กสิณ คือวิธีการปฏิบัติสมาธิแบบหนึ่งในพระพุทธศาสนา มีความหมายว่า เพ่งอารมณ์ เป็นสภาพหยาบ สำหรับให้ผู้ฝึกจับให้ติดตาติดใจ ให้จิตใจจับอยู่ในกสิณใดกสิณหนึ่งใน 10 อย่าง ให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว จิตจะได้อยู่นิ่งไม่ฟุ้งซ่าน มีสภาวะให้จิตจับง่ายมีการทรงฌานถึงฌาน 4 ได้ทั้งหมด กสิณทั้ง 10 เป็นพื้นฐานของอภิญญาสมาบัติ
การเพ่งกสิณนับว่าเป็นอุบายกรรมฐานกองต้นๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ว่าด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่ออบรมจิต (อันเป็นแนวทางแห่งการบรรลุสำเร็จมรรคผลนิพพาน หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ออกไปได้) ซึ่งอุบายกรรมฐานมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสี่สิบกอง ภายใต้กรรมฐานทั้งสี่สิบกองนั้น จะประกอบไปด้วยกรรมฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการเพ่งกสิณอยู่ถึงสิบกองด้วยกัน
การเพ่งกสิณ คือ อาการที่เราเพ่ง (อารมณ์) ไม่ได้หมายถึงเพ่งมอง หรือจ้องมอง ไปยังวัตถุหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาทิเช่น พระพุทธรูป เทียน สีต่างๆ หรือแม้กระทั่งอากาศ ฯลฯ แล้วเรียนรู้ รับรู้/บันทึก สภาพหรือคุณสมบัติเฉพาะ ของวัตถุ (ธาตุ) หรือสิ่งๆ นั้นไว้เช่น เนื้อ สี สภาพผิว ความหนาแน่น ความ เย็นในจิตจนกระทั่งเมื่อหลับตาลงจะปรากฏภาพนิมิต (นิมิตกสิณ) ของวัตถุหรือสิ่งๆ นั้นขึ้นมาให้เห็นในจิต หรือแม้กระทั่งยามลืมตาก็ยังสามารถมองเห็นภาพนิมิตกสิณดังกล่าวเป็นภาพติดตา
การเพ่งกสิณจัดเป็นอุบายวิธีในการทำสมาธิที่มีดีอยู่ในตัว กล่าวคือ การเพ่งกสิณเป็นเสมือนทางลัดที่จิตใช้ในการเข้าสู่สมาธิได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายกว่าการเลือกใช้อุบายกรรมฐานกองอื่นๆ มากมายนัก ทั้งนี้เนื่องจากแนวทางในการปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วยการใช้อุบายวิธีการเพ่งกสิณนั้น จิตจะยึดเอาภาพนิมิตกสิณที่เกิดขึ้นมาเป็นเครื่องรู้ของจิต แทนอารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในจิต และเมื่อภาพนิมิตกสิณเริ่มรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันกับจิต จิตก็จะรับเอาภาพนิมิตกสิณนั้นมาเป็นหนึ่งเดียวกันกับจิต
จากนั้นภาพนิมิตกสิณดังกล่าวจะค่อยๆ พัฒนาไปเองตามความละเอียดของจิต ซึ่งจะส่งผลให้เกิดมีความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับภาพนิมิตกสิณนั้น เริ่มตั้งแต่ความคมชัดในการมองเห็นภาพนิมิตกสิณที่ปรากฏขึ้นภายในจิต และสามารถมองเห็นภาพนิมิตกสิณนั้นได้อย่างชัดเจน ราวกับมองเห็นด้วยตาจริงๆ ไปจนกระทั่งการที่จิตสามารถบังคับภาพนิมิตกสิณนั้นให้เลื่อนเข้า-เลื่อนออก หรือหมุนไปทางซ้าย-ทางขวา หรือยืด-หดภาพนิมิตกสิณดังกล่าวได้ อันเป็นพลังจิตที่เกิดขึ้นจากการเพ่งนิมิตกสิณ
