช พอวันนั้นนายปรีดีกลับจากทำงานมาถึงบ้าน จากนั้นฉันก็นั่งรถไปส่งพร้อมลูกตัวเล็ก ๆ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ก็ไม่ได้มีอะไรผิดสังเกต ขากลับยังแวะเยี่ยมเพื่อนที่จุฬาฯ นั่นคือเหตุการณ์วันที่ ๒๓ พอตกกลางคืน ลูกคนที่ ๒ ร้องไห้ เวลานั้นมีลูกสองคน คือลลิตาและปาล ลูกปาลส่งเสียงร้องไม่หยุด คุณพ่อคุณแม่ที่อยู่บนตึกใหญ่ท่านก็ให้คนมาถามว่าเป็นอะไร ฉันก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร แต่ตลอดคืนใจคอไม่ดี เป็นห่วงนายปรีดีว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่
“จนเช้ารุ่งขึ้นของวันที่ ๒๔ มิถุนายน จำได้ว่าท้องฟ้ามืดครึ้มมีฝนตกปรอย ๆ ตามปรกติเราจะถ่ายรูปลูก ๆ เป็นระยะ ลูกปาลอายุครบหกเดือนจึงเอามาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ อุ้มลงไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่ตึกใหญ่ของคุณพ่อ พอสักครู่ท่านเจ้าพระยายมราช บ้านอยู่ศาลาแดงที่เป็นดุสิตธานีเวลานี้ ท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นน้าของคุณแม่ ฉันเรียกท่านว่าคุณตา ก็มาที่บ้านป้อมเพชร์ ท่านถามว่ารู้เรื่องมั้ย เกิดเรื่องใหญ่ คนเรือของท่านที่อยู่ใกล้บางขุนพรหมมารายงานท่านว่า ที่วังบางขุนพรหมมีทหารมาจับทูลกระหม่อมชาย”
ย่ำรุ่งของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรอันประกอบด้วยทหารและพลเรือน ๑๑๕ นาย มากกว่าครึ่งอายุน้อยกว่า ๓๐ ปี โดยมีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะราษฎร และนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือน ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบ ประชาธิปไตยอย่างสายฟ้าแลบ ด้วยการลวงทหารจากกรมกองต่าง ๆ ให้มาชุมนุมพร้อมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และถือโอกาสประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองทันที และกำลังอีกส่วนหนึ่งไปเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์มาเป็น ตัวประกัน รวมถึงทูลกระหม่อมชาย หรือสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเวลานั้นทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครแทนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ หัว ที่เสด็จแปรพระราชฐานอยู่ที่วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เช้าวันนั้นนายปรีดีจำเป็นต้องพูดปดกับภรรยาเพื่อรักษาความลับ เขาไม่ได้ไปอยุธยา แต่ไปลอยเรืออยู่ในคลองโอ่งอ่าง แจกแถลงการณ์ “ประกาศคณะราษฎร” ที่พิมพ์จากโรงพิมพ์นิติสาส์นของตัวเอง พูนศุขเล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นให้ฟังว่า
“มีรถทหารและทหารหลายคนมาอยู่ที่หน้าโรงพิมพ์ ฉันชักจะกลัว พอสักครู่คนที่โรงพิมพ์ก็วิ่งหน้าตื่นมาบอกว่า ทหารมาให้พิมพ์ใบปลิว จึงสั่งว่าทหารจะให้พิมพ์อะไรก็ทำให้หมด ตอนหลังจึงรู้ว่ามีการเรียงพิมพ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะทหารมาถึงก็พิมพ์เลย ตอนบ่าย คุณพ่อกับเจ้าคุณที่ไปสืบกลับมา ได้ความว่ามีหัวหน้าชื่อพระยาพหลฯ ทำการจับเจ้านาย แล้วเปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไร
“คืนนั้นนายปรีดีให้คนมาส่งข่าวบอกว่าตอนนี้อยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม กองบัญชาการคณะราษฎร ไม่ได้กลับบ้านเลย ให้ช่วยส่งอาหารไปให้ นับแต่วันนั้นฉันก็ต้องจัดอาหารให้คนนำไปส่งนายปรีดีที่พระที่นั่งอนันต์ฯ จนกระทั่งวันที่ ๓ กรกฎาคม นายปรีดีจึงมีจดหมายมาถึงฉัน ขอโทษที่ไม่ได้เล่าความจริงให้ฟัง เพราะถ้าเล่าให้ฟังเดี๋ยวก็จะทำการไม่สำเร็จ ฉันอายุยังน้อยกลัวว่าจะไม่รักษาความลับ และอีกอย่างหนึ่งที่บ้านก็คุ้นเคยเจ้านายหลายวัง”
ข้อความตอนหนึ่งในจดหมายของปรีดีมีความว่า
“การที่ทำอะไรไปทั้งนี้ก็เพื่อเห็นแก่ชาติและราษฎรเป็นส่วนมาก เห็นว่าเกิดมาครั้งเดียว เมื่อมีโอกาสทำได้ก็ควรทำ ไม่ควรบำเพ็ญตนให้เป็นคนหนักโลก...ขอให้คิดถึงชาติและราษฎรให้มาก ๆ การทั้งหลายฉันได้เริ่มมาแต่ปารีส เมื่อมุ่งทางนี้อยู่แล้วและจะสละเกียรติยศทิ้งเสียอย่างไรได้ การเมืองก็การเมือง การส่วนตัวก็ส่วนตัว”
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา อธิบดีศาลอุทธรณ์ขณะนั้น ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ขณะที่ ปรีดี พนมยงค์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า สมุดปกเหลือง ซึ่งเป็นนโยบายที่ก้าวหน้ามากในสมัยนั้น นายปรีดีได้ร่างเค้าโครงฯ แบบสหกรณ์เต็มรูปแบบ แต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน โดยให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยประจำปี เพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังมีนโยบายจัดเก็บภาษีมรดกและหลักการประกันสังคมในชื่อร่าง พ.ร.บ. “ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร”
“ราษฎรที่เกิดมาย่อมจะได้รับประกันจากรัฐบาล ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็กหรือเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดี ราษฎรจะมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ”
แต่แล้วได้มีกระแสต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจก้าวหน้าฉบับนี้โดยเฉพาะในหมู่ชน ชั้นสูง เพราะกลัวว่าจะมีการยึดทรัพย์คนรวย และไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจซึ่งเจ้าและขุนนางยัง กุมอำนาจอยู่ จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ พระยามโนปกรณ์ฯ ได้ร่วมมือกับทหารบางกลุ่มสั่งปิดสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และได้ออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยกล่าวหาว่านายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ และบีบบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศทันที พร้อมกับภรรยาที่ได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า
“การเดินทางครั้งนี้เป็นการเดินทางไกลครั้งแรกในชีวิต ไม่อาจคาดการณ์ว่า เมื่อใดจึงจะกลับมาอยู่พร้อมหน้า... ข้าพเจ้าฝากลลิตา (อายุ ๓ ขวบ) กับ ปาล (อายุขวบเศษ) ให้อยู่ในความดูแลของคุณแม่ หัวใจของข้าพเจ้าแทบสลายด้วยความเป็นห่วงลูก ข้าพเจ้าจูบลาลูกทั้งสองที่หน้าตึกบ้านป้อมเพชร์”
หกสิบปีต่อมา พ.ร.บ. ประกันสังคมจึงเกิดขึ้นในสังคมไทย ขณะที่กฎหมายมรดกและนโยบายปฏิรูปที่ดิน ยังห่างไกลความเป็นจริง
หลายสิบปีต่อมา ปรีดี พนมยงค์ ได้ปรารภถึงเค้าโครงการเศรษฐกิจแก่ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า “ข้าพเจ้าไม่มีความมุ่งมาดจะทำลายลัทธิคนมีเงิน สิ่งที่ข้าพเจ้าพึงปรารถนาก็คือ เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพของราษฎรเท่านั้น... ลัทธิคอมมิวนิสต์ในกรุงสยามมีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะกล่าวตามความปรารถนาของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีจุดมุ่งไปในทางเดียวกับพรรคเลเบอร์ (พรรคกรรมกร) ในอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง”
ภาพถ่ายปรีดี-พูนศุข และลูกทั้ง ๖ คน เป็นภาพถ่ายครอบครัวภาพแรกและภาพเดียวที่อยู่กันพร้อมหน้า เพราะหลังจากนั้นครอบครัวก็เผชิญมรสุมทางการเมือง และตกอยู่ในสภาพ “บ้านแตกสาแหรกไม่ขาด” |
ในห้วงสงคราม
