คนจะเก่งหรือไม่เก่งนั้น อยู่ที่ "ทัศนคติ" ของแต่ละคน เวลาเจอโจทย์อะไรสักอย่าง บางคนบอกตัวเองว่าเราไม่เก่ง ทำไม่ได้หรอก มองไปก็เจอแต่ปัญหา อย่างนี้เรียกว่า "ปิดประตูความสำเร็จ" ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น
แต่คนเก่ง จะมีลักษณะบางอย่าง ที่แตกต่างจากคนไม่เก่ง ไม่ใช่ว่าเพราะเก่งเลยทำได้ เพราะไม่เก่งเลยทำไม่ได้แต่มันคือ "ทัศนคติ" ที่แตกต่างกัน
ที่ญี่ปุ่นมีชั่วโมงเรียนวิ่งมาราธอน เด็ก นักเรียนต้องวิ่งทางไกลระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร พวกที่เป็นนักกีฬา หรือเล่นกีฬาอยู่เป็นประจำ จะวิ่งได้ไม่เหนื่อย ในขณะที่อีกกลุ่มเป็นแบบวิ่งสั้น ๆ ได้ แต่ไกล ๆ ไม่ไหว กับอีกกลุ่มสุดท้าย คือ พวกวิ่งเหยาะ ๆ ให้มันหมดชั่วโมงไปด้วยความเบื่อหน่าย หากเปรียบเทียบกับการทำงานจะพบว่าในทุกองค์กรจะมีคนทั้ง 3 กุล่มอยู่ร่วมกัน ถึงแม้จะพยายามคัดแต่หัวกะทิมาแล้วก็ตาม ในกลุ่มคนเก่งด้วยกัน ก็ยังสามารถแบ่งได้อีก 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มคนที่เก่ง มุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ
- กลุ่มคนที่มีความสามารถปานกลาง ให้ทำก็ทำ และทำเท่าที่ทำได้
- กลุ่มคนที่เป็นพวกอิดออด ไม่ยอมทำ และคิดว่าตัวเองทำไม่ได้
หากลองตั้งคำถามว่า คนเก่งทำไมถึงขยัน และคนไม่เก่งทำไมถึงอิดออด
เพราะคนเก่งหรือคนที่มีศักยภาพสูง จะมีความรู้สึกโดยธรรมชาติต่อสิ่งต่าง ๆ ว่า "น่าจะทำได้" ความรู้สึกเช่นนี้จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดความมุมานะ อยากลองทำ คนที่รู้สึกว่าทำได้จึงมีความพยายามมากกว่าคนที่ไม่มีความรู้สึกนี้
ส่วนคนที่ไม่เก่ง เป็นเพราะบอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าไม่เก่ง จึงไม่เกิดแรงผลักดันให้มุมานะ หรือพยายามทำให้สำเร็จเมื่อไรก็ตามที่คนไม่เก่งเปลี่ยนความคิด ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างจากชั่วโมงวิ่งมาราธอนของเด็กนักเรียนญี่ปุ่น มีอยู่วันหนึ่ง เด็กที่เกลียดชั่วโมงวิ่งมาราธอนเป็นชีวิตจิตใจตื่นเช้าขึ้นมาและพบว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงไป ตัวสูงใหญ่ ขายาวขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรงเป็นมัด ๆ
วันนั้นเขาบอกกับตัวเองว่า "คอยดู ฉันจะวิ่งมาราธอนให้แหลกเลย รับรองเพื่อน ๆ ต้องตกใจแน่"
แต่เมื่อเขาออกวิ่ง… เสียงนาฬิกาปลุกก็ดังขึ้น
ถึงแม้ว่ามันเป็นเพียงแค่ความฝัน แต่มันก็ทำให้เขาก็เกิดแรงขับบางอย่าง ที่อยากจะทำให้มันเป็นความจริงให้ได้เขา เริ่มเปลี่ยนความคิด เชื่อมั่นว่าเขาทำได้ ตั้งแต่นั้นมาเขาก็วิ่งได้ระยะทางไกลขึ้น แข็งแรงขึ้น และไม่เหนื่อยง่าย จนเพื่อน ๆ แปลกใจ
เมื่อคนเราทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้สำเร็จ ความมั่นใจก็จะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงขับให้เกิดความมุมานะทำสิ่งอื่น ๆ ให้สำเร็จอีกต่อ ๆ ไป
เพราะเหตุนี้เอง จึงดูเหมือนว่า "คนเก่ง" ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ประสบความสำเร็จไปเสียทุกอย่าง
เห็นไหมว่า ความคิดของเราเอง ที่เป็นตัวกำหนดให้เรา "แพ้" หรือ "ชนะ"
เพียงคิดว่า "น่าจะทำได้" หรือ "ไม่น่าจะทำได้" ก็เป็นตัวกำหนดการกระทำที่แตกต่างของเราแล้วความรู้สึกว่า "น่าจะทำได้" นี่แหละที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่าง "คนเก่ง" และ "คนไม่เก่ง"
ที่มา : JobsDB