การทูตแบบ"ทวิตเตอร์": นโยบายตปท.ที่จัดการได้ใน"140 ตัวอักษร"

โลกของนักการทูต เป็นโลกที่เต็มไปด้วยพิธีการและการพิจารณาสิ่งต่างๆอย่างถี่ถ้วน แต่กระนั้นก็ยังพบว่าในปัจจุบัน นักการทูตและเจ้าหน้าที่ ที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านต่างประเทศจำนวนมาก เริ่มหันมาใช้การทำงานแบบใหม่และเท่าทันโลกยุคปัจจุบัน นั่นก็คือ"ทวิตเตอร์"




ในเช้าวันที่นายรัทโก มลาดิก ขึ้นศาลอาชญากรสงครามของยูเอ็น นายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ได้ใช้ทวิตเตอร์เพื่อแสดงการกล่าวโจมตีทางการทูต โดยระบุถึงผู้นำซีเรีย "ผู้นำซีเรียควรสะท้อนภาพของการขึ้นศาลของนายมลาดิกวันนี้ ว่าความยุติธรรมมีจริง"

ขณะที่นายคาร์ล บิลดท์ รัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน ก็มีความคล่องแคล่วในการใช้สื่อทางการทูตใหม่ชนิดนี้เช่นกัน โดยในระหว่างที่รัฐบาลบาห์เรนใช้กำลังในการสลายการชุมนุมของผู้ประท้วง เขาได้ใช้พื้นที่ในทวิตเตอร์ เพื่อกล่าวตำหนิรัฐบาลบาห์เรน "@khalidalkhalifa (นายคาลิด อัล คาลิฟา รัฐมนตรีต่างประเทศบาห์เรน)  ผมพยายามติดต่อกับคุณเพราะมีเรื่องอยากคุยด้วย"

ด้วยการถูกจำกัดตัวอักษรไว้ที่ 140 ตัว ดูเหมือนแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ทวิตเตอร์จะช่วยเยียวยาประเด็นความแตกต่างทางการเมือง  แต่ด้วยรูปแบบที่ทำให้การเขียนข้อความถูกทำให้สั้นและกระชับลง พร้อมด้วยแฮชแท็ก หรือป้ายกำกับข้อความ รวมถึงสัญลักษณ์แทน ก็สามารถทำให้ข้อความนั้นมีพลังขึ้นมาได้

รัฐบาลในหลายประเทศ เริ่มใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการเผยแพร่ข่าวสาร ให้คำปรึกษา ประกาศนโยบาย ประกาศคำเตือน รวมถึงการเข้าถึงและสื่อสารกับประชาชนในวงกว้าง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาบางประการ

แน่นอนว่าหน่วยงานที่ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้สื่อสมัยใหม่ก็คือกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีการว่าจ้างเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะถึง 150 คน ที่ทำงานในหน่วยงานย่อยของกระทรวงกว่า 25 แห่ง  ทั้งในยูทูบ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์  ขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงรายอื่นๆได้รับการกระตุ้นให้เปิดช่องทางการสื่อสารของตนเอง




ในการฝึกอบรมครั้งล่าสุดที่สำนักงานใหญ่ในเขตฟ็อกกี้ บ็อตทอม ของกรุงวอชิงตัน ดีซี ห้องเรียนเต็มไปด้วยนักการทูตที่ต้องมาเรียนรู้เทคนิกการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยมีนักศึกษาฝึกงานที่มีอายุ 20 ต้นๆเป็นผู้ฝึกสอน คำแนะนำก็คือ"เดินหน้า อย่าท้อถอย" นับตั้งแต่นั้น ก็มีนักการทูตสหรัฐฯที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวแล้วกว่า 900 คน และใช้สื่ออนไลน์ดังกล่าวในฐานะงานด้านการทูตประจำวัน