“ตั้งแต่แต่งงานมา นายปรีดีมอบเงินเดือนให้ฉันหมดเลย เมื่อต้องการอะไรก็ให้ฉันหาให้ คือก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมีรายได้จากโรงพิมพ์ นายปรีดีตั้งโรงพิมพ์นิติสาส์น พิมพ์ นิติสาส์น รายเดือน พิมพ์หนังสือชุด ประชุมกฎหมายไทย เพื่อเผยแพร่ มีคนสั่งจองซื้อมาก และรายได้อีกทางจากค่าสอนที่โรงเรียนกฎหมาย เวลานั้นได้ชั่วโมงละ ๑๐ บาท พอเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เลิกโรงพิมพ์ ยกให้เป็นโรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมทั้งพนักงาน จึงไม่มีรายได้ทางโรงพิมพ์ต่อไปอีก พอเป็นรัฐมนตรีมีรายได้เดือนละ ๑,๕๐๐ บาทก็ให้ฉันอีก บางทีก็ลืมเงินเดือนไว้ที่โต๊ะทำงาน สมัยนั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ต้องเอาไปให้ถึงบ้าน แล้วตอนหลังนายปรีดีก็ไม่รับเงินเดือนเอง ให้เลขาฯ นำเงินมาส่งให้ฉันเลย ตอนรับตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็มีเงิน ประจำตำแหน่ง แต่ไม่เคยเบิกมาใช้ จัดให้เป็นเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน”
๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ พันเอก พระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล และเชิญนายปรีดีกลับประเทศ ต่อมานายปรีดีได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง และเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๗
พูนศุข พนมยงค์ ในวัยเพียง ๒๘ ปี ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นท่านผู้หญิง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๐ กันยายน ๒๔๘๒ พร้อมกับ ละเอียด พิบูลสงคราม ภรรยาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น
แม้ว่าจะได้เป็นท่านผู้หญิงอายุน้อยที่สุดคนหนึ่ง เป็นภรรยารัฐมนตรี ภรรยาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ภรรยานายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา แต่ตลอดชีวิตของท่านยังใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุกประการ ไม่เคยก้าวก่ายงานราชการของสามี ทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน จ่ายกับข้าวเอง เลี้ยงลูกทั้งหกเอง ทำอาหารให้ครอบครัวเยี่ยงชาวบ้านทั่วไปไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ท่านมักพูดกับลูกหลานเสมอว่า หากใครหารูปถ่ายตอนแต่งชุดท่านผู้หญิงได้ จะให้รางวัล แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยมีใครหาพบ เพราะท่านไม่เคยแต่งชุดเหล่านี้เลย
ในปี ๒๔๘๐ สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มตั้งเค้าขึ้นในทวีปยุโรป กองทัพเยอรมนีและอิตาลีประกาศสงครามกับฝรั่งเศสและอังกฤษ ขณะที่ในเอเชีย กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศจีน เมฆหมอกแห่งสงครามปกคลุมไปทั่วโลก ในปี ๒๔๘๓ นายปรีดีผู้มีแนวคิดต่อต้านสงครามจึงได้เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก นิยายอิงประวัติศาสตร์สงครามยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โดยแก่นของเรื่องว่าด้วยสันติภาพ พูนศุขมีหน้าที่ดูแลกองถ่ายภาพยนตร์ ซึ่งยกกองไปถ่ายทำที่เมืองแพร่ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีโอกาสไปฉายที่นิวยอร์ก สิงคโปร์ และกรุงเทพฯ ในปี ๒๔๘๔ ซึ่งปรีดีเคยกล่าวถึงว่า
“ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้นมิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่ง สงครามแต่อย่างใด”
แต่แล้วสงครามก็เดินทางมาถึงเมืองไทย เมื่อเช้ามืดวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐอเมริกา และได้แบ่งกำลังบุกเข้าทางภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศไทยหลายจุด มีการปะทะต่อสู้กับทหาร ตำรวจ และพลเรือนไทยอย่างดุเดือด ขณะที่ในกรุงเทพฯ ก็มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างฉุกเฉิน ซึ่งพูนศุขบันทึกไว้ว่า
“คืนนั้นเวลาประมาณสองยาม ได้มีโทรศัพท์จากวังสวนกุหลาบ เชิญนายปรีดีไปประชุมคณะรัฐมนตรี ในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ในพระนคร ไปราชการต่างจังหวัด พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ซึ่งรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีได้ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ขณะนั้นนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการประชุมคืนนั้น คณะรัฐมนตรีมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งไม่สู้ญี่ปุ่น กับอีกฝ่ายหนึ่งคือนายปรีดี ต้องการสู้เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตย...แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีกลับมาถึงที่ ประชุมในตอนเช้า ได้สั่งให้ผู้ที่ต่อสู้วางอาวุธ อ้างว่าราษฎรได้ตายไปเป็นอันมากและมีมติให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศ ไทย...นายปรีดีเสียใจที่คณะรัฐมนตรียอมจำนนต่อทหารญี่ปุ่น”
หนังสือพิมพ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อญี่ปุ่นยกทัพเข้ามารุกรานประเทศไทย |
การสู้รบของทั้งสองฝ่ายยุติลง กองทัพญี่ปุ่นได้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ แปดวันต่อมา สภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้ง ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แทนเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ผู้ถึงแก่อสัญกรรม ทำให้นายปรีดีพ้นสถานะรัฐมนตรีซึ่งเป็นที่พอใจของฝ่ายญี่ปุ่น ต่อมาในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ปีเดียวกัน รัฐบาลได้ทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น และในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ คือ ญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลีอย่างเต็มที่
นายปรีดีจึงได้รวบรวมบรรดาผู้รักชาติ ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ทำการต่อต้านผู้รุกรานอย่างเงียบ ๆ เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ และติดต่อกับสัมพันธมิตรนอกประเทศ คือสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เพื่อให้รู้ว่าประเทศไทยมีขบวนการใต้ดินที่ต่อสู้กับญี่ปุ่นเพื่อเอกราช ภายใต้ชื่อว่า ขบวนการเสรีไทย โดยนายปรีดีเป็นหัวหน้าเสรีไทย มีรหัสว่า “รูธ” ขบวนการเสรีไทยมีเป้าหมายสูงสุดคือทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับว่า ประชาชนชาวไทยไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม และการประกาศสงครามของรัฐบาลในวันที่ ๒๕ มกราคมนั้นเป็นโมฆะ ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญและยากมาก ดังที่พูนศุขเคยให้สัมภาษณ์ว่า
“เมื่อทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตามจุดต่าง ๆ ในประเทศ ความรู้สึกของฉันก็เหมือนกับคนไทย ๑๔ ล้านคนในขณะนั้น คือเศร้าสลดที่เอกราชของชาติไทยเราถูกย่ำยี โดยปรกติแล้วฉันกับนายปรีดีพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง เรื่องเสรีไทยนายปรีดีก็ไม่ได้ปกปิดฉัน เพราะปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยไม่ใช่เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง หากเป็นหน้าที่รับใช้ชาติของคนไทยทุกคน ต่างกับเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ที่ไม่ได้บอกให้ฉันรู้เลย และฉันก็ไม่ได้ซอกแซกถามในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง”
