กีฬา เป็นยาวิเศษ ยังคงเป็นความจริงเสมอ การเล่นกีฬา หรือการออกกำลังกายสามารถช่วยฟื้นคืนสมรรถภาพให้กับทุกส่วนของร่างกายได้ เป็นอย่างดี ไม่เว้นแม้แต่ผู้ป่วยโรคหัวใจ การออกกำลังกายจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพหัวใจให้กลับมาแข็งแรงได้ดีเช่นกัน
การ ฟื้นฟูหัวใจ เป็นกระบวนการที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจกลับมามีสมรรถภาพและความสามารถ ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ มีอาการเหนื่อยน้อยลง มีชีวิตความเป็นอยู่ดีเหมือนก่อนการป่วย ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ
การออกกำลังกาย
ใน อดีตวิทยาศาสตร์การแพทย์และเวชศาสตร์การกีฬา ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายเป็นอย่างมาก โดยเน้นการออกกำลังกายในรูปแบบที่จำเพาะเจาะจง เช่น ออกกำลังกายสร้างความทนทานของร่างกาย เป็นต้น ด้วยความเชื่อว่าการจะเพิ่มสมรรถภาพทางกายได้ดี จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างหนักเท่านั้น แต่ในระยะหลังมีหลักฐานว่าการประกอบกิจกรรมทางกาย ซึ่งรวมถึงการทำงานบ้าน ทำสวน และทำกิจกรรมสันทนาการยามว่างในปริมาณที่มากพอ ก็สามารถเพิ่มความสมบูรณ์ของสมรรถภาพร่างกายและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ การสนับสนุนให้ทำกิจกรรมให้ได้ปริมาณตามที่ต้องการ ก็สามารถนำไปปฏิบัติได้สะดวกกว่าการแนะนำให้ออกกำลังกายโดยตรง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลา ไม่มีสถานที่ที่จะออกกำลังกาย
สมรรถภาพทางกายมีอะไรบ้าง
1. สมรรถภาพของระบบหัวใจและปอด เป็นสมรรถภาพหรือความทนทานของการใช้ออกซิเจน ใช้เป็นค่าหลักเพื่อประเมินความสามารถในการทำงานและการเล่นกีฬาของบุคคลทั่ว ไป และใช้ในการประเมินเพื่อวินิจฉัย พยากรณ์โรคและติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ
2. สมรรถภาพของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อที่แข็งแรงทนทานช่วยให้ประกอบกิจวัตรประจำวันโดยไม่เหนื่อย ประเมินได้จากน้ำหนักที่ยกได้ หรือความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นขณะใช้กำลังในแบบต่างๆ ในผู้ป่วยโรคหัวใจก็นิยมฝึกให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เพราะสัดส่วนความหนักของแรงที่ใช้มีผลต่อความดันโลหิตโดยตรง หากกล้ามเนื้อแข็งแรงมาก เปอร์เซ็นต์ความหนักที่ใช้ในการทำงานก็ลดลง ช่วยให้ความดันโลหิตไม่เพิ่มหรือเพิ่มน้อย ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้ออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง
3. ความยืดหยุ่นของร่างกาย กล้ามเนื้อข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้น้อยกว่าปกติ จะลดประสิทธิภาพในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ทำให้ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเกิดอาการปวดได้ง่าย
4. สัดส่วนไขมันของร่างกาย ผู้ที่มีสุขภาพดีไม่ควรมีไขมันในร่างกายเกิน 30% เพราะไขมันส่วนเกินเป็นสาเหตุของโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ผู้ที่มี่ค่า BMI > 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร จะมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผลของการออกกำลังกาย ต่อ โรคหลอดเลือดหัวใจ
1. ชะลอการแข็งตัวของหลอดเลือด การออกกำลังกายช่วยลดความรุนแรงในการเกิดหลอดเลือดหนาตัว ชะลอความก้าวหน้าของโรค ซึ่งอาจเป็นผลของกิจกรรมทางกายโดยตรง หรือช่วยเบี่ยงเบนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ลดไขมัน ลดความดันโลหิต ลดโคเลสเตอรอล เป็นต้น
2. ยับยั้งการเกิดลิ่มเลือด การออกกำลังกายหนัก สามารถลดและยับยั้งการเกิดลิ่มเลือดได้ และการออกกำลังกายทั้งระยะสั้นและระยะยาวยังมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทางพยาธิสรีรวิทยาในการเกิด ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
3. ส่งเสริมการทำงานของผนังชั้นในหลอดเลือด ผนังชั้นในของหลอดเลือดจะทำหน้าที่หลั่งสารบางชนิด ซึ่งช่วยในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
4. ปรับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่มากเกินไป สัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะผิดปกติของหัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่ก่อนแล้ว การออกกำลังกายสามารถปรับเปลี่ยนความแปรปรวนของอัตราการเต้นหัวใจ ของผู้ป่วยที่หัวใจล้มเหลวและผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายให้ดีขึ้นได้
5. ต้านการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด การปรับตัวภายหลังการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอัตราการเต้นของหัวใจที่ลดลง จะส่งผลให้ช่วงกล้ามเนื้อหัวใจคลายตัวนานขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจจึงได้รับเลือดมากขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนจากการออกกำลังกาย ที่ผู้เป็นโรคหัวใจพึงระวัง!
1. ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันที่พบในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี จะเกิดจากโรคหัวใจแต่กำเนิด ส่วนที่พบในคนอายุมากกว่า 40 ปี เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยพบว่ามักเกิดขณะวิ่ง บ่อยกว่าการทำกิจกรรมอื่น เพราะสำหรับผู้ที่ไม่แข็งแรงแล้ว แม้แต่การวิ่งช้าๆ ก็อาจใช้พลังงานสูงมากกว่า 80% VO2max (VO2max เป็นค่าที่บอกให้ทราบถึงความสามารถในการใช้ออกซิเจนได้อย่างสูงสุด)
2. ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายพบบ่อยกว่าหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน 7 เท่า และมีการออกกำลังกายเป็นสาเหตุเกี่ยวข้องถึง 4-20% โดย 4-7% เกิดจากการออกกำลังกายที่หนักเกินไป
3. การบาดเจ็บของกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งไม่ใช่อันตรายร้ายแรง แต่ก็พบบ่อยและเป็นสาเหตุให้คนหยุดออกกำลังกาย มักเกิดได้ง่ายถ้าใช้แรงหนักมากและมีแรงกระแทก
การออกกำลังกายถึงแม้ ว่าจะเสริมสร้างประโยชน์ให้กับร่างกายได้มากมาย แต่ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ หากผู้ออกกำลังกาย ไม่คำนึงถึงภาวะการเจ็บป่วยของตน หรือออกกำลังกายเกินกำลังความสามารถของตนเอง ดังนั้น การออกกำลังกายในภาวะที่มีการเจ็บป่วย ควรปรึกษาแพทย์ หรืออยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำแนะนำในการออกกำลังกายที่เหมาะสม ก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใดๆ ต่อผู้ที่ออกกำลังกาย
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี
www.vejthani.com