10 ความเสี่ยง "เฟซบุ๊ก" อาจทำร้ายชีวิตคุณ
ปัจจุบัน "เฟซบุ๊ก" มีจำนวนผู้ใช้ทะลุ 500 ล้านคนทั่วโลกแล้ว ซึ่งถือเป็นหลักไมล์ที่มีความสำคัญสำหรับทั้งบริษัทและเว็บเครือข่ายสังคม แต่ในขณะที่เฟซบุ๊กกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครหลายคน แต่ก็มีอีกด้านของเหรียญที่หลายคนอาจมองข้าม
เว็บบล็อกของ "นิวส์วีก" ได้รวบรวม 10 ความเสี่ยงที่เฟซบุ๊กอาจทำร้ายชีวิตของเราเอาไว้ เพื่อให้พวกเราใช้เว็บเครือข่ายสังคมอย่างรู้เท่าทัน
1.คุณอาจได้อยู่ร่วมกับคนครอบครัวอีกครั้งหลังจากมีเหตุให้ต้องแยกกัน ไป ซึ่งถือเป็นข่าวดี แต่ก็อาจไม่ใช่ทั้งหมด อย่างกรณีของ "พรินซ์ ซากาลา" ที่ค้นพบลูกๆ ของเธอจากเฟซบุ๊ก โดยเธออ้างว่าอดีตสามีเป็นผู้ที่พาลูกๆ หนีไปนานนับสิบปี แต่แม้ว่าแม่และลูกจะได้กลับมาเห็นหน้ากันอีกครั้ง แต่ติดปัญหาตรงที่เด็กๆ เติบโตมาจากการดูแลของพ่อ และไม่ต้องการที่จะอยู่ร่วมกับแม่ ขณะที่เรื่องราวของ "เอมี สวอร์ด" น่าตกใจกว่า เมื่อเธอถูกพิพากษาจำคุก 9-30 ปี ในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กชายอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นลูกชายในไส้ที่เธอปฏิเสธจะเลี้ยงดู แต่กลับมารู้จักกันทางเฟซบุ๊ก
2.จำไว้ว่าเจ้าหนี้สามารถตามรอยคุณได้ผ่านเฟซบุ๊ก โดยบรรดาเจ้าหนี้จะใช้เฟซบุ๊กเพื่อประเมินว่าคุณเป็นคนที่น่าจะปล่อยกู้ให้ หรือไม่ รวมทั้งใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางที่จะติดตามความเคลื่อนไหวของลูกหนี้ และจับตาดูสินทรัพย์ที่อาจจะยึดมาชดใช้หนี้ที่คุณติดอยู่
3.บริษัทประกันอาจปฏิเสธการจ่ายชดเชย ดังกรณีของผู้หญิงที่ได้รับค่าชดเชยความเครียดจากการทำงาน แต่กลับไม่ได้รับเงินในส่วนนี้เพราะเธอโพสรูปที่กำลังยิ้มไว้บนเฟซบุ๊ก บริษัทประกันจึงขอตัดสิทธิประโยชน์ส่วนนี้ โดยอ้างว่าภาพดังกล่าวแสดงว่าเธอพร้อมที่จะกลับมาทำงาน ซึ่งเรื่องนี้อาจจุดชนวนให้ทนายความถกเถียงรเกี่ยวกับการจ่ายผลประโยชน์ ทุพพลภาพ จึงมีคำแนะนำไม่ให้เปิดเผยเรื่องส่วนตัวบนเฟซบุ๊กมากเกินไป
4.อดีตคนรักอาจใช้เฟซบุ๊กในคดีหย่าร้าง ปัจจุบันเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือยอดฮิตสำหรับทนายที่ทำคดีหย่าร้าง ซึ่งจะแสวงหาข้อมูลของสามีหรือภรรยาของลูกค้า เพื่อใช้เป็นหลักฐานถึงการละเลยไม่เอาใจใส่ การแอบคบกิ๊ก หรือหลอกลวง มีกรณีที่คุณแม่ต้องสูญเสียสิทธิในการเลี้ยงดูลูกๆ หลังจากอดีตสามีพิสูจน์ว่าเธอใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นเกมฟาร์มวิลล์ แทนที่จะใช้เวลาอย่างมีค่าเพื่อลูกๆ