บรรยากาศในพระนครเวลานั้น ทุกหนแห่งเต็มไปด้วยทหารญี่ปุ่น เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดสลับกับเสียงปืนต่อสู้อากาศยานของ ทหารญี่ปุ่นเป็นประจำ ทำเนียบท่าช้าง ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นบ้านพักผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้กลายเป็นที่ทำงานของขบวนการเสรีไทยอย่างลับ ๆ ส่วนการติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรในต่างประเทศมีเสรีไทยสายอังกฤษและ สายอเมริกาเป็นตัวเชื่อม โดยบางคนลักลอบเข้ามาทางเรือดำน้ำแล้วขึ้นฝั่งแถวเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ บางคนแอบกระโดดร่มเข้ามา อย่างนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทำให้เสรีไทยในประเทศและสัมพันธมิตรนอกประเทศสามารถติดต่อกันได้ พูนศุขเล่าให้ฟังว่า
“ตอนแรกอยู่ที่ทำเนียบท่าช้าง ซึ่งรัฐบาลให้เป็นบ้านพักรับรองของนายปรีดี ผู้สำเร็จราชการฯ ตอนนั้น แต่เราไม่ได้ขุดหลุมหลบภัย ท่าช้างนี่ชั้นล่างอยู่ติดพื้นดิน แล้วก็ชั้นสอง ชั้นสาม ก็เอากระสอบทรายมากองสูงท่วมหัวที่ชั้นล่าง ทำเนียบท่าช้างอยู่ใกล้ ๆ จุดยุทธศาสตร์ เยื้องสถานีรถไฟบางกอกน้อย เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรบินมาทิ้งระเบิดบ่อยมาก เวลานั้นลูก ๆ ก็ยังเล็ก เวลาเครื่องบินมาก็อุ้มลูกจากที่นอนมาหลบที่หลังเนินกระสอบ ก็เลยอพยพไปอยู่อยุธยาสักพักหนึ่ง พอการทิ้งระเบิดค่อยเพลาลงไป ก็กลับมาอยู่กรุงเทพฯ จ้างครูมาสอนลูกเรียนหนังสือ ปรากฏว่าพอถึงปี ๒๔๘๘ ปลายสงคราม เครื่องบินมาทิ้งระเบิดหนักขึ้นอีก ทั้งตอนกลางคืนและกลางวัน ตึกรามบ้านช่องพังจำนวนมาก ต้องวิ่งหนีกัน เด็กเล็กลูกคนอื่นมาเรียนกับลูกเราด้วยก็ไม่ปลอดภัย นายปรีดีก็ทูลเชิญสมเด็จพระพันวัสสาฯ ไปประทับที่พระราชวังบางปะอินเพื่อความปลอดภัย และเราก็อพยพตามไปถวายการรับใช้ด้วย นายปรีดีได้ติดต่อกับสัมพันธมิตร บอกให้ทราบว่าบางปะอินเป็นที่ประทับของเจ้านาย อย่ามาทิ้งระเบิด ไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์ แต่บริเวณทำเนียบท่าช้างยังทิ้งระเบิดกัน นายปรีดียังอยู่ประจำที่นั่น ทิ้งระเบิดริมน้ำ เขื่อนพังทลาย แต่ตัวอาคารใหญ่ไม่เป็นอะไร พอหวอมา ชาวบ้านแถวนั้นเข้ามาหลบในบ้านเต็มไปหมด เพราะว่ามีค่ายเชลยอยู่ที่ธรรมศาสตร์ คิดว่าเครื่องบินคงไม่มาทิ้งระเบิดเชลยศึกซึ่งเป็นพวกเดียวกัน”
ในช่วงเวลานั้นพูนศุขได้ช่วยสามีติดตามสถานการณ์ข่าวสารการสู้รบในสมรภูมิ ต่าง ๆ ทั่วโลกจากการฟังวิทยุ ทั้งที่ทางการห้ามราษฎรฟังวิทยุของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่นายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ มีสิทธิพิเศษใบอนุญาตถึงฟังได้ และคอยอำนวยความสะดวกแก่เสรีไทยที่มาประชุมกันที่ทำเนียบท่าช้าง บางครั้งก็ช่วยเขียนรหัสด้วยลายมือภาษาอังกฤษโดยไม่ใช้พิมพ์ดีด
“ใช้วิธีเขียนเป็นตัวหนังสือ คือฉันเขียนตัวบรรจง จึงช่วยเขียนรหัสด้วยลายมือ เป็นภาษาอังกฤษแบบตัวพิมพ์ใหญ่ก่อนที่จะนำไปเข้าเป็นโค้ดลับเพื่อเป็นการ พรางหลักฐาน เพราะหากถูกจับได้ก็ไม่รู้ว่าเป็นลายมือใคร และตอนนั้นใช้พิมพ์ดีดไม่ได้ หากพวกญี่ปุ่นเขาจับได้ สมัยนั้นมันตรวจกันรู้นี่ว่าเป็นพิมพ์ดีดจากไหน บางครั้งก็เขียนคำสั่งของนายปรีดีที่จะส่งไปต่างประเทศ ส่วนฝ่ายถอดรหัสนั่นมีพวกเสรีไทยสายอังกฤษหรือสายอเมริกาเป็นคนจัดการ”
พูนศุขอธิบายให้ฟัง ทั้งยังเล่าว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งตื่นเต้นที่สุด คือวันหนึ่งนายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เดินทางมาเมืองไทย ตามธรรมเนียมการทูต นายพลโตโจต้องมาลงนามแสดงความเคารพผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ทำเนียบท่า ช้าง
“ช่วงนั้นหน้าสิ่วหน้าขวานมากที่สุดเชียว นายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็มาเซ็นชื่อเยี่ยมที่ทำเนียบของนายปรีดี ผู้สำเร็จราชการฯ แล้วก็เดินเข้ามาที่ศาลาริมน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่พวกเสรีไทยใช้เป็นที่ทำงาน โตโจคงอยากเห็นทัศนียภาพแม่น้ำเจ้าพระยา น่ากลัวเหมือนกัน แต่โชคดีที่พวกญี่ปุ่นคงไม่ระแคะระคาย”
สงครามโลกครั้งที่ ๒ ดำเนินอยู่ ๔ ปีจึงยุติลง เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๘ หลังจากที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ และฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งสาส์นด่วนถึงนายปรีดีให้รีบประกาศว่า การประกาศสงครามของไทยเป็นโมฆะ ดังนั้นในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ปรีดี พนมยงค์ ได้ประกาศสันติภาพขึ้น โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า
“ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ เป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย”
จากคำประกาศสันติภาพและการมีอยู่ของขบวนการเสรีไทย ทำให้ประเทศสัมพันธมิตรยอมรับสถานะเดิมของประเทศไทยที่มีเอกราชและอธิปไตย โดยสมบูรณ์ ไม่ต้องตกเป็นประเทศแพ้สงครามเหมือนญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลี
“ลึก ๆ แล้วฉันดีใจและโล่งใจยิ่งกว่าวันที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้เสียอีก การประกาศสันติภาพเท่ากับเป็นการรับรองสถานะว่าประเทศไทยยังคงดำรงเอกราชและ อธิปไตย” พูนศุขกล่าวไว้เช่นนั้น
เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ได้มีการตั้งศาลอาชญากรสงครามที่กรุงโตเกียว เพื่อไต่สวนคดีบุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดสงครามโลกในภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิก นายปรีดีเป็นคนคัดค้านไม่ยอมส่งจอมพล ป. กับพวกไปให้ศาลอาชญากรสงครามตัดสิน มิเช่นนั้นจอมพล ป. อาจถูกตัดสินประหารชีวิตหรือถูกจองจำเป็นเวลานาน ในฐานะอาชญากรสงครามคนหนึ่ง เรื่องนี้พูนศุขได้อธิบายให้ฟังว่า
“รัฐบาลได้ตั้งศาลอาชญากรสงครามขึ้นในประเทศไทย พิจารณาตัดสินคนไทยด้วยกันเอง ถ้าส่งไปเมืองนอกก็ไม่แน่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นโดนจับหลายคน หลวงวิจิตรฯ เอย ใครต่อใครเอย เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น ฆ่ากันไม่ลงหรอก”
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิ พลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ |
มรสุมชีวิต
“อย่ายิง อย่ายิง ! ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก”
ปลายปี ๒๔๘๘ นายปรีดีได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จ นิวัตพระนครเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม และในโอกาสนี้ได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถวายพระราชอำนาจคืนตามพระราชประเพณี ต่อมาพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายปรีดีเป็นรัฐบุรุษอาวุโส มีหน้าที่ปรึกษาราชการแผ่นดินสืบไป
หลังสงครามสงบลง สันติภาพกลับคืนมา แต่บ้านเมืองยังวุ่นวาย ถูกรุมเร้าทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ภาวะข้าวยากหมากแพงอันเป็นผลพวงจากสงคราม และความไม่มั่นคงทางการเมือง ฝ่ายทหารไม่พอใจรัฐบาลพลเรือนสมัยนั้นที่อำนาจทางการเมืองของตนถูกลดบทบาทลง ขณะที่พรรคการเมืองก็มีการแบ่งขั้วชัดเจน มีความขัดแย้งกันตลอดเวลา
และแล้ววันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ต้องพระแสงปืนสวรรคต พรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ได้ถือโอกาสใส่ร้ายป้ายสี กล่าวหาว่านายปรีดีมีส่วนพัวพันกรณีสวรรคต ถึงกับจ้างคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง”
นายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม และ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ในเวลานั้นนายปรีดีและภรรยาได้เดินทางไปเยือนมิตรประเทศ ๙ ประเทศในเอเชีย ยุโรปและอเมริกาตามคำเชิญ เป็นเวลานาน ๓ เดือน
