ระดมสมองสร้างภาวะผู้นำ ไขปริศนา DNA of Leadership "สร้างกันได้ หรือมาแต่กำเนิด"
ดัง ที่ทราบ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจจัดเทศกาล คืนกำไรให้ผู้อ่านเป็นประจำทุกปี ทั้งนั้นเพื่อเป็นการตอบแทนผู้อ่าน ที่ตลอดระยะเวลาผ่านมาได้ซื้อหนังสือพิมพ์ ลงโฆษณา หรือทำกิจกรรมร่วมต่าง ๆ กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
สำหรับปีนี้ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจร่วมมือกับบริษัท เอพีเอ็ม กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ด้วยการจัดสัมมนาในหัวข้อที่ว่า "DNA of Leadership สายพันธุ์เพื่อความสำเร็จขององค์กร"
ที่ไม่เพียงจะมีแม่เหล็กชั้นดี อย่าง"ฤทธิ์ ธีระโกเมน" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสเตอรองต์ จำกัด และ "อนุพงษ์ อัศวโภคิน" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) มาเป็นวิทยากรพิเศษ หากยังมี "พระไพศาล วิสาโล" เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ มาร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องเกี่ยวกับธรรมะสำหรับผู้นำด้วย
โดยมี "อริญญา เถลิงศรี" กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอพีเอ็ม กรุ๊ป เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมกับนำเสนอผลวิจัยจากสถาบันเอเอ็มเอ สหรัฐอเมริกา ในเรื่องที่เกี่ยวกับ DNA of Leadership
ซึ่งเบื้องต้น "อริญญา" มองภาพรวมจากงานวิจัย โดยบอกว่า เวลาเราพูดถึง DNA of Leadership เราไม่ได้มามองหาคนที่ต้องเกิดมาเป็นผู้นำ เพราะผลวิจัยบอกว่า องค์กรส่วนใหญ่ในวันนี้ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงผู้นำกันอย่างจริงจัง
"เพราะ จากงานวิจัยปรากฏว่า การสร้างผู้นำในองค์กร แต่ก่อนใช้หลักสูตรอะไร ทุกวันนี้ก็ยังใช้หลักสูตรเดิม ๆ อยู่ และ 15 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ก็ยังเหมือนเดิม หมายความว่า เรายังจะเอาหลักสูตรเก่า ๆ สมัยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว มาสร้างผู้นำในอนาคตกันต่อไปหรือไม่"
"ผลการวิจัยจะออกมา เยอะว่า หน่วยงานราชการ และองค์กรต่าง ๆ จากทั่วโลก ยังยึด และเน้นในภาคของอดีต และพยายามที่จะสร้างต่อ ๆ มา หรือบางองค์กรอาจจะระบุลงไปว่า ต้องหาคนแบบนั้น แบบนี้ ถึงจะใช่"
"คำ ถามจึงเกิดขึ้นว่า เวลาที่เราพูดถึง DNA of Leadership จริง ๆ แล้วคืออะไร เพราะวันนี้ต่างกับแต่ก่อนมาก ต่อให้มีกลยุทธ์ที่ดีสำหรับองค์กร
นอก จากนั้น "อริญญา" ยังมองว่า วันนี้ เราต้องหาให้ได้ หาให้เจอ ว่าในอนาคต ถ้าองค์กรนั้น ๆ จะประสบความสำเร็จ จะต้องมีผู้นำแบบไหน วิธีคิดแบบใด ต้องถอดรหัสออกมาให้ได้