สื่อสังคมออนไลน์ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนสัญญาณเตือนล่วงหน้าของการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม  อีกทั้งยังเป็นช่องการเสนอความคิดเห็น และการรับฟังความคิดเห็นได้อย่างดี และยังหมายถึงข่าวสารหรือข้อมูลที่ถูกเสนอออกไปอย่างผิดๆ ก็สามารถถูกลบหรือแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ จัดทำสารานุกรมออนไลน์ในรูปแบบเดียวกับวิกิพีเดีย โดยใช้ชื่อว่า "ดิโพลพิเดีย" (Diplopedia) ซึ่งมีหัวข้อต่างๆมากกว่า 14,000 เรื่อง เพื่อกระตุ้นให้มีการสืบค้นข้อมูลออนไลน์  และยังมีการจัดทำสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบเดียวกับเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อว่า "คอร์ริดอร์" (Corridor) ซึ่งมีสมาชิกแล้วกว่า 6,500 คน



 
นอกจากนั้น กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ยังใช้รูปแบบของ "Crowdsourcing" ซึ่งก็คือการนำงานที่ปกติอาจจะทำโดยคนไม่กี่คนไปให้กับกลุ่มคนทำแทน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งมีการตั้งคำถามทางออนไลน์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดมสมองหาทางลดค่าใช้จ่าย นักการทูตจากจีนรายหนึ่ง ซึ่งสงสัยว่า ไฟฟ้าของสถานทูตถูกประชาชนที่ใกล้เคียงต่อสายไฟขโมยไปใช้ ทำให้มีการติดตั้งมิเตอร์ นอกจากจะพบว่ามีการขโมยไปใช้จริงแล้ว แต่ยังพบว่าการไฟฟ้าคิดค่าไฟเกินจริง  ทำให้ช่วยประหยัดเงินไปได้หลายหมื่นดอลลาร์

เฟอร์กัส แฮนสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการทูตจากสถาบันเลวี นครซิดนีย์ กล่าวว่า สหรัฐฯมองว่าเสรีภาพในอินเตอร์เน็ตถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดอันหนึ่งในศตวรรษ  การต่อสู้ระหว่างสื่อเปิดและสื่อปิด มีความคล้ายคลึงกับการต่อสู้ระหว่างแนวคิดทุนนิยมและคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น

สหรัฐฯนอกจากจะวิพากษ์วิจารณ์จีนแล้ว ยังแสดงการคัดค้านต่อแผนของออสเตรเลียในการใช้การกลั่นกรองเนื้อหาทางอินเตอร์เน็ต  และไม่พอใจเมื่อนายกฯเดวิด คาเมรอน แสดงความเห็นว่าควรมีการปิดสื่อออนไลน์ระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นเดียวกับเหตุจราจลในลอนดอนเมื่อปีที่แล้ว

โดยนับตั้งแต่เขาจัดพิมพ์ผลการศึกษาชิ้นสำคัญ ที่ว่าด้วยการทูตอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเดือนมีนาคม เขาได้รับการติดต่อจากหลายประเทศ  อาทิ จีน และรัสเซีย  ขณะที่ประเทศเล็กๆ อย่างไอร์แลนด์หรือนิวซีแลนด์ ต่างกำลังพัฒนาศักยภาพของการทูตอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหนึ่งก็เพราะมีราคาถูกและสามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีความห่างไกลในทางภูมิศาสตร์ได้




ด้านกระทรวงต่างประเทศและเครือจักรภพอังกฤษ การสื่อสารด้วยสื่อสมัยใหม่ เท่ากับเป็นการลบล้างภาพที่มักถูกคนภายนอกมองว่าอนุรักษ์นิยมและล้าสมัย