แม้ว่าเวลานั้น ปรีดี พนมยงค์ จะไม่ได้เป็นผู้นำรัฐบาลไทย แต่ในสายตาของต่างประเทศนายปรีดีกลับเป็นผู้นำที่โดดเด่นและมีบารมีมากที่ สุดคนหนึ่งในเอเชีย โดยเฉพาะบทบาทหัวหน้าเสรีไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงไม่น่าแปลกใจที่ต่างประเทศจะให้การต้อนรับทั้งสองอย่างสมเกียรติ
เยือนกรุงนานกิง พฤศจิกายน ๒๔๘๙ |
เริ่มจากไปเยือนประเทศจีนที่กรุงนานกิง ได้รับการเลี้ยงรับรองจากประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค ต่อเครื่องบินมากรุงมะนิลา ประธานาธิบดีโรซาสแห่งฟิลิปปินส์ให้การต้อนรับ จากนั้นข้ามไปเยือนสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีทรูแมนเปิดทำเนียบขาวต้อนรับอย่างดี แล้วข้ามทะเลไปประเทศอังกฤษ มีโอกาสได้ร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารกลางวันกับพระเจ้ายอร์ชที่ ๖ สมเด็จพระราชินี เจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบธ เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต และลอร์ดหลุยส์ เมาน์ทแบตเตน ผู้บัญชาการสูงสุดของสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ในพระราชวังบักกิงแฮม และที่กรุงปารีส ประธานาธิบดีลิออง บรัม แห่งฝรั่งเศสได้เลี้ยงรับรองที่กระทรวงต่างประเทศ
นอกจากนั้นยังมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระราชชนนีที่ประทับใน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเดินทางต่อไปยังประเทศเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์เป็นประเทศสุดท้าย ก่อนจะนั่งเครื่องบินกลับประเทศไทย มาแลนดิงลงแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือคลองเตย และได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามจากพี่น้องชาวไทย
ประชาชนจำนวนมากมารอรับนายปรีดี พนมยงค์ ที่ท่าเรือคลองเตย ภายหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ มกราคม ๒๔๙๐ |
นายปรีดีกลับมาเมืองไทยในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองตกต่ำสุดขีด ข่าวลือการทำรัฐประหารเกิดขึ้นเป็นระยะ แต่แล้ววันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ รอยด่างของประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคณะรัฐประหารนำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล
ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว หลวงอดุลฯ หรือ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก ได้มาหานายปรีดีที่บ้านพักทำเนียบท่าช้างเพื่อแจ้งข่าวว่าจะมีการทำรัฐ ประหาร แต่หลวงอดุลฯ ได้จัดการเรียบร้อยแล้ว จึงมิได้เฉลียวใจว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น พูนศุข พนมยงค์ ในวัย ๓๕ ปี เล่าเหตุการณ์คืนนั้นให้ผู้เขียนฟังว่า
“วันนั้นฉันไม่สบายไปถอนฟันมา ก็ไม่ได้รับประทานอาหารเย็นด้วยกัน วันนั้นหลวงอดุลฯ กับหลวงธำรงฯ มารับประทานอาหารเย็น ฉันก็เข้านอนก่อนเพราะเป็นไข้ ต่อมาประมาณสองยามฉันก็สังเกตมีแสงไฟสาดเข้ามาในห้องนอน ทีหลังถึงรู้ว่าเป็นไฟจากรถถังที่จอดอยู่หน้าธรรมศาสตร์ แสงไฟจ้าเชียว แปลกใจ ก็ลุกขึ้นมา ลมพัดหนังสือพิมพ์กระจาย ไม่ใช่พัดลมน่ะ เป็นลมจากแม่น้ำ แล้วฉันก็ลงไปชั้นล่าง พบเด็กที่อยู่กับเรายืนอยู่กับตำรวจที่เป็นยามประจำบ้าน ตอนนั้นยังไม่ได้ยิง ฉันก็ถามว่าท่าน (นายปรีดี) อยู่ไหน เด็กบอกว่าท่านไปแล้ว สักครู่หนึ่งทหารก็ยิงเข้ามา เราก็เลยวิ่งมารวมอยู่ห้องนอนลูกริมแม่น้ำ
“ทหารยิงเข้ามาในบ้าน เจาะเข้ามาในห้องพระ รูขนาดนกกระจอกทำรังได้ แต่ไม่ทะลุ เราก็รวบรวมลูกมาอยู่ที่ห้องเดียวกัน แล้วก็บอกให้ลูกนอนหมอบราบไปบนเตียงนะ ฉันก็ตะโกนออกไปว่า อย่ายิง อย่ายิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก เขายิงรัว แหม รู้สึกว่าหลายสิบนัดนะ เสียงมันอาจจะสะท้อนด้วย ฉันยังมีใจเป็นธรรมนะ คิดว่าไม่ได้ยิงกราด ผลสุดท้ายเขาก็พังประตูเข้ามา ฉันก็ลงไปพบ มีคณะนายทหารที่เราไม่รู้จัก เขาบอกว่าจะมาเปลี่ยนรัฐบาล ฉันก็ว่าทำไมมาเปลี่ยนที่นี่ ทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภาเล่า คณะทหารค้นทั่วบ้าน ไม่มีตัวนายปรีดีแล้วนะ ท่านลงเรือรับจ้างที่อยู่ข้าง ๆ ท่าช้างวังหน้าหลบหนีไปแล้ว
“สักตีสี่ หลวงอดุลฯ มาหาฉัน บอกว่าผมไล่พวกกบฏไปหมดแล้ว ให้ไปอยู่ที่ป้อมพระสุเมรุ ตอนนั้นยังเป็นผู้บัญชาการทหารบกอยู่นี่ ท่านก็ออกชื่อผู้ที่มายิงบ้านเรา พอเช้ามีบรรณาธิการ บางกอกโพสต์ มาสัมภาษณ์และได้นำประโยคที่ฉันถามพวกทหารตอนที่เข้ามาค้นไปลงหน้าหนึ่ง เสร็จแล้วตอนสาย ๆ ร.อ. สมบูรณ์ (พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ) เอารถถังมา เพื่อนสนิทของฉัน คุณฉลบชลัยย์ (ภรรยาคุณจำกัด พลางกูร) วิ่งออกไปยืนขวางพวกทหาร ห้ามไม่ให้เข้ามาใกล้บริเวณโรงรถเพราะเป็นมุมอับ เกรงว่าจะเอาสิ่งของต้องห้ามมาใส่ จึงให้คนในบ้านร่วมเป็นพยานการตรวจค้น ซึ่งก็ไม่มีอะไร เราไม่ได้เป็นฝ่ายก่อการกบฏ พวกเขาเป็นผู้มาทำลายเรา แล้วยังมาค้น”
วันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์นายปรีดีได้ฝากคนมาแจ้งให้ภรรยาทราบว่า “ไม่ต้องเป็นห่วง ตอนนี้อยู่กับพวกทหารเรือ”
นายปรีดีหลบไปอยู่ที่กรมสรรพาวุธ บางนา ต่อจากนั้นไม่นานด้วยความช่วยเหลือของ พล.ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ อดีตผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ และผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน นายปรีดีได้หลบภัยไปอยู่ที่กรมนาวิกโยธิน สัตหีบ มีเสรีไทยหลายคนเดินทางมาปรึกษาหารือกับนายปรีดี จนเมื่อฝ่ายรัฐประหารสืบทราบว่านายปรีดีหลบอยู่ในฐานทัพเรือ จึงมีหนังสือมาขอตัว
ปรีดีคิดว่าหากอยู่ต่อไปจะทำความเดือดร้อนให้แก่ทหารเรือ จึงตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองไทย โดยได้ติดต่อ น.อ. สแตรทฟอร์ด เดนนิส ซึ่งเคยร่วมต่อสู้ระหว่างสงคราม และเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ เพื่อให้ช่วยติดต่อทางอังกฤษ ขอลี้ภัยทางการเมืองในสิงคโปร์ที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และไม่นานปรีดีได้ลักลอบออกจากท่าเรือกรุงเทพฯ ไปขึ้นเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษมุ่งหน้าไปสิงคโปร์
การรัฐประหารครั้งนั้นนำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ อดีตนายทหารนอกราชการ พ.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ พ.อ. กาจ กาจสงคราม พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ. ถนอม กิตติขจร พ.ท. ประภาส จารุเสถียร ฯลฯ หลังจากนั้นได้เชิญนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ก่อนที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
ช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย
“นายปรีดีได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าจัดหาลู่ทางการหลบหนีครั้งใหม่ เพราะไว้ใจและเชื่อใจข้าพเจ้าว่าจะทำสำเร็จ ข้าพเจ้าวางแผนปฏิบัติการไว้เป็นวันที่ ๖ สิงหาคม อันเป็นวันครบรอบวันตายของป้าลูกจันทน์ มารดานายปรีดี ข้าพเจ้าภาวนาให้ป้าลูกจันทน์คุ้มครองให้นายปรีดีรอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวง”
เมฆหมอกแห่งเผด็จการทหารได้ปกคลุมประเทศอีกครั้งหนึ่ง คณะรัฐประหารประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ฉีกรัฐธรรมนูญปี ๒๔๘๙ ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด มีการลอบสังหาร จับกุมคุมขังฝ่ายตรงข้าม คือพรรคพวกของนายปรีดีจำนวนมาก พูนศุขและลูก ๆ จำต้องหลบหนีไปอยู่ที่สัตหีบพักหนึ่ง เพราะคณะรัฐประหารใช้วิธี “จับผัวไม่ได้ก็จับเอาเมียไปขังแทน” และรัฐบาลยังได้ตัดเงินบำนาญของนายปรีดีในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษ อาวุโส จนรายได้ของครอบครัวจากส่วนนี้หายไปทันที