"เพราะวันนี้ เวลาพูดถึงคำว่าผู้นำ ทำไมคำว่า DNA จึงถูกนำเอามาใช้บ่อย ซึ่งแน่นอนว่า ยุคนี้ สำหรับผู้นำ ศักยภาพอย่างเดียว คงไม่พอ เพราะมันลึกกว่านั้นเยอะ ลึกถึงขนาด ความคิด และจิตใจ ไม่ใช่ว่าจะปล่อยให้เป็นอย่างไรก็ได้ และจากผลวิจัยการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ๆ กลับไม่ใช่งานของ HR แต่เป็นงานของผู้นำระดับสูงในองค์กร ในภาพที่สำคัญเลย คือเราต้องเป็นคนสร้าง เป็นคนกำหนด ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะปล่อยไปเรื่อย ว่าจะเป็นใคร ยังไงก็ได้"
"จุดที่น่าสนใจจากผลวิจัย คือคนยุคใหม่ไม่ได้เลือกทำงานที่องค์กร แต่กลับมองว่า ทำงานให้ใคร ผู้นำคือใคร ต่างจากผลสำรวจในอดีต ที่คนส่วนใหญ่จะดูที่ชื่อเสียงของบริษัท แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เกินกว่า 40 ประเทศ พบว่ากว่า 90%Generation Y มองว่า จะเลือกทำงานให้ใครมากกว่า มองชื่อเสียงขององค์กร"
"วันนี้ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้นำหลาย ๆ คนว่า ต้องกลับไปดูคนในองค์กร ว่าวันนี้ วิธีคิดของคนในองค์กร ยังเป็นแบบเก่าอยู่หรือเปล่า สามารถที่จะปรับเปลี่ยนวิธีคิดได้หรือไม่ และความคิด วิธีคิด การแสดงออก แบบไหนที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน และองค์กรเราในอนาคต"
นอกจาก นั้น ผลวิจัยยังระบุว่า ผู้บริหารระดับสูงที่ประสบความสำเร็จ 50% สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่อีก 50% อาจจะไม่สามารถปรับตัวได้ โดยผลสำรวจกว่า 40 ประเทศ พบว่าสติสำคัญมาก ๆ และผลวิจัยก็ระบุชัดเจนว่าต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนั้น "อริญญา" ยังตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่คำตอบว่า ทำไมยุคสมัยนี้ คำว่า Talent Management หรือ Succession Planning จึงเข้ามามีบทบาทเยอะมาก ทั้ง ๆ ที่เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว เราไม่เน้น คำนี้มาก
"คำ ตอบ คือสมัยก่อน ผู้นำอาจไม่ต้องปรับเปลี่ยนมาก แต่ในยุคนี้ แม้บริษัทยักษ์ใหญ่ยังล้มได้ ฉะนั้น จึงถึงเวลาแล้ว ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของผู้นำ และจากผลวิจัยที่สำรวจไปทั่วโลก ไม่มีที่ไหน องค์กรใด หรือหน่วยราชการไหนบอกว่า ไม่มีอะไรต้องเปลี่ยน มีแต่เปลี่ยนมาก หรือปานกลาง แต่ไม่มีที่ไหนจะเปลี่ยนน้อยเลย"
"หลาย ๆ องค์กรหาคนมาก็ไม่สำเร็จ เพราะดูแค่บุคลิกที่โดดเด่นแล้วก็รับเข้ามา ปรากฏว่าไม่สามารถตอบสนองต่อองค์กรได้ คำถามจึงเกิดตามมาว่า ทำไมองค์กรส่วนใหญ่จึงล้มเหลวในการเตรียมคนสำหรับอนาคต จากผลวิจัยพบว่า องค์กรที่ล้มเหลวในการสร้างผู้นำ คือไม่ได้ชี้ชัดว่า พฤติกรรมแบบไหนที่องค์กรต้องการ สำหรับผู้นำในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างยาก หรืออาจจะสร้างไม่ได้ เพราะฉะนั้น บางเรื่องอาจจะสร้างยาก หรืออาจจะใช้เวลานานมาก"
