พุทธศาสนสุภาษิต: หมวดปัญญา
- ผู้มีปัญญา พึงรู้ได้ด้วยการสนทนา
- ปัญญาย่อมเกิดเพราะความประกอบด้วยหลายประการ
- ปัญญาเป็นรัตนะแห่งนรชน
- ผู้ไม่ประมาท พินิจพิจารณา ตั้งใจฟัง ย่อมได้ปัญญา
- ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่พินิจพิจารณา
- คนเราจะมองเห็นอรรถชัดแจ้งได้ด้วยปัญญา
- ผู้มีปัญญาอยู่ครองเรือน เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนมาก
- ปัญญาเป็นเครื่องปกครองตัว
- รู้จักฟัง ย่อมได้ปัญญา
- พึงวิจัยเรื่องราวตลอดสายให้ถึงต้นตอ
- ความสิ้นปัญญาย่อมเกิดเพราะความไม่ประกอบ
- คนเกียจคร้านย่อมไม่พบทางด้วยปัญญา
- ปัญญา ย่อมเกิดเพราะใช้การ
- ไม่พึงละเลยการใช้ปัญญา
- ปราชญ์ว่า ชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา ประเสริฐสุด
- คนย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา
- ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยสิ่งที่ได้เล่าเรียน
- ปัญญาแล ประเสริฐกว่าทรัพย์
- ปัญญา เป็นดวงแก้วของคน
- ปัญญา เป็นแสงสว่างในโลก
- คนมีปัญญา ถึงแม้ตกทุกข์ ก็ยังหาสุขพบ
- ความพินิจ ไม่มีแก่คนไร้ปัญญา
- คนฉลาดกล่าวว่า ปัญญาแลประเสริฐสูงสุด
- คนย่อมเห็นเนื้อความด้วยปัญญา
- เมื่อขาดปัญญา ถึงจะมีทรัพย์ ก็เป็นอยู่ไม่ได้
- ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์
- ปัญญาย่อมปกครองบุรุษนั้น
- ผู้มีปัญญา รู้เนื้อความแห่งภาษิตคนเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่า
- ปัญญาย่อมเจริญด้วยประการใด ควรตั้งตนไว้ด้วยประการนั้น
- ราคะ โทสะ ความมัวเมา และ โมหะ เข้าที่ไหน ปัญญาย่อมเข้าไม่ถึงที่นั้น
- ขาดตาปัญญาเสียแล้ว ก็เหมือนคนตาบอด เหยียบลงไปได้ แม้กระทั่งไฟที่ส่องทาง
- คนมีปัญญา ถึงสิ้นทรัพย์ ก็ยังเป็นอยู่ได้
- คนมีปัญญาประเสริฐกว่า คนโง่ถึงจะมียศก็หาประเสริฐไม่
- คนที่อิ่มด้วยปัญญา ตัณหาจะครอบงำเอาไว้ในอำนาจไม่ได้
- ปราชญ์กล่าวชีวิตของผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญา ว่า ประเสริฐสุด
- คนมีปัญญาทราม ได้ยศแล้ว ย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ย่อมปฏิบัติ เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น
- ถึงสิ้นทรัพย์ ผู้มีปัญญาก็เป็นอยู่ได้, แต่อับปัญญา แม้มีทรัพย์ก็เป็นอยู่ไม่ได้
- ผู้มีปัญญา ถึงพร้อมด้วยความรู้ ฉลาดในวิธีจัดการงาน รู้กาลและรู้สมัย เขาพึงอยู่ในราชการได้
- ถ้าพึงเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะยอมเสียสละสุขส่วนน้อย ผู้มีปัญญาเล็งเห็นสุขอันไพบูลย์ ก็ควรสละสุขส่วนน้อยเสีย
- ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยสิ่งที่ฟังแล้ว ปัญญาเป็นเครื่องเพิ่มพูนเกียรติ และชื่อเสียง คนผู้ประกอบด้วยปัญญาในโลกนี้ แม้ในความทุกข์ก็หาความสุขได้
- บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐ, ผู้อิ่มด้วยปัญญานั้นย่อมไม่เดือนร้อนด้วยกาม, ตัณหาครอบงำ ผู้อิ่มด้วยปัญญาไว้ในอำนาจไม่ได้
- คนผู้สดับน้อยนี้ ย่อมแก่ไป เหมือนวัวแก่ อ้วนแต่เนื้อ แต่ปัญญาไม่เจริญ
- คนฉลาดกล่าวว่า ปัญญาประเสริฐ เหมือนพระจันทร์ ประเสริฐกว่าดาวทั้งหลาย แม้ศีลสิริและธรรมของสัตบุรุษย่อมไปตามผู้มีปัญญา
- ผู้รู้ย่อมสรรเสริญคนมีปัญญา พูดจริง ตั้งมั่นในศีล ประกอบความสงบใจนั่นแล
- คนโง่ถึงมียศ ก็กลายเป็นทาสของคนมีปัญญา เมื่อมีเรื่องราวต่าง ๆ เกิดขึ้น บัณฑิตจัดการเรื่องใดอันเป็นเรื่องละเอียดก่อน คนโง่ย่อมถึงความหลงใหลในเรื่องนั้น
- ในเวลาที่ควรลุกขึ้นทำงาน ไม่ลุกขึ้นทำ ทั้งที่ยังหนุ่มแน่น มีกำลัง กลับเฉื่อยชา ปล่อยความคิดให้จมปลัก เกียจคร้าน มัวซึมเซาอยู่ ย่อมไม่ประสบทางแห่งปัญญา
- เมื่อน้ำใส กระจ่างแจ๋ว ย่อมมองเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และ ฝูงปลาได้ ฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว ย่อมมองเห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ฉันนั้น
- คนโง่เขลามาประชุมกันแม้ตั้งกว่าพันคน พวกเขาไม่มีปญญา ถึงจะพร่ำคร่ำครวญอยู่ตลอดร้อยปี ก็หามีประโยชน์ไม่ คนมีปัญญารู้เนื้อความแห่งภาษิต คนเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่า
- สัตบุรุษสรรเสริญปัญญาแน่แท้ คนทั้งหลายชอบทรัพย์สมบัติ จึงใคร่ได้สิริ (ยศ) ก็ความรู้ของท่านผู้รู้ทั้งหลายชั่งไม่ได้ ทรัพย์จึงเกินกว่าปัญญาไปไม่ได้ ไม่ว่ากาลไหน ๆ
- คนเขลามียศศักดิ์ ก็เป็นทาสของคนมีปัญญา, เมื่อเรื่องราวต่าง ๆ เกิดขึ้น คนฉลาดจัดการข้อได้แนบเนียน คนเขลาถึงความงมงายในข้อนั้น
- ผู้ขบคิดปัญหาอันลึกซึ้งด้วยใจ ไม่ทำกรรมชั่วอันไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลเลย, ไม่ละทางแห่งประโยชน์ที่มาถึงตามเวลา, บัณฑิตทั้งหลายเรียกคนอย่างนั้นว่า ผู้มีปัญญา