พอเหตุการณ์ผ่านไปสักระยะ พูนศุขจึงกลับมาอยู่บ้านและย้ายจากทำเนียบท่าช้างมาอยู่ที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม พยายามใช้ชีวิตตามปรกติ จัดการให้ดุษฎีและวาณีลูกสาว ๒ คนเล็กเป็นนักเรียนประจำ และสุดาเป็นนักเรียนไปกลับที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ศุขปรีดาลูกชายคนที่ ๒ เรียนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ส่วนปาลบุตรคนโตเรียนชั้นเตรียมปริญญาปีสุดท้ายของโรงเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) ขณะที่ร้านกาแฟหน้าบ้านมีตำรวจสันติบาลเฝ้าอยู่ตลอดเวลา พอออกจากบ้านก็ถูกสะกดรอยตลอดจากบุคคลลักษณะ “ชายแปลกหน้า ใส่หมวก สวมแว่นตาดำ” จนกระทั่งวันหนึ่งท่านกับลูกปาลไปหาหมอที่คลินิกแถวบางรัก ก็มีรถตำรวจขับตามหลังมา ด้วยความอึดอัดเต็มที่ ขากลับจากหาหมอ
“ข้าพเจ้าบอกให้ปาลขับรถผ่านไปที่ถนนคอนแวนต์ แล้วเลี้ยวเข้าบ้านหลวงชาติตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ) อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ซึ่งภรรยาของท่านเป็นญาติข้าพเจ้า” เพื่อที่ตำรวจจะได้มีบันทึกรายงานว่าเย็นนั้น พูนศุขไปไหนมาบ้าง
เวลานั้นนายปรีดีลี้ภัยจากสิงคโปร์ไปอยู่ฮ่องกงและข้ามไปประเทศจีน ซึ่งพูนศุขได้เล่าให้ฟังว่า
“เมืองจีนตอนนั้นยังไม่เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นยุคสมัยของเจียงไคเช็คยังมีอำนาจ อันที่จริงนายปรีดีต้องการลี้ภัยที่ประเทศเม็กซิโก แต่รองกงสุลอเมริกันที่เซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นพวกซีไอเอ ขีดฆ่าวีซ่าผ่านแดนอเมริกา ทำให้นายปรีดีไม่สามารถไปเม็กซิโกได้ รองกงสุลอเมริกันคนนี้คือนายนอร์แมน ฮันนา ต่อมาเป็นทูตประจำประเทศไทย”
ที่ประเทศจีนปรีดีรับฟังข่าวสารจากเมืองไทยเป็นระยะ และมีความคิดเสมอว่าจะกลับไปฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยอีกครั้ง จนเมื่อพลพรรคในประเทศได้แจ้งข่าวมาว่าสถานการณ์พร้อมแล้ว จึงได้ลักลอบเข้าเมืองไทย โดยมีทหารเรือเป็นกำลังสำคัญในการสู้รบกับฝ่ายรัฐประหาร ใช้ชื่อเรียกว่า ขบวนการประชาธิปไตย
นายปรีดีได้กลับมาเยี่ยมบ้านเพียงครู่ พูนศุขแสดงการคัดค้านด้วยความห่วงใยเพราะทราบดีว่าสถานการณ์ครั้งนี้เดิมพัน ชีวิตของสามีสูงยิ่ง แต่นายปรีดียืนกรานที่จะกระทำการครั้งนี้ โดยวางแผนจะยึดอำนาจรัฐกลับคืนมาให้สำเร็จและฟื้นฟูประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่
เวลาสามทุ่มของวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ นายปรีดีพร้อมด้วยมิตรร่วมรบได้มุ่งหน้าจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการ เมือง บุกเข้าไปปลดทหารรักษาพระบรมมหาราชวัง ใช้เวลาไม่นานก็สามารถตั้งกองบัญชาการที่นั่นได้สำเร็จ และยึดสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการไว้ได้ มีการต่อสู้กันประปรายระหว่างสองฝ่าย
จนกระทั่งเวลา ๖.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น กำลังทหารเรือบางส่วนถูกสกัดกั้น และ พล.ต. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งให้ยิงปืนใหญ่ถล่มประตูพระบรมมหาราชวัง มีการต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างทหารบกกับทหารเรือตลอดแนวถนนราชปรารภ มักกะสัน ถนนเพชรบุรี นายปรีดีได้เขียนบันทึกเหตุการณ์ตอนนั้นไว้ว่า
“เมื่อเห็นว่ากำลังสนับสนุนของเราเดินทางมาไม่ทันเวลา และเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัตถุที่ล้ำ ค่าของชาติในพระบรมมหาราชวัง ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้กองกำลังถอยร่นมาอยู่ในกองบัญชาการทหารเรือที่ พระราชวังเดิม ...ระหว่างนั้น กองกำลังของฝ่ายรัฐบาลควบคุมพระนครไว้ได้ทั้งหมดแล้ว การก่อการเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ของข้าพเจ้าจึงประสบความล้มเหลว ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า ‘กบฏวังหลวง’ “
คืนนั้นคนสนิทได้พานายปรีดีหนีการไล่ล่าไปหลบซ่อนตามบ้านญาติหลายแห่ง จนในที่สุด โดยความช่วยเหลือของนายสุธี โอบอ้อม คนที่รู้จักกันมานานสามชั่วคน ก็ได้มาหลบอยู่ที่บ้านสวนฉางเกลือ ในอาณาบริเวณ ๒๐ กว่าไร่ของบริษัทเกลือไทย ฝั่งธนบุรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันคืออาคารสุภาคาร ริมสะพานสาทร
ช่วงชีวิตนี้พูนศุขได้บันทึกไว้ว่า
“ผู้ที่เอื้อเฟื้อสถานที่หลบซ่อนให้นายปรีดี คือ คุณอุดร รักษมณี เพื่อนรักของสุธี โอบอ้อม นายปรีดีและข้าพเจ้าไม่รู้จักกับคุณอุดร รักษมณี มาก่อนเลย คืนวันที่ ๒ ของการไปอยู่ที่บ้านสวนฉางเกลือ ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมนายปรีดี นายปรีดีปรารภว่า เกรงใจเจ้าของบ้านเหลือเกิน ไม่ทราบว่าจะอยู่ได้นานเท่าใด แต่แล้วนายปรีดีจำต้องหลบซ่อนอยู่ที่บ้านสวนฉางเกลือเป็นเวลา ๕ เดือนกว่า
“ตอนกลับจากเยี่ยมนายปรีดีที่บ้านสวนฉางเกลือ คุณอุดรนั่งเรือจ้างมาส่งข้าพเจ้าที่ท่าเรือสาทร ใกล้ฟ้าสาง รถรางบนถนนสีลมออกเดินรถแล้ว ผู้คนเริ่มออกมาทำกิจวัตรประจำวันแต่เช้ามืด ข้าพเจ้าเดินจากบางรักผ่านป่าช้ากวางตุ้ง ป่าช้าสารสิน ป่าช้าซาเวียร์ และป่าช้าคาทอลิกเพียงคนเดียว กลับมาถึงบ้านป้อมเพชร์”
หลังขบวนการประชาธิปไตยประสบความล้มเหลว รัฐบาลเผด็จการทหารได้ตีพิมพ์หมายจับรูปนายปรีดีติดประกาศไปทั่ว ทำการปราบปรามฝ่ายนายปรีดีอย่างเหี้ยมโหด มีการจับกุมคุมขัง และลอบสังหารอดีตเสรีไทย นักศึกษาธรรมศาสตร์ ทหารเรือ นักการเมืองเป็นจำนวนมาก นายปรีดีรับฟังข่าวคราวการสูญเสียมิตรสหายด้วยความเจ็บปวด โดยเฉพาะการที่ตำรวจสังหารนายทวี ตะเวทิกุล และอุ้ม ๔ อดีตรัฐมนตรีและ ส.ส. อีสาน คือ คุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์ คุณถวิล อุดล คุณจำลอง ดาวเรือง และคุณทองเปลว ชลภูมิ ไปฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ โดยตำรวจอ้างว่าเป็นฝีมือของ “โจรจีนมลายู”
ความเจ็บปวดครั้งนี้ถึงกับทำให้นายปรีดีระบายออกมาว่า
“ฉันไม่อยากจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป จะอยู่ไปทำไม เราทำให้คนอื่นพลอยเดือดร้อน...ต้องตาย”
ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากได้แต่ปลอบประโลมเตือนสติให้มีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะความตายคือการยอมรับความพ่ายแพ้
ในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย วัย ๓๗ ปีของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนี้ที่ถูกสะกดรอยทุกฝีก้าว และต้องเลี้ยงลูกทั้ง ๖ คน กลับมีสติมั่นคง จิตใจเข้มแข็ง คิดวางแผนจะช่วยสามีให้รอดปลอดภัยได้อย่างไร สุดท้ายพูนศุขเป็นคนวางแผนให้ปรีดีเดินทางออกนอกประเทศได้อย่างปลอดภัย
แผนการเริ่มต้นด้วยการนัดแนะกับคนไว้ใจได้ที่สวนลุมพินี โดยให้ลูกปาลขับรถออกมาจากบ้าน และขับไปจอดในบ้านพี่สาวคนหนึ่งที่ถนนสุรวงศ์ แล้วแอบออกหลังบ้านขึ้นรถสามล้อมาที่สวนลุมเพื่อหลบหนีการสะกดรอยของสันติ บาล เมื่อได้ประชุมกับคนที่เกี่ยวข้องเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว พอตอนเย็นวันที่ ๖ สิงหาคม เรือประมงที่พูนศุขได้ยืมมาจากคุณมิ่ง เลาห์เรณู ส.ส. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แล่นทวนน้ำมารับนายปรีดีที่ท่าเรือบ้านสวนฉางเกลือ โดยมี ร.ต. อมฤต วิสุทธิธรรม ร.น. เป็นกัปตันเรือ