"ฉะนั้น การทำ Talent Management หรือ Succession Planning อาจจะต้องมาเริ่มหาสิ่งที่สร้างยากก่อน แล้วค่อยไปพัฒนา เพิ่มเติมสิ่งที่สามารถสร้างได้ต่อไป อันนี้เป็นประเด็นที่เจอเยอะในผลวิจัย และหลาย ๆ คนก็กลับไปมองระบบการคัดสรรผู้นำในองค์กรใหม่"
นอกจาก นั้น ในมุมมอง "ฤทธิ์" ต่อเรื่อง DNA of Leadership สายพันธุ์เพื่อความสำเร็จขององค์กร โดยเบื้องต้นเขามองว่า เรื่องของผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสิ่งที่ ผู้บริหารระดับสูงทำอยู่ แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า ผู้นำในประเทศไทยนั้นหาได้ยาก
"ผู้นำใน รุ่นแรก ๆ นั้น เก่งบวกเฮงก็เพียงพอ แต่ในยุคนี้มันต่างไป คุณสมบัติของผู้นำยุคนี้ คงไม่ใช่แค่มีคนตามอย่างเดียว เพราะสมัยนี้ผู้นำบางคนก็ไม่มีคนตาม เพราะทุกอย่าง Online หมด แต่ในโลกของความเป็นจริง ยังไงก็ต้องมีคนตาม"
"ในฐานะที่ลงเรือลำ เดียวกัน ทั้งผู้นำกับผู้ตามก็ต้องไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าถามว่า ใครเป็นคนนำ แน่นอน ก็ต้องเป็นผู้นำ ฉะนั้น ทุกวันนี้จึงมีคำศัพท์ใหม่ ๆ เยอะมาก และเรื่องใหม่ ๆ สำหรับผู้นำก็มีเยอะ แต่สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนอาวุธของผู้นำ แต่ผู้นำที่ดี แม้ไม่มีเครื่องมือ หรืออาวุธใด ๆ ก็นำได้ แม้จะมีแค่มือเปล่า"
"ฤทธิ์" จึงมองว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้นำในยุคนี้ จึงต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 14 ประการ คือ
หนึ่ง ความซื่อตรงและไว้วางใจได้ การมีความเป็นผู้นำไม่ใช่สิ่งดีเสมอไป เพราะบางครั้งก็มีผู้นำที่ไม่ดี ก็เหมือนเอาอาวุธไปให้ผู้ร้าย การเป็นผู้นำจึงต้องทำให้คนที่ตามอยู่นั้นไว้ใจเรา ขณะเดียวกัน ผู้นำก็ต้องโปร่งใสและเปิดเผย
สอง ความยุติธรรม ปัญหาในบ้านเรา ส่วนมากเกิดจากความไม่ยุติธรรมซะส่วนใหญ่
สาม ไม่เย่อหยิ่ง ถ่อมตัว เราต้องวางตัวให้ดี ถ้าวางตัวสูงไป คนก็ไม่ชอบ และ ไม่สนับสนุน
สี่ เป็นผู้ฟังที่ดี
ห้า สมองเปิดกว้าง บางคนเป็นผู้ฟังที่ดี แต่ไม่ยอมเปิดใจ ผู้นำต้องเปิดใจรับความคิดใหม่ ๆ แม้จะแตกต่างกันและหลากหลาย
หก ไวต่อความรู้สึกของมนุษย์ เรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่ สมัยนี้ผู้นำต้องเป็นคนใช้ พนักงานต้องการอะไร ผู้นำก็ดูแลจัดหาให้ คอยดู คอยถาม ว่าเป็นอย่างไร ทำงานได้ไหม ความรู้พอหรือเปล่า ขาดความรู้เรื่องไหนบ้าง ถ้าทำได้ จะเป็นผู้นำที่คนรัก
เจ็ด ไวต่อสถานการณ์ ไวต่อสิ่งใกล้ตัวของเรา เรื่องในโลก และเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเรา ผู้นำต้องไว เพราะไม่เช่นนั้น จะมาโดนเราไม่รู้ตัว