5.เฟซบุ๊กอาจเป็นสาเหตุให้คุณเครียด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสโตนี บรู๊ก ในนิวยอร์ก พบว่า สาวๆ วัยรุ่นที่ใช้เวลาส่วนใหญ่สนทนาเรื่องราวชีวิตกับผองเพื่อนมีความเป็นไปได้ มากที่จะเครียด เพราะการใช้เวลามากเกินไปในการเม้าท์และคุยถึงปัญหาต่างๆ จะทำให้คุณรู้สึกแย่ลง ไม่ใช่ดีขึ้น แม้นักวิจัยจะไม่ได้เน้นศึกษากรณีของเฟซบุ๊กโดยเฉพาะ แต่ผลการศึกษาดังกล่าวก็สะท้อนว่าเว็บเครือข่ายสังคม อาทิ เฟซบุ๊ก อาจทำให้ผู้คนติดต่อเพื่อนๆ ได้ง่าย และมักพูดคุยเรื่องไม่เป็นเรื่อง
6.กระทบต่อหน้าที่การงาน จากผลสำรวจความเห็นของนายจ้างในอังกฤษ พบว่า ครึ่งหนึ่งของนายจ้างเหล่านี้ปฏิเสธว่าจ้างผู้สมัครที่เคยโชว์พฤติกรรมแย่ๆ ไว้บนเฟซบุ๊ก อาทิ เล่าเรื่องที่ตัวเองเมาจนหัวราน้ำ โพสภาพกิจกรรมนอกลู่นอกทาง และการใช้ภาษาแบบแย่ๆ ขณะที่ในสหรัฐ ราว 20% ของนายจ้างยอมรับว่าใช้เฟซบุ๊กในการหาผู้สมัครที่มีศักยภาพ ส่วนราว 9% บอกว่ากำลังจะเริ่มใช้เฟซบุ๊กในเร็วๆ นี้
7.แฉความลับที่ปิดซ่อนไว้ เพราะแม้คุณจะระมัดระวังการใช้เฟซบุ๊ก แต่ผองเพื่อนปากสว่างของคุณอาจไม่ได้ระวังด้วย และอาจเผลอโพสต์ข้อความที่แฉความลับของคุณ ยิ่งกว่านั้น การใช้เฟซบุ๊กยังอาจบ่งบอกสิ่งที่อยู่เบื้องหลังตัวตนของคุณ ยกตัวอย่างนักศึกษาสถาบันเอ็มไอทีได้ออกแบบกระบวนการทำงานที่สามารถบ่งบอก ได้อย่างแม่นยำว่าผู้ใช้รายใดที่เป็นเกย์ โดยวิเคราะห์จากจำนวนเพื่อนๆ ที่เป็นเกย์
8.เฟซบุ๊กทำให้คู่รักหรือพวกตามรังควานติดตามความเคลื่อนไหวของคุณได้ ง่ายขึ้น หากไม่มีเฟซบุ๊ก คนเหล่านี้อาจต้องหาวิธีอื่นที่จะไล่ตามคุณ แต่เฟซบุ๊กทำให้คนเหล่านี้ติดตามเหยื่อได้ง่ายและตอบกลับความเคลื่อนไหว ต่างๆ แม้เหยื่อจะพยายามตัดความสัมพันธ์แล้วก็ตาม อย่างกรณีของหญิงรายหนึ่งที่เปลี่ยนสถานะบนเฟซบุ๊กว่า "โสด" ถูกฆาตกรรมโดยสามีที่เพิ่งถูกบอกเลิก โดยหลังจากที่เขาเห็นภรรยาเปลี่ยนสถานะเป็นโสด เขาก็บุกเข้าไปทำร้ายเธอในบ้าน
9.คุณอาจถูกฟ้องหมิ่นประมาทได้ มีหลายกรณีที่ถูกฟ้องเพราะเนื้อหาที่โพสต์บนเฟซบุ๊ก อย่างในอังกฤษ นักธุรกิจหญิงชนะคดีหลังจากฟ้องร้องเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่สร้างโปรไฟล์ปลอม ที่เต็มไปด้วยข้อความหมิ่นประมาท
10.เด็กๆ อาจตกเป็นเหยื่อของคนร้าย อย่างกรณีของเด็กสาวในอังกฤษที่ถูกฆ่าโดยผู้ร้ายข่มขืน ซึ่งโพสตัวตนบนเฟซบุ๊กเป็นวัยรุ่นเหมือนกัน แม้ในอังกฤษจะมีแอพพลิเคชั่น "panic button" สำหรับให้วัยรุ่นแจ้งเรื่องต้องสงสัยไปยังทางการโดยตรง แต่แอพพลิเคชั่นนี้ก็ยังไม่ได้มีใช้ในสหรัฐหรือเวอร์ชั่นอื่นๆ
------