“ที่เลือกเดินทางเวลานี้ ก็เพื่อให้มาถึงด่านศุลกากรด่านแรกตอนค่ำก่อนด่านปิดไม่กี่นาที ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ต้องเสี่ยงต่อการตรวจอย่างละเอียดลออ วิธีการนี้ได้ผลดี เราผ่านไปได้อย่างง่ายดาย เรือประมงลำเล็กไปถึงป้อมพระจุลฯ ซึ่งเรือตอร์ปิโดของหน่วยลาดตระเวนจอดอยู่ เพื่อตรวจตราบรรดาเรือต่าง ๆ กัปตันนำเรือประมงเข้าหาเรือตอร์ปิโดอย่างใจเย็น และนายทหารชั้นประทวน ๒ คนก็ลงมาตรวจเรือ เมื่อเขาไม่พบสิ่งใดผิดปรกติเกี่ยวกับสินค้าหนีภาษี ผู้บังคับการจึงสั่งให้ปล่อยเรือของเราผ่านไปได้ เราจึงเดินทางแล่นเลียบชายฝั่ง มุ่งเดินทางต่อไปทางใต้”
เรือประมงไปส่งนายปรีดีที่สิงคโปร์ และนายปรีดีได้หลบลงเรือทะเลไปเกาะฮ่องกง ก่อนจะขึ้นเรือเดินทางไปที่เมืองชิงเต่าบนแผ่นดินใหญ่ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๙๒ เพื่อขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศจีนซึ่งขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่งยึด อำนาจจากรัฐบาลเจียงไคเช็ค นายปรีดีได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีมาตราหนึ่งกำหนดไว้ว่า
“บุคคลชาวต่างประเทศผู้ที่ได้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมและถูกข่ม เหงกลั่นแกล้งจากฝ่ายอธรรม จนไม่อาจจะพำนักอยู่ในประเทศของตนได้ ทางประเทศจีนถือว่าบุคคลผู้นั้นเป็นอาคันตุกะของประเทศ”
เรือประมงที่พานายปรีดีหนีออกนอกประเทศในปี ๒๔๙๒ |
“กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร”
“ฉันไม่ได้คิดกบฏกับใคร ลูกก็ไม่เกี่ยว ไม่พัวพันกันเลย แต่เขาก็จับฉันไปทำลายจิตใจ ทำลายทุกอย่างหมด”
หลังจากปรีดีลี้ภัยไปอยู่เมืองจีน พูนศุขต้องทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่เลี้ยงลูกทั้ง ๖ คน หารายได้มาจุนเจือครอบครัวด้วยการทำขนมเค้กขาย และติดตามข่าวสารบ้านเมืองทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด พูนศุขเคยพูดถึงลูก ๆ ว่า
“ลูกทั้ง ๖ คนเลี้ยงมาเอง แต่ก็มีพี่เลี้ยงเป็นผู้ช่วย ฉันให้นมลูกคนละประมาณ ๑ ถึง ๓ เดือน ต่อมาไม่มีน้ำนมก็ให้นมผง แล้วก็เสริมอาหารประเภทน้ำข้าว กล้วยน้ำว้า มะละกอ... ลูกฉันทั้ง ๖ คน เว้นคนโต (ลลิตา) ซึ่งสมองไม่พัฒนา ทุกคนมีการมีงานที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและต่อสังคม แค่นี้สำหรับผู้เป็นแม่ก็พอใจแล้ว”
จนกระทั่งในปี ๒๔๙๕ เกิดสงครามที่คาบสมุทรเกาหลี ระหว่างฝ่ายเกาหลีเหนือที่มีจีนและสหภาพโซเวียตสนับสนุน กับฝ่ายเกาหลีใต้ที่สนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติ ซึ่งในเวลานั้นกองทัพไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบด้วย
ปัญญาชนหลายคนในเมืองไทยได้ร่วมกันจัดตั้ง “คณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย” เพื่อเรียกร้องสันติภาพและต่อต้านการใช้ระเบิดปรมาณู มีการล่ารายชื่อผู้ที่เห็นด้วยกับสันติภาพ แต่ก็ถูกรัฐบาลทหารกวาดจับ หาว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ รัฐบาลได้จับกุมนักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง ทนายความ อาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ปาล พนมยงค์ ในข้อหายุยงให้เกิดความแตกแยกไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง ทั้งหมดถูกตั้งข้อหา “กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “กบฏสันติภาพ” พูนศุขรำลึกความหลังให้ฟังว่า
“ตอนนั้นลูกปาลถูกเกณฑ์ทหารและอยู่ระหว่างลาป่วย ตำรวจก็มาจับตัวถึงในบ้าน ฉันพยายามทำใจเข้มแข็งเมื่ออยู่ต่อหน้า พอพวกนั้นกลับไปฉันวิ่งขึ้นไปร้องไห้ด้วยความคับแค้นใจ ลูกปาลถูกข้อหากบฏสันติภาพ”
พูนศุขหารู้ไม่ว่า ไม่เพียงลูกชายที่ถูกพรากไป แต่อีกไม่นานตัวเองก็มีชะตากรรมเช่นเดียวกัน
“หลังจากตำรวจเอาลูกฉันไป สองวันต่อมา ฉันเป็นเถ้าแก่หมั้นคุณศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์) ตำรวจก็มาจับในงานไปสอบสวนที่สันติบาล ตอนนั้นลูกสาวสองคนยังเล็กอยู่ เลยต้องเอามานอนที่สันติบาลด้วยสองคืน”
พูนศุข และปาล ลูกชายคนโตถูกตำรวจสันติบาลค้นบ้านและจับกุมในข้อหา “กบฏภายในและภาพนอกราชอาณาจักร” พูนศุขถูกจองจำอยู่ในกรงขัง 48 วัน เพื่อให้ยอมสารภาพว่านายปรีดีอยู่ที่ไหน |
วันนั้นตำรวจนำตัวไปตรวจค้นที่บ้าน ระหว่างทางพูนศุขจึงแวะรับลูกดุษฎีและวาณีที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ และคืนนั้นต้องพาไปนอนในคุกด้วยกันเพราะที่บ้านไม่มีใครดูแล พูนศุขถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับหัวแม่มือและนิ้วทั้งสิบกดลงบนจานหมึกสีดำ พิมพ์ลายนิ้วมือในกระดาษ ราวกับเป็นผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์
“นายตำรวจที่ทำหน้าที่สอบสวนฉันคือพระพินิจชนคดี พี่เขยของ ม.ร.ว. เสนีย์ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เชี่ยวชาญในการสร้างพยานเท็จกรณีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ ๘ เขาถามว่ารู้จัก พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการนาวิกโยธิน ที่ตอนนั้นทางการกำลังล่าตัวอยู่ไหม คือภายหลังการทำรัฐประหารจนทำให้นายปรีดีต้องออกนอกประเทศไปนั้น สถานการณ์ตอนนั้นก็ไม่น่าวางใจ ยังมีการติดตามจับกุมผู้เกี่ยวข้อง หากจับสามีไม่ได้ก็มาจับภรรยาไปแทน ฉันจึงไปอาศัยบ้านพักคุณทหารอยู่ที่สัตหีบชั่วคราว คุณทหารต้อนรับฉันกับลูก ๆ อย่างดี เราอยู่ที่สัตหีบเกือบสามเดือน คุณทหารเป็นผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีบุญคุณกับครอบครัวเรามาก ตอนหลังคณะรัฐประหารจะจับคุณทหาร แต่จับไม่ได้ คุณทหารหลบไปที่เมืองปราณฯ หรืออยู่ที่ไหนสักแห่งไม่แน่ชัด
“ทีนี้มีคนมาติดต่อ บอกว่าคุณทหารเข้าป่า ฉันก็ฝากข้าวของไปให้ เขียนโน้ตใส่เศษกระดาษฝากคนไป บอกว่าถ้ามีหนทางอะไรก็ยินดีที่จะช่วยเหลือ พอคุณทหารถูกจับได้ ก็พบเศษกระดาษที่มีลายมือของฉัน ดังนั้นเมื่อตำรวจถาม ฉันก็ไม่ปฏิเสธ เขาถามว่านี่ใช่มั้ยลายมือฉันไหม ฉันก็รับว่าใช่ ฉันเขียนจริง ๆ ข้อหาฉันมีข้อนี้เท่านั้นเท่าที่ดูในสำนวนฟ้อง นอกนั้นถามว่านายปรีดีอยู่ที่ไหน ฉันไม่ทราบทั้งนั้น ตอบไม่ได้”
หลังจากนายปรีดีหนีออกนอกประเทศเป็นเวลา ๓ ปีกว่าแล้ว พูนศุขก็ไม่เคยได้ทราบข่าวของสามีอีกเลย ขาดการติดต่อกันโดยสิ้นเชิง
“ฉันไม่ได้คิดกบฏกับใคร ลูกก็ไม่เกี่ยว ไม่พัวพันกันเลย แต่เขาก็จับฉันไปทำลายจิตใจ ทำลายทุกอย่างหมด อิสรภาพเรื่องเล็ก จิตใจนี่เรื่องใหญ่ ถูกขังติดลูกกรงเหล็กอยู่ ถ้าเผื่อไฟไหม้เราก็ตายในนั้น และฉันเป็นคนที่กินกาแฟยาก พอคนในบ้านเอากาแฟที่บ้านชงใส่กระติกมาให้ ก็ยังเอาเข้าไม่ได้”
พูนศุขติดคุกได้ ๑๒ วัน ตำรวจก็พาไปศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขังต่อ และทุก ๑๒ วันเธอก็ต้องถูกนำมาฝากขังต่อ ด้วยข้ออ้างของตำรวจว่าพยานที่รู้เห็นการกระทำของเธออยู่ต่างประเทศ มาให้การไม่ได้
“ตำรวจพาไปศาล ผู้ต้องหาหญิงคนเดียว ไม่รู้ใช้กำลังเท่าไหร่ ไปศาลแล้วพวกหนังสือพิมพ์ก็จะมาถ่ายรูป ตำรวจพยายามจะเอาฉันหลบกล้อง พอถึงศาลแล้วก็เห็นพวกผู้ต้องหาคนอื่น ๆ นั่งเป็นแถว แต่ของฉันไปนั่งเฉพาะ มีตำรวจคุม แหม ทุเรศจริง ๆ เชียว ทำกับฉันขนาดนี้
“ตอนนั้นไม่กลัวเลยนะ หลังจากติดคุกได้ ๘๔ วัน อัยการยกฟ้องฉัน ตอนนั้นมีตำรวจคนหนึ่งเป็นสารวัตร (พ.ต.ต. เสริม พัฒนกำจร) ขณะนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้ว แหม ดีกับฉันเหลือเกิน เวลานั้นท่านเป็นนายพันตำรวจตรี ก็คุมฉันบ้างบางเวลา ท่านก็อุตส่าห์วิ่งไปหาเพื่อนที่เป็นอัยการ ไปสืบดูว่าฉันจะถูกฟ้องหรือเปล่า อุตส่าห์ไปเหน็ดเหนื่อยกันดึกดื่น ผลสุดท้ายฉันไม่ถูกฟ้อง”