แปด มีความคิดริเริ่ม MK ที่ผมดูแลนั้น ให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก
เก้า มีวิจารณญาณ ต้องเป็นคนที่แยกแยะได้ว่า เวลาเราตัดสินใจ เราเชื่อข้อมูลได้มากแค่ไหน
สิบ มีอุเบกขา ความอดกลั้น
สิบเอ็ด มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้
สิบสอง มีการตัดสินใจที่ดี
สิบสาม มีการจูงใจที่ดี
สิบสี่ มีความเร่งด่วนต่อปัญหา
"สรุป คือใน14 ประการข้างต้น สำหรับผมแล้ว ผมเชื่อเรื่องความไว้วางใจต้องมาก่อน และหัวใจของผู้นำ คือจุดนี้ ฉะนั้น ถ้าไม่มีใครไว้วางใจตั้งแต่แรก ก็จบแล้ว"
เช่นเดียวกัน ในมุมมองของ "อนุพงษ์" กลับมองว่า เรื่องของผู้นำเป็นเรื่องที่จับต้องยากมาก เพราะจากประสบการณ์ของผมตั้งแต่เล็ก อยู่ที่บ้านก็คุยเรื่องงานกันตลอด มันจึงปลูกฝังลงไปในตัวผมด้วย
"ซึ่งเป็นข้อดีมาก ๆ เพราะอายุสัก 11-12 ปี ผมรู้จักการทำโฆษณา และด้วยความที่รักการอ่านมาตั้งแต่เล็ก จึงทำให้เราติดนิสัยเรื่องการเรียนรู้ และเรื่องของผู้นำนั้น เป็นเรื่องที่เฉพาะจริง ๆ ผมอ่านหนังสือมาเยอะ แต่คิดว่า ถ้าทำตามหนังสือเพียงอย่างเดียว อาจจะเจ๊งได้ เพราะเรื่องภาวะผู้นำ เป็นเรื่องที่เฉพาะจริง ๆ เช่น ในตำราบอกให้จ้างคนเก่ง ๆ มาก ๆ แต่ตอนที่ผมเพิ่งเปิดบริษัทใหม่ ๆ ยังหาคนสมัครงานไม่ได้เลย แล้วจะหาคนเก่ง ๆ มาจากไหน"
"เขาจะยอมมาทำงานหรือ อย่าว่าแต่คนที่มีประสบการณ์เลย คนที่เพิ่งจบใหม่ ๆ ยังหายากเลยครับ เพราะฉะนั้น ผู้นำต้องนำให้ได้ ทำให้ได้ทุกอย่าง ผมขอเรียนตรง ๆ ว่า ไม่ได้ตั้งบริษัทเพียงคนเดียว มี partner ชื่อคุณพิเชฐ วิภวศุภกร ซึ่งเป็นเพื่อนคู่คิด และช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ซึ่งทั้งผมและ partner เป็นคนที่ตรงกันข้ามเลย คิดก็ไม่เหมือนกัน จึงเป็นข้อดีว่า เอาความคิดมาปรึกษากัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราทำงานร่วมกันได้ คือความเกรงใจ ผมว่า ถ้าเป็นเพื่อนกัน ทำงานร่วมกัน อาจจะเจ๊งได้ แต่ด้วยความที่เป็น partner จึงมีความเกรงใจ เป็นตัวช่วยให้ทำงานด้วยกันได้"
นอกจากนั้น "อนุพงษ์" ยังมองบทบาทของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ หรือ HR ว่า ยอมรับ แรก ๆ เกลียด HR มาก เพราะสมัยก่อน HR ในความรู้สึกผม เหมือนมาเฟียในองค์กรชัด ๆ
"ดัง นั้น แรก ๆ บริษัทจึงไม่มี HR ในสมัยก่อน องค์กรของผม จึงเป็นลักษณะของ Marketing Driven คือเน้นเรื่องของการตลาดเพียงอย่างเดียว แต่องค์กรที่ดี ควรจะเป็นองค์กรที่เป็น People Driven คือขับเคลื่อนไปด้วยคน"