นายพอล แมดเดน ข้าหลวงใหญ่ของกระทรวงฯในกรุงแคนเบอร์ราของออสเตรเลีย เขียนในบล็อกส่วนตัว เขาเพิ่งเห็นสก็อตแลนด์ชนะรักบี้แมตช์แรกในแผ่นดินออสเตรเลียเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี  ขณะที่นายปีเตอร์ มิลเล็ตต์ ทูตประจำซีเรีย กล่าวในบล็อกส่วนตัวถึงสถานการณ์บริเวณพรมแดนซีเรียว่า เขาเห็นชายคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก หลังจากข้ามพรมแดนจากซีเรีย ตาของเขาเปิดกว้าง และบอกว่าเขาเห็นน้องสาวและลูกๆทั้ง 7 คนถูกสังหารโดยรัฐบาล

ด้านนายบ็อบ คาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียคนใหม่ มักใช้ทวิตเตอร์ ซึ่งมีผู้ติดตามอยู่มากกว่า 16,000 คน เพื่อแจ้งว่าเขารับประทานเมนูอะไรเป็นอาหารเย็น โดยล่าสุดเป็นเมนูเนื้อสันในจิงโจ้ วางโปะอยู่บนมะเขือเทศสดๆ  พร้อมทั้งขิง พืชสมุนไพร หัวเฟนเนล ซึ่งเขาบอกว่าเป็นเมนูที่ยอดเยี่ยมที่สุด นอกจากนั้น นายคาร์ยังมักเขียนบทวิจารณ์หนังและหนังสือลงในบล็อกส่วนตัว

ส่วนนายเควิน รัดด์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียคนก่อน มักใช้ทวิตเตอร์เพื่อเล่าถึงอาการแจสเปอร์ ของแมวของเขา  ขณะที่กระทรวงการค้าและต่างประเทศ ไม่สนใจในการใช้ช่องทางดังกล่าวมากนัก และมีการทวีตเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

แต่แน่นอนว่าการทูตอิเล็คทรอนิกส์ ย่อมนำมามาซึ่งความยุ่งยาก เพราะแม้แต่ผู้ช่ำชองอย่างนายคาร์ล บิลดท์ รัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน ก็เคยมีปัญหาเช่นกัน โดยช่วงก่อนหน้าการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรัม ที่เมืองดาวอส ในปีนี้ เขาได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นสารที่แสดงถึงความไม่รู้สึกรู้สาอะไร

"กำลังออกจากสต็อกโฮล์มไปดาวอส เพื่อร่วมทานอาหารค่ำกับโครงการอาหารโลก  เรื่องความหิวโหยถือเป็นประเด็นสำคัญ! #ดาวอส"  ซึ่งได้รับเสียงตอบรับในทางลบจากผู้เล่นที่โต้ตอบโดยใช้แฮชแท็คว่า #ล้มเหลว

ขณะที่บางรายยังคงรักษาท่าทีและเก็บตัวเงียบ นางฮิลลารี คลินตัน ซึ่งกระทรวงของเธอถือเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในสื่อสังคมออนไลน์ ไม่เคยทวีทเลยแม้แต่ครั้งเดียว



19 ปี วัดพระบาทน้ำพุ ภาพสะท้อนสถานการณ์โรคเอดส์ในไทย




รายการ Intelligence ประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2554

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ระบุว่า มีการรายงานการพบเชื้อเอดส์ในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี 2528  หรือเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา  ช่วงที่โรคเอดส์แพร่ระบาดสูงสุด คือปี 2534-2539 มีผู้ติดเชื้อต่อปีสูงถึง 1 แสน – 1.5 แสนรายต่อปี เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 60,000 คน สถานการณ์โรคเอดส์ในไทยดีขึ้นหลังรัฐบาลอานันท์ และรัฐบาลชวนรณรงค์อย่างจริงจังเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณาสุข รายงานสถิติคนไทยติดเชื้อเอดส์รายใหม่ต่อปี  ขณะนี้อยู่ที่     1.2-1.6   หมื่นรายต่อปี จำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 1 หมื่นรายต่อปี เนื่องจากผู้ป่วยเอดส์เกือบ 100 เปอร์เซนเข้าถึงยาต้านไวรัสทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเอดส์ดีขึ้น และมีอายุยืนยาวมากขึ้น