เมื่อฝากขังครบ ๘๔ วัน ตำรวจก็เสนอสำนวนสอบสวนไปกรมอัยการเพื่อให้ฟ้องพูนศุขข้อหากบฏ แต่กรมอัยการพิจารณาสมควรไม่สั่งฟ้องเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ขณะที่ปาลและพวกถูกอัยการสั่งฟ้องในข้อหา “กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร” พูนศุขเล่านาทีที่ทราบข่าวให้ฟังว่า
“พอศาลตัดสินแล้วจะเอาลูกขึ้นรถไปเรือนจำลหุโทษ ฉันกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูก ฉันก็ขึ้นรถไปด้วย นายตำรวจคนหนึ่งก็พูดขู่ว่า นี่จะเอาไปคุกแล้วนะวันนี้ ฉันก็บอกว่าคุณไม่รู้ประวัติของฉันดี คุณนึกว่าฉันกลัวคุกเหรอ คุณปู่ของฉัน คือพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา เป็นแม่กองสร้างคุกแห่งนี้ และเป็นผู้บัญชาการคนแรกของทัณฑสถานแห่งนี้ และคุณพ่อของฉัน พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกและคนสุดท้ายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วฉันจะกลัวคุกได้อย่างไร”
พูนศุขนั่งรถมาส่งลูกชายคนโตเดินเข้าเรือนจำด้วยความสะเทือนใจ ลูกติดคุก สามีก็หายไปไม่รู้เป็นตายร้ายดีประการใด เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับครอบครัวครั้งแล้วครั้งเล่า บีบคั้นทั้งร่างกายและจิตใจของเธอเกินกว่าที่จะอยู่เมืองไทยซึ่งไม่มีใคร รับประกันความปลอดภัยได้ น้ำหนักลดฮวบฮาบลงเหลือเพียง ๔๒ กิโลกรัม ในเดือนเมษายน ๒๔๙๖ พูนศุขจึงตัดสินใจเดินทางไปหาลูกสุดาที่เรียนอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส
ในเวลานั้น พูนศุข พนมยงค์ คงไม่ทราบว่าการเดินทางครั้งนั้นเป็นการไปใช้ชีวิตในต่างแดนยาวนานถึง ๓๔ ปี
ปรีดี-พูนศุข ช่วงชีวิตที่ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศจีน ระหว่างปี ๒๔๙๖- ๒๕๑๒ |
ชีวิตในต่างแดน
“ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติเปนภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุททิศตนเสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องได้รับความลำบากเนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้า คุณความดีของน้องก็จะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย”
จดหมายจากปรีดีถึงพูนศุข เนื่องในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปีของการสมรส
พูนศุขและลูก ๆ พำนักที่กรุงปารีสได้ไม่นาน อยู่มาวันหนึ่งเธอก็ได้รับจดหมายจากปรีดีซึ่งขาดการติดต่อนานถึง ๔ ปี ในเนื้อความจดหมายนายปรีดีแจ้งให้ภรรยาเดินทางไปประเทศสวีเดน ติดต่อสำนักผู้แทนการทูตจีน เพื่อเดินทางเข้าประเทศจีน
เวลานั้นไม่มีใครรู้ว่านายปรีดีลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ครองอำนาจ เป็นที่หวั่นกลัวของประเทศตะวันตก การเดินทางไปประเทศจีนเป็นเรื่องอันตรายและเป็นไปได้ยาก พูนศุขทราบดีว่าเพื่อความปลอดภัย การเดินทางไปเมืองจีนจึงต้องเก็บเป็นความลับสุดยอด
พูนศุขพร้อมด้วยดุษฎีและวาณีเดินทางไปยังกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เพื่อพบทูตจีนผู้ได้มอบตั๋วเครื่องบินให้สามแม่ลูกเดินทางไปกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ จากที่นั่นเป็นหนทางที่จะข้ามไปสหภาพโซเวียต พอถึงกรุงมอสโก เจ้าหน้าที่สถานทูตจีนมารอรับ แล้วออกเดินทางโดยรถไฟขบวนยาวที่สุดในโลกจากยุโรปตะวันออกสู่ทวีปเอเชียเป็น เวลา ๗ วัน ๗ คืน
พอข้ามแดนมาถึงประเทศจีน นายปรีดีมายืนรอรับที่เมืองหม่านโจ๊วหลี่ และพาครอบครัวไปอาศัยอยู่ที่กรุงปักกิ่ง นับเป็นครั้งแรกที่พ่อแม่ลูกได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอีกครั้งหลังจาก เหตุการณ์รัฐประหารในปี ๒๔๙๐
ไม่นานหลังจากนั้น ประธานเหมาเจ๋อตง ผู้นำจีน ได้มีโอกาสพบกับนายปรีดี ณ กรุงปักกิ่ง ประโยคแรกที่ประธานเหมาเอ่ยขึ้นคือ
“รู้สึกยินดีที่ได้พบกับท่านปรีดี ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ส่วนตัวผมเอง แต่เดิมมีอาชีพเพียงเป็นครูประชาบาลชั้นประถมเท่านั้น”
ระหว่างใช้ชีวิตร่วมกันที่กรุงปักกิ่งก็ได้ทราบข่าวจากวิทยุว่า ปาลถูกศาลตัดสินจำคุก ๒๐ ปี ซึ่งต่อมาได้รับการลดโทษลงเหลือ ๑๓ ปี ๔ เดือน จนเมื่อถูกขังอยู่เกือบ ๕ ปี ในปี ๒๕๐๐ ปาลกับผู้ต้องหาคดีกบฏสันติภาพก็ได้รับการพระราชทานนิรโทษกรรม เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกึ่งพุทธกาล
ต่อมาเมื่อนายปรีดีอายุมากขึ้น ประกอบกับปัญหาสุขภาพไม่สามารถทนความหนาวจัดในกรุงปักกิ่งที่อุณหภูมิติดลบ ๑๕ องศาได้นาน ๆ ตลอดช่วงฤดูหนาว จึงได้ทำเรื่องถึงทางการจีน และได้รับอนุญาตให้ย้ายบ้านพักมาอยู่ในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้งทางภาคใต้ที่มีสภาพภูมิอากาศอบอุ่นกว่า
ในช่วงเวลานั้น ลูก ๆ ของพูนศุข-ปรีดีต่างก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญากันทุกคน ปาลจบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุดาจบปริญญาโทอักษรศาสตร์ที่ฝรั่งเศส ขณะที่ศุขปรีดาจบทางด้านภาษาที่กวางโจว ดุษฎีจบทางด้านดนตรีและวาณีจบปริญญาโทอักษรศาสตร์ที่กรุงปักกิ่ง ส่วนลลิตาลูกสาวคนโตมีปัญหาด้านสมองไม่พัฒนาตั้งแต่เด็ก
จนถึงปี ๒๕๑๓ นายปรีดีจึงขออนุญาตรัฐบาลจีนย้ายครอบครัวมาอยู่ในเมืองอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพราะรู้สึกเกรงใจทางจีนที่ให้การดูแลอย่างดีเยี่ยมมานานแล้ว ประกอบกับการติดต่อกับประเทศไทยลำบากมาก เพราะจีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบ แม้แต่ญาติสนิทมิตรสหายจากเมืองไทยจะมาเยี่ยมก็ถูกทางการเพ่งเล็งอยู่ตลอด การฟังข่าวสารจากหนังสือพิมพ์หรือวิทยุก็ไม่สะดวก และถึงเวลาที่จะต้องเลือกดำเนินชีวิตเป็นของตัวเองแล้ว ถ้าอยู่ในกรุงปารีสจะสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้สะดวกกว่า พูนศุขเคยกล่าวว่า
“ฉันไม่ลืมบุญคุณรัฐบาลจีนและราษฎรจีน ฉันเป็นคนไม่ลืมบุญคุณคน ตอนที่ทางจีนเกิดอุทกภัยเมื่อหลายปีมาแล้ว ฉันก็ส่งเงินตามมีตามเกิดไปช่วยเหลือ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ส่งไปอีก”
สนทนากับคนรุ่นใหม่ในสวนบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส |
กรุงปารีสเป็นเมืองที่นายปรีดีคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ ๔๐ กว่าปีก่อน เขาเคยมาศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นเวลานานถึง ๘ ปี เป็นสถานที่ที่บรรดาผู้ก่อการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เคยมาปรึกษาหารือกันเป็นประจำ เมื่อนายปรีดีอพยพครอบครัวมาอยู่ที่นี่อีกครั้งหนึ่ง เขาก็ได้มีโอกาสพบปะสนทนากับญาติสนิทมิตรสหาย ลูกศิษย์ลูกหา นักศึกษาที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนสม่ำเสมอ และใช้เวลาเขียนสำนวนคดีฟ้องหมิ่นประมาทผู้ที่กล่าวหาว่าท่านพัวพันในกรณี สวรรคต ซึ่งทุกคดีที่ปรีดีเป็นโจทก์ฟ้อง ศาลตัดสินให้ชนะคดีทั้งหมด
“แต่การย้ายมาอยู่ที่ฝรั่งเศส ครอบครัวพนมยงค์ต้องประหยัดมัธยัสถ์อย่างมาก เพราะอาศัยเพียงรายได้จากบำนาญของปรีดี และค่าเช่าบ้านที่กรุงเทพฯ ซึ่งไม่มาก ดุษฎี ลูกสาวของท่านเคยเขียนไว้ว่า
“ชีวิตของคุณพ่อดำรงอยู่ด้วยเงินบำนาญเพียงเดือนละ ๔ พันกว่าบาท ทำให้ลูก ๆ ทุกคนต้องทำงานเพราะเงินเพียงเท่านี้อยู่ไม่ได้แน่ เราต้องทำงานทุกอย่าง สมาชิกในครอบครัวของเราทำกระทั่งไปทำงานในร้านอาหาร และรับจ้างทำความสะอาดตามบ้าน ทำอาหารขาย ฯลฯ”
จนถึงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ อันเป็นวันครบรอบ ๕๐ ปีแห่งการสมรสของพูนศุข-ปรีดี ซึ่งเรียกว่า “การสมรสทองคำ” ทั้งคู่ได้ฉลองสมรสโดยการบำเพ็ญกุศลสาธารณสงเคราะห์โดยส่งผ่านสภากาชาดไทย ที่นายปรีดีเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเวลานั้นเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท
พูนศุข-ปรีดี ถ่ายเมื่อปรีดีอายุครบ ๘๐ ปี วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๓ ณ บ้านพักอองโตนี |
วาระสุดท้าย
“เราได้อยู่ด้วยความเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน แม้ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองทำให้เราต้องแยกกันอยู่บางขณะ แต่ในที่สุด เราก็ได้มาอยู่ร่วมกันในบั้นปลายของชีวิต จนเธอได้จากไปตามกฎธรรมชาติ เธอเป็นคู่ชีวิตและมิตรที่ซื่อสัตย์ไม่ว่าเราจะอยู่ใกล้หรือไกลกัน เธอเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้โดยไม่หยุดยั้ง เป็นตัวอย่างในความเป็นอยู่สมถะ เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ บำเพ็ญชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รับใช้ประเทศชาติด้วยความเสียสละและมีความกตัญญูต่อผู้มีคุณ ถึงคราวมีเคราะห์กรรมก็ไม่หวั่นไหว”
เดือนกันยายน ๒๕๒๔ พูนศุข-ปรีดีก็ต้องประสบความสะเทือนใจครั้งใหญ่ เมื่อปาลบุตรชายได้จากไปด้วยโรคมะเร็งในวัย ๕๐ ปี พูนศุขเผยความในใจว่า
“ปาลเป็นลูกชายคนโตของพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่หวังจะฝากผีฝากไข้ลูกในบั้นปลายชีวิต แต่ลูกก็ได้ด่วนจากพ่อแม่ไปก่อนตามกฎแห่งธรรมชาติ ซึ่งไม่มีอำนาจหรือสิ่งใดที่จะเหนี่ยวรั้งได้”
ก่อนจะส่งร่างของลูกสู่ตึกกายวิภาค คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานที่บริจาคร่างกายของปาล แม่พูนศุขได้จูบลาลูกเป็นครั้งสุดท้ายและบอกลูกว่า
“ชาตินี้ลูกมีกรรมเกิดมาอาภัพและลำบาก ถ้าชาติหน้ามีขอให้ลูกมีชีวิตที่สบายกว่านี้”
บรรจุศพ ปรีดี พนมยงค์ ณ สุสาน Pere Lachaise กรุงปารีส ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖ |
สองปีต่อมา ปรีดีคู่ชีวิตก็ได้ละสังขารอย่างสงบในบ้านอองโตนี ด้วยวัย ๘๓ ปี พูนศุขเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลานั้นว่า
“อยู่ดี ๆ ก็นั่งเขียนหนังสือนั่นแหละ เขียนเสร็จแล้ว จะให้ลูกคนหนึ่งตรวจทาน ก็ให้ฉันออกไปตาม แต่ลูกไม่อยู่ออกไปทำงานก่อน ฉันก็กลับเข้ามา เห็นนายปรีดีถอดแว่น พูดอะไรสองสามคำ ฉันก็จำไม่ได้ แล้วเอนตัวลงพิงพนักเก้าอี้คอพับแล้วนิ่งไป ฉันก็รีบไปหยิบยาฉุกเฉินที่หมอเขาให้ไว้ แล้วก็รีบโทรศัพท์ ลูกอีกคนก็เช่าบ้านอยู่ข้าง ๆ เพราะบ้านเราเล็ก เขามีครอบครัว ให้คนไปตาม เผอิญมีหลานเรียนแพทย์จุฬาปี ๔ มาพักอยู่ที่บ้าน ก็ให้เขามาช่วยผายปอด แล้วก็โทรศัพท์เรียกแพทย์ฉุกเฉิน หมอสั่งไว้ให้เรียกรถแอมบูแลนซ์ก่อน เพราะว่าแอมบูแลนซ์ของเขามีเครื่องเคราครบ เขาก็มาปั๊มหัวใจ แต่ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว นายปรีดีไม่ได้ทรมานเลย สิ้นใจอย่างสงบ หมอประจำตัวมาทีหลังบอกว่าตายอย่างงดงาม...ร่างนอนอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ใส่หีบตั้งห้าวัน มีคนไทยจากที่ต่าง ๆ ในฝรั่งเศสและยุโรปมาเยี่ยมเคารพ ท่านเสียวันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ถึงได้ลงหีบ นอนอยู่บนเตียงนอนเฉย ๆ นี่ เหมือนคนนอนหลับ เล็บ แก้ม ไม่ได้ซีดเลย ผม หนวด เล็บ ยังงอกยาวออกมาเหมือนยังมีชีวิตอยู่ เจ้าหน้าที่บอกไม่ให้เราถูกตัว แล้วมียาอะไรไม่รู้วางไว้ ทำสะอาด พอดีเดือนพฤษภาคมอากาศเย็น ความจริงถ้าเป็นโรคอื่นไม่ได้นะ เมืองฝรั่งไม่ให้ตั้งศพอยู่ที่บ้าน
“ท่านทูตมาส่วนตัว เพราะว่ารัฐบาลในขณะนั้นไม่มีความเห็น ท่านไม่พูดก็เลยไม่ทำอะไร มีเพื่อนลูกอยู่ต่างประเทศโทรศัพท์ถามว่ารัฐบาลสั่งทำมั้ย ไม่มีเลย รัฐบาลไม่สั่งอะไรเลย รัฐบาลใบ้ เห็นใจทูตนะ เราเลยขอความช่วยเหลือเป็นการส่วนตัว พอดีท่านปัญญาฯ กำลังอยู่ที่อังกฤษ ท่านรู้ข่าว ท่านก็โทรศัพท์มาแสดงความเสียใจ เราจึงนิมนต์ท่านมาเป็นประธานประชุมเพลิง ยังมีพระจากเมืองอังกฤษอีกสามรูปมาสวดให้ เอาผ้าไตรมาช่วย เดินทางมาเอง แล้วมีพระในฝรั่งเศสอีก ท่านปัญญาฯ เป็นประธาน ท่านก็กล่าวสดุดี มีคนไทยในฝรั่งเศสและในยุโรปไปเผากันเยอะ นักบินและเจ้าหน้าที่การบินไทยที่เผอิญไปปารีสขณะนั้น อุตส่าห์ไปเผากันหมด คนรู้จัก ไม่รู้จักนะ อุตส่าห์ไปกัน ก็เผากันเดี๋ยวนั้น เก็บกระดูกเดี๋ยวนั้น ละเอียดเชียว สั่งไว้นี่ บอกให้เป็นขี้เถ้า ไม่มีชิ้นเลย แล้วยังมีอดีตทูตฝรั่งเศสในเมืองไทย นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสก็ส่งพวงหรีดมาแสดงความเสียใจ”
เมื่อจัดการศพของสามีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พูนศุขจึงตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ที่เมืองไทยเป็นการถาวรในปี ๒๕๓๐ ใช้ชีวิตอย่างสงบในบ้านพักย่านถนนสวนพลู และช่วยงานสังคมเป็นระยะโดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับนายปรีดี พนมยงค์ อาทิการจัดงานเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาล รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในปี ๒๕๔๓ พูนศุขเคยเล่าถึงชีวิตประจำวันให้ฟังว่า
“ตี ๓ ตี ๔ ก็ตื่นแล้ว เปิดวิทยุฟังข่าวบ้างหรือดูรายการโทรทัศน์บ้าง ยังไม่ถึง ๖ โมงก็ลงมาข้างล่างเตรียมอาหารเช้าสำหรับตัวเอง อ่านหนังสือพิมพ์รายวัน ฟังวิทยุ อ่านหนังสือธรรมะบ้าง แล้วเดินเล่นในบริเวณบ้าน พอตอนสาย ๆ มีญาติมิตรมาเยี่ยมเสมอ บางวันอาจมีงานเกี่ยวกับนายปรีดีที่ต้องไปร่วม หรือถ้าเป็นวันศุกร์มีตลาดนัดที่จุฬาฯ ก็จะไปจ่ายตลาดซื้อของกิน หลังอาหารกลางวันเป็นเวลาพักผ่อนก็จะไม่รับแขกจนถึงเวลาบ่าย ๔ โมง ถ้าวันไหนมีงานศพของผู้ที่รู้จักคุ้นเคยก็จะไปลาและอโหสิกรรมกันเป็นครั้ง สุดท้าย เย็น ๆ เดินเล่นอีกรอบหนึ่ง ก็ถึงเวลาอาหารค่ำ รับประทานอาหารเบา ๆ หรืออาหารที่เหลือตั้งแต่กลางวันประเภทน้ำพริกมะม่วงกับปลาสลิด สลับกับสลัด ดูข่าวภาคค่ำเสร็จแล้ว ประมาณ ๓ ทุ่มก็สวดมนต์เข้านอน”
ในวัย ๙๐ ปี พูนศุขผู้มีความทรงจำแม่นยำอย่างไม่น่าเชื่อ ได้เขียนบันทึกไว้ว่า “ข้าพเจ้าทบทวนเหตุการณ์หนหลังด้วยใจอันสงบ มิได้โกรธแค้นหรือคิดอาฆาตมาดร้ายต่อผู้ใด ขณะเดียวกัน รำลึกถึงทุกท่านที่เสี่ยงภยันตรายช่วยเหลือนายปรีดีให้พ้นภัยในครั้งกระนั้น ด้วยความขอบคุณ”
วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐ พูนศุข พนมยงค์ มีอาการทางโรคหัวใจทรุดหนักลง กระทั่งถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบเมื่อเวลา ๐๒.๐๐ น. (ย่ำรุ่งของวันที่ ๑๒) ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริอายุ ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน
ชีวิตของพูนศุขได้อาศัยหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ในการฝ่าฟันมรสุมชีวิตมาโดยตลอด
หลักธรรมที่ว่านี้คือ
“ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
พิธีไว้อาลัย พูนศุข พนมยงค์ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2550 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ |
บรรณานุกรม :
๑๐๑ ปีปรีดี - ๙๐ ปีพูนศุข. กรุงเทพฯ : ลลิตา สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี, ๒๕๔๕.
๗ รอบ พูนศุข พนมยงค์. กรุงเทพฯ : ลลิตา สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี, ๒๕๓๙.
นรุตม์. หลากบทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๓๗.
ขอขอบคุณ :
ครอบครัวปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ดร. ปรีชา สุวรรณทัต ดร. จริย์วัฒน์ สันตะบุตร