"ฉะนั้น อย่างหนึ่งเลย หลังจากตอนช่วงปี 2007 ที่เราเริ่มทำ Vision และ Mission ขององค์กร เราก็เริ่มมากำหนด DNA ของคนในองค์กร ว่าควรจะเป็นอย่างไร และหลังจากนั้น ผมก็ได้ริเริ่มให้มีระบบการสร้างผู้นำในองค์กร โดยให้มี Coaching สำหรับผู้นำ และเอากลยุทธ์ขององค์กร และให้เด็กมาช่วยกันคิด แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเราอยากจะให้เด็กของเรามี Innovation แต่เราไม่ได้ให้เครื่องมือเขา"
"หรือการที่จะเอาคนมาฝึกอบรม แต่เราไม่ได้ฝึกตามความถนัด หรือด้านเด่นของ คน ๆ นั้น เราไปฝึกตามสิ่งที่เราคาดหวังไว้ สุดท้ายก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร"
ดัง นั้น "สำหรับความเป็นผู้นำ หลายคนคิดว่า คุณค่าของเรา คือการที่นั่งอยู่แล้ว เด็กวิ่งมาหาเรา มาถามปัญหาเรา ผมว่า เราต้องกลับไปคิดใหม่ คุณค่าของเรา คือนั่งอยู่นิ่ง ๆ และมองไปในอนาคต และเตรียมการเพื่ออนาคต"
"ต่อจากนั้น สิ่งที่ผมให้ความสำคัญ มาก ๆ คือการทำ Assessment หลาย ๆ ครั้ง เราทำพลาด โดยการเอา Top Sale ไปเป็น Sale Supervisor สิ่งที่เราได้ คือเราได้ Sale Supervisor ที่ห่วยหนึ่งคน จนสุดท้ายก็เสียทั้ง Sale ที่เก่ง และ Supervisor ที่เก่งไป เพราะไม่สามารถทำได้"
"คำถาม คือเราเอาคนที่ไม่มีความสามารถในการ Management มาทำตรงนี้ สุดท้ายจะทำได้อย่างไร เมื่อเราเจออย่างนี้ เราจึงมาเน้นเรื่องของการวัดประเมินคน เพื่อวัดดูว่า คน ๆ นั้นขาดอะไรจริง ๆ และเอาโปรแกรมต่าง ๆ มาช่วยเสริม ช่วยเติมลงไป ซึ่งตรงนี้ ผมเป็นคนลงไปดูเอง ผลักดันเองอย่างจริงจัง อยากจะฝากเอาไว้ว่า งานของ CEO สุดท้ายแล้วอยู่ที่คน เราต้องดูคน ทำงานกับคน และผลักดันคน"
"เพราะ การทำงานในองค์กร เราต้องมาดูคน ดูโครงสร้าง ดูการทำงาน ว่าไปด้วยกันได้หรือเปล่า เพราะทุก ๆ อย่าง ไม่ว่าจะระบบ โครงสร้าง อะไรก็ตาม มันต้องมีคนอยู่"
"และสำคัญมาก ๆ สำหรับผู้นำ คือ วิสัยทัศน์ ชัดขนาดว่า มองให้ออกว่าจะให้ในอนาคตเป็นยังไง ลูกค้าสัมผัสอย่างไร จะบริการยังไง และต้องมี passion ที่จะทำให้ vision สำเร็จ และต้องสามารถ inspire คนให้เห็นวิสัยทัศน์ร่วมกับคุณให้ได้"
"เพราะ การเปลี่ยนวิธีคิดของคนยากมาก บางครั้ง เราอาจจะต้องนำคนจาก Industries อื่นมาผสมบ้าง เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นใหม่ ๆ วิธีคิด หรือวิธีการทำงานใหม่ ๆ ถึงจะทำให้คนในองค์กรเกิดแรงผลัก"
ขณะเดียวกัน ในมุมมองของ "พระไพศาล วิสาโล" กลับมองเรื่องของ DNA of Leadership น่าจะต้องเกี่ยวข้องกับ "ธรรมะสำหรับผู้นำ" เพราะผู้นำ คือผู้ที่สามารถนำพาผู้คนให้ทำภารกิจจนลุล่วงตามเป้าหมาย
แต่การที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น จำเป็นต้องมี 2 สิ่งประกอบกัน คือ
หนึ่ง วิธีการผลักดันให้งานสำเร็จ
สอง การชักนำ บันดาลใจผู้คนให้ขับเคลื่อนงาน
