สำหรับซีอีโอใหญ่แห่งค่ายแอปเปิล สตีฟ จอบส์ การตามล่าหาความสำเร็จในชีวิตคงไม่ใช่เรื่องยากเท่าไหร่ เพราะเขาค้นพบตัวเองตั้งแต่วัยรุ่น และได้เป็นเถ้าแก่มีกิจการเป็นของตัวเองตอนอายุไม่ถึง 20 ปีด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ท้าทายกว่าสำหรับซีอีโอจอมอหังการคนนี้ก็คือ จะรักษามันไว้ยังไงให้ได้ตลอดรอดฝั่ง
ชีวิตของเขาลุ่มๆดอนๆมาตลอด ตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลก "สตีเฟน
พอล จอบส์" เกิดเมื่อวันที่ 24 ก.พ.1955 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย พ่อแม่แท้ๆที่ให้กำเนิดเป็นนักศึกษาที่ไม่พร้อมจะสร้างครอบครัว จึงตัดสินใจยกเขาให้เป็นลูกบุญธรรมของคนอื่น แต่แล้ว "สตีฟน้อย" ก็ต้องพบกับความผิดหวังจากการถูกปฏิเสธ เป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อพ่อแม่บุญธรรมเปลี่ยนใจไม่เอาขึ้นมาดื้อๆ เพราะอยากได้เด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย โชคยังดีที่มีพ่อแม่บุญธรรมคู่ใหม่ขอรับไปเลี้ยงดูแทนในเวลาต่อมา และให้สัญญาดิบดีว่าจะส่งเด็กน้อยคนนี้ให้เรียนจนจบมหาวิทยาลัย แม้ทั้งคู่จะร่ำเรียนมาน้อยก็ตาม
แต่เอาเข้าจริงๆ "สตีฟ" ก็เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย เขาเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรีดส์ได้เพียงเทอมเดียว แล้วก็ตัดสินใจลาออก เพราะคิดว่ามหาวิทยาลัยไม่ สามารถตอบโจทย์ในชีวิตได้ ที่สำคัญเขายังคิดต่างจากเด็กทั่วไป เพราะไม่อยากให้พ่อแม่บุญธรรมต้องใช้เงินสะสมทั้งชีวิตมาจ่ายค่าเทอมแสนแพง โดยเปล่าประโยชน์
เมื่อเขาตัดสินใจหันหลังให้รั้วมหาวิทยาลัย จึงเลิกเรียนวิชาภาคบังคับทุกตัว และหันมาเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่สนใจจริงๆ รวมถึงวิชาคอลลิกราฟี หรือศิลปะการประดิษฐ์และออกแบบตัวอักษร ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดสู่ความสำเร็จในวงการคอมพิวเตอร์
ก่อน ที่จะค้นพบความฝัน "สตีฟ" ต้องใช้ชีวิตระหกระเหิน อาศัยนอนตามหอพักของเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย และประทังชีพด้วยการเก็บขวดน้ำอัดลมขาย
เขาทดลองทำอะไรก๊อกๆแก๊กๆไป เรื่อย รวมถึงทำงานเป็นช่างเทคนิคในโรงงานผลิตวีดิโอเกม กระทั่งได้มาเจอกับคู่หูในอนาคต คือ "สตีฟ วอซเนียก" และจับมือกันทำธุรกิจประกอบคอมพิวเตอร์ โดยมีโรงรถของพ่อบุญธรรมเป็นออฟฟิศ ในช่วงนี้ถือเป็นวัยแห่งการแสวงหาตัวเองอย่างแท้จริง ตามประวัติของเขาระบุว่า "สตีฟ" เคยทิ้งทุกอย่าง และออกเดินทางไปแสวงหาจิตวิญญาณของตนเองในประเทศอินเดีย เป็นเวลา 1 ปีเต็ม ก่อนจะกลับบ้านเกิดพร้อมกับลุคใหม่ โกนผมและแต่งตัวสมถะ รวมทั้งเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทานอาหารมังสวิรัติจนถึงปัจจุบัน