ในระยะ  4-5 ปีมานี้ มีแนวโน้มว่าการแพร่ระบาดของโรคเอดส์จะกลับมาใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มรักร่วมเพศ และกลุ่มวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร สัญญาณบ่งชี้คือตัวเลขการติดเชื้อเอชไอวีของชายรักชายในเมืองใหญ่สูงขึ้น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่น และการตั้งท้องโดยไม่พร้อมของวัยเพิ่มมากขึ้น สะท้อนถึงปัญหาการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน

วัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี เริ่มให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์มาตั้งแต่ปี 2535 เน้นการดูแลผู้ป่วยแบบบูรณาการ ด้วยหลักปรัชญาพุทธศาสนา คือความเมตตา  ขณะนี้ดำเนินการสองส่วนหลัก คือ บ้านพักดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการหนัก  และศูนย์พักฟื้นผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง  มีการเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากพ่อแม่ติดเอดส์  และงานอีกส่วนที่ได้รับความสนใจ คือการเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์

รายการ Intelligence  พบกับ พระอุดมประชาทร เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ผู้บุกเบิกโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์  บอกเล่าถึงสถานการณ์โรคเอสด์ในประเทศไทย พร้อมเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้โรคเอดส์ภายในวัดพระบาทน้ำพุ


Produced by VoiceTV

ลาตินแดนซ์(Latin Dance) เต้นเพื่อสุขภาพ



นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างโดดเด่นชัดเจนแล้ว ทุกท่วงท่าที่ปรากฏออกมาล้วนบ่งบอกถึงเอกลักษณ์เฉพาะตน แสดงออกถึงความเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี และการมีวัฒนธรรม...

   ลาตินแดนซ์(Latin Dance) คือหนึ่งในหลายๆ แขนงของการเต้นรำ ท่วงท่าลีลาและจังหวะดนตรีมีต้นกำเนิดมาจากการเต้นรำพื้นเมืองของประเทศในแถบลาตินอเมริกา ส่วนใหญ่จะเต้นกันในงานเลี้ยงฉลอง หรืองานเทศกาล เน้นจังหวะที่สนุกสนานเร้าใจด้วยสเต็ปง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่มีแบบแผนตายตัว แต่มีเอกลักษณ์ 

“ลีลาที่เร่าร้อนสอดรับกับจังหวะเสียงเพลงที่เร้าใจ ทำให้คุณรู้สึกถึงพลังและความเซ็กซี่ของตัวเอง” คุณจิ๋ม-ผาสุข ปลัดรักษา ครูสอนคลาส ลาตินเฟียสต้า(Latin Fiesta) ให้คำนิยาม

“การเต้นรำสไตล์ลาตินเริ่มโด่งดังในยุโรปและอเมริกาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 สำหรับในประเทศไทยเพิ่งเข้ามาแพร่หลายได้ไม่กี่ปี แต่ถึงแม้จะเข้ามาได้ไม่นาน การเต้นสไตล์นี้ก็ทำให้ใครต่อใครหลายคนหลงใหลไม่น้อยทีเดียว การเต้นลาตินแบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรกคือสไตล์ลาตินอเมริกัน มีอยู่ 5 จังหวะ คือ Cha Cha Cha, Cuban Rumba, Samba, Paso Doble และ Jive หรือ Rock'n'Roll แต่ละจังหวะจะมีจุดเด่นที่ต่างกันไป เช่น Cha Cha Cha ที่ดูเหมือนการเต้นหยอกล้อเกี้ยวพาราสี Samba เป็นลีลาการเต้นในงานเทศกาลต่างๆ ของชาวบราซิล ขณะที่ Cuban Rumba มาจากประเทศคิวบา จะเต้นแบบยั่วยวนนิดๆ แบบที่สองคือลาตินแบบ Social ซึ่งมีหลายประเภทมากๆ ที่โด่งดังที่สุดคือ Salsa ซึ่งเราคุ้นเคยกันดี”