แต่ในที่สุดแล้วภาพนิมิตกสิณทั้งหลายก็จะมาถึงจุดแห่งความเป็นอนัตตา อันได้แก่ ความว่างและแสงสว่าง กล่าวคือ ภาพนิมิตทั้งหลายจะหมดไปจากจิต แม้กระทั่งอาการและสัญญาในดวงจิตก็จะจางหายไปด้วย จากนั้นจิตจึงเข้าสู่กระบวนการของสมาธิในขั้นฌานต่อไปตามลำดับ
กสิณทั้ง 10 อย่าง แบ่งออกเป็น 2 พวก
• พวกที่หนึ่ง คือ กสิณกลาง มี 6 อย่าง คนทุกจริตฝึกกสิณได้ทั้ง 6 เพราะเหมาะกับทุกอารมณ์ ทุกอุปนิสัยของคน
- ปฐวีกสิณ (ธาตุดิน/ของแข็ง ไม่ใช่เฉพาะดิน) จิตเพ่งดิน โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นดิน หายใจเข้าให้ภาวนาว่า "ปฐวี" หายใจออกให้ภาวนาว่า "กสิณัง" เมื่อปฏิบัติอยู่ดังนี้ ก็จะข่มนิวรณ์ธรรมเสียได้โดยลำดับ กิเลศก็จะสงบระงับจากสันดาน สมาธิก็จะกล้าขึ้น จิตนั้นก็ชื่อว่าตั้งมั่น เป็นอุปจารสมาธิ เมื่อทำได้สำเร็จปฐมฌานแล้ว ก็พึงปฏิบัติในปฐมฌานนั้นให้ชำนาญคล่องแคล่วด้วยดีก่อนแล้วจึงเจริญทุติยฌานสืบต่อไปได้
- เตโชกสิณ (ธาตุไฟ ธาตุร้อน) จิตเพ่งไฟ คือการเพ่งเปลวไฟ โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นไฟ หายใจเข้าให้ภาวนาว่า "เตโช" หายใจออกภาวนาว่า "กสิณัง"
- วาโยกสิณ (ธาตุลม) จิตเพ่งอยู่กับลม นึกถึงภาพลม โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นลม หายใจเข้าให้ภาวนาว่า "วาโย" หายใจออกภาวนาว่า "กสิณัง"
- อากาสกสิณ (ช่องว่าง) จิตเพ่งอยู่กับอากาศ นึกถึงอากาศ คือการเพ่งช่องว่าง โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นช่องว่าง เวลาหายใจเข้าให้ภาวนาว่า "อากาศ" หายใจออกภาวนาว่า "กสิณัง"
- อาโลกสิณ (กสิณแสงสว่าง) จิตเพ่งอยู่กับแสงสว่าง นึกถึงแสงสว่าง วิธีเจริญอาโลกกสิณให้ผู้ปฏิบัติยึดโดยทำความรู้สึกถึงความสว่าง ไม่ใช่เพ่งที่สีของแสงนั้น เวลาหายใจเข้าให้ภาวนาว่า "อาโลก" หายใจออกให้ภาวนาว่า "กสิณัง"
- อาโปกสิณ (ธาตุน้ำ/ของเหลว) จิตนึกถึงน้ำเพ่งน้ำไว้ คือการเพ่งน้ำ โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นน้ำ หายใจเข้าให้ภาวนาว่า "อาโป" หายใจออกภาวนาว่า "กสิณัง" ให้เลือกภาวนากสิณใดกสิณหนึ่งให้ได้ถึงฌาน 4 หรือฌาน 5 กสิณอื่นๆ ก็ทำได้ง่ายทั้งหมด
• พวกที่สองคือกสิณเฉพาะอุปนิสัยหรือเฉพาะจริตมี 4 อย่าง สำหรับคนโกรธง่าย คือพวกโทสจริต
- โลหิตกสิณ เพ่งกสิณ หรือนิมิตสีแดงจะเป็นดอกไม้แดง เลือดแดง หรือผ้าสีแดงก็ได้ทั้งนั้นจิตนึกภาพสีแดงแล้วภาวนาว่า โลหิต กสิณัง