ปฐม บทแห่งความสำเร็จของเขาเริ่มต้นขึ้นจริงจังในปี 1976 เมื่อคู่หูสตีฟได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากมหาเศรษฐีคนหนึ่ง จนสามารถเปิดบริษัทแอปเปิล ระยะแรกพวกเขาซื้อชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์เก่า นำมาประกอบใหม่ หลังจากนั้น 10 ปี แอปเปิลก็เติบโตเป็นธุรกิจใหญ่ ที่มีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีพนักงานมากกว่า 4,000 คน
ใน ปี 1984 ถือเป็นก้าวกระโดดสำคัญของแอปเปิล เมื่อ "สตีฟ" เปิดตัวแมคอินทอช ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรก ที่มีการออกแบบตัวอักษรและการจัดช่องไฟสวยงาม อย่างไรก็ดี ในขณะที่ยอดขายของ Mac กำลังไปได้สวย "สตีฟ จอบส์" กลับถูกไล่ออกขณะอายุ 30 ปี ทั้งๆที่เป็นคนก่อตั้งบริษัทเองกับมือ... นับเป็นอีกครั้งในชีวิตที่เขาต้องเจ็บปวดจากการถูกปฏิเสธและหักหลัง
"ก่อน หน้านั้นปีหนึ่ง เราเพิ่งเปิดตัวผลงานสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมที่สุดคือแมคอินทอช...แล้วผมก็ เพิ่งฉลองวันเกิดครบ 30 ปี...จากนั้นก็ถูกไล่ออก!! มันจะเป็นไปได้ยังไงที่คุณจะถูกไล่ออกอย่างลือลั่นจากบริษัทที่ก่อตั้งมาเอง กับมือ สิ่งที่ผมทุ่มเททั้งหมดตลอดช่วง 10 ปีหายวับไปกับตา ตอนนั้นผมรู้สึกผิดหวัง ล้มเหลว และอยากทิ้งวงการนี้ไปด้วยซ้ำ แต่ผมก็คิดได้ว่า เรายังรักในสิ่งที่ทำอยู่ และการถูกปฏิเสธจากผู้บริหารแอปเปิล ก็ไม่ได้ ทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงตัดสินใจเริ่มต้นใหม่หมด ภายหลังกลับกลายเป็นว่า การถูกไล่ออกจากแอปเปิลเป็นสิ่งดีที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิตผม ภาระหนักอึ้งจากการประสบความสำเร็จ ถูกแทนที่ด้วยความโล่งอก ทำให้ผมมีอิสระ สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ จนถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ครีเอทีฟที่สุดในชีวิต"...ซีอีโอใหญ่ของแอ ปเปิล พูดถึงบทเรียนราคาแพงที่เกิดขึ้นในช่วงมรสุมครั้งใหญ่ของชีวิต ระหว่างกล่าวสปีชครั้งสำคัญ ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญอย่างมาก ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปี 2005
เขายังให้แง่คิดไว้น่าสนใจ ว่า..."บางครั้งชีวิตอาจทำคุณเจ็บ แต่จงอย่าสูญเสียศรัทธาและความเชื่อมั่น สิ่งเดียวที่ทำให้ผมยืนหยัดอยู่ได้คือผมรักในสิ่งที่ทำ พวกคุณจะต้องค้นหาสิ่งที่รักให้เจอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือความรัก โดยเฉพาะเรื่องงาน มันกินเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตคุณ และทางเดียวที่จะสร้างผลงานยอดเยี่ยมได้ก็คือ คุณจะต้องรักในสิ่งที่ทำจริงๆ ไม่ใช่ปล่อยเวลาผ่านไปวันๆ ถ้าคุณยังหาตัวเองไม่เจอ ก็จงค้นหาต่อไป อย่าหยุดยั้ง และเมื่อเจอสิ่งที่เรียกว่า "ใช่" แล้ว...คุณจะรู้ได้เอง!!".
มิสแซฟไฟร์