ลาตินกับลีลาศ“คำว่า ‘ลีลาศ’ มันเป็นภาษาไทย ซึ่งมาจากคำว่า ‘แดนซ์’ ในภาษาอังกฤษนั่นแหละค่ะ เราบัญญัติศัพท์คำว่าลีลาศ แทนคำว่าเต้นรำ เพราะคำว่าเต้นรำเมื่อเป็นคำผวนแล้วฟังดูไม่ดี” ครูจิ๋มเล่า “คนไทยพอได้ยินคำว่าลีลาศก็มักจะคิดถึงจังหวะเนิบๆ ช้าๆ แต่จริงๆ แล้วการเต้นลีลาศทุกประเภทมันเป็น Basic Figures(ท่าเต้นพื้นฐาน) เดียวกัน แตกต่างกันที่สไตล์การเต้น พอมีคำว่าลาตินเข้าไปมันจะเป็นอะไรที่แรงขึ้น ความแข็งแรง ความเร็ว และความเซ็กซี่มันจะต่างกัน”

   เต้นเพื่อสุขภาพ 
ลาตินเฟียสต้านอกจากเป็นคลาสเต้นรำที่สนุกสนานแล้ว ครูจิ๋มบอกว่ายังเป็นการออกกำลังกายที่ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย “เรารู้กันอยู่แล้วว่าการเต้นรำคือการออกกำลังกายที่ดีมาก เพราะเราได้เคลื่อนไหวและใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย การเต้นลาตินจะเน้นที่ช่วงล่าง แต่ช่วงบนก็ได้บริหารเหมือนกัน ขาของคุณจะแข็งแรง เพราะเป็นส่วนที่รับบทหนักที่สุด รองลงมาคือก้นและสะโพก จริงๆ แล้วกล้ามเนื้อตั้งแต่หน้าท้องลงไปจะได้ใช้หมดเลยนะ ถ้าเห็นท่าเต้นจะรู้เลยว่าเหนื่อยมาก เพราะใช้แรงเยอะ สังเกตมั๊ยว่าคนที่ชอบเต้นรำรูปร่างจะค่อนข้างฟิตและเฟิร์ม นอกจากนี้การเต้นรำยังเป็นกิจกรรมที่นิยมมากในการเข้าสังคม เป็นการแสดงออกที่สร้างสรรค์ ทำให้รู้สึกกระฉับกระเฉง และลดความเครียดจากการทำงานได้ รวมทั้งยังเป็นการออกกำลังกายที่ไม่หนักเกินไป และไม่เป็นอันตรายสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ”