- นีลกสิณ ตาดูสีเขียวใบไม้ หญ้า หรืออะไรก็ได้ที่เป็นสีเขียว แล้วหลับตาจิตนึกถึงภาพสีเขียว ภาวนาว่า นีล กสิณัง
- ปีตกสิณ จิตเพ่งของอะไรก็ได้ที่เป็นสีเหลือง ภาวนาว่า ปีต กสิณัง
- โอทากสิณ ตาเพ่งสีขาวอะไรก็ได้แล้วแต่สะดวก แล้วหลับตานึกถึงภาพสีขาว ภาวนาโอทา กสิณัง จนจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งไม่วอกแวกไม่รู้ลมหายใจภาพกสิณชัดเจน
ท่านว่าจิตเข้าถึงฌาน 4 พอถึงฌานที่ 5 ก็เป็นจิตเฉยมีอุเบกขาอยู่กับภาพกสิณต่างๆ ที่จิตจับเอาไว้
อานุภาพกสิณ 10
กสิณ 10 ประการนี้ เป็นปัจจัยให้แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในฉฬภิญโญ เมื่อบำเพ็ญปฏิบัติใน กสิณกองใดกองหนึ่งสำเร็จถึงจตตุถฌานแล้ว ก็ควรฝึกตามอำนาจที่กสิณกองนั้นมีอยู่ให้ชำนาญ ถ้าท่านปฏิบัติถึงฌาน 4 แล้ว แต่มิได้ฝึกอธิษฐานต่างๆ ตามแบบ กล่าวกันว่าผู้นั้นยังไม่จัดว่าเป็นผู้เข้าฌานถึงกสิณ
อำนาจฤทธิ์ในกสิณในทางพุทธศาสนามีดังนี้
- ปฐวีกสิณ มีฤทธิ์ดังนี้ เช่น เนรมิตคนๆ เดียวให้เป็นคนมากๆ ได้ ให้คนมากเป็นคนๆ เดียวได้ ทำน้ำและอากาศให้แข็งได้ สามารถย่อแผ่นดินให้ใกล้กำลังการในเดินทาง
- อาโปกสิณ สามารถเนรมิตของแข็งให้อ่อนได้ เช่นอธิษฐานสถานที่เป็นดินหรือหรือหินที่กันดารน้ำให้เกิดบ่อน้ำ อธิษฐานหินดินเหล็กให้อ่อน อธิษฐานในสถานที่ขาดแคลนฝน ให้เกิดมีฝนอย่างนี้เป็นต้น
- เตโชกสิณ อธิษฐานให้เกิดเป็นเพลิงเผาผลาญหรือให้เกิดแสงสว่างได้ ทำแสงสว่างให้เกิดแก่จักษุญาณ สามารถเห็นภาพต่าง ๆ ในที่ไกลได้คล้ายตาทิพย์ ทำให้เกิดความร้อนในที่ทุกสถานได้ เมื่ออากาศหนาว สามารถทำให้เกิดความอบอุ่นได้
- วาโยกสิณ อธิษฐานจิตให้ตัวลอยตามลม หรืออธิษฐานให้ตัวเบา เหาะไปในอากาศก็ได้ สถานที่ใดไม่มีลมอธิษฐานให้มีลมได้
- นีลกสิณ สามารถทำให้เกิดสีเขียว หรือทำสถานที่สว่างให้มืดครึ้มได้
- ปีตกสิณ สามารถเนรมิตสีเหลืองหรือสีทองให้เกิดได้
- โลหิตกสิณ สามารถเนรมิตสีแดงให้เกิดได้ตามความประสงค์
- โอทากสิณ สามารถเนรมิตสีขาวให้ปรากฏ และทำให้เกิดแสงสว่างได้ เป็นกรรมฐาน ที่อำนวยประโยชน์ในทิพยจักขุญาณ เช่นเดียวกับเตโชกสิณ
- อาโลกสิณ เนรมิตรูปให้มีรัศมีสว่างไสวได้ ทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้เป็นกรรมฐานสร้างทิพยจักขุญาณโดยตรง
- อากาสกสิณ สามารถอธิษฐานจิตให้เห็นของที่ปกปิดไว้ได้ เหมือนของนั้นวางอยู่ในที่แจ้ง สถานที่ใดเป็นอับด้วยอากาศ สามารถอธิษฐานให้เกิดความโปร่งมีอากาศสมบูรณ์เพียงพอแก่ความต้องการได้
วิธีอธิษฐานฤทธิ์
แหล่งข้อมูล:
- อาจารย์บูรพา ผดุงไทย, กสิณไฟ, หจก. ส เจริญการพิมพ์, 2551
- วิกิพีเดีย
- youtube.com