"ซึ่ง คุณสมบัติของผู้นำในการชักนำ หรือบันดาลใจผู้คน นอกจากจะต้องเสียสละ ทำเพื่อคนอื่นได้ กล้าหาญ กล้าชนอุปสรรค ถ้าไม่กล้าทำ ก็ยากที่คนจะทำตาม มีปัญญา ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ถ้าไม่สามารถรับรูปความทุกข์ได้ ก็ไม่สามารถทำงานได้ ถ้าเอาแต่สบาย ไม่ไปดูลูกน้อง อย่างผู้บริหารสายการบินแห่งหนึ่ง จะกำหนดว่า เดือนไหน เวลาไหน จะลงไปทำงาน ตำแหน่งอะไร ลงไปถึงระดับล่าง ๆ เพื่อรับรู้ปัญหา"
"เมตตากรุณา สำคัญมาก สำหรับการ สร้างศรัทธา และความน่าเชื่อถือ เปิดโอกาส เพื่อให้ลูกน้องได้แสดงความสามารถ ไว้ใจว่าลูกน้องสามารถทำได้ สร้างความมั่นใจให้กับลูกน้อง ให้ความไว้วางใจ ให้โอกาสได้ตัดสินใจ ใจกว้าง รับฟัง ให้มีส่วนร่วม ถ้าเราฟัง ลูกน้อง ก็ทำให้เขารู้สึกว่ามีคุณค่า มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ยกความดีให้ผู้อื่น ผู้นำต้องเสียสละ คนเป็นผู้นำ ต้องยกความดีให้ผู้อื่น เพื่อให้คนอื่นมีกำลังใจ และความรับผิดอยู่กับผู้นำ ความชอบตกอยู่กับลูกน้อง คนที่ทำงานด้วยก็รู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ"
"เป็นกันเอง ไม่ใช่ว่าผู้นำไปไหน ก็มีแต่คนกลัว ไม่กล้าเดินขึ้นลิฟต์ไปด้วย"
นอก จากนั้น "พระไพศาล วิสาโล" ยังอธิบายถึงเรื่อง "การนำเพื่อให้งานสำเร็จ" ที่จะต้องประกอบด้วยการนำ หรือชักชวนให้ทำตาม (lead from the front) ผู้นำริเริ่มในสิ่งที่คนไม่เคยทำ หรือยากที่จะทำ ผู้นำต้องเป็นแม่ทัพนำคนไปให้ได้ และกระตุ้นให้ เขาริเริ่มทำ หรือขับเคลื่อนงานด้วยตัวเอง (lead from the back) ผู้นำก็อยู่ห่าง ๆ คอยเป็นโค้ชให้
"ที่สำคัญ ผู้นำที่เป็นกัลยาณมิตร จะต้องไม่ใช่แค่สั่งอย่างเดียว แต่ผู้นำที่ดี จะต้องเป็นทั้งหัวหน้า ครู และเพื่อน ที่นอกจากจะน่ารัก น่าเคารพ น่ายกย่อง รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ แถลงเรื่องล้ำลึกได้ ยังจะต้องอดทนต่อถ้อยคำ และไม่ชักนำไปในทางเสื่อมเสีย"
ที่ไม่เพียงจะต้องขับเคลื่อนงานและบริหารคน หากในมุมมองของ "พระไพศาล วิสาโล" ยังมองไปถึงเรื่องการดูคนเป็น เห็นศักยภาพ, มีความยุติธรรม, เมตตากรุณา และหนักแน่น เพราะเรื่องดังกล่าวเกี่ยวพันกับอำนาจ 3 ประเภท คือ
หนึ่ง รับฟังความเห็นของเพื่อนร่วมงาน
สอง ให้เพื่อนร่วมงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
สาม พร้อมที่จะถูกนำ ทำตามมติของ หมู่คณะ
สรุป คือเคล็ดลับในการเป็นผู้นำ ตามความหมายของ "พระไพศาล วิสาโล" คือยอมที่จะเป็นฝ่ายถูกนำด้วย "เนลสัน แมนเดลา" อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้นำของประเทศแอฟริกาใต้คนปัจจุบัน ที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อประชาชนของโลก และประชาชนชาวแอฟริกันใต้ทุกคน
ซึ่งเขา นอกจากมีคุณธรรม ยังลดอัตตา ถ่อมตน ไม่อวดโอ้, ไม่หลงใหลในโลกธรรม และมีความมั่นคงภายใน
จนทำให้เขากลายเป็นผู้นำของโลกในวันนี้ ?
ประชาชาติธุรกิจ