  เสน่ห์แห่งการเต้นเส้นทางบนฟลอร์ของครูจิ๋มเริ่มต้นขึ้นในวัย 30 ต้นๆ จากการเป็นคนชอบฟังเพลง โดยเฉพาะแนวลาติน ครูจิ๋มคิดฝันอยากจะเต้นรำกับเขาบ้าง เพราะเธอหลงใหลในจังหวะย่างเท้าที่สอดรับกับจังหวะเสียงเพลงที่เร้าใจ อันเป็นศิลปะที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจมากสำหรับเธอ “แรกเริ่มเดิมทีเป็นคนชอบฟังเพลงลาติน จริงๆ แล้วฟังมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ตอนนั้นไม่ได้ชอบเต้นนะ ชอบฟังอย่างเดียว ตอนเด็กๆ ไม่รู้หรอกว่ามันคือเพลงลาติน โตมาถึงได้รู้ พอสนใจก็เริ่มศึกษาด้วยตัวเอง อ่านหนังสือ ซื้อเทปมาดู หรือไปดูการแข่งขันที่เมืองนอก ที่ชอบเต้นรำเพราะมันไม่เหมือนกีฬาชนิดอื่นๆ ที่ใช้เฉพาะพละกำลังอย่างเดียว แต่การเต้นรำต้องใช้ทั้งความแข็งแรง ต้องเป็นคนที่มีอารมณ์ศิลปะ มีลีลา และต้องรู้จักแสดงด้วย เหมือนกับเอาศิลปะทั้งสองอย่างมารวมเข้าด้วยกัน การเต้นลาตินไม่ยากหรอกค่ะ สิ่งสำคัญอยู่ที่ใจ การเต้นที่ดีนั้นต้องใช้ใจเต้นด้วย ส่วนเทคนิคต่างๆ เราสามารถฝึกและพัฒนาได้ภายหลัง เพราะฉะนั้นคนเรียนต้องมีใจรัก บังคับกันไม่ได้” ครูจิ๋มเริ่มเต้นลาตินมาได้ 10 กว่าปีแล้ว แม้ตอนนี้วัยจะย่างเข้า 48 ปี แต่เธอบอกว่ายังมีไฟและจะยังคงเต้นต่อไป...แล้วคุณล่ะพร้อมเต้นไปกับเธอหรือยัง? 


Sexy Salsa
เซ็กซี่สไตล์ลาติน


หากคุณชื่นชอบการเต้นรำสไตล์ลาติน คุณต้องไม่พลาดคลาส “เซ็กซี่ซัลซ่า(Sexy Salsa)” อีกหนึ่งทางเลือกของความร้อนแรงและเซ็กซี่ในสไตล์ลาติน เต้ย-ภคิน ถนอมเกียรติ ครูหนุ่มหนึ่งเดียวจากคลาสซัลซ่าและลาตินที่ CWX เล่าว่า 

“การเต้นซัลซ่าเป็นหนึ่งในจังหวะการเต้นสไตล์ลาติน ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศคิวบา โดยทั่วไปซัลซ่าแบ่งสไตล์การเต้นออกเป็น 2 สไตล์ คือแบบลาตินอเมริกา ซึ่งจะไม่เน้นลีลา แต่เน้นที่ท่วงท่าเซ็กซี่ และแบบคิวบา ซึ่งมีท่าเต้นนับร้อยๆ ท่า นอกจากนี้ยังมีซัลซ่าสไตล์เปอร์โตริโกอีกด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นสไตล์ไหนโดยพื้นฐานแล้วจะไม่ค่อยแตกต่างกันในเรื่องจังหวะและดนตรี แต่จะต่างกันที่สเต็ปการเต้น ซัลซ่าเป็นการเต้นที่เซ็กซี่ จังหวะของดนตรีและกลองจะสนุกสนานและเร้าใจมากกว่าการเต้นแบบอื่นๆ ผู้เต้นจะเน้นการใช้ body movement สื่อถึงความสง่างาม และดึงความเซ็กซี่ในตัวออกมา ที่แยกคลาสซัลซ่าถูกแยกออกมาจากคลาสลาตินอาจเป็นเพราะซัลซ่าเป็นจังหวะที่เต้นง่ายที่สุด ลักษณะการขยับเท้ามีแค่ก้าวหน้า-ก้าวหลัง จึงเหมาะสำหรับผู้เริ่มเต้นใหม่ๆ”

คำแนะนำก่อนเต้นซัลซ่า- เสื้อผ้าที่สวมใส่ควรจะดูเซ็กซี่นิดๆ เวลาเต้นจะได้อารมณ์มากขึ้น
- เวลาเต้นควรเต้นด้วยใจ เพื่อดึงความเซ็กซี่ที่แท้จริงออกมาจากภายใน
- ต้องตั้งใจฟังจังหวะเพลง เพื่อที่จะได้เต้นอย่างถูกต้อง
- ทำใจให้พร้อมและเปิดใจรับความสนุกสนานให้เต็มที่