เปิดคัมภีร์เศรษฐี 3 หญิงแกร่งแห่งยุค "เจ๊เล้ง-เจ๊ง้อ-เจ๊จง"


เมื่อพูดถึงเรื่อง ความสำเร็จทางธุรกิจของผู้หญิงแกร่ง น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก 3 เจ๊ ประกอบด้วย เจ๊เล้ง-อารยา อภิสิทธิ์อมรกุล เจ๊ง้อ-ณชนก แซ่อึ้ง และเจ๊จง-จงใจ กิจแสวง


เจ๊เล้ง ผู้จัดการบริษัท เอ แอนด์ เจ บิวตี้โปรดักส์ จำกัด หรือเจ้าของ "เจ๊เล้ง" แหล่งรวมสินค้าจากทั่วโลก เจ๊ง้อ ประธานกรรมการ บริษัท ครัวเจ๊ง้อ จำกัด ที่มีถึง 10 สาขา และเจ๊จง เจ้าของธุรกิจหมูทอด ซึ่งขายได้วันละ 300 กิโลกรัม!! โดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจได้เชิญ 3 เจ๊มาร่วมเสวนาในหัวข้อ "ซาซือเจ๊" ล้วง(ไม่ลับ)วิธี...จ่อเซงลี้ฮ่อ เพื่อเป็นสื่อกลางในการนำพาผู้มีประสบการณ์มาร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวให้กับ ผู้บริหารธุรกิจขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง ได้ก้าวข้ามอุปสรรคพร้อมทั้งเชิดชู "บทบาทของผู้หญิง"


ทั้ง 3 คนผ่านอุปสรรคขวากหนามมามากมายกว่าจะประสบความสำเร็จอย่างในทุกวันนี้ อย่าง"เจ๊ง้อ"เองก็เคยพลาดพลั้ง ถึงขนาดเชื่อว่าตัวเองไม่มีดวง ทำธุรกิจก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำมาแล้วหลายอาชีพ เช่น ช่างตัดผม ช่างตัดเสื้อ "คงเพราะไม่ใช่จังหวะของเรา" เจ๊ง้อ กล่าว ส่วนเคล็ดลับความสำเร็จคือการทำให้แตกต่าง โดยใช้ความชอบในการทำอาหารมาประยุกตร์ให้พิเศษกว่าที่อื่น แม้จะขายในราคาสูงแต่เจ๊ง้อรับรองคุณภาพคับจาน


ด้านเจ๊เล้ง ซึ่งสู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก เลิกเรียนหนังสือตอนมัธยมศึกษาปีที่ 1 แล้วออกมาช่วยงานที่บ้าน เริ่มจากการขายท็อฟฟี่และอดออม เพียงแค่อายุ 16 ปีก็มีเงินถึง 5 แสน ในช่วงเกือบจะ 30 ปีก็สามารถตั้งบริษัทให้พี่ชายได้ โดยต่อยอดจากการใช้ธุรกิจใหญ่มาเสริมธุรกิจเล็ก ความรู้ที่ได้ก็มาจากการขยันอ่านหนังสือ ประกอบกับบ้านอยู่ใกล้สนามบินดอนเมือง เพื่อนบ้านที่ค้าของเก่าก็นำหนังสือแฟชั่นต่างประเทศมาให้อ่านบ่อยๆ จนเกิดความคิดว่าถ้ามีโอกาสต้องนำของแบบนี้มาขายในเมืองไทยให้ได้ เริ่มจากการนำของที่ตลาดคลองเตยมาขาย ต่อมาขยับขยายให้แอร์โฮสเตจและสจ๊วตหิ้วเข้ามา ก่อนตัดสินใจเซ็นสัญญาส่งสินค้าทางเรือ


ขณะที่เจ๊จง เริ่มจากการขายของแบบซุปเปอร์ โดยซื้อของที่ห้างสรรพสินค้ามาขายในราคาถูกกว่า แต่ก็เลิกไปช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และเริ่มทำอาหารตามสั่ง ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาเป็นบุฟเฟ่ต์ข้าวแกง จนวันหนึ่งซื้อข้าวหมูทอดมาให้ลูกทาน จึงเกิดไอเดียทำหมูทอดสูตรเด็ดขาย จุดเด่นตรงที่สามารถตักข้าวและเติมผักไม่อั้น


หลายคนคงสงสัยว่าทำไมธุรกิจของทั้ง 3 ท่าน จึงประสบความสำเร็จมากมาย เพราะฮวงจุ้ยหรือทำเลของร้านหรือไม่ เจ๊จง ปฏิเสธทันที เพราะไม่มีความรู้ในเรื่องฮวงจุ้ย แต่ยอมรับว่าปฏิบัติตามคำแนะนำของลูกค้า ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่เจ้าประจำชอบที่ราคาของหมูทอดที่ราคาถูก และการพูดคุยเป็นกันเองเหมือนพี่เหมือนน้อง ขณะที่เจ๊ง้อ เชื่อเรื่องการเลือกสถานที่เพื่อให้การค้าเจริญรุ่งเรือง









ดังนั้น หากจะตั้งสาขาเพิ่มก็จะเรียกเซียนแสเจ้าประจำมาดูที่ทาง แต่ที่สำคัญกว่านั้นการทำร้านอาหารต้องมีที่จอดรถให้ลูกค้า สำหรับเจ๊เล้ง ผู้ไม่เคยดูหมอดู ใช้วิธีสวดมนต์และคิดแต่เรื่องดีๆ ทำธุรกิจพอดี เป็น"เจ้านายแบบขี้ข้า" ไม่ว่าจะร่ำรวยขนาดไหนก็ไม่ใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือย






สำหรับสูตรเด็ดเคล็ดลับของแต่ละคน อย่างแรกที่เหมือนกันคือความขยันและความคิดที่จะเริ่มทำสิ่งแปลกใหม่นำหน้า คนอื่นอยู่เสมอ นอกจากนี้ "เจ๊เล้ง" แนะนำให้นักลงทุนมือใหม่ว่า ถ้ามีเงินอย่าใช้จนหมด ให้ใช้กำไรในการลงทุนอย่ากู้ยืมหนี้สิน ถ้าได้ทุนคืนสิ่งนั้นคือเงินล่วงหน้าอย่าเอาไปใช้ก่อน







ส่วนตัวการบริหารงานเน้นที่การตลาดและบริหารบุคคลให้ดูแลกันเอง สำหรับครัวเจ๊ง้อ เนื่องจากเป็นร้านอาหารก็ต้องรักษาคุณภาพให้ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะรสชาติอาหารที่"เจ๊ง้อ"มักจะคอยมาตรวจดูฝีมือของกุ๊กในแต่ละสาขา เสมอๆ อย่างแรกเราต้องทำเป็นก่อน และต้องคอยปรับเปลี่ยนเมนูเอาใจไม่ให้ลูกค้าเบื่อ





ส่วน"เจ๊จง" ยอมรับว่าขายหมูทอดเป็นหลักเหมือนรับบทพระเอกแต่ก็ต้องมีพระรอง ภายในร้านจึงมีอาหารเพิ่มเติมผัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้ลูกค้าอย่างฟรีๆ เรียกว่า"ให้ใจ"กับลูกค้าเป็นอันดับแรก


ทั้ง 3 เจ๊ ได้ทิ้งท้าย"เคล็ดรวย"เอาไว้ให้เห็นถึงความพยายาม ขยัน และอดออม ตอกย้ำความสำเร็จโดยที่ไม่ต้องพึ่งดวง!!


วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553 เวลา 18:46:07 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์